Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

อิสลาม มุสลิม ในสังคมมาเลเซีย

มาเลเซีย มีผู้นับถือศาสนาอิสลามราวครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดโดยประมาณ 26 ล้านคน อิสลามมีฐานะเป็นศาสนาแห่งรัฐมาตั้งแต่มาเลเซียได้รับเอกราช รวมถึงมีความสำคัญต่อการกำหนดอัตลักษณ์ของชนพื้นเมืองมาเลเซีย ศาสนาอิสลามเริ่มแพร่หลายสู่โลกมลายูในช่วงศตวรรษที่ 14 ในบริเวณเมืองท่าต่างๆ และเริ่มที่จะเข้าไปมีบทบาทกับอำนาจรัฐเมื่อประมาณศตวรรษที่ 15 โดยเป็นช่วงเวลาที่รัฐมะละกาได้ถูกสถาปนาขึ้น และจากนั้นเป็นต้นมาอิสลามได้แพร่กระจายไปสู่โลกมลายู และมีความสำคัญผูกติดอยู่กับรัฐต่างๆ เสมอมา

ภายหลังจากได้รับเอกราชมาเลเซียก็ได้บัญญัติให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำในรัฐธรรมนูญของประเทศ และตั้งแต่ได้รับเอกราชเป็นต้นมา มาเลเซียได้อยู่ภายใต้การบริหารของ Barisan Nasional (แนวร่วมแห่งชาติ) เป็นพรรคร่วมรัฐบาล โดยที่มีพรรค UMNO เป็นแกนนำรัฐบาลมาโดยตลอด

ปรากฏการณ์ดะอ์วะฮ์ (Dawah Movement) ในมาเลเซียช่วงทศวรรษ 1970

ภายหลังการได้รับเอกราชจากอังกฤษโดยสมบูรณ์เมื่อ ค.ศ. 1957 มาเลเซียได้กลายเป็นรัฐที่ปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ก็มีความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองของมาเลเซียให้เป็นไปตามระบอบของอิสลาม ความพยายามเหล่านี้เริ่มเด่นชัดในช่วงทศวรรษ 1970 หรือชื่อเรียกปรากฏการณ์ในครั้งนั้นกันอย่างทั่วไปว่า การเคลื่อนไหวในการเชิญชวน (หรือว่าปรากฏการณ์ดะวะฮ) เป็นช่วงเวลาที่การทำงาน การเผยแพร่อิสลามมีการดำเนินงานอย่างชัดเจนมากขึ้น จากปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวคือ เกิดจากเหตุการณ์วิกฤติน้ำมัน จากการที่ชาติอาหรับผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกมีมติในการลดการส่งออกน้ำมัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีมูลค่าที่สูงขึ้นและได้สร้างความมั่งคั่งให้ผู้ส่งออกน้ำมัน ผลตามมาหลังจากนั้นคือ การให้การสนับสนุนจากชาติอาหรับเกี่ยวกับกิจการทางศาสนา และการสนับสนุนให้ทุนการศึกษาไปศึกษาต่อในประเทศตะวันออกกลาง

จากจุดนั้นเองส่งผลให้เกิดจำนวนผู้รู้ในทางด้านศาสนาจำนวนมากในช่วงเวลาดังกล่าว เกิดกระบวนการศึกษาเรียนรู้ และทำให้อุดมการณ์ของอิสลามเริ่มที่จะเบ่งบานมากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว การเคลื่อนไหวในกลุ่มของมุสลิมในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นไม่เพียงแต่ว่ามีวัตถุประสงค์ทางการเมืองเพียงอย่างเดียว ยังคงมีความพยายามที่จะพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจ รวมถึงความพยายามที่จะนำอิสลามเป็นรูปแบบในการใช้ชีวิตของคนมุสลิมในมาเลเซีย

กลุ่มสำคัญ หรือขบวนการสำคัญที่ออกมาเคลื่อนไหวในช่วงเวลานั้นมีทั้งกลุ่มพรรคการเมืองที่ชูนโยบายจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองของประเทศมาเลเซียให้มีการใช้กฎหมายชารีอะฮ เพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญในการปกครองประเทศคือ พรรค PAS (Parti Islam Semalaysia) องค์กรที่เน้นการพัฒนาและการทำธุรกรรมทางการเงินตามหลักการอิสลามเช่น ดารุล อัรกอม หรือขบวนการเยาวชน ที่ใช้ ชื่อว่า ABIM นักกิจกรรมรุ่นใหม่ที่ตื่นตัวทางด้านการเมือง และออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มาเลเซียกลับสู่หลักการของอิสลาม นอกจากนั้นยังคงมีการเคลื่อนไหวของ ญามาอะฮ ตับลีฆ ซึ่งกลุ่มดังกล่าวนี้ได้รับการยอมรับและสามารถขยายตัวได้บริเวณชนบทของประเทศ

จากคำอธิบายของ Shamsul ได้กล่าวว่า จากการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ดะวะฮ์มีผลมาจากแรงผลักดัน 6 ประการด้วยกันคือ[1]

1.      เพื่อรับมือกับแรงกดดันของกระบวนการทันสมัย

2.      เพื่อแสงดออกถึงความรู้สึกที่ต่อต้านจักรวรรดินิยมหรือลัทธิครองความเป็นเจ้าของตะวันตก

3.      เพื่อส่งเสริมารฟื้นฟูทางจิตวิญญาณ

4.      เพื่อต่อกรกับกระบวนการสร้างเหตุผลทางสังึมของโลกสมัยใหม่ที่ท้าทายต่อโลกทัศน์ทางศาสนาและปรัชญาแบบเดิม

5.      เพื่อแสวงหาหนทางที่จะอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยการตั้งคำถามหรือความไม่เชื่ออย่างถอนรากถอนโคน ไม่ว่าจะเป็นต่อสถาบัน ค่านิยม และศีลธรรมที่ดำรงอยู่ในสังคม

6.      เพื่อสร้างจารีตอันใหม่ ซึ่งจะเป็นโอกาสให้สามารถนิยามหรือผลักดันหาอัตลักษณ์ใหม่ทางชาติพันธุ์ ศาสนาในสังคมที่มีความหลายหลายได้

 

 

พรรค PAS กับการเมืองมาเลเซีย

พรรค PAS เป็นชื่อย่อของปาร์ตี อิสลาม เซอ-มาเลเซีย ซึ่งมีความหมายว่า พรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย การดำเนินนโยบายของพรรคก็คือ การผลักดันหลักการของอิสลามเข้าสู่รัฐธรรมนูญของประเทศ ซึ่งประสบความสำเร็จในบางพื้นที่เช่นในกลันตันในส่วนของกฎหมายให้มีการลงโทษผู้กระทำความผิดตามหลักการของอิสลาม ในส่วนการเมืองระดับประเทศ หรือในการเมืองส่วนกลาง พรรคนี้มีฐานะเป็นพรรคฝ่ายค้านของพรรครัฐบาลที่นำโดย พรรคอัมโนมาที่ครองเสียงข้างมากมาโดยตลอด โดยพรรคนี้มีฐานเสียงอยู่ที่กลันตัน และตรังกานู ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวนี้มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมลายู

อุดมการณ์ทางการเมืองแบบอิสลามที่พัฒนาขึ้น (Political Islam) ที่ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันออกกลางอย่างกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในการใช้นโยบายแบบอิสลามเป็นแนวทางที่ยึดความเป็นอิสลาม ความศรัทธา และเชื่อมั่นในอิสลาม ยึดอุดมการณ์อิสลามเป็นแนวทางในการทำงาน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ก็เช่นเดียวกัน การใช้นโยบายด้านศาสนาเป็นเครื่องมือ หรือแนวทางในการขึ้นมามีบทบาททางการเมืองอย่างพรรคPAS และพรรคUMNO ความเคร่งครัดของคนมาเลเซียที่เกิดจากกระบวน การอิสลามานุวัฒน์ นับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ทำให้เกิดการแข็งขันระหว่างสองพรรคการเมือง การใช้นโยบายของการให้นิยามแก่ “แก่นแท้ของอิสลาม” ที่เหมาะสมกับมาเลเซีย[2]

Political Islam ที่ได้รับความนิยมมากนี้ ส่งผลให้เกิดกระแสการฟื้นฟูอิสลาม โดยที่กลุ่มการเมืองใช้นโยบายโดยมีอุดมการณ์ทางด้านศาสนาเป็นธงนำ และเคลื่อนไหวทางการเมืองให้ประชาชนเคร่งครัดและหันมาให้ความสำคัญกับศาสนา การปฏิรูปสังคมที่นิยมแนวทางอิสลาม การสร้างคุณธรรม การสร้างสังคมที่ทันสมัย ภายใต้กรอบอิสลามไปสู่แนวทางที่ชัดเจนขึ้น

 

 

จากดารุล อัรกอมสู่ รูฟาการ์

ดารุล อัรกอม (Darul Arqam) องค์กรนี้ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1968 โดยอุซตาซ อัชอารีย์ มูหัมมัด เป็นครูสอนศาสนา เน้นทางด้านเศรษฐกิจอิสลาม และเน้นทางด้านการขัดเกลาตัวเอง (ตัรบียะห์) มีแนวคิดของซูฟี แต่ดารุล อัรกอม ( ซึ่งถูกรัฐบาลห้ามดำเนินการเคลื่อนไหวไปในปี ค.ศ. 1994  หลังจากถูกยุติบทบาทการเคลื่อนไหว สมาชิกของดารุล อัรกอมได้ดำเนินงานของตัวเองผ่าน บริษัทรูฟากา (Rufaqa Corporation) 

โดยบริษัทรูฟากาได้ดำเนินธุรกิจทั่วทั้งประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะมีทั้งอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลาง เกษตรกรรม และการท่องเที่ยว ซึ่งมีทั้งซูเปอร์มาร์เก็ต ค้าปลีก ร้านอาหาร ร้านตัดเย็บและเสื้อผ้า บริการธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจสำนักพิมพ์หนังสือ วารสาร โรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กโทรนิค โรงงานผลิตยานยนต์ เครือข่ายธุรกิจโรงแรมและห้องพัก เป็นต้น นอกเหนือจากมาเลเซียรูฟากายังมีธุรกิจในต่างประเทศเช่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไทย ออสเตรเลีย จอร์แดน ซีเรีย อียิปต์ ฝรั่งเศส และเยอรมัน[3]

 

ABIM กลุ่มปัญญาชน

ภาพของขบวนการนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองของประเทศไทย ในช่วง 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 เหล่านี้ถือเป็นสีสันทางการเมือง สำหรับการพัฒนาการศึกษาในช่วงสงครามเย็นได้เกิดกลุ่มเหล่าปัญญาชน ที่ตระหนักถึงความสำคัญต่อส่วนร่วมทางการเมือง ในมาเลเซียก็เช่นเดียวกัน เหล่าปัญญาชนได้ออกมาเคลื่อนไหวในทางการเมือง

อาบิม หรือ ชื่อเต็มจาก Angkatan Belia Islam Malaysia-ABIM เป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวโดยปัญญาชนของมาเลเซีย ได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่คนหนุ่ม-สาว และนักศึกษาในมาเลเซีย สำหรับแกนนำคนสำคัญคือ อันวาร์ อิบราฮีม ซึ่งปัจจุบันดำรง ตำแหน่งหัวหน้าพรรค PKR

ปรากฏการณ์ดะวะฮ์ ที่เกิดขึ้นในสังคมมาเลเซียนั้น ถือเป็นจุดเล็กๆ จุดหนึ่งของกระแสการฟื้นฟูอิสลามในสังคมโลกยุค 1970 ซึ่งส่งผลต่อเนื่องมากระทั่งปัจจุบัน อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ดะวะฮ์ ไม่ได้ฉายภาพเพียงแค่การฟื้นฟูอิสลามเพียงอย่างเดียว แต่ในขณะเดียวกันสิ่งเหล่านี้เป็นการแย่งชิงคำอธิบายเกี่ยวกับอิสลาม มุสลิม ในสังคมมาเลเซียอีกด้วย




[1] พวงทอง ภวัครพันธุ์, “มาเลเซียกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย พินิจปัญหาจากกรอบอิสลามานุวัตรในมาเลเซีย” ในวารสารฟ้าเดียวกัน ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2550

[2] บทความ พวงทอง ภวัครพันธุ์, พินิจปัญหาจากกรอบอิสลามานุวัตรในมาเลซีย,ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า 1-7

 

 

ที่มา: http://www.pataniforum.com

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net