ชวน ‘เฉี่ยว เสียว ลุ้น’ คุยกับคนทำโครงการประกวดหนังสั้น “หนังน่าจะแบน”

 

เร็วๆ นี้มีข่าวคราวการแบนหนัง  ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง หนังสารคดีการเมืองและความขัดแย้งกรณีปราสาทเขาพระวิหาร ของผู้กำกับคนรุ่นใหม่ นนทวัฒน์ นำเบญจกุล กระแสเรื่องนี้ฮือฮาในโซเชียลมีเดียและสื่อทั่วไป กระทั่งล่าสุด จากที่สั่ง “ห้ามฉาย” ก็ลดระดับลงเหลือเพียงการตัดบางฉากออกเพื่อให้ฉายได้ในเรต 18+

เรื่องการแบนหนังไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย เรามีหน่วยงานที่ตรวจสอบและห้ามเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมมาแต่เดิม ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์ พ.ศ. 2473  พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 จนกระทั่งภารกิจนี้ถูกโอนย้ายมาอยู่ภายใต้กระทรวงวัฒนธรรม และมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายจนออกเป็นฉบับล่าสุด พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงคือ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการอนุญาต(หรือไม่อนุญาต) และจัดเรตอายุผู้ชมให้หนังแต่ละเรื่องด้วย

นับจากนั้นมีหนังอย่างน้อย 2 เรื่องที่ถูกแบน หรือห้ามฉายทั้งเรื่อง

เรื่องหนึ่งเกี่ยวพันกับประเด็นการเมือง คือ Shakespear must Die หรือเช็คสเปียร์ต้องตาย ของผู้กำกับ มานิต ศรีวานิชภูมิ เป็นภาพยนตร์ไทยที่สร้างขึ้นจากบทละคร ‘โศกนาฏกรรมแม็คเบ็ธ’ (The Tragedy of Macbeth) ของ วิลเลียม เชคสเปียร์ (William Shakespeare) กวีเอกของโลก เป็นเรื่องราวของขุนพลที่มักใหญ่ใฝ่สูงอย่างไร้ขอบเขต และคลั่งไคล้ในไสยศาสตร์โดยคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ให้เหตุผลในการแบนว่า “มีเนื้อหาสร้างความแตกแยกในสังคม”  

อีกเรื่องเป็นประเด็นเกี่ยวพันกับเรื่องอัตลักษณ์ ความหลากหลายทางเพศ เป็นการนำเสนอเรื่องของครอบครัวที่มีพ่อเป็นกะเทย และลูกชายไม่ยอมรับในอัตลักษณ์ทางเพศของพ่อ ลูกชายจึงดิ้นรนหนีออกจากบ้านไปแสวงหาชีวิตของตนเอง นั่นคือเรื่อง Insects in the Backyard ของผู้กำกับธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ซึ่งได้รับเหตุผลในการแบนว่า มีฉากไม่เหมาะสมหลายประการซึ่ง “ขัดต่อศีลธรรมอันดีของสังคม” โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชาย หญิงกับหญิง ซึ่งนับเป็น “การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสมในสังคมไทย”

ยังไม่นับรวมหนังเรื่องอื่นๆ ที่ฉายได้ แต่ต้องตัดฉากที่ “ไม่เหมาะสม” ออกไปหลายประการก่อนจะได้ฉาย เช่น แสงศตวรรษ หรือ ประชาธิปไทย

ฉากการช่วยตัวเองและอวัยวะเพศชายที่ปรากฏโด่เด่ , พระเล่นกีตาร์อย่างมีความสุข , การฝันว่าตัวเองฆ่าพ่อจากเงื่อนปมบางประการในชีวิต , การขายบริการทางเพศในชุดนักเรียน , หมอผู้ดื่มเหล้าในโรงพยาบาล  ฯลฯ  ฉากเหล่านี้หรือแรงกว่านี้อาจเห็นได้ในหนังต่างประเทศ แต่ไม่ใช่ในหนังที่ฉายในประเทศไทย ทำให้ขาดโอกาสที่คนสร้างหนังและคนดู จะได้ร่วมกัน “เล่น” กับอารมณ์และความคิด

นี่เป็นที่มาของโครงการประกวดหนังสั้น “หนังน่าจะแบน” ซึ่งโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ เครือข่ายคนดูหนัง และนิตยสารไบโอสโคป ร่วมกันจัดขึ้น

 


 

ประชาไท พูดคุยกับ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ทีมงานจากไอลอว์ หนึ่งในผู้จัดโครงการถึงวัตถุประสงค์ กระบวนการ การเล่นกับ “พื้นที่สีเทา” ที่หลายคนมองว่า “อันตราย” และเลยเถิดไปถึงสถานการณ์การเซ็นเซอร์ เสรีภาพในสื่อภาพยนตร์

ยิ่งชีพ อธิบายว่า โครงการนี้เกิดขึ้นในสภาวการณ์ที่ “หลักเกณฑ์” ในการแบนหนังนั้นพล่าเลือน การห้ามฉายอยู่บนฐานของถ้อยคำใหญ่โตอย่าง “การขัดศีลธรรมอันดี” “กระทบต่อความมั่นคงของชาติ” “สร้างความแตกแยกในสังคม” “กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”

หลักเกณฑ์ทั้งหมดเป็นคำที่กว้าง ทำให้คนสร้างหนังไม่รู้ว่าสร้างหนังยังไงจะโดนแบนหรือไม่โดนแบน ตัวอย่างหนังที่โดนแบนเหมือนเป็นแบบอย่างให้คนหลังๆ ที่สร้างหนังระวังมากขึ้น อะไรที่ไม่แน่ใจหรือเป็นพื้นที่สีเทาก็ไม่ต้องสร้าง ไม่ต้องไปแตะต้องเลยดีกว่า ถ้าไปแตะต้องแล้วโดนแบนขึ้นมาหนังก็ไม่ได้ฉาย เสียเงินสร้างหนังฟรี เสียชื่อเสียงด้วย เลยนำมาสู่การสร้างหนังในโซนที่ปลอดภัยไว้ก่อน เล่นประเด็นเบาๆ ทำให้หาหนังที่มีการตั้งคำถามกับสังคมที่เป็นประเด็นยากๆ ไม่ได้ เพราะว่าคนไม่กล้าแตะไปในโซนสีเทานั้น”

“ถ้าเราเคยมีความคิดว่าประเด็นนี้น่าเอามาทำเป็นหนังนะ แต่กลัวโดนแบน เป็นประเด็นที่อาจจะถูกแบนได้ ก็มาทำในโครงการนี้ ทำออกมาดูกัน”

เขาบอกว่า เป้าหมายของโครงการนี้ต้องการ “ทดสอบ” เพดานของระเบียบว่าด้วยการเซ็นเซอร์ การจัดเรต และแบนภาพยนตร์ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายอื่น ๆ

มันมีพื้นที่ดำอยู่ เราต้องดูไม่ให้ละเมิดกฎหมายอื่นโดยเราจะกรองชั้นหนึ่งก่อน ผ่านสายตานักกฎหมายของทีมงาน ilaw หากดูแล้วว่าผิดกฎหมายอื่นแน่ๆ อย่างเช่น การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ การดูหมิ่นศาสนา หมิ่นประมาทบุคคล หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ผิดกฎหมาย จะไม่ผ่านการคัดเลือก จะไม่ได้เข้าสู่กิจกรรมของเรา”

ปัญหามีอยู่ว่า การที่ต้องวินิจฉัยถึงกฎหมายอื่นๆ ท่ามกลางสภาวะที่กฎหมายหลายฉบับก็ยังมีปัญหาการตีความเพื่อบังคับใช้ในสังคม เช่น มาตรา 112 หรือกฎหมายดูหมิ่นศาสนา น่าจะเป็นเรื่องยากลำบากว่าจะหา “เส้น” ที่ตรงไหน

“เราจะตีความกฎหมายอื่นๆ ในแบบที่สังคมตีความกันอยู่ สมมติว่าสังคมยอมรับกันแบบนั้นไปก่อน เพราะการตั้งคำถามกับกฎหมาย เช่น 112 กฎหมายดูหมิ่นศาสนา มันเป็นคำถามของเวทีอื่น แต่เวทีนี้คือการตั้งคำถามกฎเกณฑ์การแบนภาพยนตร์อย่างเดียว หนังคุณ ถ้ากรรมการดูแล้วคิดว่าแบบนี้น่าจะถูกแบน คุณอาจจะได้รางวัลในโครงการนี้ก็ได้”

ส่วนวิธีการทดสอบเพดานของการเซ็นเซอร์หรือการแบนนั้น เขาเล่ากระบวนการว่า ในงานประกาศผลรางวัล จะฉายหนังที่ได้รางวัลรวมถึงหนังเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจด้วย เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกันทั้งในด้านเนื้อหาของหนังและประเด็นของการแบนหรือเซ็นเซอร์ จากนั้นจะรวบรวม “หนังน่าจะแบน” ทั้งหมดที่ผ่านเข้าโครงการส่งไปให้คณะกรรมการภาพยนตร์พิจารณาจัดเรต และเมื่อได้คำพิจารณาจากคณะกรรมการไม่ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน จะนำมาทำรายงานสรุปและวิเคราะห์ต่อไป

“เราจะได้ช่วยกันทดสอบเส้นแบ่งว่า เส้นแบ่งที่เขาขีดว่าศีลธรรมอันดี ความมั่นคงของรัฐ ในมุมมองของคนที่จะเซ็นเซอร์มันอยู่ตรงไหน แล้วอะไรบ้างที่แบน อะไรบ้างไม่แบน ถ้าเรามีหนังมากพอและหลากหลายประเด็น เราก็จะได้มีตัวอย่างให้ศึกษากันมากขึ้น”

สำหรับสถานการณ์การเซ็นเซอร์ในบ้านเรานั้น เขาเล่าถึงภาพรวมๆ ว่า หนังค่ายหลักส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนหนังค่ายเล็กที่เป็นหนังแผ่นโดนแบนประมาณ 100 กว่าเรื่องต่อปี ในจำนวนนี้เป็นหนังที่เตรียมเข้าฉายในโรงภาพยนตร์คือ Insects in the Backyard กับ เชคสเปียร์ต้องตาย และยังมีหนังค่ายเล็กอื่นอีกที่โดนแบน แต่ไม่ทราบเหตุผลและไม่ทราบเนื้อหา แต่ได้ยินมาว่าโดยมากเป็นหนังเรตอาร์ ซึ่งไม่ได้เข้าโรงอยู่แล้ว

สถานการณ์ปัจจุบันจริงๆ ก็คือถ้าศิลปินไทยที่สร้างหนังเชิงสร้างสรรค์สังคมแต่อาจสุ่มเสี่ยงต่อการแบน เขาก็ไม่ฉายในเมืองไทย แต่จะเอาไปฉายต่างประเทศก่อน เช่น หนังเรื่องลุงบุญมีระลึกชาติ ก็ไปต่างประเทศก่อน เพราะคุณเจ้ย อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล ก็โดนเซ็นเซอร์บางฉากในแสงศตวรรษมาก่อน เขาไม่ได้มีความหวังอะไรกับกองเซ็นเซอร์ไทยอยู่แล้ว หรืออย่างเช่น ธัญสก พันสิทธิวรกุล ก็จะฉายหนังในต่างประเทศตลอด ล่าสุดเรื่องที่เขาทำ ก็ตั้งใจไม่ฉายในเมืองไทย เพราะเขารู้ว่าจะไม่ผ่าน ทำให้เราไม่มีสื่อในเชิงตั้งคำถามเลย”

ปกติแล้วการทำหนังสั้น ต้องส่งให้กรรมการดูไหม ?

“ตามกฎหมายแล้วภาพยนตร์ หมายถึง วัสดุอะไรก็ตามที่บันทึกทั้งภาพและเสียงได้เอามาฉายเอามาเล่นได้ ภาพยนตร์ทุกเรื่องที่จะเผยแพร่ทั่วราชอาณาจักรต้องมีการขออนุญาต ทุกอย่างเลย เช่น อัดวีดิโอกับเพื่อนเล่น พอวันหนึ่งจะเอาไปฉายสาธารณะก็ต้องขออนุญาตตามมาตรา 25 ส่วนข้อยกเว้น คือคนที่สร้างเพื่อดูเป็นการส่วนตัวก็ไม่ต้องขอ”

ส่วนอำนาจของคณะกรรมการนั้น คือ การจัดประเภทภาพยนตร์เท่านั้น เช่น เรตส่งเสริมทั่วไป เรต 13+  เรต 15+ 18+ 20+ และห้ามฉาย แต่มีประกาศกระทรวงระบุด้วยว่า ถ้าจะสั่งห้ามฉาย ต้องเสนอให้ตัดก่อน จะสั่งห้ามฉายเลยทันทีไม่ได้ ยกตัวอย่างหนังที่ยอมแก้ไขตัดทอนเพื่อขอเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ก็เช่น ประชาธิปไทย ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง

สำหรับยิ่งชีพแล้ว เขาเห็นว่า เกณฑ์ต่างๆ ที่ใช้จะต้องมี ‘ความชัดเจน’ อย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเป็นกฎเกณฑ์ที่จะมีผลจำกัดสิทธิ

“เคยรีวิวกฎของอเมริกาซึ่งแบ่งเป็นเรตต่างๆ  เช่นกัน แต่จะเขียนหลักในการแบนแบบยิบย่อยเป็นหน้าๆ หลักการที่ถูกต้องคือกฎหมายที่จำกัดสิทธิจำเป็นต้องเขียนให้ชัดเจน แม้ว่าบางเรื่องสังคมดูแล้วรับไม่ได้ อยากให้เซ็นเซอร์ แต่ถ้ากฎหมายไม่ได้เขียนไว้ให้แบนได้ เรื่องนั้นก็ต้องผ่าน แล้วต่อจากนั้นก็ต้องไปแก้กฎเอา เพื่อจะได้บอกคนสร้างหนังได้ว่าสร้างหนังแบบไหนได้หรือไม่ได้ เป็นการให้ความชัดเจนแน่นอนกับการใช้เสรีภาพการแสดงออก นี่คือในกรณีที่เราเห็นด้วยกับการแบนหรือการเซ็นเซอร์บางอย่าง”

แล้วคิดว่าการแบนยังมีความจำเป็นในสังคมไทยไหม ?

โดยส่วนตัวแล้วคิดว่ามีก็ได้ อันที่จริงก็มีแนวคิดแบบที่ว่าไม่ต้องมีการแบนเลย แค่เพียงจัดเรต คนที่อายุถึงจะดูอะไรก็ได้ ซึ่งผมก็เชื่อว่าคนที่มีอายุถึงระดับหนึ่ง มีวิจารณญาณแล้วเขาจะดูหนังอะไรก็ได้ จะดูหนังที่มีความรุนแรงก็ได้ ดูหนังที่ชักชวนให้ไปฆ่ากันก็ได้ แล้วเขาก็สามารถคิดเองได้ว่าจะไปฆ่าคนหรือเปล่า แต่ถ้าสังคมนี้ sensitive มาก จนต้องเรียกร้องระบบกลั่นกรองว่าบางอย่างควรต้องถูกแบนจริงๆ ผมก็รับได้ แต่สิ่งนั้นต้องเขียนเป็นกฎกติกาไว้ชัดเจน ว่าอะไรคือสิ่งที่ไม่ได้จริงๆ เช่น ภาพโป๊เด็ก เด็กคืออายุเท่าไร? ต่ำกว่า 13 ปี? 18 ปี? ขนาดไหนคือโป๊ เห็นหัวนมโป๊ไหม วับๆแวมๆ โป๊ไหม”

เขายังเน้นย้ำว่า นอกจากเรื่อง “ชัดเจน” แล้ว ยังต้อง “ตรวจสอบได้” ด้วย ไม่ว่าจะโดยการออกแบบกลไกถ่วงดุล หรือใช้กระบวนการของศาล ว่าการวินิจฉัยของผู้มีอำนาจสั่งแบนหรือเซ็นเซอร์นั้นเป็นไปตามกฎกติกาหรือไม่

ว่าแต่เชื่อจริงๆ หรือว่าระบบจัดเรตนั้นได้ผล?

เชื่อว่าเป็นทางออกในระดับหนึ่ง ก็เหมือนกับประชาธิปไตย มันอาจไม่ดีที่สุด ตอบได้ทุกโจทย์ แต่ก็ยอมรับได้มากที่สุดในโลกปัจจุบัน การจัดเรตก็เป็นทางที่รับได้ที่สุด ถ้ามองว่าตอนนี้ยังบังคับใช้ไม่ได้ แต่การบังคับใช้กฎระเบียบกำหนดอายุผู้ชมไม่ได้ก็ไม่ใช่เหตุผลให้ต้องแบนไว้ก่อน ประเด็นคือต้องพัฒนาให้การบังคับใช้กฎหมายให้เป็นจริง สังคมก็ต้องช่วยด้วย”

สุดท้ายขอ 3 คำ สำหรับโครงการนี้ ?

“เฉี่ยว เสียว ลุ้น”

สำหรับผู้สนใจ  สามารถร่วมเฉี่ยว เสียว ลุ้นกันได้ ณ บัดนาว หมดเขต 30 มิ.ย. นี้ และประกาศผลภายในเดือนกรกฎาคม

 

 

 

 

กิจกรรมประกวดหนังสั้น "หนังน่าจะแบน"

"ไปให้สุดขอบเซ็นเซอร์ อย่างมีชั้นเชิงศิลปะ"

 

ถ่ายทอดความคิด สะท้อนมุมมอง ต่อเรื่องราวต่างๆ ในสังคมไทย แบบไม่ต้องแอบกั๊ก ผ่านการส่งหนังสั้นความยาวไม่เกิน 20 นาที ภายใต้โจทย์ว่า หนังเรื่องนั้นอาจถูกสั่งห้ามฉายได้ แต่เราเชื่อจริงๆ ว่ามันไม่ผิดกฎหมาย ชิงเงินรางวัลกว่า 80,000 บาท
 

กติกาการประกวด

1. ผู้เข้าประกวดสามารถสมัครเป็นทีมหรือบุคคลเดียวก็ได้

2. ผู้เข้าประกวดต้องส่งภาพยนตร์สั้นความยาวไม่เกิน 20 นาที ในหัวข้อ “หนังน่าจะแบน” โดยเป็นภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาที่มีโอกาสถูกจัดให้เป็นภาพยนตร์ประเภท “ห้ามฉาย” ในราชอาณาจักร แต่ต้องไม่ผิดกฎหมายอื่น ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2556 [ คลิกที่นี่เพื่อดูหลักเกณฑ์ของการจัดภาพยนตร์ให้เป็นประเภท "ห้ามฉาย" ]

3. ภาพยนตร์ที่ส่งเข้าประกวดเป็นลิขสิทธิ์ของผู้สร้าง แต่ภาพยนตร์ที่ส่งเข้าประกวดผู้จัดการประกวดสามารถนำออกฉายในสื่อของ iLaw และจัดฉายเป็นครั้งแรกในงานประกาศรางวัล

4. ผลงานที่ส่งเข้าประกวดต้องไม่เคยส่งเข้าประกวดที่ใดมาก่อน

5. หลังการประกวด ผู้สร้างภาพยนตร์ยินยอมจะส่งภาพยนตร์สั้นที่ส่งเข้าร่วมโครงการให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์พิจารณาเพื่อกำหนดประเภทภาพยนตร์
 

เกณฑ์การพิจารณา

1. ต้องมีเนื้อหาที่มีโอกาสถูกจัดเป็นภาพยนตร์ประเภท “ห้ามฉาย” ตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 26(7) และกฎกระทรวง กำหนดลักษณะประเภทภาพยนตร์ พ.ศ. 2552 ข้อ 7.
[ คลิกที่นี่เพื่อดูหลักเกณฑ์ของการจัดภาพยนตร์ให้เป็นประเภท "ห้ามฉาย" ]

2. มีเนื้อหาที่วิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นทางสังคมที่ผู้สร้างภาพยนตร์ส่วนใหญ่ ไม่กล้าพูดถึงหรือแสดงออกทางภาพยนตร์ แต่ต้องเคารพสิทธิของบุคคลอื่น และไม่ผิดกฎหมายไทย 
[ คลิกที่นี่เพื่อดูกฎหมายอาญาที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการสร้างภาพยนตร์ ]

3. มีความคิดสร้างสรรค์ ใช้ศิลปะในการเดินเรื่องและการถ่ายทำ

รางวัล

1. รางวัลชนะเลิศ 1 รางวัล เงินสด 50,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ

2. รางวัลรองชนะเลิศ 1 รางวัล เงินสด 20,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ

3. รางวัลภาพยนตร์เข้าตากรรมการไม่จำกัดจำนวนเงินสด 10,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ

การส่งผลงาน

ผู้ส่งบทภาพยนตร์เข้าประกวดจะต้องส่งผลงานและเอกสารดังนี้

- เรื่องย่อและประเด็นที่สื่อสาร ความยาวไม่เกิน 1 หน้ากระดาษ

- ภาพยนตร์ที่สมบูรณ์ ความยาวไม่เกิน 20 นาที

- เขียนแนะนำตัวผู้ประกวดตามสไตล์ให้น่าสนใจ พร้อมระบุชื่อและข้อมูลติดต่อให้ชัดเจน
 

บันทึก ข้อมูลทั้งหมดลงในแผ่นซีดีและส่งมาที่ iLaw เลขที่ 409 ชั้น1 ตึกมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม รัชดาซอย14 ห้วยขวาง กทม. 10320 ภายใน วันที่ 30 มิถุนายน 2556

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ilaw.or.th หรือ สอบถามข้อมูลได้ที่ ilaw@ilaw.or.th

ประกาศผลรางวัล ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2556

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท