Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หมายเหตุ: นำเสนอในเวทีเสวนาเครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตย วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน 2556 ณ ห้องประชุม 209 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดย ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สถาบันสังคมประชาธิปไตย(Social-Democracy Think Tank)

 
เนื่องจากโอกาสรำลึกครบรอบ 50 วัน การจากไปของ อูโก ชาเวซ (Hugo Rafael Chávez Frías) ประธานาธิบดีแห่งเวเนซูเอลา จากพรรคสหสังคมนิยมแห่งเวเนซุเอลา(PSUV) ผู้ประกาศ “แนวทางสังคมนิยมทางเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21” อันลือลั่น และการจากไปไม่นานของ มาร์กาเรต แทตเชอร์ เจ้าแม่เสรีนิยมใหม่ ผู้นำลัทธิเศรษฐกิจแบบแทตเชอร์-เรแกน ที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ผู้เคยเสนอว่า "สังคมไม่มีอยู่จริง", ยุคสมัยของแทตเชอร์ เธอแปรรูปรัฐวิสาหกิจและกิจการสาธารณูประโภคของรัฐแทบทุกอย่างให้เป็นของเอกชน ไม่ว่าจะเป็นน้ำประปา ไฟฟ้า พลังงาน ขนส่งสาธารณะ สายการบินแห่งชาติ และโทรคม ขณะที่ชายหนุ่มจากละตินอเมริกา เขานำการปฏิรูปสังคมนิยมไปปฏิบัติในประเทศ ตามแนวทางการปฏิวัติโบลีวาร์ สร้างสภาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ยึดคืนธุรกิจบริษัทน้ำมันและพลังงานซึ่งผูกขาดโดยต่างชาติและโอนอุตสาหกรรมหลักหลายประเภทเป็นของรัฐ รวมทั้งเพิ่มเงินทุนด้านสาธารณสุขและการศึกษาของรัฐ เพื่อแก้ปัญหาความยากจน
 
ชาเวซ เกิดในครอบครัวกรรมกรในซาบาเนตา รัฐบารีนัส ต่อมาเขาได้ก่อตั้งขบวนการปฏิวัติโบลีวาร์ (MBR-200) ขึ้นในต้นทศวรรษ 1980 เพื่อดำเนินการโค่นล้มรัฐบาล เขาเคยนำการรัฐประหารที่ล้มเหลวในปี 1992 และเป็นนักโทษทางการเมืองอยู่ 2 ปี จึงออกมาร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองขบวนการสาธารณรัฐที่ห้าซึ่งมีอุดมการณ์สังคมนิยมประชาธิปไตย จนได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเวเนซุเอลาในปี 1998 ในที่สุด ในขณะที่เป็นประธานาธิบดีถึง 4 สมัย เขาริเริ่มรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เพิ่มสิทธิคนชั้นล่างและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของรัฐบาลเวเนซุเอลา ริเริ่มระบบภารกิจโบลีวาร์(Bolivarian Mission) สภาชุมชน (Communal Council) และสหกรณ์ที่มีกรรมกรเป็นผู้จัดการ รวมถึงโครงการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ ที่โดดเด่นที่สุดก็คือ การยึดกิจการเอกชนมาเป็นของรัฐ (Nationalization) โดยเฉพาะน้ำมัน ซึ่งมีต่างชาติเป็นเจ้าของให้กลายเป็นของรัฐและนำรายได้กลับคืนสู่ประเทศ
 
คลื่นของสังคมนิยมในศตวรรษที่ 21ที่ก่อตัวทั่วละตินอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น เวเนซูเอลา นิคารากัว โบลิเวีย ชิลี บราซิล อาร์เจนตินา เอกวาดอร์ กัวเตมาลา ซึ่งมีจุดยืนร่วมกันคือการปฏิเสธนโยบายทุนนิยมเสรีและการครอบงำจากอเมริกา ทำให้โลกตื่นตัวขึ้นอย่างมากว่า วันนี้โลกมีระบบเศรษฐกิจทางเลือกที่มากกว่าทุนนิยมอยู่อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ระบบเศรษฐกิจผสม หรือสังคมประชาธิปไตยในกลุ่มประเทศนอร์ดิค (Nordic Countries) ก็ตาม และล้วนเป็นเรื่องน่าศึกษาเปรียบเทียบอย่างยิ่ง
 
ชาเวซ เป็นประธานาธิบดีที่มาจากประชาธิปไตยทางการเมืองในระบบรัฐสภา แต่เขาได้สร้างรูปธรรมของสังคมนิยมทางเศรษฐกิจได้อย่างมีสีสันและรูปธรรม การประกาศตัวต่อต้านระบบทุนนิยมและจักรวรรดินิยมอเมริกา ทำให้เวเนซูเอลาเป็นพันธมิตรและมีความสัมพันธ์อย่างเข้มแข็งกับคิวบาและประเทศสังคมนิยมอื่นๆ โดยเขาได้ผลักดันให้กลุ่มประเทศดังกล่าวร่วมกันจัดตั้งสหภาพประชาชาติอเมริกาใต้ พันธมิตรโบลีวาร์เพื่อทวีปอเมริกา และธนาคารใต้ (Bank of the South) ที่ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาค มีการแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือระหว่างน้ำมันและการแพทย์โดยไม่ใช้เงินหรือการคำนวณคิดเป็นค่าเงินกับคิวบา ซึ่งคิวบาได้รับการยกย่องอย่างมากในเรื่องความก้าวหน้าทางการแพทย์และมีจำนวนแพทย์โดยเฉลี่ยมากถึง 1 คนต่อประชากร 175 คน แพทย์คุณภาพสูงจากคิวบาจำนวนมากถูกส่งไปปฏิบัติการในชุมชนยากจน (Mission Barrio Adentro) และตามชุมชนแออัดที่เข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ลำบากในเวเนซูเอลา ตามโครงการสวัสดิการสังคมของชาเวซ[3]
 
นับจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย กลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์หลายประเทศ รวมถึง จีน ลาว เวียดนาม เองก็ได้เปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจทุนนิยมเกือบทั้งหมด แต่คงไม่รวมคิวบา,
 
คิวบา เป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมตั้งแต่ปี 1961 และปัจจุบันก็ยังคงเป็นอยู่ การจัดการระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมนั้น หัวใจหลักคือ ระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลถูกจำกัดให้น้อยลงและหากเป็นทรัพยากรสาธารณะก็ควรถือเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมของสังคม, คิวบามีการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบเพื่อแก้ปัญหาความยากจน รัฐบาลคิวบาได้ออกกฏหมายจำกัดทรัพย์สินและจำกัดการถือครองที่ดิน หากใครมีบ้านเกิน 1 หลังต้องโอนส่วนเกินนั้นให้รัฐเพื่อนำไปให้คนไร้บ้านต่อไป (ประเทศไทยควรทำนโยบายดังกล่าวบ้าง รวมถึงการถือครองรถยนต์ด้วย) มีการโอนกิจการอุตสาหกรรมและธุรกิจหลายอย่างให้เป็นของรัฐ แต่มีการกระจายอำนาจให้หน่วยงานระดับภูมิภาคบริหารจัดการกันเอง รวมทั้งสร้างระบบสหกรณ์ในการรับซื้อพืชผลทางการเกษตรและแบ่งคืนประชาชนที่ต้องใช้แรงงานด้านอื่นอย่างเหมาะสม นอกจากนี้คิวบายังมีระบบการเก็บภาษีแบบก้าวหน้า รวมถึงผู้ที่ทำงานอยู่ต่างประเทศโดยเฉพาะนักกีฬาอาชีพและแพทย์ จะถูกหักภาษีกว่าครึ่งกลับเข้าประเทศ ที่น่าสนใจก็คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแบบสังคมนิยมของคิวบาซึ่งกำลังเฟื่องฟูมาก มีการเก็บภาษีเพิ่มในอัตราที่สูงกว่าด้านอื่น เพราะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเหล่านั้นได้ใช้ถนนหนทางซึ่งเป็นโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่มาจากภาษีของประชาชนและการบริการอำนวยความสะดวกอื่นๆ ที่จัดให้จากรัฐ แต่คนที่ได้ผลตอบแทนกลับไม่ใช่คนทุกคน ดังนั้นคิวบาคิดภาษีส่วนนี้เพื่อนำไปตอบแทนคนที่ทำงานด้านอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรผู้ผลิตอาหารหรือแรงงานก่อสร้างด้านต่างๆ เป็นต้น ผลก็คือประชาชนคิวบาไม่ถูกทำให้รู้สึกจนกว่าใคร ไม่รู้สึกว่าต้องหาเพิ่มเหมือนระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และไม่มีโฆษณากระตุ้นการบริโภคนิยม
 
ในกลุ่มประเทศนอร์ดิค ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้ระบบเศรษฐกิจผสม แนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social-Democracy) และเป็นประเทศรัฐสวัสดิการที่โดดเด่นที่สุดในโลกนั้น ประกอบไปด้วย ฟินแลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน และไอซ์แลนด์ การที่ประเทศเหล่านี้ประสบความสำเร็จมากกว่าที่อื่นๆ อาจจะเพราะประเทศในกลุ่มนี้มีวัฒนธรรมในเรื่องความเท่าเทียมทางชนชั้นมาจากยาวนานและลงหลักปักฐานในระดับต่างๆ ของสังคม วีถีชีวิตและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจจึงสอดคล้องกับระบบสังคมนิยมมากกว่า ถึงแม้ว่าภายหลังได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งต้องเปิดเสรีในด้านต่างๆ มากขึ้นก็ตาม ประกอบกับพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในกลุ่มประเทศดังกล่าวได้รับการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลอย่างต่อเนื่องและยาวนานนับตั้งแต่ปี 1930 และดำเนินนโยบายปฏิรูปสวัสดิการสังคมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
 
ระบบเศรษฐกิจผสมในประเทศสังคมนิยมประชาธิปไตย ยังคงยินยอมให้เอกชนเป็นเจ้าของทรัพย์สินและอุตสาหกรรมได้ แต่สนับสนุนระบบการจ้างงานที่เป็นธรรมและมีการเก็บภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้า รวมถึงค่าปรับอัตราก้าวหน้าตามฐานะทางเศรษฐกิจหากทำผิดกฎหมายด้วย เพื่อให้เงินภาษีเหล่านั้นหมุนวนไปช่วยเหลือคนด้อยโอกาส  
 
ฟินแลนด์ มีระบบการศึกษาและสาธารณสุขที่เป็นรัฐสวัสดิการที่ดีที่สุดในโลก ประชาชนได้รับการดูแลตั้งแต่จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนเหมือนกับแนวคิดของ ป๋วย อึ้งภากรณ์ ที่เคยนำเสนอแนวทางรัฐสวัสดิการในประเทศไทย มีการกระกันการว่างงาน คนตกงานได้รับสวัสดิการจากรัฐที่เพียงพอ การศึกษาฟรีทุกระดับและทุกสาขา นักศึกษาที่อายุเกิน 18 ปี ยังมีค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าที่พักให้อีกด้วย ระบบการศึกษาที่มีการปฏิรูปครั้งใหญ่ในช่วงปี 1980 นั้นยังทำให้ประชาชนของฟินแลนด์เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย
 
ในทางการเมืองนั้น ปัจจุบันประเทศที่ได้ถูกจัดอันดับว่ามีประชาธิปไตยสูงที่สุดในโลก กลับเป็นประเทศที่เป็นสังคมนิยมประชาธิปไตย ใช้ระบบเศรษฐกิจผสมเพื่อรัฐสวัสดิการ ตามการวัดดัชนีประชาธิปไตย (Democracy Index) โดย Economist Intelligence Unit โดยประเทศที่มีดัชนีประชาธิปไตยสูงที่สุดในโลก คือ ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีกษัตริย์เป็นประมุข (Constitution Monarchy) ตามด้วยไอซ์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สวิสเซอร์แลนด์ แคนาดาและฟินแลนด์
 
ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 58 แต่ปัญหาการจัดการระบบเศรษฐกิจถูกยกให้เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงสุดในเอเชีย ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยห่างกันถึง 15 เท่า จากการนำพาประเทศด้วยระบบทุนนิยมเสรีที่ใช้กลไกตลาดโดยไม่แยแสต่อทุนผูกขาดใดๆ ที่ควบคุมกลไกตลาดและเอาเปรียบสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนโยบายประชานิยมในปัจจุบันของรัฐบาล ที่ใช้แนวทางเสรีนิยมตามลัทธิเศรษฐกิจแบบแทตเชอร์-เรแกนผสมกับสำนักเคนส์ มาตั้งแต่ยุครัฐบาลก่อนไม่ว่าจะเป็นนโยบายรถคันแรกปลอดภาษี การพยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่างๆ การพักหนี้เกษตรกร บัตรเครดิตชาวนา โครงการรับจำนำข้าวและการขึ้นค่าตอบแทนแต่ไม่ควบคุมราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค รวมถึงโครงการเงินกู้ต่างๆ เพื่อหมุนเวียนเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งใช้แนวทางการจัดการระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี ยกเว้นระบบสวัสดิการด้านการศึกษาและสาธารณะสุขเท่านั้นที่รัฐบาลไทยยังคงให้เป็นสวัสดิการสังคมที่ดี (แต่ยังไม่มีคุณภาพ)
 
ดังนั้น ประชานิยมในประเทศไทยจึงเป็นประชานิยมแบบทุนนิยม แต่ไม่ใช่ประชานิยมกึ่งสังคมนิยมเหมือนในละตินอเมริกา ซึ่งมีการจัดการระบบเศรษฐกิจกึ่งสังคมนิยมในอุตสาหกรรมหลักๆ และทรัพยากรสาธารณะต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ต่อทุกคนในสังคม ไม่ใช่เพื่อนายทุนหรือผู้ถือหุ้นส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งนโยบายดังกล่าวจึงไม่อาจแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริงในสังคมไทย ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนและลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำลงได้เลย การขูดรีดตามระบบยังคงสร้างความรุนแรงเชิงโครงสร้างและรอการพัฒนาความขัดแย้งต่อไป
 
คงถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องใช้ระบบเศรษฐกิจผสม รัฐบาลจะต้องเข้ามาจัดการเศรษฐกิจแบบผสมผสาน (Mixed Economy) โดยเร็ว และควบคุมการเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรสาธารณะและทรัพย์สมบัติของชาติและสังคมอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น คลื่นความถี่ โทรคมนาคม อากาศ ดิน น้ำ ป่า น้ำมันและพลังงาน
 
หากเราพูดถึงการจัดการระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม หัวใจสำคัญคงเป็นเรื่อง “ชนชั้น” ที่มาจากความสัมพันธ์ทางการผลิต และ “ระบบกรรมสิทธิ์” ที่เป็นปัญหาสำคัญ และตามหลักการสังคมนิยมแล้ว สิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถผลิตหรือสร้างสรรค์ขึ้นได้เองไม่ควรนำเข้าสู่ระบบกลไกตลาด เช่น ที่ดิน ทะเลและป่าไม้ ซึ่งควรถือเป็นกรรมสิทธ์ร่วมของสังคม และการต่อสู้เรื่องระบบกรรมสิทธิ์นี้ นโยบายเรื่องความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของผู้คนเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่พรรคการเมืองทั้งหลายควรต้องพูดให้ชัดเจน และในยุคที่มีการพัฒนาประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนถึงวันนี้ การต่อสู้เพื่อสังคมนิยมผ่านระบบรัฐสภาคงไม่ใช่ลัทธิแก้ของฝ่ายสังคมนิยมปฏิวัติอีกต่อไป เพราะแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตยในยุคปัจจุบันคือ การต่อสู้เพื่อสังคมนิยมทางเศรษฐกิจ, ประชาธิปไตยทางการเมือง และผ่านระบบรัฐสภา
 
แนวทางการจัดการระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมในระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยรัฐสภา คือ รัฐบาลต้องหาหนทางแก้ไขและควบคุมการเข้าผูกขาดทรัพย์สมบัติสาธารณะของเอกชน การออกกฎหมายป้องกันการผูกขาดและการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม ซึ่งกฎหมายฉบับเก่ารัฐบาลเสรีนิยมได้ละเลยการปฏิบัติตามกฎหมายและทำเหมือนปากว่าตาขยิบมาโดยตลอด เพื่อให้กลุ่มทุนของตนเองได้ประโยชน์จากเครือข่ายธุรกิจที่ผูกขาดต่างๆ ซึ่งทำให้คนอื่นๆ ในสังคมเสียเปรียบ และประชาชนเป็นผู้รับกรรมจากผลการกระทำของลัทธิพรรคพวกดังกล่าว
 
จะต้องมีการทบทวนหรือยุติการสัมปทานของเอกชนที่เอื้อผลประโยชน์ต่อรัฐน้อยเกินไป โดยเฉพาะในด้านพลังงาน การปิโตรเลี่ยมและคลื่นความถี่ โดยให้รัฐเข้ามาดูแลโภคทรัพย์ส่วนรวมของสังคมและกระจายประโยชน์สู่ประชาชนอย่างเต็มที่ ยุติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เอกชน แต่ยึดคืนโดยกฏหมายเพื่อนำมาปฏิรูปการบริหารจัดการใหม่แบบทันสมัยโดยให้ประชาชนเป็นหุ้นส่วน การจัดการควบคุมอุตสาหกรรมด้านต่างๆ ของประเทศเพื่อให้รัฐได้ประโยชน์เต็มที่ รวมถึงพัฒนาระบบการขนส่งมวลชนสาธารณะขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อทั้งประเทศ และการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของสังคมอื่นๆ โดยรัฐวิสาหกิจที่ทันสมัยและมีการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ
 
ในอังกฤษเอง แทตเชอร์ เคยโอนกิจการทุกอย่างไปเป็นของเอกชน จนสังคมอังกฤษเกิดวิกฤติปัญหาหลายอย่างทางสังคม รัฐบาลต่อมาจึงพยายามซื้อคืนรัฐวิสาหกิจต่างๆ หลายๆ อย่างจัดเพื่อเป็นบริการสาธารณะแก่ประชาชน  ดังนั้น ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องเดินตามความล้มเหลวของอังกฤษ หรืออาร์เจนตินาจากเรื่องดังกล่าว เพียงเพื่อผลประโยชน์ทับซ้อนของชนชั้นนำในสังคมการเมืองและเศรษฐกิจไทย
 
ถึงเวลาประยุกต์และทบทวนองค์ความรู้การจัดการระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมขึ้นมาปรับใช้ในสังคมไทยได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ของ ปรีดี พนมพยงค์ โดยเฉพาะ พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร และแนวคิดของ ป๋วย อึ้งภากรณ์ เรื่อง “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” เพื่อให้รัฐมีหน้าที่ดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนตายอย่างแท้จริง รวมถึงสร้างพันธกิจและหน้าที่ของรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองใด จะต้องมีหน้าที่ดูแลสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชน สร้างรัฐสวัสดิการและการบริการสาธารณะโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะในด้านการศึกษา การสาธารณสุข  การขนส่งสาธารณะ การประกันสังคม การประกันการว่างงานและการสนับสนุนระบบสหกรณ์ โดยทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงบริการสาธารณะในประเทศของตนโดยเสมอภาค
 
นโยบายด้านสังคมนิยมที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ จะต้องมีการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบและจำกัดการถือครองที่ดินอย่างจริงจัง ในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีที่ดินประมาณ 320 ล้านไร่ แบ่งเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติประมาณ 25% คงเหลือประมาณ 240 ล้านไร่ให้ประชาชนใช้ประโยชน์ซึ่งจะเฉลี่ยได้เพียงคนละประมาณ 4 ไร่เท่านั้น แต่ปัจจุบันมีการถือครองที่ดินเป็นจำนวนมากของเอกชนจนเกิดการกระจุกตัว โดยไม่มีนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมเกิดขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้ว ที่ดินไม่ควรเอาเข้าสู่ระบบกลไกตลาดเลย เพราะไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นได้เอง จึงสมควรใช้ระบบกรรมสิทธิ์ร่วมของสังคม ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องมีนโยบายการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ เพื่อการกระจายการถือครองที่ดินอย่างจริงจัง โดยอาจมีการรื้อฟื้นปรับปรุง พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งมีการจำกัดการถือครองที่ดินไม่เกิน 50 ไร่ และห้ามคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่มายกเลิกในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยรัฐบาลและกระทรวงการคลังอาจร่วมกันปฏิรูปกฎหมายดังกล่าวให้ทันสมัยขึ้นได้ และออกนโยบายการเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรืออาจจะปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ครอบคลุมมาตรการดังกล่าว เพราะหากรัฐบาลไม่มีนโยบายเรื่องนี้ เกษตรกรและชาวนาไทยอาจจะกลายเป็นเพียงแรงงานในท้องไร่ที่เป็นฟาร์มขนาดใหญ่ของนายทุนไร้สัญชาติในอนาคต ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าว ยังเป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญไทยที่บัญญัติว่า รัฐมีหน้าที่กระจายการถือครองอย่างเป็นธรรม และดำเนินการให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึงโดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่น ทั้งนี้ กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้เก็บ นอกจากเป็นมาตรการสำคัญในการปฏิรูประบบภาษีที่ดิน และสามารถพัฒนาโครงสร้างทางการคลังเพื่อนำไปสู่ภาวการณ์กระจายรายได้ที่ดีขึ้นได้แล้ว ยังเป็นการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยในระยะยาวอีกขั้นหนึ่ง เพราะเป็นรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดสรรทรัพยากรและกระจายการพัฒนาสาธารณูปโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลักการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน เนื่องเพราะประเทศไทยยังไม่มีภาษีที่จัดเก็บจากฐานทรัพย์สินที่แท้จริงเช่นนี้ นอกจากฐานรายได้ คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และฐานการบริโภค คือ ภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มต่างๆ ซึ่งเป็นการเก็บภาษีทางอ้อมที่ผลักภาระให้คนจนส่วนใหญ่เป็นผู้แบกรับภาษีดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงสร้างภาษีที่ไม่มีความเป็นธรรม แม้ว่าในอดีตถึงปัจจุบัน เราจะมีการเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ แต่ก็ไม่ได้เก็บจากมูลค่าของทรัพย์สินอย่างแท้จริง เพราะเป็นการคำนวณภาษีบนฐานรายได้ โดยคำนวณจาก “ค่ารายปี” หรือค่าเช่าที่เจ้าของได้รับในแต่ละปี ถ้ามีการออกกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะเป็นภาษีทางตรงที่เก็บจากฐานทรัพย์สินที่แท้จริง เหมือนประเทศสังคมนิยมประชาธิปไตยอื่นๆ
 
หากเราเน้นเศรษฐศาสตร์สังคม (Social Economy) และผลักดันสังคมนิยมทางเศรษฐกิจขึ้นในประเทศไทยได้ ต่อไปการศึกษาจะเป็นเสรีภาพของประชาชนที่เข้าถึงได้โดยเสมอภาค เป็นบริการสาธารณะและไม่มีค่าใช้จ่ายอย่างแท้จริง มีการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบทั้งในเชิงรูปแบบและเนื้อหา มีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยให้ตอบสนองต่อสังคมและชุมชนท้องที่อย่างเต็มที่ มากกว่าการผลิตบัณฑิตตอบสนองกลไกตลาดอย่างเดียว หากประเทศไทยสามารถเป็นประเทศรัฐสวัสดิการได้  การศึกษาจะต้องเรียนฟรีถึงปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยของรัฐ ตามหลักด้านเสรีภาพทางการศึกษา ซึ่งเป็นสิทธิของประชาชนที่ใคร่ศึกษาหาความรู้ควรได้รับสิทธิดังกล่าวอย่างเสมอภาค มิใช่เพียงเปิดโอกาสอย่างจำกัดทางด้านการศึกษาเท่านั้น
 
สิ่งแรกที่จำเป็นต้องทำสำหรับประเทศไทยคือ รัฐบาลจำเป็นต้องออกกฎหมายให้มีการปฏิรูประบบภาษีทั้งระบบก่อน เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและการกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจ โดยให้มีการเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน และภาษีมรดกอัตราก้าวหน้าคืนสู่รัฐ เพื่อนำไปสร้างสรรค์เศรษฐกิจสังคมต่อ ทั้งนี้ ปัจจุบันเราเสียภาษีทางอ้อมกว่า 70% และเสียภาษีทางตรงเพียง 30% ทำให้โครงสร้างภาษีไม่มีความเป็นธรรม ภาษีทางอ้อมนั้นเก็บผ่านฐานการบริโภค คือ ภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มต่างๆ ซึ่งเป็นการเก็บภาษีทางอ้อมที่ผลักภาระให้คนจนส่วนใหญ่เป็นผู้แบกรับภาษี ภาษีทางตรงคือภาษีรายได้และนิติบุคคล ที่ปัจจุบันรัฐบาลได้ลดภาระทางภาษีลง แต่ภายใต้การคุ้มครองของรัฐ ทรัพย์สินและรายได้ของบุคคลที่สั่งสมเพิ่มขึ้นจากการรีดมูลค่าจากคนสังคม สมควรแบ่งปันคืนสู่สังคม โดยให้รัฐจัดการในส่วนหนึ่งเพื่อการพัฒนาสังคม สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ความสะดวกปลอดภัยของชีวิตตลอดจนคุณภาพชีวิตและสวัสดิการที่ดีจากรัฐ พลเมืองในยุโรป โดยเฉพาะประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ยินดีจ่ายภาษีส่วนเกินนี้คืนให้รัฐในอัตราที่สูงในอัตราก้าวหน้าจากทรัพย์สินและรายได้ที่งอกเงย เพราะแต่ละคนก็เอาประโยชน์ที่งอกเงยนั้นมาจากสังคมไม่เท่ากัน ความเป็นธรรมจึงเกิดขึ้นจากโครงสร้างภาษีที่เป็นธรรมนี้ และรัฐบาลก็นำภาษีที่เก็บได้มาพัฒนาสังคม จนผลิตผลของทรัพย์สิน ที่ดินและมูลค่าของการลงทุนต่างๆ งอกเงยขึ้นมาเป็นดอกผลตอบแทนคืนสู่พลเมืองอีกระลอกหนึ่ง ดังนั้น ภาษีทรัพย์สิน คือภาษีทางตรงที่เราจ่ายให้แก่รัฐและสังคมระหว่างที่มีชีวิตอยู่ และภาษีมรดกคือการจ่ายส่วนเกินที่ปลายทางนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย ควรมีนโยบายการเก็บภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้า ทั้งจากสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์เหมือนภาษีทรัพย์สินในต่างประเทศ ไม่ใช่จากอสังหาริมทรัพย์อย่างเดียวตามที่บัญญัติไว้ในร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของกระทรวงการคลัง ซึ่งจะเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมในระยะยาว รวมถึงการเก็บภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคม
 
หลังจากนั้นค่อยไปแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจต่อไป โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ทางการผลิตซึ่งเป็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจขั้นพื้นฐานที่ต้องปรับสมดุล, โครงสร้างทางเศรษฐกิจขั้นพื้นฐานที่ อูโก ชาเวซ ทำในเวเนซูเอลา หลังได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี คือ การเข้าควบคุมกิจการของคนงาน (Workers’ Control) สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทยคือ ความสัมพันธ์ของคนงานในภาคการผลิตกับเจ้าของทุนต่างๆ ไม่มีความสมดุลและถูกเอารัดเอาเปรียบ แม้ว่ารัฐบาลจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน (ขบวนการแรงงานเสนอ 421 บาทต่อวัน) แต่ค่าครองชีพและราคาสินค้าก็เพิ่มขึ้นตามโดยไร้การควบคุมจนคุณภาพชีวิตไม่ได้แตกต่างจากเดิมนัก โครงสร้างทางเศรษฐกิจขั้นพื้นฐานจะเกิดความสมดุลและเป็นธรรมมากขึ้นในประเทศไทย หากมีการจัดระบบการจ้างงานที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง โดยให้แรงงานร่วมเป็นเจ้าของทุนที่เป็นปัจจัยการผลิต ซึ่งคล้ายกับระบบแบ่งปันหุ้นแก่คนงานในโรงงานต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศสังคมนิยมประชาธิปไตยบางประเทศแล้ว เนื่องจากวิถีหลักของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมคือ การขูดรีดมูลค่าส่วนเกิน (Surplus Value) ไปจากแรงงาน ซึ่งในอุตสาหกรรมต่างๆ นายทุนมักเป็นเจ้าของ “ทุนคงที่” (Constant Capital) ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือการผลิต เครื่องจักร โรงงาน อาคารหรือวัตถุดิบ แต่มูลค่าที่เพิ่มขึ้นของสินค้าต่างๆ มาจาก “ทุนตัวแปร” (Variable Capital) ซึ่งก็คือแรงงาน แต่นายทุนได้เบียดบังเอากำไรจากแรงงานเหล่านั้นไปโดยไม่เป็นธรรมแต่อย่างใด ผลก็คือการร่ำรวยขึ้นอย่างพุ่งพรวดของนายทุนจากมูลค่าส่วนเกินนั้น แต่คนงานยังตกเป็นทาสของระบบทุนนิยมต่อไปโดยขาดโอกาสในการลืมตาอ้าปาก ความไม่เป็นธรรมเหล่านี้อาจแก้ปัญหาด้วยการออกกฎหมายให้ทุกอุตสาหกรรมหลักมีสภาคนงานในสถานประกอบการ หรือคณะกรรมการบริหารที่ประกอบไปด้วยผู้ใช้แรงงานที่เป็นทุนผันแปรของมูลค่าด้วย
 
มันคงไม่ต่างอะไรจากการที่รัฐบาลบริหารทรัพยากรของชาติ โดยมีประชาชนทุกคนของประเทศคือหุ้นส่วนนั่นแหละ แต่วันนี้ระบบทุนนิยมที่พัฒนาการขูดรีดทางเศรษฐกิจไปถึงขั้นตั้งคาสิโนในวิมารในนามตลาดหุ้น การฟอกเงิน หรือการพำนักภาษีและเสรีการเงินระหว่างประเทศที่ไม่เปิดเผยนามที่แท้จริง ได้ขูดรีดมูลค่าส่วนเกินของสังคมให้ตกแก่ผู้ใดบ้าง
 
....................................
 
[1]  อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ปี 2544, ประธานศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD) ปี 2545-2550, เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.) ปี 2550-2552, อนุกรรมการเพื่อดำเนินการตรวจสอบและค้นหาความจริงเฉพาะกรณี 1-5 ในคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ปี 2554-2555 ปัจจุบันเป็น เลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กรรมการมูลนิธิ 14 ตุลา และผู้อำนวยการสถาบันสังคมประชาธิปไตย
 
 
[2]   สถาบันสังคมประชาธิปไตย (Social-Democracy Think Tank) เป็นโครงการจัดตั้งเพื่อทำหน้าที่เป็นกองเลขานุการและ Think Tank ของเครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตย ดำเนินการจัดเวทีสร้างองค์ความรู้/อภิปรายสาธารณะ รวมถึงการจัดตั้ง/สร้างนักสังคมนิยมประชาธิปไตยรุ่นใหม่ เพื่อสร้างพื้นที่อุดมการณ์ทางสังคมและสร้างเครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตยในประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งต่อไป โดยมีกรรมการเบื้องต้นคือ นพนันท์ วรรณเทพสกุล, ประชา หุตานุวัตร, ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา, กชวรรณ ชัยบุตร, สุธัมมะ ธรรมศักดิ์ และเมธา มาสขาว
 
เครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democrat Movement) เกิดขึ้นมาเพื่อสร้างพื้นที่ทางสังคมและทำหน้าที่ผลักดันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทางการเมืองบนแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social-Democracy) ประกอบไปด้วยคณะบุคคล-ประชาชนทั่วไปที่เห็นว่า ความเป็นสังคมนิยมทางเศรษฐกิจ และประชาธิปไตยทางการเมือง คือทางออกของประเทศไทย มีเป้าหมายที่จะทำงานเป็นภาคีความร่วมมือทางการเมืองร่วมกับองค์กรประชาชนต่างๆ ทุกสาขาอาชีพไม่ว่าจะเป็นคนงาน เกษตรกร นักศึกษา ปัญญาชนและนักวิชาการ, กลุ่มขบวนการคนจนต่างๆ  กลุ่มสหพันธ์/สหภาพแรงงานต่างๆ รวมถึงแรงงานนอกระบบ และกลุ่มเยาวชนนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ โดยสนับสนุนองค์กรเยาวชน (Youth Wing) ของขบวนการให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะศูนย์ประสานงานเยาวชนสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD) สหภาพเยาวชนแรงงาน เพื่อขับเคลื่อนขบวนการคนหนุ่มสาวในประเทศไทย ให้เป็นกลุ่มพลังทางการเมืองที่เข้มแข็งต่อไป รวมถึงเชื่อมความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศที่เป็นภาคีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น Socialist International(SI), The Party of European Socialists (PES) , International Union of Socialist Youth (IUSY) ซึ่งมีเยาวชนของพรรคสังคมประชาธิปไตย, พรรคสังคมนิยม, พรรคแรงงาน และขบวนการเคลื่อนไหวสังคมนิยมประชาธิปไตยทั่วโลกเป็นสมาชิกกว่า 100 ประเทศ และ Young Progressives South East Asia (YPSEA) องค์กรเยาวชนซึ่งมีสมาชิกกว่า 16 องค์กร ในกลุ่มประเทศอาเซียน
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net