Skip to main content
sharethis

แรงงานยื่น 11 ข้อเรียกร้องประจำปี 56 พร้อม 4 ข้อเรียกร้องแรงงานนอกระบบ นายกรับข้อเสนอ ย้ำความสุขของคนงานคือความสุขของประเทศ รมว.แรงงานแจงความคืบหน้าข้อเรียกร้องปี 55 สมานฉันท์แรงงานไทย – สรส. แยกขบวนเดินไปทำเนียบ กรรมการแดงร้องปล่อยนักโทษการเมือง สร้างประชาธิปไตยทางการเมือง-เศรษฐกิจ

 

1 พ.ค.56 ที่สนามหลวง กระทรวงแรงงานร่วมกับสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทยและหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมกันจัดงานวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2556  โดยใช้คำขวัญ ”แรงงานไทยสามัคคี สดุดีองค์ราชัน ก้าวทันประชาคมอาเซียน” ได้เคลื่อนริ้วขบวนเทิดพระเกียรติ 85 พรรษา โดยกลุ่มข้าราชการ และริ้วขบวนผู้ใช้แรงงาน ตั้งแต่เวลา 08.30 น. จากลานพระบรมรูปทรงมาผ่านถนนราชดำเนินสู่ท้องสนามหลวง

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

รมว.แรงงาน แถลงความคืบหน้าข้อเรียกร้องปี 55

เวลา 11.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาเปิดงาน โดยมี นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวชี้แจงผลการดำเนินงานตามข้อเรียกร้องของคนงานเมื่อปีที่ผ่านมาว่า

  1. เรื่องการให้รับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ฉบับที่ 87 (ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว)และ ฉบับที่ 98(ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง) กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการจัดทำเรื่องเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา ระหว่างนี้ได้มีการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
  2. ข้อเรียกร้องตั้งกองทุนประกันความเสียงสำหรับลูกจ้างกรณีที่สถานประกอบการปิดกิจการ เลิกจ้าง ไม่จ่ายค่าชดเชย เป็นหลักประกันความมั่นคงในการทำงานนั้น  ในกรณีที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างนั้นลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตน สามารถติดต่อขอรับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคมกรณีว่างงาน ตามเงื่อนที่กำหนดใน พ.ร.บ.ประกันสังคม ปี 33 และขณะนี้ได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย โดยการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงนั้น อยู่ในระหว่างหารหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเด็นเพื่อหาข้อสรุปและกำหนดแนวทางที่เหมาะสมต่อไป
  3. จากข้อเรียกร้องที่ให้รัฐบาลได้ยกเลิก พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 และยกเลิกการแปลงรัฐวิสาหกิจทุกกิจการนั้น พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดขั้นตอนและการแปลงสภาพกิจการเป็นบริษัท ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ประกอบกับในปัจจุบันรัฐบาลได้มีนโยบายให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องยกเลิกพระราชบัญญัติดังกล่าว
  4. ข้อเรียกร้องให้ยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้ของลูกจ้างและพนักงานรัฐวิสาหกิจในกรณีเงินค่าชดเชยและรายได้อื่นๆ ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายของลูกจ้าง ในกรณีนี้กรมสรรพากรได้มีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์เพื่อบรรเทาภาระภาษีกับลูกจ้างที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจแล้ว
  5. ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้แรงงานและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบอย่างกว้างขวางและติดตามผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการในเรื่องของความปลอดภัยในวิชาชีพและสุขภาพในระดับชาติเพื่อเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน กระทรวงแรงงานได้เสนอโครงการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยเข้มแข็งสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อให้แรงงานนั้นได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านความปลอดภัยของการทำงานแล้ว
  6. กรณีกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างมีเจตนารมณ์เพื่อสร้างหลักประกันในการทำงานและเป็นการส่งเสริมระบบการออมของลูกจ้าง การจัดเก็บเงินสะสมและเงินสมทบนั้นจะต้องมีการพิจารณาวิเคราะห์ถึงข้อดี-ข้อเสีย และผลกระทบ ก่อนที่จะเสนอคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างพิจารณาต่อไป
  7. ข้อเรียกร้องที่ให้รัฐบาลเร่งตรา พ.ร.ฎ.จัดตั้งสถาบันความปลอดภัย ชีวะอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ทันกรอบเวลาและประกาศยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหิน ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ ร่าง พ.ร.ฎ.จัดตั้งสถาบันความปลอดภัยฯ ตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนด
  8. ข้อเรียกร้องให้ แก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ม.118 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยกรณีเกจ้างเป็น 2 เท่าจากเดิมที่บัญญัติไว้ กรณีนี้ต้องศึกษาค่าชดเชยที่ต่างๆ โดยเฉพาะประเทศใกล้เคียงและศึกษาผลกระทบที่ตามมากับภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์แรงงานในประเทศ หากผลการศึกษาสรุปว่าควรปรับเพิ่มค่าชดเชย จะจัดทำแก้ไขกฎหมายและจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป
  9. ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายกองทุนสวัสดิการดูแลรักษาสุขภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจเกษียณอายุให้เทียบเท่ากับข้าราชการบำนาญหรือภาคเอกชน กรณีนี้พนักงานรัฐวิสาหกิจเกษียณอายุที่ไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลจากหน่วยงาน แต่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลตามระบบประกันสุขภาพได้ โดยไม่ต้องจ่ายเข้ากองทุนสวัสดิการดูแลรักษาฯ เพื่อลดความซ้ำซ้อนกับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

นายชินโชติ แสงสังข์ ประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2556

ยื่น 11 ข้อเรียกร้องประจำปี 56

นายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2556 กล่าวถึงข้อเรียกร้องประจำปีนี้ว่าประกอบดัวย

ข้อเรียกร้องของคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2556

1.ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98

2. ออกกฎหมายตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้แก่ลูกจ้างที่ตกงานเพราะโรงงานปิดกิจการ โดยไม่จ่ายค่าชดเชย

3. ให้รัฐบาลยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้กรณีค่าชดเชยของลูกจ้างเอกชนและเงินตอบแทนของพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ

4. ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไข พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานกรรมการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2550 ให้มีมาตรฐานเดียวกับข้าราชการพลเรือน

5. ผลักดันกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจและยุติการแปรรูปหรือยุบเลิกรัฐวิสาหกิจ

6. ให้รัฐบาลเร่งตรา พ.ร.ฎ.สถาบันความปลอดภัยฯ

7. ปฏิรูประบบประกันสังคมและเพิ่มสิทธิประโยชน์ รวมทั้งยกระดับสำนักงานประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ

8.จัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็ก และศูนย์เก็บน้ำนมแม่ในโรงงาน โดยผู้ที่เข้าร่วมโครงการ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้

9. แก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 59 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงในวันลาเพื่อตรวจรักษา สุขภาพก่อนคลอดบุตร และคลอดบุตรเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 90 วัน และให้ลูกจ้างซึ่งเป็นชายมีสิทธิลาเพื่อดูแลภรรยาในการคลอดบุตรได้ 15วันโดยได้รับค่าจ้าง และมาตรา 118 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างเป็น 2 เท่าจากเดิมที่บัญญัติไว้

10. ออก พ.ร.ฎ. การจัดเก็บเงินสะสม และเงินสมทบ เพื่อเป็นกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง และ

11.ตั้งคณะทำงานติดตาม และประสานงานข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติปี พ.ศ. 2556

นายกรัฐมนตรีรับข้อเรียกร้องของแรงงาน

แรงงานนอกระบบร่วมยื่น 4 ข้อเรียกร้อง

หลังจากนั้นนายชินโชติ ได้ยื่นขอเรียกร้องกับนายกรัฐมนตรี โดยมี นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ ร่วมยื่นข้อเรียกร้องด้วย ซึ่งประกอบด้วย

1.ในเรื่องกองทุนการออมแห่งชาติ รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังต้องเร่งดำเนินการตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจแห่งรัฐ ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย2550 มาตรา 84 (4) คือ จัดให้มีการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราภาพแก่ประชาชน และ เจ้าหน้าที่รัฐอย่างทั่วถึง และให้ประชาชนจำนวนมากที่ไม่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญใดๆมีโอกาสออมเงินสะสม ไว้เป็นหลักประกันในยามสูงวัย ทั้งนี้กระทรวงการคลังต้องจัดการดำเนินการเปิดรับสมัครสมาชิกกองทุนการออม แห่งชาติ (กอช.)

2.ขอให้คณะกรรมการบริหารประกันสังคม ต้องมีตัวแทนแรงงานนอกระบบเข้าเป็นคณะกรรมการบริหาร เช่นเดียวกับสมาชิกที่เป็นแรงงานในระบบ(มาตรา 33)

3.กระทรวงแรงงาน ต้องเร่งออกประกาศกฎกระทรวงตาม พรบ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน

4.รัฐต้องพัฒนากลไกระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้มีเรื่องอาชีวอนามัยคุ้มครองแรงงานนอกระบบอย่างทั่วถึง

นายกรับข้อเสนอ ย้ำความสุขของคนงานคือความสุขของประเทศ

โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวหลังรับข้อเรียกร้องด้วยว่า “วันนี้ไม่ใช่เป็นแค่วันสำคัญของประเทศไทย แต่วันนี้เป็นวันแรงงานของทั่วโลก เพราะว่าทุกท่านเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่ามีส่วนในการสร้างเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้ามายาวนาน”

รัฐบาลมองเห็นว่ายังมีหลายประเด็นที่จะต้องติดตามและเฝ้าระวังแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน ประกอบด้วย

  1. ในส่วนของการปรับเพิ่มของค่าแรงขั้นต่ำ ก็หวังว่าพี่น้องผู้ใช้แรงงานต้องช่วยกันฝึกฝนฝีมือแรงงานในการพัฒนาคุณภาพให้มากขึ้น รวมถึงประสิทธิภาพในการทำงานจะเป็นเกราะป้องกันอย่างดีในการทำงานต่อไป ซึ่งกระทรวงแรงงานมีหลายโครงการในการที่จะเสริมคุณภาพให้กับผู้ใช้แรงงาน
  2. การติดตามในหลายโรงงาน ติดตามการฟื้นฟูเยียวยาหลังช่วงภัยพิบัติในปี 2554 กระทรวงแรงงานได้มีการติดตามช่วยเหลือพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง
  3. การเร่งการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้ทันกับเศรษฐกิจที่เติบโตและทิศทางต่างๆ ต้องมีการเสริมและปรับปรุงฝีมือแรงงาน รวมถึงการเปิดประชาคมอาเซียน
  4. การทบทวนลักษณะข้อมูลด้านการจ้างงาน การว่างงานหรือฤดูการทำงาน รวมถึงวิธีการทำงานว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร การนำเทคโนโลยีเข้ามา สิ่งเหล่านี่เราต้องการข้อมูลจากผู้ใช้แรงงานด้วย เพื่อที่ภาครัฐจะดำเนินการร่วมกันบูรณการในการเสริมสร้างความเข้มแข็งและเป็นข้อมูลในการตอบโจทย์กับพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่เรียกร้องข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ยังคงมีปัญหาอยู่ในตอนนี้ เพื่อที่จะบูรณาการแก้ไขทั้งระบบอย่างถูกวิธี

นายกรัฐมาตรีกล่าวด้วยว่าในอนาคตเรายังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ โครงการใหญ่ๆ นั่นหมายถึงการที่เราต้องการผู้ใช้แรงงานในหลายๆ สาขาอาชีพโดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงหรือโครงการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านลาน จะกระจายการใช้แรงงานทั่วประเทศ นี่เป็นส่วนหนึ่งในการที่เราจะเร่งพัฒนาฝีมือแรงงาน ภาษาอังกฤษ การสื่อสารกับประเทศเพื่อนบ้าน

จะให้มีการตั้งคณะทำงานในการบูรณาการความต้องกา ปัญหาแรงงานทั้งในและนอกระบบ และสวัสดิการต่างๆ จึงมอบภารกิจตรงนี้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในการเข้ามาดูแล

เราได้ดำเนินการให้แรงงานมีรายได้คนละไม่ต่ำว่า 300 บาท ถือว่าเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐาน แต่เชื่อว่าถ้าพัฒนาฝีมือมาก ประสิทธิภาพมากก็จะได้มากและผู้จ้างงานก็เต็มใจที่จะจ่ายตามที่เราปรารถนา

นอกจากนั้นภาครัฐยังมีมาตรการส่วนหนึ่งที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการ หากผู้ประกอบการมีรายได้ที่ดีก็จะสามารถดูแลสวัสดิการของผู้ใช้แรงงาน เราได้มีการดูแลผลกระทบจากการปรับค่าจ้างคู่ไปด้วยเช่นกัน เช่นการลดภาระกองทุนประกันสังคม การเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs รวมถึงมาตรการทางการเงินและมาตรการทางภาษีต่างๆ เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการมีปัญหากิจการอันจะส่งผลกระทบต่อพี่น้องผู้ใช้แรงงาน

