บทบาทสื่อกระแสหลักในการจำกัดเสรีภาพสื่อไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หากคนถามสื่อไทยส่วนใหญ่ว่าสื่อไทยมีเสรีภาพหรือไม่ คำตอบที่คุณจะได้รับก็มักจะเป็นคำตอบทำนองว่าไทยมีเสรีภาพสื่อ ถึงแม้องค์กรนานาชาติอย่าง Freedom House และ Reporters Without Borders (ไทยอันดับที่ 135 จาก 179 ประเทศ) จะให้คะแนนเสรีภาพสื่อไทยค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับอีกหลายๆ  นานาอารยประเทศ (สำหรับปี 2555 Freedom House จัดให้ไทยเป็นประเทศที่มีเสรีภาพบางส่วน หรือ ‘partly free’ เท่านั้น)

ทุกวันนี้ ประเด็นศูนย์กลางของการถกเถียงว่าสื่อไทยมีเสรีภาพหรือไม่มากน้อยเพียงไรอยู่ตรงข้อถกเถียงเรื่อง ม.112 (และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์)

สื่อไทยส่วนใหญ่เชื่อว่าการจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อภายใต้ ม.112 เป็นเรื่องที่สมควรและเหมาะสม ในขณะที่ประชาชนจำนวนหนึ่งและสื่อเสียงส่วนน้อยรู้สึกไม่พอใจกับการจำกัดสิทธิสื่อและสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลเท่าทันเจ้าเป็นอย่างยิ่งและมองว่ากฎหมายนี้เป็นอุปสรรคต่อการทำให้สังคมไทยพัฒนาเป็นประชาธิปไตยและมีเสรีภาพอย่างแท้จริง

สถานการณ์ในไทยวันนี้ต่างจากในหลายประเทศที่สื่อกระแสหลักเป็นหัวหอกผลักดันให้เกิดการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงเพราะส่วนใหญ่ของสื่อกระแสหลักไทยได้ยอมรับหรือแม้กระทั่งสนับสนุนกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อเองและมีบทบาทในการเป็นผู้เซ็นเซอร์ตนเองและเซ็นเซอร์ข้อมูลที่เท่าทันเจ้าจากแหล่งต่างๆ  ทั้งในและนอกประเทศ

การเซ็นเซอร์ การเซ็นเซอร์ตนเอง และความเชื่อในลักษณะพิเศษของ ม.112 กับสื่อไทย
ในขณะที่สื่อไทยอ้างถึงความจำเป็นและสำคัญในการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์นักการเมือง องค์กรและสถาบันต่างๆ ในสังคมเพื่อความโปร่งใสและความเป็นประชาธิปไตย สื่อกระแสหลักไทยส่วนใหญ่กลับปกป้องให้สถาบันกษัตริย์เป็นข้อยกเว้นจากการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ มันคล้ายกับว่า ว่าด้วยเรื่องสถาบันกษัตริย์แล้ว สื่อและประชาชนไม่ต้องใช้ตรรกะคิดตั้งคำถามใดๆ หากใช้แต่เพียงความเชื่อและข้อมูลดีๆ ด้านเดียวเกี่ยวกับเจ้าก็เพียงพอ ในขณะเดียวกัน สื่อส่วนใหญ่ก็ไม่รู้สึกเดือดร้อนใดๆ กับการลงโทษหนักๆ ภายใต้ ม.112

กว่าสี่ทศวรรษที่ผ่านมา สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ได้ทำการป้อนข้อมูลดีๆ ด้านเดียวเกี่ยวกับเจ้าให้กับประชาชน พร้อมทั้งได้ทำการเซ็นเซอร์ข้อมูลด้านลบและข้อมูลเท่าทันเจ้าจากทั้งในและต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอจนถึงระดับที่อาจถือได้ว่า การเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทยนั้นมีลักษณะคล้ายการเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผู้นำเกาหลีเหนือมากกว่าการเสนอข่าวสารเรื่องเจ้าอังกฤษโดยสื่อในประเทศประชาธิปไตยอย่างอังกฤษ – ทั้งนี้เพราะเราแทบจะหาข้อมูลข่าวสารเท่าทันเจ้าในสื่อกระแสหลักไทยไม่พบเลย

สิ่งที่เกิดขึ้นกับรายการตอบโจทย์ในเดือนมีนาคมปีนี้และการลาออกของนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ผู้ดำเนินรายการและเสียงเงียบของสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ในการปกป้องพื้นที่เท่าทันเจ้า ซึ่งรวมถึงการที่สื่อจำนวนหนึ่งประณามนายภิญโญ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนอันหนึ่งของธาตุแท้ของสื่อกระแสหลักไทยส่วนใหญ่

ก่อนหน้านั้น ไม่กี่เดือน นายกสมาคมนักข่าวตอนนั้น นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณีได้ออกมาปกป้อง ม.112 ดังปรากฏในข่าว นสพ.เดอะเนชั่น ฉบับวันที่ 25 มกราคม 2556 ว่าเสรีภาพย่อมมี ‘ข้อจำกัดและมีข้อยกเว้น’ ( http://www.nationmultimedia.com/politics/Top-judge-rejects-criticism-of-courts-lese-majeste-30198645.html)

"Freedom of expression does not mean the freedom to accuse or criticise anybody. And according to Thai law, the monarchy is an institution above politics. Whether the … penalties are too harsh or whether the legal processes are suitable is another issue," Chavalong said.

ผมมองต่างจากนายชวรงค์ เพราะผมเชื่อว่าข้อมูลเท่าทันเจ้า ซึ่งต่างจากข้อมูลหมิ่นและอาฆาตควรมีที่ในสังคมไทย แต่กลับไม่มีที่ทางอย่างถูกกฎหมายในสังคมไทย

เราสามารถถกเถียงกันเป็นชั่วโมงว่าโทษของการดูหมิ่นขู่อาฆาตกษัตริย์ในสังคมประชาธิปไตยควรมีอย่างไรและข้อมูลหมิ่นเจ้าต่างจากข้อมูลเท่าทันเจ้าอย่างไร แต่ความเป็นจริงในวันนี้ก็คือสื่อส่วนใหญ่และสังคมแยกสองสิ่งนี้ไม่ออก ในขณะที่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเจ้าผ่านสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่มีแต่ข้อมูลดีๆ ด้านเดียว

ความพร่ามัวนี้เห็นเป็นประจักษ์ได้จากกรณีการตัดสินจำคุก 3 ปี ของนายเอกชัย หงส์กังวานเพราะนายเอกชัยถูกจับว่าได้กระทำการขายก้อปปี้วิดีโอรายการสารคดีเรื่องอนาคตสถาบันกษัตริย์ไทยที่ผลิตโดย Australian Broadcasting Corporation (ABC) และเอกสาร WikiLeaks

คำถามคือ มีผู้ใดเชื่อหรือว่าโทรทัศน์สาธารณะของออสเตรเลียและกระทรวงต่างประเท ศสหรัฐอเมริกาจะผลิตวิดีโอและเอกสารที่มีเนื้อหมิ่นเจ้าไทยโดยเจตนา หรือแท้จริงแล้ว ข้อมูลเหล่านี้คือข้อมูลเท่าทันเจ้าที่ควรผลิตและสื่อสารได้ในสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง? ศาล สื่อ และสังคมแยกข้อมูลจาก ABC และ WikiLeaks จากข้อมูลประเภทวิดีโอภาพตัดต่อดูถูกความเป็นมนุษย์ของกษัตริย์ที่พบได้ในยูทูบไม่ออกจริงๆ เหรอ?

สถานการณ์ในปัจจุบันไม่เอื้อให้มีข้อมูลเท่าทันเจ้า ข้อมูลมักถูกจัดเป็นเพียงสองประเภทคือถ้าไม่ใช่ข้อมูลประจบเจ้า ก็มักจะถูกจัดเป็นข้อมูลหมิ่นเจ้าและผิดกฎหมาย

นางสาววิรพา อังกูรทัศนียรัตน์ นักเขียนสารคดีผู้เคยทำงานในนิตยสารรายเดือนเชิงสารคดีกว่า 7 ปีบอกผู้เขียนเกี่ยวกับการผลิตเนื้อหาด้านบวกด้านเดียวเกี่ยวกับเจ้าทุกๆ เดือนธันวาคมว่า:

‘ในแง่คนทำสื่อ มันต้องเพิ่มโวหารความเป็นพ่อลูกให้สะเทือนจิตใจ ปีหน้าต้องยิ่งเพิ่มโวหารไปอีก มันไม่ใช่การเขียนเรื่อง fact แล้ว การเขียนธรรมดาทำไม่ได้ ต้องโอเว่อร์ ปีนี้คุยฉบับนี้ใน scale แค่นี้ ปีหน้าจะต้องเพิ่ม scale ของการคลั่ง อ่านแล้วทำให้ร้องไห้ต้องทำยังไง แค่มี fact fact เดียว แต่ต้องขยายเป็นร้อย’

