Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

วันที่ 18 เมษายน 2556 ณ ศาลาวัดวังก์วิเวการาม อำเภอสังขละ จังหวัดกาญจนบุรี ชาวบ้านยกมือวิพากษ์โครงการทวิภาษาของกระทรวงศึกษาธิการด้วยความอัดอั้น เหตุเพราะรูปแบบการเรียนการสอนสองภาษาส่งผลกระทบต่อเด็กๆในชุมชนเป็นอย่างมาก ชุมชนไม่ต้องการอยากให้ทางการยกเลิกระบบดังกล่าวให้เร็วที่สุด

“เด็กๆ ทุกคนเกิดที่นี่ พูดภาษาไทยได้ชัด การจัดการเรียนแบบทวิภาษาจึงไม่จำเป็นและไม่เหมาะสมสำหรับโรงเรียนที่นี่” คุณพ่อสัญชาติมอญจากชมรมส่งเสริมวัฒนธรรมไทย-มอญ กล่าวย้ำถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกๆ ของตนอย่างกังวลใจ

การลงพื้นที่เพื่อรับทราบปัญหาเพื่อช่วยเหลือด้านสถานะบุคคลสิทธิของคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความในครั้งนี้จึงไม่จำกัดไว้แค่เพียงเรื่องสัญชาติ หากแต่พื้นที่นี้เรื่องระบบการศึกษากลับเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ชาวบ้านเห็นตรงกันว่าควรปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตของลูกหลาน

โครงการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย โดยใช้ภาษาท้องถิ่นร่วมจัดการเรียนรู้ เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปีงบประมาณ 2554 หลังจากได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลภาษาของนักเรียนโรงเรียนพื้นที่แนวชายแดน 30 จังหวัด 45 เขตพื้นที่ พบว่ามีภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน(ภาษาแม่/ภาษาบ้าน/ภาษาชาติพันธุ์) กว่า 30 ภาษา โรงเรียนบางแห่งมีการใช้ภาษามากกว่า 3 ภาษา และเนื่องจากภาษาที่นักเรียนใช้ประจำวัน/คุ้นเคย กับภาษาในการจัดการเรียนการสอนนั้นแตกต่างกัน มีผลให้นักเรียนในพื้นเหล่านั้นมีความยากลำบากในการเรียนรู้เนื้อหาสาระตามหลักสูตร และไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงได้จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนภาษาไทยโดยนำภาษาท้องถิ่นร่วม จัดการเรียนรู้ขึ้นโดยเน้นดำเนินการพัฒนากระบวนการสอนภาษาไทยในโรงเรียนแนวชายแดนและพื้นที่พิเศษ

ในปัจจุบัน สพฐ. มีโรงเรียนนำร่องในโครงการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยโดยนำภาษาท้องถิ่นร่วมจัดการเรียนรู้ (ทวิภาษาเต็มรูป) 11 โรงเรียน ได้แก่ที่ปัตตานี เขต 2 , ยะลา เขต 1, นราธิวาส เขต 1, สตูล, กาญจนบุรี เขต 3, เชียงราย เขต 4 , และที่เชียงใหม่ เขต 5, โครงการทวิภาษา(เต็มรูป) นี้ สพฐ. ดำเนินงานร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล, มูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ และ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษาของแต่ละพื้นที่

โดยจัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย(ทวิภาษาเต็มรูป) ในโรงเรียนนำร่อง 11 โรงเรียน ร่วมกับมูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ และมหาลัยมหิดล ซึ่งได้แก่โรงเรียนวัดวังก์วิเวการาม (ภาษาไทย-มอญ), โรงเรียนบ้านรักแผ่นดิน บ้านแผ่นดินทอง บ้านห้วยหาน และบ้านห้วยคุ (ภาษาไทย-ม้ง), โรงเรียนบ้านพุย (ภาษาไทย-กะเหรี่ยงโปว์,) โรงเรียนบ้านประจัน บ้านบึงน้ำใส ไทยรัฐวิทยา ๑๐ (บ้านใหม่) โรงเรียนบ้านตำมะลังเหนือ (ภาษาไทย-มลายู), และโรงเรียนบ้านโพธิ์กอง (ภาษาไทย-เขมรถิ่นไทย)

“ทวิภาษาคือการเรียนสองภาษา มอญกับไทย เพื่อให้คนที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกันอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่ทำลายวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ส่งเสริมในทุกภาษาและวัฒนธรรม การจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างภาษาของคนมอญโดยอ้างว่าเด็กมอญมีภาษาแม่อยู่แล้วขณะเดียวกันต้องรู้ภาษาไทยด้วยปัญหาคือระหว่าง ปัญหาแม่กับภาษาไทยจะเชื่อมกันอย่างไร มีการส่งเสริมให้เรียนภาษาไทยด้วย โดยใช้ภาษาไทยสะกดเป็นภาษามอญ ทำให้เรียนรู้ภาษาไทยได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดและเป็นการทำลายรากเง้าและอัตลักษณ์ของคนมอญ” นายสุรพงษ์ กองจันทึกประธานการลงพื้นที่เพื่อรับทราบปัญหาเพื่อช่วยเหลือด้านสถานะบุคคลสิทธิของคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวเสริม พร้อมเปิดหนังสือแบบเรียนทวิภาษาตัวปัญหาเพื่อพิสูจน์ข้อสงสัยพบว่าแบบเรียนดังกล่าวใช้ภาษาไทยเขียนสะกดเป็นคำภาษามอญ ที่ไม่สามารถแปลความได้ในแง่ภาษาศาสตร์ของทั้งไทยและมอญ อ่านไม่ออกและไม่สามารถเข้าใจตัวหนังสือดังกล่าวได้ เมื่อสอบถามคนไทย หากต้องให้แบบเรียนภาษาไทยสะกดด้วยภาษาอังกฤษจะยอมรับได้หรือไม่

“คนไทยก็ไม่เอาเพราะว่าเรามีภาษาของตัวเองอยู่แล้ว คนมอญเองก็มีภาษาของตัวเองอยู่แล้วเช่นกันไม่จำเป็นต้องเอาภาษาอื่นมาใช้สะกดเพื่อให้ลูกหลานได้เรียนรู้ คนมอญควรอนุรักษ์ภาษามอญไว้เสนอให้มีการจัดหลักสูตรของตัวเอง เข้าไปสอนในโรงเรียน ทางสภาฯจะช่วยประสานงานให้ ชาวบ้านไม่เอาทวิภาษา ไม่เอาภาษามอญ เอาแต่ตัวหนังสือมอญ และต้องเป็นอาจารย์มอญ สอนแบบมอญ” นายสุรพงษ์กล่าวย้ำเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้าน

"ภาษามอญเป็นภาษาที่เก่าแก่ที่สุดในอาเซียน สมัยก่อนวิทยาการความรู้ล้วนเขียนไว้ด้วยภาษามอญ ทั้งพระไตรปิฎก ตำรายา สมุนไพร มีแต่คนมาเรียนภาษามอญ ทั้งนักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ คนมอญต้องรักษาและภูมิใจในภาษาที่เป็นรากเหง้าของคนอาเซียน"

หญิงสาวชาวมอญที่เคยเรียนภาษามอญกล่าวสนับสนุนว่า “หนูเป็นเด็กรุ่นแรกที่ได้เรียนภาษามอญ หลักสูตรแตกต่างจากปัจจุบันมาก แต่ก่อนได้เรียนกับอาสาสมัครที่เป็นคนมอญ มาสอนให้หลังเลิกเรียน ยอมรับว่าภาษาไทยเป็นภาษาหลักอยู่แล้ว กลัวว่าวัฒนธรรมและภาษามอญจะหายไป อยากให้เด็กมอญเขียน อ่าน และเข้าใจในภาษามอญจริง ๆภาษาราชการเด็กๆไม่สามารถพูดเป็นภาษามอญได้แล้ว แบบเรียนปัจจุบันอ่านไม่ออก ภาษามอญมีประโยชน์คือทำให้เราเข้าใจในภาษาของเราอย่างลึกซึ้งมากกว่า เราร้องเพลงชาติมอญไม่ได้ อยากให้น้องๆร้องเพลงชาติมอญได้ เข้าใจภาษามอญอย่างลึกซึ้ง”

ภาษามอญควรมีการเรียนการสอนในชุมชนมากกว่าแบบเรียนแบบทวิภาษา ง่าย สอดคล้อง เชื่อมโยง เข้าใจด้วยสายใยทางชาติพันธุ์ สิ่งสำคัญที่ชาวบ้านต้องการคือ “ภาษามอญ ตัวอักษรมอญที่คนมอญเป็นสอนเท่านั้น” ใครจะรู้จักและเข้าใจความหมายของอักษรแต่ละตัวได้เท่ากับสายเลือดนักสู้มอญอีกแล้ว

คงไม่มี..เสียงสะท้อนจากชุมชนในหุบเขาชายแดนตะวันตกที่อยากบอกเล่าถึงผู้เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความ เข้าใจอันดีต่อกัน อย่างคนมีวัฒนธรรมและเคารพซึ่งความแตกต่างทางภาษาและชาติพันธุ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net