Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


(ภาพเขียน 1 ในชุดภาพ "10 ฉากชั่วการเมืองไทย" ที่เผยแพร่ทางเฟซบุค Vasan Sitthiket)

ว่ากันว่างานศิลปะคือการสะท้อน “ความงาม” และความงามนั้นต้องดูกันที่ “ไอเดีย” ที่สะท้อนผ่านงานศิลปะชิ้นนั้นๆ ความงามที่สะท้อนผ่านงานศิลปะอาจเป็นความประทับใจ น่าทึ่ง หรือความสะเทือนใจ ความเศร้า โศกนาฏกรรมต่างๆ หรือแง่คิดลึกซึ้งเกี่ยวกับชีวิตและสภาพปัญหาของสังคมก็ได้ แต่หากพิจารณางานศิลปะที่นำมาใช้กับการเมืองของวสันต์ สิทธิเขต เช่น ภาพเขียน 1 ในชุดภาพ "10 ฉากชั่วการเมืองไทย" ข้างบน จะเห็นได้ชัดว่าไม่ได้สะท้อน “ความงาม” ที่มีความหมายใดๆ

ไม่ใช่เพราะว่าวสันต์ไม่มีฝีมือทางศิลปะ แต่ภาพเขียนนี้สะท้อนให้เห็น “ความไม่งาม”  ในตัวมันเองในความหมายที่สำคัญคือ

1)  มันเป็นศิลปะที่สะท้อนความอัปลักษณ์แบบ “สองมาตรฐาน” กล่าวคือ ถ้าความหมายหนึ่งของการสะท้อนความงามทางศิลปะ หมายถึงการสะท้อนให้เห็น “ความอัปลักษณ์” ของบางสิ่งก็ได้เพื่อให้เกิดความสะเทือนใจ ได้แง่คิดบางอย่าง ซึ่งกรณีของภาพเขียนนี้คือการสะท้อน “ความอัปลักษณ์ทางการเมือง” (ที่วสันต์เรียกว่า “ฉากชั่วทางการเมือง”) แต่ความอัปลักษณ์ทางการเมืองที่สะท้อนผ่านภาพเขียนนี้มันไม่มีความหมาย หรือไม่ make sense ใดๆ เลย ในเมื่อวสันต์ไม่สามารถใช้วิธีเดียวกันนี้กับ “ทุกอำนาจนำ” ทางการเมืองในความเป็นจริงได้ เช่นไม่สามารถสะท้อนภาพอัปลักษณ์ของอำนาจนอกระบบเหมือนที่ทำกับนักการเมืองและประชาชนที่สนับสนุนนักการเมืองได้

2) มันเป็นศิลปะที่สะท้อน “สองมาตรฐานทางศีลธรรม” คือ ถ้าภาพเขียนนี้ต้องการสะท้อนความเลวร้ายของนักการเมือง อย่างที่วสันต์ให้สัมภาษณ์สื่อ (มติชนออนไลน์ 30 เม.ย.56) เช่นการโกงของนักการเมือง การใช้เงินซื้อทุกอย่างได้ การที่คนยอมเป็นทาสทุนทางการเมืองเพราะโลภเงิน ฯลฯ

แต่การชี้ให้เห็นปัญหาทางศีลธรรมดังกล่าวนี้มันก็ไม่มีความหมายแต่อย่างใด เพราะการชี้ปัญหา “ศีลธรรมเชิงสาธารณะ” จะมีความหมายก็ต่อเมื่อเราสามารถชี้ปัญหาศีลธรรมที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะจากการกระทำของบุคคลสาธารณะได้ใน “มาตรฐานเดียวกัน” แต่วสันต์ (เรา) ชี้ให้เห็นปัญหาศีลธรรมเชิงสาธารณะของอำนาจนอกระบบแบบเดียวกับที่กระทำต่อนักการเมืองไม่ได้ การสะท้อนผ่านภาพเขียนของวสันต์ จึงเป็นเพียงการสะท้อน “อคติทางศีลธรรม” ในจิตใต้สำนึกที่ถูกปลูกฝังกล่อมเกลามาภายใต้วัฒนธรรมไทยๆ เท่านั้นเอง

และที่สำคัญงานศิลปะแบบวสันต์ มันเป็นเพียงการผลิตซ้ำ “อคติทางศีลธรรม” และ “ระบบสองมาตรฐานทางศีลธรรมเชิงสาธารณะ” ให้ดำรงอยู่อย่างมั่นคงในสังคมไทยต่อไป

3) มันเป็นศิลปะที่สะท้อนการลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนอื่นอย่างสุดโต่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็น “ความเก็บกด” ที่ความเป็นมนุษย์ของตนเองถูกลดทอน กล่าวคือ หากมนุษย์เป็น “สัตว์ที่มีเหตุผล” (rational being) แต่ภายใต้ระบบสังคมที่เราไม่มี freedom of speech กับทุกอำนาจนำทางการเมือง (ตามเป็นจริง) เช่นไม่สามารถมี freedom of speech กับอำนาจนอกระบบได้เหมือนกับบุคคลสาธารณะอื่นๆ ก็เท่ากับว่าระบบสังคมเช่นนี้ลดทอนความเป็นมนุษย์ที่มีเหตุผลของเรา (ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ไม่ว่าคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข จะใช้เหตุผลอย่างไรก็ตาม เพื่อปกป้องสิทธิความเป็นคนของตนเอง แต่ระบบอำนาจที่เป็นอยู่ก็ “ไม่รับรู้” และ “ไม่ยอมรับ” ในความมีอยู่ของ “ความเป็นมนุษย์” ของเขาเลย)

ภายใต้โครงสร้างอำนาจ และการปลูกฝังกล่อมเกลาผ่านวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของเรา ทำให้เกิดสภาพ “เก็บกด” ความรู้สึกที่ว่า “ตัวฉันไม่สามารถเป็นมนุษย์ผู้มีเหตุผลได้จริง” ในจิตใต้สำนึกอย่างไม่รู้ตัว ฉะนั้น ภาพเขียนของวสันต์ที่ลดทอน “ความเป็นมนุษย์ที่มีเหตุผล” ของคนอื่น (นักการเมืองเลวบริสุทธิ์ คนอื่นๆ เสื้อแดงที่สนับสนุนเขาโง่ คิดไม่เป็น ฯลฯ) จึงสะท้อน “ความไม่สามารถเป็นมนุษย์ที่มีเหตุผลได้” ของวสันต์เอง

“ความไม่สามารถเป็นมนุษย์ที่มีเหตุผลได้” ของวสันต์ในกรณีภาพเขียนนี้ ก็คือความไม่สามารถใช้งานศิลปะสะท้อนปัญหาศีลธรรมเชิงสาธารณะได้ “อย่างมีเหตุผล” เพราะไม่สามารถใช้ภาพเขียนแบบเดียวกันนี้สะท้อนปัญหาศีลธรรมเชิงสาธารณะกับบุคคลสาธารณะได้ใน “มาตรฐานเดียวกัน” จึงทำให้งานศิลปะของวสันต์ไม่มีเหตุผลในตัวมันเอง เป็นเพียงงานที่สะท้อนอคติ ความเกลียดชัง มีลักษณะกดเหยียด ลดทอนความเป็นมนุษย์ของนักการเมืองและฝ่ายที่สนับสนุนนักการเมืองอย่างสุดโต่ง

นั่นคือ ถ้าเป็นนักการเมืองหรือฝ่ายสนับสนุนพวกเขาแล้ว วสันต์จะใช้ “สัญญะ” อะไรก็ได้เพื่อสะท้อน เติมแต่งความเลวระยำของพวกเขาในนามของ “เสรีภาพของศิลปิน” ขณะที่ทำกับอำนาจนอกระบบไม่ได้ งานของวสันต์จึงสะท้อนความไร้เหตุผล มีอคติ สองมาตรฐาน ซึ่งเกิดจากความเก็บกดในจิตใต้สำนึกจากการถูกครอบงำโดยโครงสร้างอำนาจที่ทำให้วสันต์ “ไม่สามารถเป็นมนุษย์ที่มีเหตุผล” ได้จริง

และสำหรับ “ความอัปลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุด” ที่สะท้อนให้เห็นในงานศิลปะของวสันต์ ก็คือ แทนที่วสันต์จะใช้งานศิลปะต่อสู้เพื่อแก้ไขโครงสร้างอำนาจนอกระบบที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ เพื่อให้ตนเอง (และคนอื่น) สามารถเป็นมนุษย์ที่มีเหตุผลได้จริง (คือมนุษย์ที่มี freedom of speech กับทุกบุคคลสาธารณะได้) วสันต์กลับใช้งานศิลปะลดทอนความเป็นมนุษย์ของตนเองและคนอื่น ที่ถูกโครงสร้างอำนาจนอกระบบลดทอนความเป็นมนุษย์อยู่ก่อนแล้วให้ดูเสมือนว่า “ไม่มีความเป็นมนุษย์” ไปเลย

นี่คือ “การซ้ำเติม” การลดทอนความเป็นมนุษย์ให้หนักหน่วงลงไปอีก นี่คือโศกนาฏกรรมศิลปะที่สะท้อน “ความไม่สามารถเป็นมนุษย์ที่มีเหตุผลได้” ของศิลปินที่หลงผิดว่าตนเองกำลังใช้ “เสรีภาพ” แต่เป็นเสรีภาพที่ไร้ความหมาย ภายใต้ระบบสังคมที่ไม่มี freedom of speech อยู่จริง!   

 

  

 

     

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net