“สำหรับด้านสุขภาพนั้นเราได้บูรณาการ 3 กองทุนเข้าด้วยกัน เป็นการบูรณาการเพื่อให้กองทุนสวัสดิการของข้าราชการ กองทุนประกันสังคมและกองทุนประกันสุขภาพนั้น ได้ดูแลพี่น้องคนงานทุกคนอย่างเสมอภาพ และเป็นมาตรการขั้นต่ำที่ควรจะดูแลพี่น้องผู้ใช้แรงงานและประชาชนทุกคน” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

กรณีผู้ป่วยฉุกเฉินจากที่ต้องรอในการที่จะสอบถามสิทธิ แต่เราถือว่าความเจ็บป่วยของประชาชนมีความสำคัญต้องได้รับการดูแลและรักษา โดยเฉพาะในการเจ็บป่วยสาหัสถึงแก่ชีวิตนั้นต้องรักษาชีวิตเป็นอันดับแรก รวมถึงคุณภาพในการรักษาพยาบาลด้วย

เราตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคมเป็นศูนย์ช่วยเหลือ One Stop Service เป็นศูนย์ชื่อเหลือประชาชนทุกคน ผู้ใช้แรงงาน จะเป็นศูนย์ที่คอยช่วยเหลือหากได้รับการดูแลอย่างไม่เป็นธรรม ศูนย์นี้จะบูรณาการอย่างครบวงจรที่จะช่วยเหลือ เราบูรณาการทั้งหมด 20,000 กว่าศูนย์ที่จะเป็นจุดรับเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลหรือกระทรวงมหาดไทย เราจะเริ่มพัฒนาราว 2 เดือนข้างหน้า

สำหรับแรงงานนอกระบบนอกจากผู้ที่มาลงทะเบียนจำนวนมาก ยังรวมถึงผู้ที่ยังไม่มาลงทะเบียน เราอยากได้ข้อมูลเพื่อที่จะร่วมกันช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานนอกระบบให้สามารถมีหลักประกันการดำเนินชีวิตและลดความเหลือมล้ำเป็นสิ่งที่ภาครัฐไม่เคยมองข้าม

แรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศจะเร่งความช่วยเหลือในการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายและมาตรฐานสำคัญต่างๆ เรามีความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐเพื่อความปลอดภัยและลดค่าใช้จ่ายของแรงงานด้วย

รัฐได้มีการจัดโรงงานสีขาวเพื่อให้โรงงานนั้นเป็นมิตรต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือคอยดูแลสวัสดิภาพของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน

สุดท้ายนายกรัฐมนตรีรับปากด้วยว่ารับข้อเสนอทั้งหมดในการที่จะประสานงานและปรับปรุงในส่วนของโรงงานต่างๆ เพื่อให้มีสวัสดิการต่างๆ เขาใจในฐานะที่เป็นผู้หญิงว่าแม่ย่อมอยากอยู่ใกล้ชิดกับลูก กำลังใจในการทำงานก็อยู่ที่ลูก ดังนั้นจะรับเรื่องนี้ไปในการติดตามรวมถึงข้อเสนอทั้งหมด และขอฝากท่านรัฐมนตรีและคณะกรรมการที่จะช่วยกันเป็นแกนกลางในการประสานประโยชน์และความสุข สวัสดิการ การคุ้มครองพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ทั้งในและนอกระบบ ดังนั้นความสุขของท่านก็คือความสุขของประเทศที่จะพัฒนาไปด้วยกัน

 

สมานฉันท์แรงงานไทย – สรส. แยกขบวนเดินไปทำเนียบ

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้รวมตัวกันที่บริเวณด้านหน้ารัฐสภาในช่วงเช้าและเดินขบวนไปยังด้านหน้าทำเนียบรัฐบาลและตั้งเวทีที่บริเวณประตู 5 และจัดกิจกรรมรำลึกถึงวันกรรมกรสากลสลับกับการปราศรัย โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้

1. รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง รวมทั้งการเร่งรัดการพิจารณาร่างพระราชาบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่..)พ.ศ. …. ที่นายชาลี ลอยสูง กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 12,130 คน เป็นผู้เสนอ ซึ่งรอการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร

2. รัฐต้องยุตินโยบายและกฎหมายที่ละเมิดสิทธิแรงงาน กรณีผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย 13 คน และแรงงานในภาคเอกชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งขัดต่ออนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98

3. รัฐต้องสร้างระบบสวัสดิการสังคม มีมาตรการควบคุมราคาสินค้า ค่าบริการสาธารณูปโภค ลดค่าครองชีพ สร้างหลักประกันในการเข้าถึงการศึกษา สาธารณสุข การบริการสาธารณะ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมทางสังคม

4. รัฐต้องยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูป แบบ จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในการให้บริการประชาชน และยุติการแทรกแซงการบริหารงานรัฐวิสาหกิจ โดยขาดความเป็นธรรมและขาดธรรมาภิบาล

5. ขอคัดค้านสภาผู้แทนราษฏรที่ลงมติไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ….ที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 14,264 คนเป็นผู้เสนอ และสภาผู้แทนราษฎรต้องนำหลักการกองทุนประสังคม ที่ต้องเป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน รวมทั้งสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่กรรมาธิการวิสามัญร่างกฎหมายประกันสังคมต้องมี สัดส่วนผู้เสนอกฏหมาย1ใน 3 ของคณะกรรมาธิการ

รวมทั้งมีข้อเรียกร้องที่ต้องติดตามรวม 7 ข้อ ดังนี้

1. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน โดยกำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นค่าจ้างแรกเข้าที่มีรายได้พอเพียงเลี้ยง ชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ทั้งนี้ โครงสร้างค่าจ้างของแรงงานให้มีการปรับค่าจ้างทุกปี โดยคำนึงถึงค่าครองชีพ ทักษะฝีมือ และลักษณะงาน ทั้งนี้ รัฐจะต้องทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 ที่ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ในปี พ.ศ. 2557 และปี พ.ศ. 2558

2. รัฐต้องแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานที่ทำงานในเขตพื้นที่สถานประกอบการใดๆ ตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป มีสิทธิเลือกตั้งและลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อให้สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่

3. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ์ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 อย่างจริงจัง ภายใต้การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน

4. รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน โดยให้นายจ้างและรัฐบาลสมทบเงินเข้ากองทุน เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ผู้ใช้แรงงานควรมีสิทธิได้รับเงินชดเชยจากกองทุน รวมทั้งการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้

5. รัฐต้องสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กหรือศูนย์พัฒนาเด็กให้แก่ผู้ใช้แรงงาน ในเขตพื้นที่อุตสาหกรรมหรือสถานที่ทำงาน

6. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการคุ้มครองสิทธิแรงงานและสวัสดิการสังคมของแรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ

7. รัฐต้องยกเว้นภาษี กรณีเงินก้อนสุดท้ายของคนงานผู้เกษียณอายุ

ภาพกิจกรรมองค์การแรงงานเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มปฎิญญาหน้าศาล โดย Dee Yaowapa

กรรมการแดงร้องปล่อยนักโทษการเมือง สร้างประชาธิปไตยทางการเมือง-เศรษฐกิจ

องค์การแรงงานเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล ร่วมเดินขบวนรณรงค์กับผู้ใช้แรงงาน โดยสวมหน้ากากนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องขังตามกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ หรือ กฎหมายอาญา มาตรา 112 เรียกร้องให้ปล่อยนักโทษการเมือง แก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย ได้มีข้อเรียกร้องทางการเมืองและเศรษฐกิจประกอบด้วย อำนาจประชาธิปไตยทางการเมือง นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง    รัฐสภาต้องมาจากการเลือกตั้ง องค์กรอิสระต้องปฏิบัติหน้าที่ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างเที่ยงธรรม ในการเลือกตั้ง ผู้ใช้แรงงานต้องได้ใช้สิทธิเลือกตั้งในสถานประกอบการ

อำนาจประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ต้องมีหลักประกันคุณภาพชีวิตการทำงานในสถานประกอบการ สิทธิการจัดการหลักประกันสังคมต้องตอบสนองต่อผู้ใช้แรงงานทุกกรณีตั้งแต่แรกเกิดจนเสียชีวิต ค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม ในสถานประกอบการประเภทเดียวกันต้องมีบรรทัดฐานเดียวกัน

อำนาจประชาธิปไตยทางวัฒนธรรม รัฐต้องจัดการศึกษาฟรีทุกระดับรัฐต้องส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ – รัฐต้องส่งเสริมวันประเพณีท้องถิ่นทุกประเภท เพื่อต้องการสร้างสังคมและคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงาน ตามหลักการ สิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net