นางสาววิรพาบอกผมว่ามีอยู่ปีหนึ่งนิตยสารได้รวบรวมระยะทางที่ในหลวงเสด็จเดินทางไปชนบทเพื่อเปรียบเทียบกับระยะทางจากโลกไปดวงจันทร์ ‘พอคนอ่านมันก็เลยยิ่งเกิดความซาบซึ้งไปใหญ่…’
 
ผู้เขียนไม่แปลกใจที่ในที่สุด สถานการณ์เช่นนี้ก็ได้ทำให้คนอย่างวิรพาได้กลายเป็นแกนนำกลุ่มคนไร้หน้า ประท้วง ม.112 โดยการใส่หน้ากากสมยศแล้วไปออก ‘อาละวาด’ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์

วิรพาบอกผู้เขียนว่าสถานการณ์สังคมในปัจจุบันนั้นย้อนแย้งยิ่ง ‘คือเราเห็นการโปรโมทกรุงเทพฯ เป็นเมืองหนังสือโลก แต่เราเป็นเมืองหนังสือโลกได้ไงถ้าคนยังถูกห้ามอ่าน ยังถูกจำกัดเสรีภาพในการอ่าน’ (ดูใน The Nation http://nationmultimedia.com/politics/Somyos-face-of-free-speech-group-30203944.html)

* การพยายามทำความเข้าใจการสนับสนุน ม.112 ของสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ในสังคม
สื่อกระแสหลักได้ประโยชน์จากการที่พวกเขาทำตนเป็นผู้ป้อนข้อมูลดีๆ ด้านเดียวให้กับสังคม ทุกๆ วันที่ 5 ธันวา หนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์จะได้รับรายได้มิน้อยจากการลงพิมพ์หรือออกอากาศข้อความเทิดทูนอวยพรกษัตริย์

สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ภูมิใจกับบทบาทในฐานะผู้ปกป้องสถาบันกษัตริย์จากการถูกวิพากษ์วิจารณ์และข้อมูลเท่าทันด้านลบ พวกเขาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่มีอำนาจในสังคมและมักได้รับสิทธิพิเศษบางประการ

ท่าทีเช่นนี้ของสื่อเป็นท่าทีที่ปลอดภัยต่อธุรกิจสื่อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบรรษัทสื่อจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสคนหนึ่งเคยบอกผู้เขียนว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับราคาหุ้นของบรรษัทสื่อที่หัวหน้าองค์กรตัดสินใจแสดงจุดยืนต่อต้าน ม.112 หากเกิดการคว่ำบาตรสื่อองค์กรนั้น

อีกตัวอย่างของการปิดกั้นการแสดงความเห็นเท่าทันเจ้าเท่าทัน ม.112 แบบเนียนๆ คือการที่ผู้เขียนได้ทราบมาจากทางสมาชิกคนสำคัญของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยมาว่านักข่าวรุ่นใหม่ที่มีความคิดเชิงวิพากษ์เท่าทันเจ้าได้รับการติดต่อเชิญไปพูดในงานของสมาคมเมื่อเร็วๆ นี้แต่ตัวนักข่าวหนุ่มผู้นี้ต้องตอบปฏิเสธเพราะทางหนังสือพิมพ์หัวสีฉบันนี้ไม่ยอมให้นักข่าวผู้นี้ไปพูด

* การเปรียบเทียบกับสถานการณ์ใน 3 จังหวัดภาคใต้
การใช้คำว่า ‘โจรใต้’ ของสื่อกระแสหลักไทยจำนวนมากเพื่อเรียกกองกำลังแบ่งแยกดินแดนในปัตตานีเป็นอีกตัวอย่างของการที่สื่อกระแสหลักบิดเบือนการรับรู้ของประชาชนในการมองสถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้เพราะมันมิเพียงแต่ช่วยให้สาธารณะเข้าใจ แต่มันกลับทำให้สังคมสับสนว่าปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเผชิญอะไรใน 3 จังหวัดภาคใต้

ทั้งนี้ ในกรณีนี้สื่อมิได้ถูกใครบังคับให้ใช้คำเช่นนี้ หากการใช้คำว่าโจรใต้สะท้อนอุดมการณ์ชาตินิยมของสื่อ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการที่สื่อรายงานเรื่องเจ้าโดยป้อนแต่ข้อมูลด้านเดียวภายใต้อุดมการณ์กษัตริย์นิยม

* บทบาทอินเทอร์เน็ตในการแหวกการเซ็นเซอร์ข้อมูลเท่าทันและข้อมูลเชิงวิพากษ์เจ้านั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้จะมีการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ควบคู่กับ ม.112 นั่นหมายความว่า คุณเสี่ยงถูกจับและจองจับหากพยายามเผยแพร่ข้อมูลเหล่านั้น

* ว่าด้วยเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการแสดงออก
เสรีภาพในการแสดงออกเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย หากสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ไม่ตระหนัก หน้าที่ในการย้ำเตือนย่อมตกอยู่ที่ประชาชน ดังที่เราจะเห็นประชาชนหลากหลายกลุ่มจากหลายชนชั้นและวิชาชีพออกมาต่อต้าน ม.112 ในช่วง 2- 3 ปีที่ผ่านมา

มันเป็นเรื่องย้อนแย้งที่สื่อไทยจำนวนมากมองว่าประชาชนไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะเสพข้อมูลข่าวสารที่เท่าทันเจ้า ในขณะที่นักข่าวและบรรณาธิการจำนวนมิน้อยเชื่อว่าพวกเขาฉลาดและมีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะตัดสินใจแทนประชาชนได้ ว่าอะไรควรถูกเซ็นเซอร์หลังจากมีโอกาสได้พิจารณาข้อมูลเท่าทันเจ้าเหล่านั้นที่มาจากทั้งในและต่างประเทศ

เสรีภาพสื่อเป็นอุดมการณ์ชนิดหนึ่ง ในขณะที่ความเชื่อในการจำกัดการรับรู้และเข้าถึงข้อมูลก็เป็นอุดมการณ์เช่นเดียวกัน

ผู้เขียนมองว่า เสรีภาพนั้นควรใช้อย่างรับผิดชอบและมีการจำกัดในบางโอกาส การตัดสินใจจำกัดการใช้เสรีภาพของตนเองควรถูกตัดสินใจและกระทำโดยคนผู้นั้นเอง มิใช่ถูกจำกัดจากภายนอก อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยนั้น สื่อทำตนเป็นผู้ตัดสินแทนประชาชนว่าอะไรควรมิควรรับรู้

นี่เป็นสภาพที่ผู้เขียนมิอาจเห็นด้วยหรือสนับสนุนเพราะการมีคนส่วนน้อยตัดสินใจปิดกั้นข้อมูลและห้ามมิให้ประชาชนใช้เหตุผลอย่างตรงไปตรงมาในบางเรื่องจะฉุดมิให้ประชาชนและสังคมโดยรวมมีโอกาสเติบโตทางความคิด และมีวุฒิภาวะ

* บทสรุป
ประชาชนพึงระลึกเสมอว่าสื่อกระแสหลักนั้น มิว่าจะเป็นบรรษัทสื่อหรือสื่อที่เป็นของรัฐ มีโครงสร้างเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นผู้มีอำนาจในสังคมและเสรีภาพสื่อรวมถึงเสรีภาพการแสดงออกมิได้รวมถึงเสรีภาพในการเสนอข้อมูลและแสดงความเห็นเท่าทันสถาบันกษัตริย์

หากคุณถามนักข่าวทั่วไปว่าสื่อไทยมีเสรีภาพหรือไม่ ส่วนใหญ่น่าจะตอบว่ามี นั่นสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองต่อเสรีภาพสื่อที่ต่างจากประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มันเป็นหน้าที่ของประชาชนไทยที่จะถกเถียงโต้แย้งกันต่อไปว่าเสรีภาพสื่อและเสรีภาพการแสดงออกที่แท้จริงคืออะไร

สังคมย่อมมีเสรีภาพได้มากเท่าที่ประชาชนจะใฝ่ฝันอยากจะมี สำหรับประเทศไทยแล้วสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ได้เลือกเสรีภาพอันจำกัดว่าด้วยเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ อย่างไรก็ตาม สื่อพึงสำเหนียกด้วยว่า หากยอมรับและสนับสนุนการเซ็นเซอร์ตนเองเช่นนี้ พวกเขาย่อมมิสามารถอ้างได้ว่าเป็นสื่อเสรีอย่างแท้จริง
 
บางคนอาจเข้าใจผิดคิดว่าผู้ที่มีอาชีพในการขายข้อมูลข่าวสารจะต้องรักเสรีภาพในการเสนอข้อมูลข่าวสาร อันนี้ต้องไปดูคนเลี้ยงไก่เพื่อขายเอาเนื้อที่อาจมิได้รักไก่เลยเป็นตัวอย่าง

ว่าด้วยเรื่องเจ้าแล้ว จุดยืนสื่อกระแสหลักไทยส่วนใหญ่มิได้สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงจากสภาพปัจจุบันที่มีแต่การป้อนข้อมูลดีๆ ด้านเดียวให้กับสังคม สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่มิใช่พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเจ้า และการที่จะไม่ยอมรับต่อสังคมเรื่องการขาดเสรีภาพอย่างแท้จริงย่อมไม่เป็นการซื่อสัตย์ต่อประชาชน

แท้จริงแล้วสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการธำรงไว้ซึ่งการขีดเส้นแบ่งว่าอะไรบ้างที่ประชาชนสามารถรับรู้ได้เกี่ยวกับเจ้า สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่มิใช่เหยื่อ ม.112 หากเป็นผู้พิทักษ์ ม.112 และอุดมการณ์กษัตริย์นิยมแบบห้ามวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ
 
ในขณะที่สื่อไทยมักอ้างเรื่องความเป็นกลาง และความสำคัญในการที่สื่อต้องตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะ องค์กรและสถาบันต่างๆ  แต่พอเป็นสถาบันกษัตริย์ สื่อกลับยัดเยียดแต่ข้อมูลดีๆ ด้านเดียวให้กับประชาชนอย่างมิรู้จักพอเพียงและหยุดใช้เหตุผลในการตรวจสอบ รวมถึงเลิกทำตนเป็นกลาง เหรียญยังมีสองด้าน และเอาเข้าจริงผู้เขียนมองว่ามี 3 ด้าน ซึ่งด้านที่ 3 ได้แก่ด้านข้างของเหรียญ แต่ว่าด้วยข่าวและข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าแล้ว สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่กลับทำเหมือนกับว่าข้อมูลมีด้านเดียวเท่านั้นจริงๆ
 
สื่อได้รับประโยชน์จากการไม่ตรวจสอบหรือเสนอข้อมูลเท่าทันสถาบันกษัตริย์ และดูเหมือนพวกเขามิต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะความสัมพันธ์เช่นนี้ อย่างไรก็ตาม ประชาชนพึงต้องถามให้ชัดและดังๆ ว่า ราคาค่างวดของการที่ประชาชนถูกเซ็นเซอร์ข้อมูลเท่าทันเจ้าและมิสามารถตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์เจ้านั้นสูงแค่ไหน และมีผลต่อการใช้ตรรกะของสังคมไทยมากน้อยเพียงใด
 
หลายทศวรรษของการป้อนแต่ข้อมูลดีๆ ด้านเดียวอย่างไม่รู้จักพอเพียงเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ทำให้เกิดการคาดหวังที่สูงเกินจริงและไม่เป็นผลดีต่อวุฒิภาวะของประชาชนเอง สังคมคงมีหวังหากสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่ออย่างแท้จริง แต่สังคมจะเหลือความหวังอะไรหากสื่อส่วนใหญ่กลายเป็นผู้เซ็นเซอร์เสียเองอย่างมิรู้สึกว่าพวกตนได้กระทำผิดอันใด แถมออกมาปกป้องทำนองว่ามันเป็นเรื่องปกติถูกต้องแล้ว
 
สิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งคือบทบาทสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ในการเซ็นเซอร์ตนเองเรื่องเท่าทันเจ้าและป้อนแต่ข้อมูลดีๆ อย่างไม่รู้จักพอเพียงพร้อมทั้งทำหน้าที่สร้างความพร่ามัวและเข้าใจผิดให้แก่สังคมว่าเสรีภาพสื่อและเสรีภาพการแสดงออกที่แท้จริงเป็นอย่างไร ในทางกลับกัน พวกเขากลับพยายามทำให้สังคมไทยเชื่อว่าสื่อและสังคมไทยมีเสรีภาพแล้ว

ถึงแม้จะมีสื่อเสียงส่วนน้อยในสื่อกระแสหลัก (และสื่อกระแสรองอย่างประชาไท ฟ้าเดียวกัน ไทยอีนิวส์) แต่หลายคนก็ไม่กล้าแสดงตนในที่สาธารณะเพราะกลัวว่าจะหมดอนาคตในวิชาชีพองค์กรตน
  
แต่ผู้เขียนในฐานะสื่อกระแสหลักคนหนึ่ง ยังอยากให้นักข่าว บก.และเจ้าของสื่อทุกคนถามตนเองว่าหน้าที่ของเราคือการป้อนข้อมูลด้านเดียวให้กับประชาชนและรับใช้คนกลุ่มน้อยหรือ? ถ้าสื่อกระแสหลักมิใช่พลังบวกแห่งการเปลี่ยนแปลงอีกต่อไป อย่างน้อยสิ่งเล็กน้อยที่พวกเราพอทำได้คือการออกมายอมรับกับประชาชน

 

 

หมายเหตุ: บทความนี้ถูกนำเสนอในงานเสวนาเรื่อง ‘Press Freedom in the Region’ ในวันที่ 19 เมษายน 2556 จัดโดย Media Inside Out

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท