Skip to main content
sharethis



(2 พ.ค.56) ในการเสวนาเรื่อง "แนวโน้มและความท้าทายในประเด็นปัญหาสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และการสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาในกรอบอาเซียน"  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแถลงรายงานประจำปีสถานการณ์สิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในรอบปี 2555 จัดโดยเครือข่ายสมาคมผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีป้า) ร่วมกับศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กวี จงกิจถาวร ประธานสมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีป้า) กล่าวว่า เราพูดกันถึงประชาคมอาเซียน แต่ไม่มีใครพูดถึงประชาคมสื่ออาเซียนเลย ทั้งนี้ เขามองว่า สื่ออาเซียนมีปัญหาเรื่องวิธีคิดที่จำกัด ไม่สนใจทำในประเด็นที่ไม่คุ้นเคย และแทบไม่เคยร่วมมือกันทำข่าว นอกจากนี้ ยังมีนโยบายของอาเซียนที่จะไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกันด้วย พร้อมยกตัวอย่างว่า เมื่อนักข่าวไทยให้ความสำคัญกับข่าวการหายตัวไปของนักกิจกรรมลาว สมบัด สมพอน รัฐบาลลาวก็ไม่พอใจ

กวี กล่าวเสริมว่า ขณะนี้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มีแผนจะก่อตั้งสภาการสื่ออาเซียน เพื่อดึงสื่อเข้าด้วยกัน โดยในเดือนนี้จะมีการประชุมที่กรุงเทพฯ การมีองค์กรนี้สำคัญเพราะแม้ตอนนี้จะมีซีป้า ซึ่งเป็นองค์กรระดับภูมิภาค ที่สนับสนุนปกป้องการทำสื่อ แต่ยังไม่มีองค์กรวิชาชีพที่จะรวม 10 ประเทศเข้าด้วยกัน นี่จึงเป็นโอกาสอันดี ทั้งนี้ ต้องขอบคุณพม่า ซึ่งมีการปฏิรูปด้วย โดยมองว่า การเปลี่ยนแปลงในพม่านั้นทำให้ประเทศอื่นๆ เกิดคำถามว่า ถ้าพม่าทำ แล้วทำไมเราจะไม่ทำ

นอกจากนี้ กวีมองว่าสื่ออาเซียนมีปัญหาเพราะหนึ่ง ไม่รู้จะจัดการกับสื่อใหม่อย่างไร  ขณะที่องค์กรสื่อแบบเดิมๆ ไม่มีประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ เนื่องจากยังต้องพึ่งพาโฆษณา หรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอยู่  สอง ปัญหาจริยธรรมในการใช้สื่อ โดยมองว่า การเพิ่มขึ้นของสื่อออนไลน์จะทำให้เกิดการฟ้องหมิ่นประมาทมากขึ้นในอนาคต เหล่านี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องให้การศึกษากับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ไม่ว่าองค์กรกำกับดูแล หรือคนใช้สื่อ

ด้าน ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ด้วยการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสาร ทำให้มีสื่อเกิดขึ้นมหาศาล ใครเป็นเจ้าของสื่อก็ได้ ไม่ว่าทางเคเบิลทีวี หรือออนไลน์ ข้อถกเถียงเมื่อ 6-7 ปีก่อนเรื่องสื่อแท้สื่อเทียม หายไปจากสังคมไทย ประหนึ่งว่าสังคมไทยยอมรับการมีอยู่ของสื่อที่หลากหลาย ถึงขนาดพรรคการเมืองมีสื่อรายงานการแสดงออกและจุดยืนของตัวเองได้ ทำให้หาเส้นแบ่งระหว่างสื่อมวลชน-สื่อใหม่ที่เกิดขึ้นได้ยาก

ประดิษฐ์กล่าวว่า เกิดคำถามต่อมาว่า สังคมไทยใช้เสรีภาพอย่างไร และผลคืออะไร โดยพบว่า ทุกฝ่ายใช้เสรีภาพเสนอข้อมูลข่าวสาร เกิดการใช้เสรีภาพละเมิดสิทธิ ทำให้เกิดความรุนแรง หลายครั้งสื่อถูกตั้งคำถามว่าทำให้เกิดความแตกแยก บิดเบือนข้อมูลที่แท้จริง กระทบกับความไว้ใจต่อสื่อ ถามว่าจะแก้สิ่งเหล่านี้อย่างไร เป็นความท้าทายของสังคมไทย ว่าจะช่วยกันอย่างไร

ประดิษฐ์กล่าวว่า สมาคมนักข่าวฯ และสภาการฯ จะร่วมกันรณรงค์จริยธรรม การเสนอข่าวจริง ไม่กุข่าว เสนอรอบด้าน ให้ความเป็นธรรมกับความเห็นรอบด้าน ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับผู้รับสื่อ และให้รู้ทันสื่อ ทั้งนี้ ย้ำด้วยว่าไม่ปฏิเสธการใช้เสรีภาพ แต่บนพื้นฐานที่มีความรับผิดชอบ

นอกจากนี้ เขามองว่า อุปสรรคของเสรีภาพสื่อ คือ พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 ซึ่งควรต้องแก้ไขตั้งแต่นิยามจนถึงบทลงโทษ โดยที่ผ่านมา สื่อสิ่งพิมพ์ก็ต่อสู้แก้ไขกฎหมายกันอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะ พ.ร.บ.การพิมพ์ 2464 ที่ใช้เวลา 66 ปี หรือยกเลิก ปว. 42 ที่ใช้เวลา 13 ปี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เองก็ต้องรณรงค์ให้เกิดการแก้ไข

อีกเรื่องที่มีการถกเถียงกันคือ จะกำกับการใช้สื่อออนไลน์อย่างไร ทั้งนี้มองว่า การปิดสื่อออนไลน์นั้นไม่ใช่ผลงาน แต่เป็นความอัปลักษณ์ ไม่เห็นด้วยที่จะปิด แต่จะทำอย่างไรให้คนที่ใช้มีความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะสื่อออนไลน์เป็นพื้นที่สาธารณะ ถ้าใช้ไม่ระวังจะกระทบคนอื่นได้ โดยสภาการหนังสือพิมพ์เองก็มีการออกแนวปฏิบัติบนสื่อออนไลน์แล้ว 

นอกจากนี้ อีกความท้าทายของวงการสื่อไทยคือ ความพยายามดึงคลื่นความถี่ออกมาจากรัฐ แต่ขณะนี้ กสทช. กลับจัดสรรคลื่นให้หน่วยงานรัฐ -หน่วยงานความมั่นคงโดยไม่มีการประกาศหลักเกณฑ์ ซึ่งสมาคมฯ เองก็กำลังติดตามอย่างใกล้ชิด 

ปัญหาใหญ่อีกเรื่องของสื่อไทย คือ สื่อยังเป็นของรัฐและของทุน มีการเซ็นเซอร์อย่างหนัก ทำให้มีปัญหาความอิสระในกองบรรณาธิการ พื้นที่ข่าวเชิงลึก ข่าวสืบสวนสอบสวน หายไปมาก สาเหตุหลักมาจากการทำธุรกิจสื่อเพื่อผลกำไร จนเบียดบังสิทธิเสรีภาพการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ขณะที่สื่อของรัฐก็ต้องนำเสนอตามประเด็นที่ถูกกำหนดไว้

ประดิษฐ์กล่าวว่า ปัญหาใหญ่อีกข้อ คือ ความไว้วางใจในสื่อและความน่าเชื่อถือของสื่อลดลง เป็นผลจากการใช้เสรีภาพของเราหรือเปล่า เพื่อดึงความไว้วางใจกลับมา คนในวงการต้องกลับมาพูดคุยว่าจะทำอย่างไร โดยต้องพึงตระหนักว่าเมื่อไรที่สังคมไม่เชื่อถือ สื่อจะลำบาก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net