Skip to main content
sharethis

ผลคะแนนรวมพรรคฝ่ายค้านได้ 4.84 ล้านคะแนน พรรครัฐบาลได้ 4.49 ล้านคะแนน แต่ระบบเลือกตั้งมาเลเซียมีแต่แบบแบ่งเขต ทำให้พรรครัฐบาลมาเลเซียยังคงชนะการเลือกตั้งโดยได้ที่นั่ง ส.ส. 133 ที่นั่ง ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน ได้ 89 ที่นั่งเพิ่มจากเดิม 7 ที่นั่ง "นาจิป ราซัก" ลั่นถ้าจะร้องเรียนให้ไปฟ้องที่ศาล

ตามที่มาเลเซียจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวานนี้ (5 พ.ค.) นั้น ผลการเลือกตั้งไม่เป็นทางการล่าสุดพรรครัฐบาล "แนวร่วมแห่งชาติ" (Barisan Nasional/BN) ยังคงชนะการเลือกตั้งโดยได้ที่นั่ง ส.ส. 133 ที่นั่ง ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน "ภาคีประชาชน" (Pakatan Rakyat/PR) แม้จะแพ้การเลือกตั้งแต่ได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นเป็น 89 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งคราวก่อน 7 ที่นั่ง

ทั้งนี้เมื่อดูตามผลคะแนนรวมแบบไม่เป็นทางการ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 4.84 ล้านคน ลงคะแนนเลือกพรรคฝ่ายค้าน "ภาคีประชาชน" (PR) หรือคิดเป็นร้อยละ 50.27 ขณะที่มีผู้เลือกพรรครัฐบาล "แนวร่วมแห่งชาติ" (BN) 4.49 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 46.57% นับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ตั้งประเทศในปี พ.ศ. 2510 ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้พรรคฝ่ายค้านมากกว่าลงคะแนนให้กับพรรครัฐบาล อย่างไรก็ตามแม้ฝ่ายค้านจะได้คะแนนรวมมากกว่า แต่จะไม่มีผลอะไรสำหรับการตั้งรัฐบาล เพราะระบบการเลือกตั้งมาเลเซียเป็นแบบแบ่งเขต ไม่มี ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ

 

"นาจิป" แถลงใครจะร้องเรียนขอให้ไปที่ศาล ยันการเลือกตั้งโปร่งใส

ภาพจากการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ โดยเป็นการแถลงข่าวของพรรครัฐบาล "แนวร่วมแห่งชาติ" (BN) นำโดยรักษาการณ์นายกรัฐมนตรีและผู้นำพรรคแนวร่วมแห่งชาติ นาจิป ราซัก (ยืนโพเดียม ซ้ายมือ) เมื่อกลางดึกที่ผ่านมา

 

ด้านพรรครัฐบาลได้แถลงข่าวกลางดึก ในเวลาประมาณ 1.10 น. เข้าสู่วันใหม่ของวันที่ 6 พ.ค. ตามเวลาท้องถิ่น นาจิป ราซัก รักษาการณ์นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และผู้นำพรรคแนวร่วมแห่งชาติ (BN) ได้ประกาศชัยชนะและแถลงข่าวว่า "เราได้แสดงให้โลกเห็นว่าเราเป็นประเทศประชาธิปไตยแท้จริง" และ ผลการเลือกตั้งแสดงให้เห็นว่าเกิดแนวโน้มของการเมืองแบบสองขั้ว ซึ่งสิ่งนี้แสดงความกังวลต่อรัฐบาล และถ้าหากไม่มีการจัดการปัญหา สิ่งนี้จะสร้างความตึงเครียดหรือเกิดการแบ่งแยกขึ้นในประเทศ

ในระหว่างแถลงข่าว ซึ่งมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ด้วย นาจิปกล่าวด้วยว่า ถ้าใครมีข้อร้องเรียนเรื่องการเลือกตั้งขอให้ไปที่ศาล และกล่าวด้วยว่ากระบวนการเลือกตั้งเป็นไปอย่างโปร่งใส ถ้ามีปัญหาขอให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน นอกจากนี้นาจิปยังย้ำต่อฝ่ายค้านด้วยว่า การเลือกตั้งเป็นไปด้วยกระบวนการที่โปร่งใส กรุณายอมรับผลการเลือกตั้ง

อนึ่งการเลือกตั้งมาเลเซียรอบนี้มีการร้องเรียนเรื่องความไม่ชอบมาพากลหลายกรณี เช่น หมึกที่ใช้พิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อแสดงว่าลงคะแนนแล้ว ซึ่งใช้งบประมาณจัดซื้อราว 5 ล้านริงกิต (48 ล้านบาท) คณะกรรมการการเลือกตั้งระบุว่าเป็นหมึกชนิดลบไม่ออกนั้น ปรากฎว่ามีการร้องเรียนรวมถึงโพสต์รูปเผยแพร่ในเว็บโซเชียลมีเดียว่าสามารถลบออกได้

