Skip to main content
sharethis

2 ปี นโยบายด้านแรงงาน 'เพื่อไทย' ปัญหาการนำนโยบายไปปฏิบัติ ชาลี ลอยสูง ชี้ 300 บาท “ได้ทำตามนโยบาย” จิตรา ย้ำรัฐต้องหนุนตั้งสหภาพเพื่ออำนาจต่อรองให้นายจ้างปฏิบัติตามนโยบาย เสนอเลือกตั้งในสถานที่ประกอบการตามทะเบียนประกันสังคม TLC เตือนทบทวนนโยบายปล่อยเสรีทางการค้า

เนื่องในวันกรรมกรสากล(May Day) และใกล้ครบ 2 ปีการเข้ามาบริหารงานของรัฐบาลเพื่อไทย ประชาไทจึงใช้โอกาสนี้สำรวจความคิดเห็นของนักสหภาพแรงงาน 4 คน เพื่อประเมินข้อดี-ข้อเสียของนโยบายด้านแรงงานและการนำนโยบายไปปฏิบัติของรัฐบาล รวมทั้งข้อเสนอแนะหรือข้อเรียกร้องที่อยากให้รัฐบาลดำเนินการต่อจากนี้

ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)

“ได้ทำตามนโยบาย” ประเมิน 2 ปี นโยบายด้านแรงงานเพื่อไทย

ชาลี กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลที่ผ่านๆ มาไม่ค่อยมีนโยบายด้านแรงงาน  แต่การเลือกตั้งครั้งที่ล่าสุด พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์เป็น 2 พรรคใหญ่ที่มีการชูเรื่องนี้ขึ้นมา และพรรคเพื่อไทยก็มีนโยบายเด่นชัดในเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนงานดีขึ้น เช่น การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท รวมทั้งปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือน และด้วยความชัดเจนของนโยบายคนงานก็ได้มีการลงคะแนนให้พรรคนี้

และเมื่อพรรคเพื่อไทยชนะเข้ามาในตอนแรกบอกว่าจะดำเนินนโยบายที่หาเสียงดังกล่าวนั้นทันที ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่ทำทันที่ แต่ก็ได้ทำ ซึ่งเราคิดว่าอย่างน้อยก็ได้มีการทำตามที่ประกาศเอาไว้ ถือว่าประสบความสำเร็จในการประกาศใช้ อย่างไรก็ตามก็มีปัญหาในการดำเนินการและผลกระทบที่ตามมาด้วย

สำหรับนโยบายเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือนนั้นในภาคเอกชนจะไม่ค่อยได้รับกัน เพระไม่สามารถบังคับให้เอกชนต้องจ่ายได้ ซึ่งตรงนี้อาจมีข้อผิดพลาด ส่วนที่ได้รับจะเป็นรัฐวิสาหกิจและราชการ ดังนั้นนโยบายตรงนี้คิดว่าไม่น่าประสบความสำเร็จ

ดังนั้นเรียกได้ว่าในระดับหนึ่งคือ “ได้ทำตามนโยบาย”

ข้อเสนอแนะ

1. ลูกจ้างข้าราชการที่ไม่ประจำ หรือ Sub - Contract ของข้าราชการ ซึ่งมีอีกมากที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับค่าแรง 300 บาท ซึ่งน่าจะเข้าไปปรับปรุงและหาวิธีการที่จะทำให้ลูกจ้างส่วนนั้นได้รับค่าจ้าง 300 บาทด้วย

2. ต้องเข้าไปควบคุมดูแลบริษัท อย่าให้เอาเปรียบลูกจ้างในช่วงที่มีการปรับ 300 บาท เพราะบางทีนายจ้างเอาสวัสดิการที่เคยให้อยู่แล้วมารวมทำให้ปรับ 300 บาท ก็เท่ากับไม่ได้ อยากให้รัฐบาลเข้าไปตรวจสอบตรงนี้เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์ตามนโยบายที่รัฐบาลประกาศทั่วถึง

3. เรื่องราคาสินค้าที่ราคาแพงขึ้นนั้น อยากให้รัฐบาลควบคุมดูแล แม้มีรายได้เข้ามาแต่ต้องไปจ่ายสินค้าที่ปรับสูงขึ้นเยอะๆ เขาก็เดือดร้อน เปรียบเสมือนว่าจะไม่ได้อะไร

4. เรื่องประกันสังคม ควรมีการปรับเพื่อให้ครอบคลุมไปถึงคนงานทุกภาคส่วน เช่น แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ แม้จะมีอยู่บ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่เปิดมากควรปรับกฎหมายให้รัดกุมทั่วถึงด้วย

5. เงินในประกันสังคมนั้นน่าจะมีคณะกรรมการเข้าไปตรวจสอบติดตามเพื่อไม่ให้เกิดการรั่วไหล

6. กองทุนประกันความเสี่ยงของลูกจ้าง จากการที่บริษัทที่มาลงทุนรัฐบาลจะต้องมีกฎหมายเก็บเงินของนายจ้างมากองไว้ เมื่อบริษัทมีการปิดโรงงานแล้วหนีไปโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างก็จะเอาเงินตรงนี้จ่ายให้ลูกจ้างไป

7. ยกเว้นการเก็บภาษีเงินเกษียณ

8. ค่าจ้างแรกเข้า หมายถึงคนงาน 1 คน ได้รับค่าแรงที่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ 2 คน และทำงานเป็นปีก็จะมีการปรับค่าจ้างเป็นรายปี อย่างนี้จะได้ไม่ต้องมาพูดถึงค่าจ้างขั้นต่ำอีกต่อไป อยากให้มีการปรับระบบใหม่ตรงนี้

 

“..รัฐต้องสนับสนุนสิทธิการรวมตัวให้มีสหภาพแรงงานเพื่อที่สหภาพจะเข้ามาควบคุมนายจ้างอีกที จะได้มีการปฏิบัติตามกฎหมายและก็สามารถเรียกร้องค่าจ้างที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำได้ รวมทั้งเรียกร้องสวัสดิการอื่นที่นอกเหนือจากกฎหมายกำหนดได้..” - จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ

จิตรา คชเดช

ข้อดี-เสีย นโยบายด้านแรงงานรัฐบาลเพื่อไทย

จิตรา กล่าวถึงนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ว่า เป็นข้อดีที่มีการปรับทั่วประเทศ มีการประกาศแล้วสามารถทำได้จริง ถือเป็นพื้นฐานสำคัญในเรื่องการปรับค่าจ้าง เนื่องจากมีการเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศมาโดยตลอดและไม่เคยได้ หลังจากที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลก็ทำได้

ส่วนข้อเสียของมันคือ นักลงทุนมักอ้างว่ามันมีปัญหา และรัฐบาลไม่ได้เข้าไปแก้ปัญหา เช่น การหักสวัสดิการอื่นๆ ทำให้ไม่ได้ค่าแรงขึ้น 300 จริง แม้นโยบายจะดีแต่คนที่จะทำงานต่อหรือติดตามปัญหาผลกระทบถือว่ายังไม่ดีไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

เรื่องสิทธิการรวมตัว รัฐบาลนี้ไม่ได้ส่งเสริมสิทธิดังกล่าวอย่างแท้จริง เพราะทำให้การประกาศนโยบาย 300 บาท นั้นจะเป็นได้จริงต้องมีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งด้วยเพราะบางที่การที่ไม่มีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง นายจ้างก็อาจละเลยนโยบายของรัฐบาลหรือปฏิบัติตามกฎหมายได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นมาโดยตลอด ที่ผ่านมาบริษัทไม่จ่ายก็มี ดังนั้นรัฐต้องสนับสนุนสิทธิการรวมตัวให้มีสหภาพแรงงานเพื่อที่สหภาพจะเข้ามาควบคุมนายจ้างอีกที จะได้มีการปฏิบัติตามกฎหมายและก็สามารถเรียกร้องค่าจ้างที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำได้ รวมทั้งเรียกร้องสวัสดิการอื่นที่นอกเหนือจากกฎหมายกำหนดได้

รวมทั้งเรื่องส่งเริมนายทุนในการลดภาษี และเรื่องอื่นๆ นั้น น่าจะมีการส่งเสริมด้านอื่นมากกว่าตรงนี้ นักลงทุนแทบจะไม่เสียอะไรเลย นอกจากได้ผลประโยชน์จากคนงานแล้วยังได้ผลประโยชน์จากนโยบายช่วยเหลือนายจ้างอีกด้วย และการบังคับใช้นั้นรัฐบาลต้องจริงจังในการบังคับให้นายจ้างปฏิบัติตามด้วย

สำหรับค่าครองชีพ แม้ไม่ได้ปรับค่าจ้าง 300 บาท นั้น ค่าครองชีพก็เพิ่ม อยู่แล้ว แต่รัฐก็ต้องเข้ามาควบคุมสินค้าจำเป็นสำหรับผู้ใช้แรงงานด้วย

กรณีที่มีการยกเรื่องว่านโยบายค่าแรง 300 บาท ไปแทรกแซงกลไกไตรภาคีที่ใช้กำหนดค่าแรงในแต่ละโซนที่ผ่านมานั้น จิตรา กล่าวว่า ระบบไตรภาคีไม่ได้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ระบบนี้มาจากตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐ แต่ส่วนของลูกจ้างที่มาจากสหภาพแรงงานที่  1 สหภาพฯ 1 เสียง ไม่ว่ามีสมาชิกเท่าไหร่ก็มีแค่ 1 เสียง รวมทั้งคนงานทั่วประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานก็มีเพียง 1-2 % ของคนงานทั้งหมดเอง จึงไม่สามารถที่จะเรียกว่าเป็นตัวแทนของคนงานทั้งหมดได้ รวมทั้งที่ผ่านมาตัวแทนฝ่ายลูกจ้างในโซนที่มีสหภาพแรงงานที่ไม่เข้มเข็งก็ไม่สามารถเสนอค่าจ้างที่สูงได้ หรือแม้เสนอสูงอำนาจต่อรองก็น้อย รวมทั้งค่าจ้างในระบบไตรภาคีก็มีการขึ้นได้แค่ครั้งละบาทสองบาท ไม่มีการทีงานวิจัยว่าคนงานที่อยู่ได้จริงๆ ต้องมีค่าจ้างเท่าไหร่ งานวิจัยที่ออกมาหลายแห่งก็บอกว่าคนไทยต้องมีค่าจ้างวันละ 400-500 บาท ด้วยซ้ำจึงจะอยู่ได้ รวมทั้งควรพูดถึงค่าจ้างที่สามาระดูแลลูกและครอบครัวได้ด้วย ตาม ILO

ดังนั้นเวลาพูดถึงการแทรกแซงกลไกไตรภาคีนั้นก็ต้องมาพิจารณาด้วยว่ากลไกที่เป็นอยู่มีความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ด้วย สามารถทำให้ลูกจ้างมีชีวิตที่ดีขึ้นจริงหรือไม่ ดังนั้นควรแทรกแซงถ้าจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

ข้อเสนอนโยบายด้านแรงงาน

  • อันดับแรกรัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง
  • ประกาศส่งเสริมสิทธิการรวมตัวในรูปแบบต่างๆ เช่น การมีสหภาพแรงงานจะได้รับทุนสนับสนุน ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญและกฎหมายเพื่อให้คนงานสามารถตั้งสหภาพประเภทอุตสาหกรรมหรือตั้งพรรคการเมืองได้ง่ายขึ้น รวมทั้งขยายสิทธิการรวมตัวไปในแรงงานข้ามชาติ แรงงานภาคเกษตร แรงงานนอกระบบ เป็นต้น
  • สิทธิการเลือกตั้งในสถานที่ประกอบการ เลือก ส.ส.ในพื้นที่ทำงานได้ เช่น ใช้ฐานทะเบียนการเลือกตั้งจากประกันสังคม
  • ประกันสุขภาพ การรักษาการเจ็บป่วยควรเป็นมาตรฐานเดียวกันกับคนทั้งประเทศ
  • สำหรับคนงานหญิงมีเรื่องสิทธิการยุติการตั้งครรภ์ การลาปวดประจำเดือนไม่ถือเป็นการลาป่วย สามารถหยุดงานเพื่อดูแลลูกได้มากกว่า 90 วัน เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรมากกว่าตอนนี้ รวมทั้งให้คูปองซื้อนมผงทารกหรือลดราคานมผง เป็นต้น
  • แม่หรือพ่อที่เลี้ยงเดียว ซึ่งคนงานจะมีลักษณะแบบนี้มาก รัฐควรช่วยเหลือ เช่น ให้เงินเลี้ยงดูบุตร เป็นต้น


เซีย จำปาทอง เลขาธิการสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ

เซีย มองว่าสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ดำเนินการที่เห็นเป็นรูปธรรมจัดทำคือ  การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ  300  บาท  ข้อดีคือ  ลดความเหลื่อมล้ำได้ระดับหนึ่ง   ทำให้ลูกจ้างมีรายได้ฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น  มีเงินจับจ่ายใช้สอยมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามเขามีข้อเสนอแนะที่เห็นว่ารัฐบาลเพื่อไทยควรเร่งดำเนินการประกอบด้วย

-  ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  โดยกำหนดเนื้อหาส่วนหนึ่งดังนี้  สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ  ประมุขฝ่ายบริหาร  นิติบัญญัติ  และตุลาการมาจากการเลือกตั้งโดยตรง 

-  รับรองอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ  ฉบับที่  87,98,183 ( ฉบับที่ 183 ว่าด้วยสิทธิการคุ้มครองความเป็นมารดาในการได้รับสวัสดิการค่าจ้างในช่วงที่ไม่ได้ทำงาน เนื่องมาจากการคลอดบุตร การคุ้มครองสุขภาพแม่และเด็ก โดยให้บิดาสามารถลางานมาดูแลบุตรและมารดาหลังคลอดบุตรได้)

-  นิรโทษกรรมให้กับนักโทษการเมือง 

-  สตรีมีสิทธิทำแท้งเมื่อไม่พร้อมมีบุตร 

-  สร้างรัฐสวัสดิการมาตรฐานเดียวตั้งแต่เกิดจนตาย  เช่น  จัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า  หลักประกันที่ดินทำกิน  หลักประกันที่อยู่อาศัย  เรียนฟรีทุกระดับ 

-  รพ.พยาบาลประกันสังคม  รักษาฟรีทุกโรค 

-  ระบบค่าจ้างที่เป็นธรรม 

 

พัชนี คำหนัก โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (Thai Labour Campaign)(ภาพโดย Alex Biosiam)

ดี-เสีย 2 ปีการดำเนินนโยบายด้านแรงงาน

พัชนี กล่าวว่า นโยบายด้านแรงงานที่เด่นชัดของรัฐบาลเพื่อไทยคือ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท และการขึ้นเงินเดือนบัณฑิตป.ตรีจบใหม่ เป็นเดือนละ 15,000 ตามที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้ ซึ่งเป็นการเอาใจผู้ใช้แรงงานในหลายๆ สถานที่ทำงาน และถือว่าตรงตามความต้องการของคนทำงานด้วย

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติยังติดปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่มาจากการคิดนโยบายไม่ครอบคลุมถึงผู้ใช้แรงงานทุกคน กล่าวคือในความเป็นจริงการขึ้นค่าจ้างหรือเงินเดือนต้องขึ้นให้แก่คนทำงานที่มีอายุงานที่หลากหลาย อย่างเป็นสัดส่วน ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับการต่อรองหรือแล้วแต่สถานประกอบการจะดำเนินการขึ้นให้ทุกคนอย่างอัตโนมัติ เพราะสถานประกอบการแต่ละแห่งมีศักยภาพในการแข่งขันที่แตกต่างกัน ทุนใหญ่ย่อมได้เปรียบกว่าทุนขนาดกลางและย่อม หรือทุนใหญ่บางแห่งมุ่งหมายเอาเปรียบคนงานเพราะต้องแข่งขันกับแบรนด์อื่น และตัวแปรเช่นนี้รัฐบาลต้องคำนึงและทำให้นโยบายมีผลทางปฏิบัติอย่างทั่วถึง

อย่างไรก็ตาม การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำก็ยังไม่เพียงพอสำหรับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่เทียบเท่ากับคนชั้นกลางหรือชั้นนำ เพราะค่าจ้างขั้นต่ำในเมืองไทยถูกแช่แข็งและบิดเบือนความหมาย คือไม่สะท้อนความเป็นจริง ต่ำกว่ามาตรฐานสากล ไม่ครอบคลุมคนในครอบครัวของแรงงานอีก 2 คน ฉะนั้นต้องนิยามและปรับปรุงโครงสร้างค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ และในขณะเดียวกันรัฐบาลต้องสนับสนุนการรวมตัวและเจรจาต่อรองของสหภาพแรงงาน ไม่ใช่ปล่อยให้ทุนทำลายสหภาพแรงงานอยู่ร่ำไป ทั้งนี้ยังมีข้อเรียกร้อง ความต้องการอีกหลายประการที่สหภาพแรงงานต้องเข้าไปเจรจาผลักดันกับนายจ้างต่อไป รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องสำนึกถึงความสำคัญของการเป็นตัวแทนในทุกระดับ ฉะนั้นต้องไม่ปล่อยให้สหภาพแรงงานถูกทำลายโดยง่าย

แนะรัฐทบทวนนโยบายปล่อยเสรีทางการค้า

“คุณภาพชีวิตที่ดีที่มาจากการยกระดับสภาพการจ้างงานให้มั่นคงและเป็นธรรมกับลูกจ้างทุกแห่ง ไม่ให้เหลื่อมล้ำภายในกันเองและไม่ให้เกิดช่องว่างกับคนรวยกว่าด้วย อีกทั้งให้แรงงานมีอำนาจในการปกครองตนเองมากขึ้น และมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของรัฐเพื่อประกันว่าตัวเองจะมีคุณภาพชีวิตดังที่เรียกร้องมาโดยตลอด” พัชนี กล่าว

อยากให้รัฐบาลทบทวนนโยบายปล่อยเสรีทางการค้าให้ภาคเอกชนที่ผ่านมาว่าทำให้สังคมไทยอ่อนแอในแง่ความเป็นอยู่อย่างไร การเอื้อประโยชน์ให้แก่ภาคเอกชนจนรัฐลดบทบาทในการดูแลประชาชนในด้านรายได้และสวัสดิการ แต่เพิ่มบทบาทในการเสริมความเข้มแข็งให้แก่ทุน ซึ่งเท่ากับรัฐบาลอยู่ข้างคนส่วนน้อยมากกว่าต่อคนส่วนใหญ่ ฉะนั้น รัฐต้องมีบทบาทมากขึ้นในการจัดสวัสดิการอย่างเป็นระบบ และมาตรฐานเดียว คลอบคลุมชีวิตประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย หลังจากที่ทำมาแล้วภายใต้นโยบายประชานิยม แต่ถือว่าไม่เพียงพอและต้องทำให้เป็นระบบ บทบาทของรัฐในการกระจายรายได้ ผ่านระบบจัดเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้าจากคนรวยๆ เพื่อนำรายได้มากระจายแก่คนส่วนใหญ่ในรูปแบบต่างๆ สิ่งเหล่านี้ควรวางแผนทำต่อไป ผลักสังคมให้ก้าวไปข้างหน้า ให้ทุนรู้จักปรับตัวให้รับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ไม่ใช่เอาแต่ได้ และผลักภาระให้คนจน ทีสำคัญต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการรวมกลุ่มจัดตั้ง แสดงออกอย่างเต็มที่ ดังเจตนารมณ์ของระบอบประชาธิปไตย จึงจะทำให้สังคมโดยรวมเข้มแข็งและมีกำลังซื้อ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net