สุรพศ ทวีศักดิ์: เทวราช-สมมุติราช

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในบ้านเรามักมีการมองหรือให้ความหมายแก่หลายๆเรื่องอย่าง “เบี่ยงเบน” ไปจากหลักการที่ถูกที่ควร เช่น คนที่ค้านการนิรโทษกรรมชาวบ้านที่ศาลตัดสินจำคุก 20-30 ปี ในคดี “เผาศาลากลาง” (เพราะเหตุจูงใจทางการเมือง) โดยอ้างว่าเป็นอัตราโทษที่สูง ขืนปล่อยไปง่ายๆ ต่อไปเกิดม็อบเรียกร้องอะไรอีก ใครจะทำอะไรก็ได้โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย

แต่คนที่อ้างเช่นนี้เคยตั้งคำถามหรือไม่ว่า พวกทำรัฐประหารที่มีโทษสูงถึงประหารชีวิต ทำไมจึงนิรโทษกรรมตนเองได้ตลอดมา พวกเขาอ้างอิง “ความชอบธรรม” อะไร คนที่บอกว่าไม่ควรนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง เพื่อรักษา “ระบบยุติธรรม” ของสังคมเอาไว้ เคยอ้าง “ความยุติธรรม” ตั้งคำถามกับ “กลุ่มอำนาจนำ” ที่ใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมจนประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากครั้งแล้วครั้งเล่าบ้างหรือไม่

ทรรศนะที่เบี่ยงเบนทำนองนี้ดูเหมือนจะเป็น “ทรรศนะประจำชาติไทย” มานานแล้ว การตีความศาสนารับใช้การเมืองแบบราชาธิปไตยก็เช่นกัน มักจะตีความอย่างเบี่ยงเบนมาโดยตลอด ดังที่ตีความกันว่า “ระบบการเมืองของพระพุทธองค์ก็มิใช่ประชาธิปไตย แต่ค่อนไปทางสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ผมกล่าวถึงคราวที่แล้ว แต่จะว่าไปการตีความเช่นนี้ก็ไม่ได้ปราศจากที่มาที่ไปเสียทีเดียว ดังเอดเวิร์ด คอนซ์ วิเคราะห์ให้เห็นที่มาที่ไปในหนังสือ “พุทธศาสนา สาระและพัฒนาการ” (แปลโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2552) ว่า พุทธศาสนิกมักจะเพิ่มบรมเดชานุภาพของกษัตริย์ผู้พิชิตโดยอาศัยทฤษฎี “กษัตริย์ผู้ทรงหมุนจักร” หรือในภาษาสันสฤตว่า จกววรติน อรรถกถาให้ภาพของจักรพรรดิตามอุดมคติไว้ว่า

พระองค์ทรงมีชัยอยู่เบื้องหน้าเหล่าแสนยากร ทรงเป็นธรรมิกราช (ราชาแห่งธรรมะ) ครอบครองสมบัติ 7 อันมีรถ ช้าง ม้า มณี ทาระ อำมาตย์ และขุนพล จะทรงมีพระราชโอรสถ้วนร้อยพระองค์ ล้วนแกล้วกล้าสง่างาม เป็นที่หวาดผวาแก่เหล่าปัจจามิตร พระองค์จะทรงปราบปรามได้ดินแดนทั่วทวีป จนจรดขอบพระมหาสมุทร แล้วจะทรงขจัดเสียซึ่งเหตุแห่งความกดขี่ และความทุกข์ยากทั้งมวลในจักรวรรดิ ทั้งจะทรงปกครองดินแดนนั้นโดยไม่ใช้ราชทัณฑ์ หรือคมพระแสง หากทรงครองด้วยอาศัยพระธรรม และศานติ

นี่เป็นการอ้างความชอบธรรมจากอุดมการณ์ “ธรรมิกราช” สนับสนุนการปราบปรามขยายดินแดน เพื่อเป้าหมายคือ “จะทรงขจัดเสียซึ่งเหตุแห่งความกดขี่ และความทุกข์ยากทั้งมวลในจักรวรรดิ” แล้วในที่สุดก็ “จะทรงปกครองดินแดนนั้น...ด้วยอาศัยพระธรรม และศานติ” เท่ากับสนับสนุนการใช้ความรุนแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ความมีธรรมะและสันติภาพ ซึ่งไม่น่าจะตรงตามคำสอนของพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม คอนซ์ยังตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า

ชาวพุทธมักมีนิยายเกี่ยวกับกษัตริย์ที่ตนยกย่องว่า ทรงใช้ชีวิตใกล้เคียงกับอุดมคติที่ว่านี้ไม่มากก็น้อย มาในภายหลังพวกมหายานเกิดจาระไนให้เกิดฝูงเทพขึ้นอีกหลายองค์ กษัตริย์ที่เป็นพุทธศาสนิกจึงได้รับความยกย่องบางอย่างเหมือนที่ให้แก่เทพยดาด้วย กษัตริย์ในชวา กัมพูชา ตลอดถึงลังกาในศตวรรษที่ 10 ก็ถือกันว่าเป็นพระโพธิสัตว์ ...แม้ในศตวรรษที่ 20 กษัตริย์แห่งสยามก็ยังทรงเป็นพระพุทธเจ้าอยู่หัว...องค์ทะไลลามะทรงเป็นปางอวตารของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์...(นิยายเช่นนั้น-ผู้เขียน) ไม่แต่เพียงทำให้ประชาชนเกิดความจงรักยอมเชื่อฟังแต่โดยดีเท่านั้น ยังทำให้พระสงฆ์กระทำการประหนึ่งตำรวจทางวิญญาณให้แก่รัฐบาลอีกด้วย...

อย่างไรก็ตาม เราอาจเข้าใจที่มาของ “นิยาย” เช่นนั้นได้จากคำอธิบายของ ส.ศิวรักษ์ ในหนังสือ “ความเข้าใจในเรื่องสินธูธรรม” (2546) ว่า ประเทศแถบเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ที่รับเอาพุทธศาสนามาจากอินเดียนั้น ต่างรับเอาหลักความเชื่อแบบพราหมณ์มาด้วย และนำมาผสมผสานกับความเชื่อเดิมของตน เช่นในไทยคือการผสมผสานระหว่าง “พุทธ – พราหมณ์- ผี”

เฉพาะปรัชญาการเมืองนั้น เรารับเอา “ทฤษฎีเทวโองการ” ของพราหมณ์ที่ถือว่า กษัตริย์เป็นผู้ที่พระพรหมประกาศิตให้เป็นผู้ปกครองโลกมนุษย์ตั้งแต่แรกสร้างโลกแล้ว และบ้างว่าเป็นอวตารของพระวิษณุหรือพระนารายณ์ สถานะของกษัตริย์จึงเป็น “เทวราช” ผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” ตามเทวโองการ และต้องปกครองโดย “ราชธรรม” ด้วย แต่ “ธรรม” หมายถึง “หน้าที่” ที่เป็นหลักเกณฑ์แบ่งชนชั้นสูง-ต่ำตามระบบวรรณะสี่ การปกครองโดยธรรม จึงหมายถึงการรักษาขนบจารีตของระบบวรรณะเอาไว้ให้มั่นคง เพราะเป็น “ระบบความยุติธรรม” ของสังคมในความหมายว่า สังคมที่มีความยุติธรรมคือสังคมที่คนในแต่ชนชั้นทำหน้าที่ของตนให้ดี ไม่ก้าวก่ายหน้าที่กัน

ต่อมา “คัมภีร์อรรถศาสตร์” ขยายความราชธรรมว่า “ธรรมะ” อาจหมายรวมถึงการใช้เล่ห์เพทุบาย หรือใช้วิธีการใดๆก็ได้ เพื่อรักษาอำนาจ เช่นพระราชาต้องทำตัวเป็นแบบอย่างทางศีลธรรมเพื่อให้ได้รับความจงรักภักดีจากราษฎร แต่เมื่อยามจำเป็นต้องรักษาอำนาจหากจะต้องละทิ้งศีลธรรมก็ควรกระทำ แม้กระทั่ง “การประหารโอรส อนุชา พระบิดา หรือพระปิตุลาที่ขัดพระราชประสงค์ก็ควรทำ” จึงไม่แปลกที่นักรัฐศาสตร์ตะวันตกจะนำคัมภีร์อรรถศาสตร์ไปเปรียบเทียบกับ “The Prince” ของมาเคียเวลลี ที่เสนอว่า “เจ้าผู้ปกครองอาจทำตัวเป็นสิงโต หรือจิ้งจอกตามสถานการณ์ที่เหมาะสม”

ถึงตรงนี้ พึงขีดเส้นใต้ไว้ว่า ภาพพจน์ของ “ธรรมิกราช” หรือ “ธรรมราชา” ตามข้อความอวยบรมเดชานุภาพของกษัตริย์ใน “อรรถกถา” ที่เอดเวิร์ด คอนซ์อ้างถึงข้างต้นนั้น เป็นคัมภีร์ที่แต่งขึ้นหลังพุทธกาล นิยายที่ยกย่องกษัตริย์ให้เป็นเทวดา เป็นพระโพธิสัตว์ หรือเป็นพระพุทธเจ้า ก็แต่งขึ้นในยุคหลังโดยผสมผสานกับลัทธิเทวโองการของพราหมณ์ ฉะนั้นสถานะของกษัตริย์ที่นับถือ “พุทธผสมพราหมณ์” ในอุษาคเนย์ จึงทรงเป็นทั้งธรรมราชาที่ทรงทศพิธราชธรรมตามคติพุทธ และทรงเป็น “เทวราช” ผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เป็นเทวโองการตามคติพราหมณ์

ว่าโดยรากฐานปรัชญาการเมืองแล้ว สถานะทั้งสองนั้นย่อม “ขัดแย้งกัน” ในสาระสำคัญ เพราะตามคำสอนพุทธศาสนาดั้งเดิมนั้น พุทธะถือว่าอำนาจปกครองของกษัตริย์มาจาก “ความยินยอม” ของราษฎรไม่ใช่มาจากเทวโองการ สถานะของกษัตริย์จึงเป็น “สมมุติราช” ไม่ใช่ “เทวราช” กษัตริย์ที่ดีต้องปกครองโดยธรรม แต่ธรรมของพุทธไม่ใช่หลักเกณฑ์แบ่งแยกชนชั้นแบบธรรมของพราหมณ์ หากแต่เป็น “หลักเกณฑ์ความเสมอภาค” ในความเป็นมนุษย์ และพุทธะเองก็พูดถึงเรื่องการใช้ “อำนาจ”  น้อยมาก ในอัคคัญญสูตรก็พูดเพียงว่า ผู้ปกครองมีอำนาจ “ว่ากล่าวคนที่ควรว่ากล่าว ขับไล่คนที่ควรขับไล่ได้โดยชอบ” เท่านั้น ในชาดกมีพูดถึงการใช้อำนาจบ้าง เช่นเรื่องพระเตมีย์ สะท้อนถึงความรังเกียจการใช้อำนาจเทวโองการของกษัตริย์ เรื่องเวสสันดรสะท้อนว่า หากกษัตริย์กระทำสิ่งที่ราษฎรไม่ยอมรับ ราษฎรก็มีสิทธิ์ประท้วงขับไล่ได้

แต่ตัวอย่างที่ชัดแจ้งคือ พุทธะปฏิเสธ “พิธีกรรมบูชายัญ” ที่ส่งเสริมความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจเทวโองการ โดยปฏิรูปคำสอนเรื่องบูชายัญมาเป็น “หลักการรับใช้ราษฎร” (ราชสังคหวัตถุ) อีกทั้งคุณธรรมทางการเมืองตามที่พุทธะสอน คือ ทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร ราชสังคหวัตถุ วัชชีธรรม ล้วนมีเนื้อหามุ่งไปในทางเป็น “พันธะทางศีลธรรม” ที่ผูกพันให้ผู้ปกครองรับใช้ราษฎรทั้งสิ้น ไม่ได้มุ่งส่งเสริมอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตามเทวโองการแต่อย่างใด 

 

 

หมายเหตุ : จากบทความเดิมชื่อ พุทธศาสนากับประชาธิปไตย (5) : ‘เทวราช-สมมุติราช’ เผยแพร่โลกวันนี้วันสุข ฉบับวันที่ 27 เมษายน-3 พฤษภาคม 2556

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท