คุยเรื่องเซ็กส์กับ ชลิดาภรณ์: ความไม่หลากหลายในความหลากหลายทางเพศ

 

บ่ายวันพฤหัสฯที่ 25 เมษายน อาจารย์ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ ได้รับเชิญให้ไปบรรยายในโครงการ “สร้างเสริมศักยภาพนักกิจกรรมรุ่นใหม่เรื่องสิทธิทางเพศครั้งที่ 1 : เรา เรื่องเพศ และงานพัฒนา” โดยการบรรยายเป็นลักษณะการถามตอบระหว่างผู้บรรยายกับผู้ร่วมเสวนา

ชลิดาภรณ์เริ่มต้นด้วยหลักเกณฑ์บางประการว่า การจะพูดคุยกันเรื่องเซ็กส์ต้องยึดหลักการ 3 ข้อ 1. เรื่องเพศต้องถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน 2. เรื่องเพศเป็นสิ่งที่ลื่นไหล อย่าไปยึดติดหรือโหยหาสิ่งที่ผ่านไปแล้วในอดีต 3. อย่าตั้งคำถามกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนลืมตั้งคำถามกับเรื่องอื่นๆ อาจจะยังไม่เข้าใจว่า 3 ข้อนี้คืออะไร แต่พอพูดคุยกันไปก็จะเข้าใจขึ้นเอง

คำถาม 1: นิตยสารแฟชั่นฉบับหนึ่งเคยทำโพลสำรวจ พบว่าผู้หญิงที่มีรูปร่างใหญ่มีผลต่อการสร้างความประทับใจครั้งแรก (first impression) ฟังแล้วรู้แปลกแยก สรุปแล้วความอ้วนเป็นอุปสรรคจริงๆ หรือไม่

ตอบ: แน่นอนว่าเราไม่ได้มองคนอ้วนเป็นก้อนไขมันเดินได้ไม่มีหน้ามีตา ความอ้วนเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น เราจะชอบคนแบบไหนมันขึ้นอยู่กับรสนิยม บางคนอาจจะชอบคนแก่เพราะดูเป็นผู้ใหญ่ บางคนอาจชอบคนตัวอ้วนเพราะดูอบอุ่น มันก็สร้างความประทับใจได้ทั้งนั้น แต่อย่างลืมว่ารักแรกพบมันเป็นเรื่องของการปิ๊ง การปิ๊งกันมันไม่ซับซ้อน ที่ซับซ้อนกว่าคือการรักกันต่างหาก และที่สำคัญที่สุดอย่าคิดจะแก้ปัญหานี้โดยอ้างว่า “ก็แค่อย่าเลือกคนรักที่มองที่รูปลักษณ์ภายนอก” เพราะในขณะที่คุณเลือกคนอื่น คนอื่นก็เลือกคนอยู่เหมือนกัน จะไม่แคร์สายตาชาวบ้านเลยคงไม่ได้

คำถาม 2: เราเป็นคนชอบมองผู้หญิงน่ารักๆ ไปเที่ยวกับผู้หญิง ไปไหนมาไหนกับผู้หญิง แต่มีเซ็กส์กับคู่ของเราที่เป็นผู้ชาย แบบนี้แปลว่าเราชอบเพศเดียวกันไหม?

ตอบ: คำถามนี้น่าสนใจเพราะจากคำถาม เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าคนถามเขามีเพศต้นกำเนิดเป็นหญิงหรือชาย แต่เราไม่ต้องคิดถึงเรื่องนั้นก็ได้ ประเด็นอยู่ที่เราทุกคนสับสนว่าเราเป็นใคร เราอยู่ในสังคมที่ต้องมีการจัดประเภท เหมือนเราพยายามเอาตัวเราไปใส่กล่องที่สังคมจัดวางไว้ให้ และเราก็บังคับตัวเองให้ซื่อสัตย์อยู่กับกล่องนั้น ทั้งๆ ที่ความเป็นจริง เรื่องเพศมันลื่นไหลมาก คนที่นิยามตัวเองว่าเป็นเลสเบี้ยนวันหนึ่งก็อาจจะหันมาชอบผู้ชายได้ และการที่เราบอกตัวเองว่าเราชอบเพศอะไร ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะชอบคนทุกคนที่เป็นเพศนั้น ทอมก็ไม่ได้ชอบดี้ทุกคน ผู้ชายก็ไม่ได้ชอบผู้หญิงทุกคน เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดถึงความหลากหลายทางเพศ จริงๆ แล้วมันไม่ได้หลากหลายเลย มันมีทางเลือกให้เราน้อยมากเมื่อเทียบกับความลื่นไหลทางเพศของมนุษย์ ถึงจะพยายามหลากหลายแต่ก็หลากหลายอย่างจำกัด เมื่อมันจำกัดจนเราจึงไม่สามารถจัดตัวเองได้ว่าควรอยู่ในกล่องไหน จนเรามักตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราปกติดีหรือเปล่า” จนรู้สึกอึดอัดกับตัวเอง

คำถาม 3: กรณีที่ผู้ชาย 2 คนมีภรรยาแล้วทั้งคู่แต่ก็มีเซ็กส์กันแบบผลัดกันรุกผลัดกันรับ อยากรู้ว่าเขาคิดอะไร! รู้สึกอย่างไร! ทำไมถึงทำเช่นนั้น!

ตอบ: ถ้าดิฉันตอบได้ว่าคนมีเซ็กส์กันรู้สึกอย่างไร ดิฉันคงเลิกเป็นอาจารย์ไปแล้ว คำถามนี้คล้ายคลึงกับข้อที่แล้ว นี่คือปัญหาของความไม่หลากหลายในความหลากหลายทางเพศ ข้อที่แล้วคือ “เราเป็นอะไร?” ส่วนข้อนี้คือ “เขาเป็นอะไร?” เพราะเราไม่สามารถจับเขาเข้าไปใส่ในกลองที่สังคมมีให้ มันจึงเกิดคำถามอื่นๆ ตามมาอีกเช่น “เราต้องวางตัวอย่างไร?” “เราจะมีปฏิสัมพันธ์กับเขาอย่างไร” เราคาดหวังให้คนในสังคมสามารถจัดประเภทได้ เพราะมันทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตมันง่ายขึ้น เช่นถ้าหากเราชอบผู้ชายแท้แล้วรู้ว่าคนนี้เป็นเกย์เราก็จะได้ปิดประตู ซึ่งความจริงแล้วเพศมันลื่นไหลเกินกว่าที่เราควรจะรีบปิดประตู

เพราะฉะนั้นจากสองคำถามข้างต้นทำให้เราเห็นแล้วว่าการจัดประเภทไม่ใช่หนทางที่ดีนัก ที่เรามักพูดกันว่าความหลากหลายทางเพศจริงๆ แล้วมันไม่ได้หลากหลายเลย
 

คำถาม 4: ผู้ชายเจ้าชู้มาจากไหน/ ที่มาและที่ไปเป็นอย่างไร

ตอบ: ความน่าสนใจของคำถามนี้คือทำไมคำว่าเจ้าชู้จึงผูกติดกับผู้ชาย จริงๆ แล้วเพศอะไรก็เจ้าชู้ได้ และไม่ใช่ว่าผู้ชายจะเจ้าชู้ได้ทุกคน การเจ้าชู้เป็นศิลปะชั้นสูง ไม่เก่งจริงเจ้าชู้ไม่ได้ แต่สังคมทำให้เราคิดว่าผู้ชายเท่านั้นที่เจ้าชู้ได้ มันเหมือนการสร้างมาตรฐาน และสงวนสิทธิ์บางอย่างไว้ให้ผู้ชายเท่านั้น อัตราการถูกประณามหากคนที่เจ้าชู้เป็นผู้หญิงจะสูงกว่าผู้ชายมาก เรื่องนี้สะท้อนความอึดอัดที่เกิดจากกรอบกติกาทางเพศ สรุปแล้วความรักเป็นเรื่องของคนสองคนหรือมากกว่านั้น หากความรักระหว่างคนสองคนเป็นเรื่องดีจริง ก็ต้องใช้เป็นหลักเกณฑ์เดียวกันไม่ว่าเพศอะไร

คำถาม 5: เซ็กส์แบบไม่ผูกมัด แต่ยังคงดูแลกันคืออะไร

ตอบ: นี่เป็นอีกหนึ่งแนวคำถามแบบ “มันเรียกว่าอะไร” แต่คราวนี้เปลี่ยนจากเรื่องเพศมาเป็นเรื่องเซ็กส์ ซึ่งแน่นอนว่ามันก็จัดประเภทไม่ได้เหมือนกัน เพราะคำว่าไม่ผูกมัดมันก็มีหลายระดับตั้งแต่สุดขั้วแบบน้ำแตกแล้วแยกทาง หรือแบบยังมีรอบสองแต่ไม่เป็นแฟนกัน หรืออาจเป็นแฟนกันแต่ไม่ต้องรักเดียวใจเดียว มันเยอะมากจนเราไม่สามารถจำแนกให้มันครอบคลุมได้

คำถาม 6: การแต่งงานเป็นเครื่องรักษาสัมพันธภาพระหว่างชาย-หญิงจริงหรือไม่

ตอบ: การแต่งงานเป็นเครื่องมือที่รัฐใช้ในการจัดระเบียบสังคมแบบผัวเดียวเมียเดียว มันทำให้คนในสังคมกลายเป็นศาลเตี้ย คอยจ้องจับผิดว่าคนที่แต่งงานแล้วแอบนอกใจคู่ของตนหรือไม่ แล้วก็คาบข่าวไปบอกชาวบ้านอีกที ผู้ที่มีประสบการณ์มาแล้วจะรู้ว่ามันไม่ได้การันตีว่าสัมพันธภาพจะยืนยาวเลย บางคนแต่งงานแล้วเลิกกันเลยก็มี แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือหากสังคมเชื่อว่าสถาบันการสมรสดีจริง เหตุใดจึงไม่เปิดให้มันเป็นสถาบันของคู่รักทุกเพศ เหตุใดจึงยังสงวนไว้ให้แค่คู่รักหญิงชาย

คำถาม 7: เราจะเยียวยาการที่แฟนขอเลิกเพื่อไปคบกับคนที่เรารู้จักได้อย่างไร เราจะเป็นเพื่อนกันต่อไปได้จริงหรือ?

ตอบ: การโดนบอกเลิกเป็นเรื่องที่เจ็บปวด มันเจ็บปวดกว่าคำถามที่ว่า “เราเป็นเพศอะไร?” หรือ “เขาเป็นเพศอะไร” มันเป็นความเจ็บที่จริงมาก ยิ่งไปคบกับคนที่เรารู้จักยิ่งทำให้รู้สึกเจ็บจากการถูกเปรียบเทียบ แน่นอนว่ามันต้องใช้เวลา มันไม่เหมือนเข้าส้วมที่ใช้เวลานิดเดียวก็หาย อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการเยียวคือคนให้คำปรึกษา เรามักเอาความสุขของเราไปเยียวยาความทุกข์ของคนอื่นเช่น “เจ็บแป๊บเดียวเดี๋ยวก็หาย” ทั้งๆ ที่มันไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะคนที่อกหัก หัวใจเขากำลังแตกเป็นชิ้นๆ เราใช้ความรู้สึกของเราหลังจากหัวใจเราฟื้นตัวไปปลอบใจคนอื่น แต่เราลืมนึกไปว่าช่วงระหว่างการฟื้นตัวมันทรมานขนาดไหน เสียน้ำตาไปขนาดไหน ถามว่าเลิกกันแล้วเป็นเพื่อนกันได้ไหม บอกได้เลยว่ายาก เพราะวิธีที่ดีที่สุดในการเยียวยาอาการอกหักคือ 1. หาแฟนใหม่ แต่วิธีนี้ถ้าไม่เก่งจริงก็ทำไม่ได้ 2. หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า การเจอกันมีแต่จะทำให้แย่ลง เราอาจจะกลับมาเป็นเพื่อนกันได้ใหม่ แต่ในช่วงแรกบอกเลยว่าเป็นไปไม่ได้ เราอาจจะเสียดายช่วงเวลาหรือมิตรภาพที่เคยมีร่วมกัน แต่อย่างน้อยเราต้องจัดการกับหัวใจเราเองก่อน อีกสองวิธีที่ช่วยทำให้การเยียวยาง่ายขึ้นคือ 1. รวบรวมแรงที่มีมาจัดการหัวใจตัวเองให้เข้มแข็งให้ได้ 2. หาเพื่อนดีๆ ซักคนเป็นที่ปรึกษา อย่าแบกมันไว้คนเดียว

คำถาม 8: ชีวิตรักระหว่างกระเทยกับผู้ชายถูกทำให้เชื่อว่ากระเทยต้องเป็นฝ่ายให้เสมอทั้งเงินและความรัก ความสัมพันธ์จึงจะยืนยาว อยากทราบว่าความคิดเหล่านี้มาจากไหน เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ชาย-หญิงด้วยหรือไม่

ตอบ: เรามักเข้าใจกันว่าความรักที่มีคุณภาพคือความรักที่ยืนยาว แต่ความจริงแล้วมันไม่มีคู่รักไหนหรอกที่รักกันไปจนแก่ฒ่า หากลองไปถามคู่รักวัยทองว่าเหตุใดจังยังอยู่ด้วยกันก็มักได้คำตอบว่า “อยู่เพื่อลูก” หรืออาจหนักถึงขั้น “กลัวเลิกกันแล้วจะไม่มีอะไรกิน” คืออยู่กันเพราะแรงเฉื่อยของความรัก รักโรแมนติกชนิดที่ว่าหายใจเข้าออกก็เป็นเธอมันอายุสั้นมาก แต่มันถูกแทนที่ด้วยสิ่งอื่นเช่น มิตรภาพ หรือข้อผูกมัด (commitment) เช่นบ้านหรือลูก ฉะนั้นความรักมันไม่ได้ยั่งยืนโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว

ความรักระหว่างเพศเดียวกันก็ไม่ต่างกันหรอก แต่ที่พูดอย่างนี้อย่าเข้าใจผิดว่ารักแท้ไม่มีจริง “รักแท้มีจริง ณ ช่วงเวลาที่กูรักมึง” มันอาจจะเป็นเพราะกำลังเคลิบเคลิ้มกับเสียงเพลงรัก หรือบทกวีหวานหู ความรู้สึกรักมันก็เกิดขึ้นจริงๆ ทีนี้เมื่อพูดเรื่องเงิน บางคนอาจมองว่ารักที่ดีต้องไม่มีเงินมาเกี่ยวข้อง แต่มันอาจไม่ตายตัวอย่างนั้น บางคู่ที่รักกันนานก็เพราะช่วยกันทำมาหากินหาเงินทองมาด้วยกัน มันก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ทำไมเราจะรักใครเพราะเงินไม่ได้ ความรักมันก็เกิดจากการผสมผสานกันระหว่างปัจจัยต่างๆ ทั้งฐานะ การศึกษา หน้าตา อัธยาศัย แต่ที่เราไปหลงคิดว่ารักที่ดีต้องไม่มีเงินมาข้อเกี่ยวเพราะเราไปติดกับปล่อยให้สังคมสร้างนิยามความรักให้กับเรา และขังเราไว้ในกรอบคำนิยามนั้น

คำถามข้อนี้แสดงให้เราเห็นว่าบางครั้งเราอยากได้ หรืออยากเห็นในสิ่งที่เราคาดหวัง แต่สุดท้ายสิ่งที่เราคาดหวังอาจไม่มีตัวตนจริงก็ได้ แต่มันตลกตรงที่มันก็เป็นความคาดหวังของคนอื่นด้วยเช่นกัน ต่อให้เรารู้ตัวว่าเราถูกค่านิยมทางสังคมกักขังอยู่ เราอาจจะพยายามดิ้นให้หลุดจากกรอบ แต่ก็ใช่ว่าคนอื่นๆ เขาจะดิ้นหลุดเหมือนเราและเข้าใจสิ่งที่เราคิด

คำถาม 9: ทำไมการคุยเรื่องเซ็กส์กับคนในสังคม หรือแม้กระทั่งกับคู่ของเราจึงเป็นเรื่องยาก

ตอบ: ตอบประเด็นเรื่องคู่ก่อน ของแบบนี้ไม่จำเป็นต้องคุยกันเพราะมันสังเกตได้จากท่าทาง ถ้าเราแคร์คู่ของเรา เราจะไม่อยากคุยเรื่องนี้เพราะกลัวจะรับความจริงไม่ได้และอาจกระทบความสัมพันธ์ ลองจินตนาการว่าถ้าเราบอกแฟนเราว่า “เราไม่ชอบสไตล์การมีเซ็กส์ของเธอ” แฟนเราจะทำหน้ายังไง ในขณะเดียวกัน ในมุมของสังคม ลองจินตนาการว่าถ้าเราไปบอกคนอื่นในสังคมว่า “เราเป็นคนชอบคุยเรื่องเซ็กส์” คนอื่นจะทำหน้าอย่างไร เราจะโดนดูถูกในทันที สังคมสั่งให้เราอย่าไปหมกมุ่นเรื่องเพศ ในขณะเดียวกันสังคมก็กำหนดกรอบกติกาการมีเซ็กส์ไว้อย่างเคร่งครัดและบังคับให้เราชื่นชอบมัน กติกาดังกล่าวมันยิ่งทำให้เรากลัวจนไม่กล้าเปิดเผยรสนิยมทางเพศของเรา แต่เอาเข้าจริง กติกาดังกล่าวก็ไม่สามารถมากำหนดรสนิยมทางเพศของเราได้จริงๆ หรอก เราอาจชอบมีเซ็กส์กับเด็ก เกิดอารมณ์ทางเพศกับหมา ฯลฯ แต่เราก็จะไม่บอกใคร เพราะมันมีความเสี่ยงสูงหากสิ่งที่เราพูดมันผิดแผกไปจากกติกาของสังคม เซ็กส์จึงเป็นเรื่องที่ “คนทำแต่คนไม่พูด” ปัญหาของเรื่องนี้คือ ยิ่งเราอยู่ในสังคมที่ยังคงเชื่อว่าทุกคนชื่นชอบกติกาทางเพศแบบเดิมๆ มากเท่าไร การพูดคุยเรื่องเซ็กส์ก็ทำได้ยากมากขึ้นเท่านั้น

คำถาม 10: วิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ส่งผลต่อการรุก-รับเวลามีเซ็กส์หรือเปล่า

ตอบ: ก่อนจะตอบคำถามนี้ขอทำความเข้าใจกับคำว่า “ชายเป็นใหญ่” ก่อน สังคมที่มีวิธีคิดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายในสังคมจะได้ทุกอย่างดั่งใจ ตรงกันข้ามผู้ชายบางคนอาจล้มเหลวตลอดชีวิต การพูดว่าสังคมชายเป็นใหญ่จึงไม่ถูกต้อง เราควรเรียกว่า “สังคมนิยมชาย” กล่าวคือผู้มีคุณสมบัติความเป็นชายจะได้เปรียบในสังคมนี้ ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายมีอำนาจในการสั่งการเสมอไป ยกตัวอย่างเช่นเวลามีการโต้เถียงกันระหว่างผู้หญิง-ผู้ชาย ผู้ชายจะสามารถหยิบเอาคำบางคำมาลดทอนคุณค่าของฝ่ายหญิงได้ตลอดเวลา เช่น “อีร่าน” “อีดอกทอง” ซึ่งคำพวกนี้ด่าผู้ชายแทบไม่รู้สึกอะไร ซึ่งแนวคิดแบบนิยมชายก็ส่งผลไปถึงเรื่องเซ็กส์ด้วย เคยมีงานวิจัยว่าภาพแบบใดที่ทำให้ผู้หญิงเกิดอารมณ์ทางเพศได้มากที่สุด ผลปรากฏว่าภาพที่ทำให้ผู้ชายเกิดอารมณ์ทางเพศเช่นภาพเนินออก ภาพผู้หญิงโป๊เปลือย สามารถทำให้ผู้หญิงเกิดอารมณ์ทางเพศได้มากที่สุด ส่วนภาพผู้ชายโป๊เปลือยและอวัยวะเพศชายตามมาเป็นอันดับสอง

เรื่องการรุก-รับก็เป็นความรุนแรงอีกแบบหนึ่งที่เกิดจากสังคมนิยมชาย เรามักเข้าใจว่าเซ็กส์คือการสอดใส่ลึงค์เข้าไปในช่องคลอด เสียดสีกันให้เกิดความเสียวซ่าน (fiction) และสิ้นสุดเมื่อถึงจุดสุดยอด (orgasm) ซึ่งความเข้าใจนี้ทำให้ผู้หญิงเสียเปรียบ เพราะ 60% ของผู้หญิงไม่สามารถถึงจุดสุดยอดได้ระหว่าง การสอดใส่แม้แต่ท่าที่ดูเหมือนผู้หญิงจะเป็นฝ่ายคุมหรือ women on top ก็มีจุดประสงค์เพื่อสร้างการเสียดสีและนำไปสู่การถึงจุดสุดยอดของผู้ชายอยู่ดี ความสุขที่ผู้หญิงได้จากการมีเซ็กส์จึงน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ชาย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท