Skip to main content
sharethis

 

สหพันธ์แรงงานไทย 43 องค์กรร่วมจัดกิจกรรมวันกรรมกรสากล เดินขบวนเรียกร้องสิทธิแรงงาน

เมื่อ 1 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย หรือ  คสรท. ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พร้อมด้วยองค์กรภาคีสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รวม 43 องค์กร ร่วมจัดกิจกรรม  “วันกรรมกรสากล สามัคคีกรรมการ ต้านทุนนิยมครอบโลก สร้างสังคมใหม่ ประชาธิปไตยประชาชน” เนื่องในโอกาสครบรอบ 123 ปี วันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค.56  เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในการจ้างแรงงานและสวัสดิการคุ้มครองแรงงานจาก รัฐบาล โดยมีการเดินขบวนจากบริเวณหน้ารัฐสภา มุ่งหน้าสู่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ออกมาช่วยเหลือ

โดยนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้อ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องเร่งด่วนต่อรัฐบาล 5 ข้อ คือ 1.รัฐบาลต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 รวมทั้งเร่งรัดพิจารณาร่าง พรบ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับประชาชน 12,130 คน เป็นผู้เสนอ 2.รัฐบาลต้องยุตินโยบายและกฎหมายที่ละเมิดสิทธิแรงงาน กรณีผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟ 13 คน และแรงงานภาคเอกชน 3.รัฐบาลต้องสร้างระบบสวัสดิการสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมทางสังคม 4.รัฐบาลต้องยกเลิกนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และยุติการแทรกแซงรัฐวิสาหกิจ และ 5.รัฐบาลต้องปฏิรูประบบประกันสังคมให้เป็นอิสระโปร่งใส ตรวจสอบได้ และผู้ประกันตนต้องมีส่วนร่วม

นอกจากนี้จะมีการติดตามทวงถามข้อเรียกร้องที่ได้เสนอไปแล้วจากรัฐบาล อาทิเรื่องการกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม / การแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งในระดับชาติ / การเข้าถึงสิทธิ์ พ.ร.บ.ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน / การจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน / การคุ้มครองสิทธิแรงงานและสวัสดิการสังคมของแรงงานนอกระบบ /และการยกเว้นภาษีกรณีเงินก้อนสุดท้ายของคนงานผู้เกษียณอายุ

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศช่วงเช้า ว่ามีกลุ่มผู้ใช้แรงงานเริ่มทยอยมายังจุดนัดหมายซึ่งในช่วงเช้านี้ จะมีพิธีทางศาสนา โดยมีรถเครื่องขยายเสียง รถ 6 ล้อ ป้ายข้อความต่างๆในการเรียกร้องสิทธิ์ประโยชน์ ค่าแรงขั้นต่ำ และสวัสดิ์การต่างๆ ของกลุ่มสหภาพแรงงาน  ในเวลาต่อมา นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.กระทรวงแรงงานและสวัสดิ์การสังคม เดินทางมาถึงลานพระบรมรูปทรงมา เพื่อเข้าร่วมพิธีทางศาสนา ก่อนจะเดินทางต่อไปยังท้องสนามหลวง

เวลา 08.30 น. กลุ่มผู้แรงงานทั้งสิ้น 43 กลุ่ม กว่า 10,000 คน จัดขบวนเดินทางมุ่งหน้าท้องสนามหลวง โดยใช้เส้นทางถนนราชดำเนินนอก เลี้ยวขวาถนนราชดำเนินใน  สู่ท้องสนามหลวงเพื่อเข้าร่วมพิธี เปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธาน เปิดงานวันแรงงาน แห่งชาติ โดยกิจกรรมต่างๆ  จะมีไปถึง 22.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล จำนวนกว่า 300 คน ได้เดินปิดท้ายขบวนกลุ่มแรงงาน ก่อนที่จะหยุดอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มแรงงาน  ก่อนที่จะสลายตัวไป

(ข่าวสด, 1-5-2556)

 

นายกฯฟุ้งดูแลแรงงานทุกกลุ่มมอบ“เผดิมชัย” รับ11ข้อเรียกร้องไว้ช่วยเหลือ

(วันนี้ 1พ.ค.)ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า   กระทรวงแรงงานร่วมกับสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทยและหน่วยงาน ภาครัฐและเอกชน ร่วมกันจัดงานวันแรงงานแห่งชาติปี 2556  ภายใต้คำขวัญ”แรงงานไทยสามัคคี สดุดีองค์ราชัน ก้าวทันประชาคมอาเซียน” โดยเวลา 07.00 น. นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์  รมว.แรงงาน เป็นประธานในพิธีทางศาสนา ถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์  9  รูป จากนั้นเวลา 08.30 น.ได้เคลื่อนริ้วขบวนเทิดพระเกียรติ 85 พรรษาฯ โดยกลุ่มข้าราชการ และริ้วขบวนผู้ใช้แรงงานไปตามถนนราชดำเนินสู่ท้องสนามหลวง

จากนั้นเวลา 11.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์   ชินวัตร   นายกรัฐมนตรี  เดินทางมาประธานมารับหนังสือข้อเรียกร้องวันแรงงานจากนายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศและนางสุจิน   รุ่งสว่าง  ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ


น.ส.ยิ่งลักษณ์  กล่าวเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานมาตลอด เช่น การติดตามแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง เนื่องจากได้รับผลกระทบค่าจ้าง 300 บาทและมีมาตรการต่างๆช่วยเหลือสถานประกอบการจากปัญหาน้ำท่วมปี 2554  ขอให้แรงงานเร่งพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตและเพิ่มรายได้ให้แก่ สถานประกอบการ  ทำให้มีรายได้สูงขึ้นซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันการถูกเลิกจ้าง   รวมทั้งรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)เพื่อให้แข่งขันกับ ประเทศอื่นได้ นอกจากนี้จะให้กระทรวงแรงงานทบทวนข้อมูลด้านการจ้างงาน เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รองรับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงและโครงการพัฒนาประเทศวงเงิน  2 ล้านล้านซึ่งต้องการแรงงานสาขาต่างๆจำนวนมาก  รวมทั้งจะส่งเสริมแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศให้รับการคุ้มครอง นอกจากนี้รัฐบาลจะขยายการจัดตั้งมุมนมแม่ และศูนย์เลี้ยงเด็กในสถานประกอบการ และขยายโครงการโรงงานสีขาวป้องกันยาเสพติด  ทั้งนี้ตนได้รับข้อเรียกร้องทั้ง 11 ข้อไว้  และจะมอบให้รมว.แรงงานไปดำเนินการต่อไป


นายชินโชติ กล่าวถึงข้อเรียกร้อง 11ข้อ ได้แก่ 1.ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ 87 ,98 ข้อ 2.ออกกฎหมายตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้แก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง  3.ให้รัฐบาลยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้งวดสุดท้ายของลูกจ้าง  4.ขอให้เร่งแก้ไขพ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานกรรมการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2550 ให้เป็นแนวทางเดียวกับข้าราชการพลเรือน  5.ผลักดันกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจ 6.ออกพ.ร.ฎ.สถาบันความปลอดภัยฯในการทำงาน 7.นิรโทษกรรมให้แก่ผู้ประกันตน มาตรา 39 ,40 ที่ขาดส่งเงินสมทบกลับมาเป็นผู้ประกันตนได้  8.จัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กและศูนย์เก็บน้ำนมแม่ในสถานประกอบการ 9.แก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ให้ลูกจ้างชายมีสิทธิลาดูแลบุตรได้ 15 วัน 10.ออกพ.ร.ฎ.การจัดเก็บเงินสะสม และเงินสมทบ กำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง และ11.ตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานปี 56


ด้านนางสุจิน กล่าวว่า สำหรับข้อเรียกร้อง 4 ข้อได้แก่ 1.ขอให้รัฐบาลเร่งประกาศรับสมัครสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ 2.แต่งตั้งผู้แทนแรงงานนอกระบบเป็นคณะกรรมการบริหารกองทุนประกันสังคม 3.เร่งออกกฎกระทรวงตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้านพ.ศ.2553 และ4.บรรจุเรื่องอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานไว้ในระบบหลักประกัน สุขภาพแห่งชาติ


ขณะที่นายเผดิมชัย   สะสมทรัพย์     รมว.แรงงาน  กล่าวถึงกรณีที่นักวิชาการระบุว่ามีแรงงานในระบบ  4 ล้านคนยังไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทว่า หากนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างวันละ 300 บาท มีโทษตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน จำคุกไม่เกิน  6  เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากแรงงานไม่ได้รับการปรับค่าจ้างสามารถร้องเรียนได้  ส่วนปัญหาการเลิกจ้างนั้น  ขณะนี้มีแรงงานบางส่วนถูกเลิกจ้างเพราะได้รับผลกระทบ  แต่มีจำนวนน้อย ขอให้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างมาสมัครงานกับกระทรวง ที่มีตำแหน่งงานว่างรองรับกว่าแสนอัตรา  ส่วนผลโพลที่ระบุว่า  หลังจากขึ้นค่าจ้าง 300 บาทแล้ว ชีวิตแรงงานไม่ดีขึ้นนั้น ยืนยันว่าการปรับขึ้นค่าจ้างทำให้แรงงานมีรายได้สูงขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ ดีขึ้น ซึ่งโดยภาพรวมมีการปรับขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 40  ถือเป็นการปรับขึ้นค่าจ้างแบบก้าวกระโดด  แม้ราคาสินค้าจะพุ่งสูงขึ้นแต่ยังถือว่ามีอัตราที่ต่ำกว่าค่าจ้างที่ปรับ เพิ่มขึ้น  ส่วนปัญหาหนี้สินของแรงงานที่เพิ่มขึ้น เชื่อว่าเป็นหนี้เก่าสะสมไม่ได้เกิดจากปัญหาภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น
 

นางชญานุตน์     ศักดิ์กาญจนกุล     พนักงานฝ่ายผลิตบริษัทโกลด์ไมน์การ์เม้นท์ จำกัด  จ.สมุทรปราการ  ซึ่งผลิตเสื้อผ้าส่งออกต่างประเทศ  กล่าวว่า  การได้รับค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาทแล้ว ทำให้รายได้สูงขึ้น แต่ค่าครองชีพก็พุ่งขึ้นตามไปด้วย  อยากให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้า เช่น ค่ารถเมล์ ค่าไฟฟ้า รวมทั้งส่งเสริมทุนการศึกษาให้แก่บุตรหลานแรงงาน และปรับการให้บริการรักษาพยาบาลและยาของกองทุนประกันสังคมให้มีมาตรฐานเดียว กับกองทุนสุขภาพอื่นๆ


วันเดียวกันคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)ร่วมกับสมาพันธ์แรงงาน รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)และเครือข่ายแรงงานทั่วประเทศจัดกิจกรรมเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติโดย ได้รวมตัวกันที่บริเวณด้านหน้ารัฐสภาตั้งแต่เวลา 09.00 น. จากนั้นได้เดินขบวนไปยังด้านหน้าทำเนียบรัฐบาลและตั้งเวทีที่บริเวณประตู 5 และจัดกิจกรรมรำลึกถึงวันกรรมกรสากลสลับกับการไฮปาร์คบนเวที ก่อนจะเดินทางไปหน้าทำเนียบทวงถามข้อเรียกร้องวันแรงงานปี 55

(เดลินิวส์, 1-5-2556)

 

วันแรงงาน คนงานปราศรัยหน้าสภา-ยื่นหนังสือคัดค้าน ส.ส. ลงมติไม่รับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม

1 เม.ย. 56 - ที่บริเวณหน้ารัฐสภา กลุ่มแรงงานนำโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ทำการเปิดเวทีปราศรัยเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ โดยมีคนงานและสภาพแรงงานจากกลุ่มต่างๆ ร่วมสมทบอย่างคับคั่ง
 
โดยข้อเรียกร้องเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติในปีนี้ของคณะกรรมการ สมานฉันท์แรงงานไทย 5 ข้อ คือ 1.รัฐบาลต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 รวมทั้งเร่งรัดพิจารณาร่าง พรบ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับประชาชน 12,130 คน เป็นผู้เสนอ 2.รัฐบาลต้องยุตินโยบายและกฎหมายที่ละเมิดสิทธิแรงงาน กรณีผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟ 13 คน และแรงงานภาคเอกชน 3.รัฐบาลต้องสร้างระบบสวัสดิการสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมทางสังคม 4.รัฐบาลต้องยกเลิกนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และยุติการแทรกแซงรัฐวิสาหกิจ และ 5.รัฐบาลต้องปฏิรูประบบประกันสังคมให้เป็นอิสระโปร่งใส ตรวจสอบได้ และผู้ประกันตนต้องมีส่วนร่วม
 
นอกจากนี้ น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ผู้แทนผู้เสนอชื่อร่าง พ.ร.บ.ประนสังคม ฉบับขบวนการแรงงาน พร้อมด้วยประชาชนจำนวน 150  คน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายสมศักดิ์ เกียตรสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับหนังสือแทน เพื่อคัดค้านกรณีที่สภาลงมติไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่ น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คนเป็นผู้เสนอ
 
โดย น.ส.วิไลวรรณ กล่าวว่า เมื่อครั้งที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญนิติบัญญัติ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2556 ที่ประชุมสภาได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับดังกล่าว และลงมติไม่รับหลักการ ส่งผลให้ร่างนี้เป็นอันตกไป ตนและประชาชนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายเห็นว่า กระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายของสภาครั้งนี้ ไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 163 ซึ่งรับรองสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชนในการเสนอกฎหมาย โดยให้ผู้แทนประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายมีสิทธิเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3  ของจำนวน กมธ.ทั้งหมด เมื่อสภาไม่รับหลักการ ถือว่าสภาชุดนี้ไม่สนองตอบความต้องการของประชาชนผู้เสนอกฎหมาย ในการปฏิรูประบบบริหารกองทุนประกันสังคม จึงขอให้ประธานสภาดำเนินการเพื่อให้สภามีมาตรการที่เป็นหลักประกันต่อการ พิจารณาร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอให้เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ
 
ด้านนายสุวิจักขณ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเข้าชื่อ เสนอกฎหมายมาโดยตลอดซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีงาม ถึงแม้ว่าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ลงมติรับหลักการแต่ ประชาชนก็สามารถยื่นเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวมาใหม่ได้ตามสิทธิรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามตนจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อดำเนินการพิจารณาต่อไป

(เว็บไซต์ข่าวรัฐสภาถึงประชาชน, 1-5-2556)

 

บอร์ดค่าจ้างเมินเลิกมติคงค่าจ้าง 300 บาท 2 ปี

นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง กล่าวว่า กรณีที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) เสนอให้คณะกรรมการค่าจ้างยกเลิกมติการคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทไว้เป็นเวลา 2 ปีไปจนถึงปีพ.ศ.2558นั้น มองว่าขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทบทวน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของไทยโดยภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

ส่วนข้อเรียกร้องของแรงงานที่เสนอว่าหากไม่มีการยกเลิกการคงอัตราค่า จ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ไว้ 2 ปี ก็ให้กระทรวงแรงงานส่งเสริมให้สถานประกอบการต่างๆ ปรับขึ้นค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตามอายุงานและประสบการณ์ทำงาน ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่มีหลักเกณฑ์รองรับ จึงไม่สามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานจะสนับสนุนให้แรงงานมีการพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อให้ได้รับค่า จ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน

ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.)ได้จัดทำมาตรฐานฝีมือแรง งานไว้ประมาณ 200 สาขาอาชีพ แต่ในจำนวนนี้คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน จำนวน 22 สาขาอาชีพและขณะนี้กพร.ได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)สมาคม วิชาชีพต่างๆ และภาคเอกชนจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ซึ่งในปีนี้ตั้งเป้าหมายจะให้ได้ครบ 100 สาขาอาชีพ

(โพสต์ทูเดย์, 2-5-2556)

 

รมว.แรงงาน เผยแรงงานถูกเลิกจ้าง 1,300 คน

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการติดตามผลกระทบและสถานการณ์เลิกจ้าง หลังปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึงต้นเดือนพฤษภาคม 56 พบว่า สถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจำนวน 40 แห่ง เลิกจ้างแรงงานรวม 1,385 คน ซึ่งสถานประกอบการดังกล่าวเป็นการปิดกิจการ 3 แห่ง และเลิกจ้างลูกจ้างบางส่วน 37 แห่ง ซึ่งได้กำชับให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ดูแลแรงงานที่ถูกเลิกจ้างให้ได้รับเงินชดเชย และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 พร้อมระบุหากนายจ้างรายใดไม่จ่ายค่าจ้างวันละ 300 บาท ตามที่กฎหมายกำหนด มีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และลูกจ้างรายใดไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถร้องเรียนไปยังกระทรวงแรงงาน ได้

(ครอบครัวข่าว, 3-5-2556)

 

ข้อเสนอร่างคุณสมบัติผู้เข้าสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานฯ 44 สาขาอาชีพ

3 พ.ค.- อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เห็นด้วยกับภาคเอกชนที่เสนอให้ผู้ประกอบการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานตามความ ต้องการโดยให้รัฐเป็นผู้รับรอง คาดภายในเดือนนี้จะมีความชัดเจนก่อนสรุปผลและเสนอเข้าคณะอนุฯ กำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ 

นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กพร.ได้จัดสัมมนาประชาพิจารณ์ร่างคุณสมบัติผู้เข้ารับการทดสอบ วิธีการทดสอบมาตรฐานและอัตราค่าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ 44 สาขาอาชีพใน 11กลุ่มอุตสาหกรรม เช่น พนักงานประกอบมอเตอร์ ช่างทำสีฟอร์นิเจอร์ไม้จริง ซึ่งเป็นการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาคมวิชาชีพต่างๆและภาคเอกชนโดยได้ข้อสรุปว่า ควรให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ กลุ่มอาชีพและสถานประกอบการต่างๆ เป็นผู้กำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานและภาครัฐเป็นผู้รับรอง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการอย่างแท้จริง ซึ่ง กพร.เห็นด้วยกับเรื่องนี้

ส่วนอัตราค่าทดสอบนั้น ควรจัดเก็บตามความเหมาะสม ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละสาขาอาชีพว่ามีค่าใช้จ่ายในการทดสอบและอุปกรณ์ต่างๆ มากน้อยเพียงใด แต่ไม่ควรสูงเกินไปจนไม่มีผู้เข้าทดสอบ อย่างไรก็ตาม กพร.จะขอความร่วมมือสถานประกอบการต่างๆ ในเรื่องสถานที่ อุปกรณ์ เครื่องมือการทดสอบ โดยจะรวบรวมผู้เข้าทดสอบเป็นกลุ่มและจัดทดสอบในคราวเดียว เพื่อลดค่าใช้จ่ายและไม่สร้างภาระแก่สถานประกอบการ  ซึ่งคาดว่าภายในเดือนนี้จะได้ความชัดเจนในเชิงลึกมากยิ่งขึ้นก่อนสรุปผลและ เสนอเข้าคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ หากผ่านความเห็นชอบ จะเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานต่อไป คาดว่าจะผ่านการพิจารณาและประกาศใช้ร่างวิธีการทดสอบภายในปีนี้

ส่วนของผู้ที่จบการศึกษาระดับ ปวช.และ ปวส.สาขาช่างฝีมือต่างๆ ซึ่งหน่วยงานด้านการศึกษาห่วงว่าจะไม่ผ่านการทดสอบนั้น กพร.จะเข้าไปช่วยจัดอบรมเตรียมความพร้อมในการเข้ารับการทดสอบก่อนจบการศึกษา

(สำนักข่าวไทย, 3-5-2556)

 

สธ.บรรจุลูกจ้างชั่วคราวกว่า 1 แสนคน เป็น “พนักงาน กสธ.” เสร็จในสิงหาคมนี้

4 พ.ค. 56 - ที่โรงพยาบาลนครนายก จ.นครนายก นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมสมาชิกสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย ใน 17 จังหวัดภาคกลางจำนวน 600 คน เพื่อชี้แจงนโยบายและความคืบหน้าในการปรับเปลี่ยนสถานภาพของลูกจ้างชั่วคราว ที่ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลที่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข หรือพกส. เป็นไปตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยพนักงานกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2556 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2556 เป็นต้นมา

นายแพทย์ชลน่านกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายปรับปรุงรูปแบบการจ้างงานเจ้าหน้าที่ในส่วนราชการ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข  เพื่อให้การปฏิบัติราชการเกิดความคล่องตัว มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสอดคล้องกับนโยบายในการแก้ไขปัญหาความขาดแคลน อัตรากำลังคน ในการให้บริการดูแลรักษาประชาชนที่เจ็บป่วย โดยหลังจากที่ได้ออกระเบียบว่าด้วยพนักงานกระทรวงสาธารณสุข และมีผลบังคับใช้มาแล้ว 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2556 เป็นต้นมา  กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งดำเนินการบรรจุลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งมีทั้งหมด 117,000 คน  มีทั้งสายวิชาชีพเฉพาะเช่นพยาบาลวิชาชีพ  และสายสนับสนุนต่างๆ ที่ก.พ.รับรองคุณวุฒิการศึกษา แล้ว  เข้าเป็นพนักงานกระทรวงฯ ให้เสร็จสิ้นพร้อมกันทั่วประเทศภายในเดือน สิงหาคม 2556 นี้ มีสัญญา 4 ปี เหมือนพนักงานราชการ  พร้อมเข้าสู่ระบบการจ้างงานแบบใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไป

นายแพทย์ชลน่าน กล่าวต่อว่า  อัตราการจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุข จะใช้บัญชีเงินเดือนของข้าราชการและลูกจ้างประจำ ยกเว้นสายงานวิชาชีพ เช่นพยาบาล จะได้รับ 1.2 เท่าของเงินเดือนข้าราชการ ขั้นต้น 15,960 บาท ขณะที่ตามระบบเดิมจะได้รับ 11,340บาท เลื่อนค่าจ้างทุกวันที่ 1 ตุลาคมของปี และปรับเพิ่มค่าจ้างไม่เกินร้อยละ 12 ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นคงในอาชีพ นอกจากนั้นยังได้รับสิทธิและสวัสดิการต่างๆไม่ต่างจากข้าราชการ มีสิทธิลา การศึกษาต่อ ลาคลอดบุตร ส่วนผู้ชายมีสิทธิลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตรได้ไม่เกิน 15 วันทำการ  

ด้านนายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ในการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเข้าสู่ตำแหน่งพนักงานกระทรวงสาธารณสุข จะมีคณะกรรมการของหน่วยบริการดำเนินการประเมิน ทั้งความรู้ ความสามารถ ทักษะ สมรรถนะและคุณลักษณะของบุคคล  โดยแบ่งพนักงานกระทรวงออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภททั่วไป มี 3 กลุ่มงาน ได้แก่ 1.กลุ่มเทคนิคบริการและบริหารทั่วไป 2.กลุ่มวิชาชีพเฉพาะ 3.กลุ่มเชี่ยวชาญ และประเภทพิเศษได้แก่ กลุ่มที่ต้องใช้ความสามารถสูงและมีความจำเป็นของหน่วยงาน ที่สำคัญมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสร้างความมั่นคงให้แก่พนักงานฯทุกคน เมื่ออายุมากขึ้นจนถึงวัยเกษียณก็จะมีเงินสะสม รวมกับเงินสมทบพร้อมทั้งผลกำไรที่เกิดจากการลงทุนคืนให้สมาชิกทุกคน    

(มติชนออนไลน์, 4-5-2556)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net