นอกจากนี้มีการกล่าวหาว่าจะมีการ "ลงคะแนนผี" โดยพรรครัฐบาลมอบบัตรประชาชนแก่แรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะแรงงานจากบังกลาเทศ และอินโดนีเซีย เพื่อให้ลงคะแนนให้กับพรรครัฐบาล โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งแข่งขันกับฝ่ายค้านสูสี ดังนั้น ทำให้ตลอดทั้งวันที่มีการเลือกตั้งผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านได้รวมตัวจับตาตามหน่วยเลือกตั้งต่างๆ เมื่อพบคนที่น่าสงสัยว่าไม่มีสัญชาติมาเลเซีย ก็จะเข้าไปสอบถาม อย่างไรก็ตามก็มีการร้องเรียนด้วยเช่นกันว่าเกิดกรณีเข้าใจผิดหลายกรณี เช่น ชาวมาเลเซียที่มีบรรพบุรุษสืบเชื้อสายมาจากประเทศย่านเอเชียใต้ ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นแรงงานข้ามชาติ เป็นต้น

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 3 พ.ค. บล็อกเกอร์ในปีนังรายหนึ่ง ได้เผยแพร่คลิปความยาว 2.40 นาที (ชมคลิป) แสดงให้เห็นภาพคนจำนวนมากยืนเข้าแถวเพื่อรอรับสิ่งของ ที่หน้าสำนักงานโครงการ 1Malaysia Development Berhad ของรัฐบาล ที่ย่าน Air Puteh เกาะปีนัง พื้นที่ซึ่งขับเคี่ยวกันระหว่าง ส.ส.พรรคกิจประชาธิปไตย (DAP) ซึ่งอยู่ในพรรคฝ่ายค้าน และพรรครัฐบาล "แนวร่วมแห่งชาติ" (BN) ทั้งนี้มาเลเซียกินีอ้างรายงานของมาเลย์เมล์  ว่า ผู้คนที่มายืนเข้าแถวดังกล่าวให้สัมภาษณ์ว่าพวกเขาไม่ได้มาเข้าแถวเพื่อลงทะเบียนจองโครงการอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว แต่มารับเงินสดจำนวน 500 ริงกิต (ประมาณ 4,800 บาท)

 

รัฐบาลสูญเสียที่นั่ง "เสียงข้างมาก 2 ใน 3" ติดต่อกันในการเลือกตั้ง 2 ครั้งหลังสุด

ทั้งนี้พรรครัฐบาลมาเลเซีย "แนวร่วมแห่งชาติ" (BN) ชนะการเลือกตั้งและครองอำนาจในมาเลเซียมานับตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี พ.ศ. 2510 อย่างไรก็ตามพรรคฝ่ายค้าน "ภาคีประชาชน" หรือ PR ก็ได้เสียงในสภามากขึ้น โดยการเลือกตั้งครั้งก่อนนี้ในปี 2551 พรรคฝ่ายค้านได้ ส.ส. 82 ที่นั่ง ส่วนฝ่ายรัฐบาลได้ 140 ที่นั่ง ซึ่งลดลง 58 ที่นั่ง จากเดิมที่เคยได้ 198 ที่นั่งในการเลือกตั้งปี 2547 ขณะที่การเลือกตั้งรอบนี้พรรคฝ่ายค้านได้ที่นั่งรวม 89 ที่นั่ง ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลได้ 133 ที่นั่ง

แม้พรรคฝ่ายค้าน "ภาคีประชาชน" (PR) จะชนะได้ ส.ส. เพิ่มขึ้น 7 คน โดยได้มาจากพื้นที่รัฐซาบาห์ และซาราวัก แต่ได้เสียพื้นที่รัฐเคดะห์ให้พรรครัฐบาล "แนวร่วมแห่งชาติ" (BN) จากเดิมที่เคยชนะได้เมื่อการเลือกตั้งปี 2551 อย่างไรก็ตามฝ่ายค้านยังคงรักษาที่นั่ง ส.ส. ในเขตกัวลาลัมเปอร์ รัฐสลังงอร์ รัฐปีนัง และรัฐกลันตันไว้ได้ ส่วนรัฐที่เหลือพรรครัฐบาลยังคงมีจำนวน ส.ส. มากกว่า

นอกจากนี้ยังถือได้ว่าพรรครัฐบาล "แนวร่วมแห่งชาติ" (BN) ไม่ได้มี ส.ส. เป็นจำนวนเสียงข้างมาก 2 ใน 3 ติดต่อกันในการเลือกตั้ง 2 ครั้งแล้ว นับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2551

สำหรับผลการเลือกตั้ง ส.ส. มาเลเซีย ที่น่าสนใจนั้น หลิม กิต เสียง ผู้นำอาวุโสจากพรรคกิจประชาธิปไตย (DAP) ซึ่งอยู่ในพรรคฝ่ายค้าน "ภาคีประชาชน" (PR) สามารถชนะอับดุล กานี ออตมาน อดีตผู้ว่าการรัฐยะโฮร์ และผู้สมัครจากพรรครัฐบาล "แนวร่วมแห่งชาติ" (BN) ที่เขตเกอลัง ปาตาห์ รัฐยะโฮร์ ด้วยคะแนนไม่เป็นทางการ 37,718 ต่อ 21,960

ส่วนผู้นำพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย (PSM) เจยะกุมาร์ ซึ่งลงเลือกตั้งในนามพรรคฝ่ายค้าน "ภาคีประชาชน" (PR) ก็สามารถชนะ เดวามานี กฤษณะซามี รองประธานพรรคคองเกรสอินเดีย (MIC) ซึ่งอยู่ในพรรครัฐบาล "แนวร่วมแห่งชาติ" (BN) ด้วยคะแนนไม่เป็นทางการ 21,511 ต่อ 16,735 คะแนน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net