Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อวันอังคารที่ 23 เมษายน 2013 รัฐสภาฝรั่งเศสได้ผ่านกฎหมายประวัติศาสตร์ให้สิทธิการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน ด้วยคะแนนเสียง 331 เสียง ต่อ 225 เสียง และเป็นประเทศที่เก้าของสหภาพยุโรปและเป็นประเทศที่สิบสี่ของโลกที่อนุญาตให้มีการแต่งงานของคนเพศเดียวกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

การต่อสู้ที่ยาวนาน
การต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิการแต่งงานของคนเพศเดียวกันอย่างถูกกฎหมายเป็นการต่อสู้ที่ใช้เวลาหลายทศวรรษในทุกประเทศบนโลก โดยเฉพาะประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์หรืออิสลามที่ข้อบัญญัติทางศาสนาเป็นปฏิปักษ์ต่อกลุ่มบุคคลรักร่วมเพศและไม่อนุญาตให้แต่งงานได้ ซึ่งงานแต่งงานเป็นการประกาศอย่างเป็นทางการต่อสาธารณชนว่าบุคคลทั้งสองจะใช้ชีวิตร่วมกันฉันท์สามีภรรยาโดยมีพิธีกรรมทางศาสนาเป็นผู้ผูกขาดการตัดสินว่าบุคคลใดควรถูกอนุญาตการแต่งงานแบบที่สังคมยอมรับ เมื่อศาสนาเข้ามายุ่งยากชีวิตส่วนตัวเรื่องการแต่งงานและห้ามการแต่งงานเพศเดียวกันแล้ว คู่แต่งงานเพศเดียวกันจึงทำได้แค่การอยู่รวมกันโดยมิให้สังคมรับรู้และไม่ได้รับการอนุญาตจากศาสนา และหลายๆประเทศความคิดการเลือกปฏิบัติกลุ่มรักเพศเดียวกันรุนแรงถึงนิยามว่าการแต่งงานหรืออยู่กินของเพศเดียวกันเป็นการกระทำผิดกฎหมายและถูกลงโทษด้วยการจำคุกหรือประหารชีวิต นอกจากนี้การเลือกปฏิบัติยังถูกนำเสนอแอบแฝงสู่สังคมด้วยวิธีวิทยาศาสตร์และการแพทย์โดยนิยามว่าการรักเพศเดียวกันเป็นกลุ่มโรคบกพร่องทางจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งองค์กรระหว่างประเทศอย่างองค์กรอนามัยโลกเพิ่งจะถอนการนิยามดังกล่าวเมื่อปี 1990 และการต่อสู้ของสิทธิเพษเดียวกันถูกกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของเชื้อ เอชไอวีในทศวรรษ 1980 ซึ่งสามารถพบได้ในกลุ่มคนรักเพศเดียวกันมากกว่ากลุ่มอื่นๆ และเปิดโอกาสให้พวกฝ่ายขวาเคร่งศาสนามองว่าการแต่งงานของเพศเดียวกันเป็นผลอันตรายต่อสุขภาพชุมชนและการแต่งงานของเพศเดียวกันเป็นการแพร่ระบาดของเชื้อโรค(เอดส์) อย่างไรก็ตามความซับซ้อนของสังคมทำให้ศาสนาและหมอมิอาจเป็นผู้ผูกขาดการนิยามได้อีกต่อไป เมื่อการแต่งงานมีมิติอื่นๆ เช่น มิติทางกฎหมาย เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีการแพทย์ ชีวจริยศาสตร์ การเมือง สิทธิมนุษยชน เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

การต่อสู้ของกลุ่มรักเพศเดียวกันในฝรั่งเศสเป็นการต่อสู้อย่างยาวนานและประสบความสำเร็จในขั้นตอนแรกเมื่อปี 1999 โดยรัฐสภาผ่านกฎหมายสัญญาทางแพ่งเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกันของสังคม (Pacte civil de Solidarité, PACS) ภายใต้ประธานาธิบดีฝ่ายขวา Jacques Chirac และนายกรัฐมนตรีฝ่ายซ้ายคือ Lionel Jospin และแน่นอนว่าในช่วงเริ่มต้นย่อมมีการต่อต้านจากฝ่ายขวารวมถึงตัวประธานาธิบดี Chirac ด้วย แต่เนื่องจากความต้องการของสังคมและทรรศนะที่เปลี่ยนไปบ้างของคนในสังคม และฝ่ายซ้ายครองเสียงข้างมากในสภาทำให้ออกกฎหมายฉบับนี้ได้ อย่างไรก็ตามกฎหมายดังกล่าวก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน เพราะกฎหมายรับรองสิทธิระหว่างคนเพศเดียวกันหรือต่างเพศ 2 คนในการทำสัญญาว่าทั้งคู่จะใช้ชีวิตร่วมกัน โดยมิใช่หมายความว่าเป็นการแต่งงาน ผู้ที่ทำสัญญาจึงมีสถานภาพเป็น Pacsé (ผู้ทำสัญญา) มิใช่ผู้สมรส (Marié) สิทธิของผู้ทำสัญญาก็ไม่เหมือนกับสิทธิของผู้สมรส เริ่มแรกสัญญาให้สิทธิเฉพาะการคิดรวมรายได้ของคู่ทำสัญญาทั้งสองคน  ซึ่งส่งผลดีในแง่การลดการจ่ายภาษีและการมีสวัสดิการที่ดีกว่า ดังนั้นคู่ต่างเพศบางคู่ที่ไม่อยากแต่งงานก็นิยมทำสัญญาPACS กัน และมีจำนวนมากกว่าคู่ทำสัญญาที่เป็นเพศเดียวกันซะอีก (สัดส่วนของผู้ที่ทำสัญญาPACS ที่เป็นเพศเดียวกันคิดเป็นประมาณ 2% ของการจดทะเบียน PACS ทั้งหมด) กฎหมาย PACS จึงเป็นกฎหมายที่ประนีประนอมระหว่างฝ่ายที่ต่อต้านและฝ่ายสนับสนุนการแต่งงานของเพศเดียวกันโดยมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนไม่ว่าจะต่างเพศหรือเพศเดียวกัน

การให้ทำสัญญา PACS เป็นเพียงการประนีประนอมแต่ก็ยังไม่ยอมรับการแต่งงานของเพศเดียวกันอยู่ดี และต้องมีการต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิดังกล่าว และเมื่อปี 2004 ได้เกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการทบทวนกฎหมายอีกครั้งเมื่อ Noël Mamère นายกเทศมนตรีของ Bègles ได้ใช้ช่องโหว่ของกฎหมายอนุญาตให้คู่สมรสเพศเดียวกัน Bertrand Charpentier และ Stéphan Chapin โดยMamère ชี้ว่ากฎหมายทางแพ่งไม่ได้ระบุเพศของคู่สมรส อย่างไรก็ตามพวกต่อต้านการแต่งงานเพศเดียวกันก็ไม่เห็นด้วยและมีการประท้วงโดยผู้ชุมนุมกำไม้กางเขนอยู่ที่หน้าเทศบาลในขณะมีพิธีแต่งาน ศาลขั้นต้น อุทรณ์และฎีกาแห่ง Bordeaux ต่างยืนยันคำตัดสินว่า กฎหมายพ่งให้การแต่งงานเป็นพิธีเฉลิมฉลองของชายและหญิง โดยกฎหมายดังกล่าวไม่ขัดกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนยุโรป และสั่งห้ามการแต่งงานของเพศเดียวกัน เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดการแพร่ขยายของการณรงค์ต่อต้านการเกลียดพวกรักร่วมเพศและเกิดประเด็นต้องทบทวนความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายและสิทธิมนุษยชนในประเทศฝรั่งเศสอีกครั้ง

นอกจากประเด็นข้อกฎหมายในประเทศแล้ว  องค์กรเหนือชาติอย่างศาลสหภาพยุโรปด้านสิทธิมนุษยชนก็มีอิทธิพลต่อกฎหมายในประเทศฝรั่งเศสและเกิดประเด็นว่ากฎหมายห้ามการแต่งงานของเพศเดียวกันขัดแย้งกฎหมายของสหภาพยุโรปหรือไม่ นอกจากนี้การที่มีประเทศอื่นในสมาชิกสหภาพยุโรปอนุญาตเกิดการแต่งงงานเพศเดียวกันอย่างถูกกฎหมายแล้ว ก็ส่งผลให้เกิดการหลีกเลี่ยงข้อห้ามในฝรั่งเศสโดยคู่รักร่วมเพศมักจะไปจดทะเบียนสมรสในประเทศ เนเธอร์แลนด์ อย่างไรก็ตามการกระทำดังกล่าวก็ส่งผลให้เกิดความยุ่งยากตามมาโดยเฉพาะเมื่อคู่สมรสตายไป ทรัพย์สินของผู้ตายย่อมตกเป็นของคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เมื่อเป็นปัญหาว่าการรับรองที่ถูกกฎหมายของเนเธอร์แลนด์มีผลผูกพันต่อกฎหมายในฝรั่งเศสและส่งผลต่อเกิดสิทธิในทรัพย์สินของผู้ตายหรือเปล่า?

และในปี 2010 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณีกฎหมายการแต่งงานเฉพาะคนต่างเพศเป็นการขัดแย้งกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลรฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการขัดแย้งรัฐธรรมนูญซึ่งเปิดโอกาสให้ทางรัฐสภาสามารถยื่นแก้ข้อกฎหมายดังกล่าวได้ ประเด็นการแก้กฎหมายเพื่อการแต่งงานของเพศเดียวกันจึงเป็นประเด็นหาเสียงในสมัยเลือกตั้ง 2012 โดยบรรดาฝ่ายซ้ายต่างสนับสนุนให้มีการแก้กฎหมาย ส่วนฝ่ายขวากลางเห็รด้วยว่าควรมีกฎหมายที่เท่าเทียมแต่ไม่เห้นด้วยกับการแต่งงานเพศเดียวกัน ส่วนฝ่ายขวาตกขอบย่อมต่อต้านกฎหมายนี้ และเมื่อผลการเลือกตั้งพรรคฝ่ายซ้ายเป็นผู้ชนะและผลักดันให้เกิดการบัญญัติกฎหมายการแต่งงานเพศเดียวกันเป็นผลสำเร็จเมื่อ 23 เมษายน 2013 ในระหว่างขั้นตอนการร่างกฎหมายนั้นบรรยากาศภายนอกก็เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้เห็นด้วยกับกลุ่มผู้ต่อต้านการแต่งงานเพศเดียวกัน และบางพื้นที่มีการใช้ความรุนแรงอีกด้วย อย่างไรก็ตามการผ่านกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกันเป็นแค่อีกก้าวหนึ่งซึ่งต้องการก้าวต่อไปอีก เมื่อคำถามเรื่องการใช้วิทยาการทางการแพทย์เพื่อช่วยการมีลูกซึ่งโดยปกติแล้วกฎมายอนุญาตให้คู่สามีภรรยาต่างเพศที่มีปัญหาการเจริญพันธุ์สามารถได้รับการช่วยเหลือได้ แต่กรณีของคู่เลสเบี้ยนยังต้องมีการพิจาณากันอีกต่อไป หรือการรับจ้างการตั้งครรภ์แทนผู้อื่นซึ่งกฎหมายฝรั่งเศสห้ามในทุกกรณี หรือการผ่าตัดแปลงเพศซึ่งเป็นข้อห้ามในประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น 

แนวโน้มประเทศไทย
การยอมรับการความหลากหลายทางเพศและการยอมรับการแต่งงานของเพศเดียวกัน มีสองระดับที่ต้องพิจารณาคือ การยอมรับภาคปฏิบัติในสังคม และการยอมรับให้เป็นสิทธิภายใต้กฎหมาย ในกรณีประเทศฝรั่งเศสซึ่งประกอบด้วยกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย ทั้งทางด้านเชื้อชาติ ความเชื่อ และเพศ มีกลุ่มที่รังเกียจและกลุ่มที่ยอมรับความหลากหลายทางเพศต่างฝ่ายต่างแสดงความเห็นและผลักดันความเห็นเต็มที่จนบางครั้งเกิดความรุนแรงตามมา และการต่อสู้ทั้งสองฝ่ายต่างต่อสู้ไปจนถึงระดับโครงสร้างกฎหมาย การต่อสู้เรื่องดังกล่าวจึงเป็นการต่อสู้ทั้งทางภาคปฏิบัติและเป็นการต่อสู้ทางด้านกฎหมายที่ต้องอาศัยผู้แทนในรัฐสภา การร่างกฎหมายที่เอื้อต่อกลุ่มคนรักเพศเดียวกันต่างออกในสมัยที่รัฐสภาเสียงข้างมากเป็นฝ่ายซ้าย และศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายที่เอื้อต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

สำหรับประเทศไทยความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งที่ยอมรับในทางฏิบัติในสังคม ผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นที่ยอมรับในสังคมมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ พวกเขาสามารถประกอบอาชีพสำคัญๆ เช่น นักแสดง ครู หมอ นักการเมืองท้องถิ่น เป็นต้น แต่ยังคงมีบางสายอาชีพที่ยังปิดกั้นไม่ให้โอกาส เช่น ผู้พิพากษา เป็นต้น  กรุงเทพฯ กลายเป็นศูนย์กลางของกลุ่มความหลากหลายทางเพศในภูมิภาค ผู้คนจากหลากหลายภูมิภาคต่างหลั่งไหลเข้ามา เพิ่มสีสันให้สังคมกลุ่มคน Transgender เป็นกลุ่มคนทำงานด้านบันเทิงเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ การผ่าตัดแปลงเพศเป็นเรื่องเสรีและมีการเปิดคลีนิคกันอย่างเป้นล่ำเป็นสันเพื่อรับลูกค้าทั้งจากต่างประเทศและในปะเทศรวมถึงมีการโฆษณาในสื่อต่างๆโดยไม่มีการตั้งคำถามถึงความสมควรหรือความถูกต้องตามจริยธรรมหรือไม่ การยอมรับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในประเทศไทยจึงเกิดคำถามว่าเป็นการยอมรับที่อยู่ภายใต้ความเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์ด้วยกันหรือเป็นการยอมรับในฐานะพวกเขาเหล่านั้นเป็นวัตถุทางด้านบันเทิงหรือเปล่า?

การยอมรับความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยจึงยังขาดแคลนการยอมรับภายใต้ความเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์และคามเท่าเทียมกันทางกฎหมาย และต้องการการต่อสู้เพื่อให้ได้มาถึงสิทธิตามทางกฎหมาย ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ต้องอาศัยกลไกรัฐสภา ถึงแม้ภาคประชาชนจะยื่น พรบ คู่ชีวิต แต่ก็ต้องอาศัยผู้แทนเสียงข้างมากในการโหวตผ่านกฎหมาย ซึ่งประเด็นดังกล่าวยังไม่เป็นที่สนใจของผู้แทนราษฎร

คลิกดูภาพขนาดใหญ่ขึ้น

ภาพจาก 10 Bangkok Future Policies

 

เชิงอรรถ

http://www.liberation.fr/societe/2013/04/23/la-france-autorise-le-mariage-homosexuel_898329

http://www.lemonde.fr/societe/article/2013/04/24/pour-les-anti-mariage-pour-tous-ce-n-est-que-le-debut-d-un-long-chemin_3165439_3224.html

http://trendsoutheast.org/2011/all-issues/issue-08/rainbow-over-the-mekong-trends-for-lgbt-identities-in-thailand-cambodia-and-laos/

http://tempsreel.nouvelobs.com/mariage-gay-lesbienne/20121031.OBS7682/la-bataille-du-mariage-homosexuel-une-longue-histoire.html

http://www.lemonde.fr/politique/article/2013/01/29/la-lecon-d-histoire-de-taubira-la-fronde-de-la-droite_1824145_823448.html

http://fr.wikipedia.org/wiki/Mariage_homosexuel_en_France

http://www.siamintelligence.com/agenda-bangkok-10-future-policie/

http://prachatai.com/journal/2013/02/45250

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net