ROHINGYA : ความหมายสิทธิมนุษยชนที่เปลี่ยนไป

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ตึกแถวขาวห้าชั้น 8 คูหาเรียงรายปรากฎอยู่ต้นถนนนวลจันทร์ ย่านบึงกุ่ม ชาญเมืองกรุงเทพมหานคร ผมมาถึงที่นี่หลังจากขับรถออกจากบ้านพักได้เพียง 5 นาที            

ตลอด 22 ปีที่ผมอาศัยอยู่บ้านพ่อแม่หลังนี้ ทุกครั้งที่ไม่ว่าจะไปไหนมาไหน ผมก็ต้องผ่านกลุ่มตึกแถวนี้เป็นประจำ จำได้ว่ามันเคยผ่านการถูกทุบ ดัดแปลง จากสิบกว่าคูหาหันหลังชนกัน ก็กลายเป็นคูหาแถวเดียว 8 คูหา เพื่อสอดรับกับการตัดถนนประดิษฐ์มนูกิจ หรือเกษตร-นวมินทร์ อันเป็นการเปลี่ยนแปลงการเพื่อความสะดวกสบายของชาวกรุง
           
แต่เชื่อไหมว่ายังมีกลุ่มคนตัวเล็กกลุ่มหนึ่ง ใช้ตึกแถว 1 ใน 8 คูหานั้นเป็นเกราะกำบัง ปกป้องความจริงอันโหดร้าย ปลอบประโยนกันและกัน ตลอดจนเสริมพลังกายใจ เพื่อเรียกร้อง และถามหาความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่ความสะดวกสบาย แต่เป็นความอยู่รอดของชีวิตตน และเชื้อชาติ
           
โรฮิงญาพลัดถิ่น....
           
ก่อนหน้านี้ประมาณ 3 เดือนผมได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองความเห็น และขอข้อมูลสำหรับทำข่าวเกี่ยวกับประเด็นโรฮิงญา อยู่เสมอ โดยเฉพาะหลังเดือนมิถุนายน ที่ปรากฏความรุนแรงอันเป็นจุดแตกหักของรัฐบาลพม่ากับชนชาติพันธุ์กลุ่มนี้ นักสิทธิมนุษยชนท่านนี้นอกจากเป็นหนึ่งในผู้ร่วมกับสมาคมชาวโรฮิงญาในประเทศไทยในการส่งหนังสือร้องขอความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมต่อองค์การสหประชาชาติ และองค์กรช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้ถูกลิดรอนศักดิ์ศรีหรือ UNHCR เธอยังเป็นนักสิทธิมนุษยชนเพียงไม่มีกี่คนที่ขับเคลื่อนประเด็นนี้ร่วมกับชาวโรฮิงญาอย่างจริงจัง
           
ต้นเหตุของชนวนดังกล่าวปะทุเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลังมีใบปลิวระบุว่า ชาวมุสลิมกลุ่มหนึ่งฆ่าข่มขืนสตรีพุทธชาวยะไข่ จนทำให้ชาวพุทธหลายร้อยคนรวมตัวไปล้อมรถโดยสาร และสังหารชาวมุสลิมไป 10 ราย เพราะเชื่อว่าผู้ก่อเหตุอยู่บนรถคันนั้น ต่อมาเหตุการณ์ลุกลามบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่ม คือชาวมุสลิมโรฮิงญา กับชาวพุทธยะไข่ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลพม่าซึ่งมีนโยบายกีดกันโรฮิงญามาโดยตลอด การปิดพื้นที่ และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ถูกใช้มาเป็นข้ออ้างในการสังหาร และเนรเทศชาวโรฮิงญาอย่างโหดเหี้ยม ลุกลามเป็นประเด็นความขัดแย้งด้านเชื้อชาติ และศาสนาทั่วพม่า ดังเห็นได้จากการที่พระสงฆ์ในมัณฑะเลย์ออกมาเดินขบวนต่อต้านมุสลิมโรฮิงญา หรือกลุ่มชาวพุทธที่เผามัสยิดในกรุงย่างกุ้ง ท่ามกลางการปิดกั้นข่าวสาร การสังเกตการณ์ รวมถึงงดการเข้าพื้นที่ขององค์กรสิทธิมนุษยชนสากล และแม้แต่การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมก็เป็นไปอย่างลำบาก
           
เหตุการณ์ดังกล่าวเปรียบเสมือนเติมเชื้อไฟให้ความขัดแย้งของพม่ากับโรฮิงญาปะทุมากขึ้นไปอีก ไฟแห่งความขัดแย้งอันร้อนระอุทางเหนือของพม่า จึงสวนทางกับความชุ่มช่ำหลังพม่าเปิดประเทศสู่ความเป็นประชาธิปไตย ที่ทุกส่วนของมุมโลกต่างเตรียมแต่งเนื้อแต่งตัวเพื่อแบ่งเค้กบนโต๊ะอาหารสกันตามใจชอบ ทำให้ประเทศเจ้าประชาธิปไตยผู้ถือสิทธิมนุษยชนเป็นสรณะทั้งหลายในอเมริกา และสหภาพยุโรปต่างปิดปากเงียบต่อกรณีดังกล่าว ไม่เว้นแม้แต่เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพทั้งสองอย่างโอบาม่า และ ซูจี ที่ทำให้กลไกของความหมายสิทธิมนุษยชนถูกตั้งคำถามมากขึ้น
           
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ในห้วงเวลา 3-4 เดือนที่ผ่านมา ไม่สามารถชี้ทางออกของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้  การเดินทางเพื่อเก็บข้อมูลครั้งนี้ไม่เพียงหาคำตอบกับปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว หากรวมถึงความหมายของสิทธิมนุษยชน อันเป็นสิทธิอันพึงมีพึงได้ในความเป็นมนุษย์ ที่กำลังถูกกัดกร่อน และเพิ่มข้อจำกัดไปทุกที
           
ผมมาที่นี่เพื่อฟังเสียง “สิทธิมนุษยชน” คำที่ดูโก้หรู จากมุมมองความหมายของผู้ที่ไม่เคยได้รับมัน..

           
ป้ายไวนิลสีฉูดฉาดบอกสีสันอาหารอันเลื่องชื่อของพี่น้องมุสลิม ซึ่งหนีไม่พ้นข้าวหมกไก่แสนอร่อยเคียงคู่กับซุปเนื้อรสเลิศ มันถูกแขวนประดับเคียงคู่กับป้ายมูลนิธิ เสมือนพี่น้องร่วมชายคาเดียวกัน
           
ชั้น 1 ของตึกหลังนี้เป็นร้านกานัมข้าวหมกไก่ ส่วนชั้นที่เหลือเป็นสำนักงานของมูลนิธิศักยภาพชุมชน องค์กรสิทธิมนุษยชนผู้ขับเคลื่อนประเด็นโรฮิงญา มุสลิม สามจังหวัดชายแดนใต้ และคนพิการ ระหว่างเดินทางขึ้นไปยังชั้นสามจุดนับพบพูดคุย ผมได้รับรอยยิ้ม และแววตาอันเป็นมิตรจากเจ้าหน้าที่พี่น้องชาวโรฮิงญาเสมือนเป็นการต้อนรับผู้มาเยือนอย่างเรา ไม่เกี่ยงความแตกต่างทั้งชาติ ศาสนา และวิถีชีวิตประการใด
           
ชาพม่าร้อนถูกเสริ์ฟพร้อมกับคำกล่าวสวัสดีของผู้หญิงผมสั้น แววตาอารมณ์ดีและเป็นมิตรอย่างพี่ชาลิดา เธอมาพร้อมคู่กับสาวชาวโรฮิงญาหน้าคมผิวคล้ำ ประสานกับแววตาที่เคร่งขรึม แต่กลับไม่ได้แสดงความดุร้าย หากกลายเป็นความมุ่งมั่นที่จะบอกเล่าเรื่องราว หลังจากเธอเสร็จสิ้นภารกิจในการเก็บข้อมูล และพูดคุยกับกลุ่มต่างๆในพม่าโดยเฉพาะชาวโรฮิงญาเมื่อเดือนที่ผ่านมานี้

ไทค์(Htike) แนะนำตัวเบื้องต้นเป็นภาษาอังกฤษอย่างคล่องแคล่ว เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนกับชาวโรฮิงญา เธอไม่รอให้ผมถามคำถาม แต่เลือกจะชี้ชวนให้เราจับจ้องไปยังแผนที่เหนือสายตา ที่บ่งบอกอาณาเขตของพม่า โดยพุ่งเป้าไปที่รัฐยะไข่ หรืออารกันในช่วงที่อังกฤษปกครอง ทางตะวันตกเฉียงเหนือติดกับบังกลาเทศ            

เธอเล่าว่า ชาวโรฮิงญานั้นเป็นชนชาติพันธุ์มุสลิมดั้งเดิมที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว ต่อมาเมื่อมีการยึดอำนาจของนายพลเนวิน(ผู้เขียน;และฉีกรัฐธรรมนูญอันระบุการรับรองสิทธิชนชาติพันธุ์ในการมีสิทธิขั้นพื้นฐาน และสิทธิการปกครองตนเองหรือสัญญาปางโหลง) ที่มีแนวความคิดชาตินิยมก็ได้เกิดการผลักดันปฏิเสธการมีอยู่ของชาวโรฮิงญา โดยมองว่าเป็นคนที่มีความแตกต่างทั้งรูปร่างหน้าตา เชื้อชาติ และศาสนา เนื่องจากชาวโรฮิงญานั้นนับถือศาสนาอิสลาม และมีรูปพรรณคล้ายคลึงกับชาวเอเชียใต้ จึงผิดแผกไปจากชาวพม่า หรือชาติพันธุ์อื่นๆ ซึ่งในกฎหมายพลเมืองปีคริสต์ศักราช 1984 ที่ระบุ 135 ชนชาติพันธุ์นั้น ไม่ปรากฏการมีอยู่ของชาติพันธุ์โรฮิงญาแต่อย่างใด ทำให้ชาวโรฮิงญาไร้สัญชาติ ไร้รัฐ และย่อมเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานจากบริการของรัฐอย่างมีคุณภาพ นอกจากนั้นยังเจอกับความรังเกียจเดียดฉันในฐานะผู้แตกต่างอีกด้วย            

สอดคล้องกับพี่ชลิดาที่ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาของชาวโรฮิงญานั้น หากเราศึกษาประวัติศาสตร์ และพัฒนาการของความขัดแย้งมาตลอด ก็จะพบว่าเป็นปัญหาที่มีเชื้อไฟครุกกรุ่นมาก่อนแล้ว ชาวพม่ามีทัศนคติไม่ยอมรับชาวมุสลิมโรฮิงญา พอๆกับที่นโยบายของทหารพม่าได้ละเลยกับความละเอียดอ่อนของความแตกต่างตรงส่วนดังกล่าวไปเสียหมด และมีพยายามขับพวกเขาออกนอกประเทศมาโดยตลอด ไม่ต่างจากปัญหาภาคใต้ของไทย เพียงแต่ทัศนคติของพม่าต่อโรฮิงญานั้นรุนแรงกว่า นอกจากนั้นการรวมตัวต่อต้านของโรฮิงญาก็ไม่เกิดผลมากนัก เนื่องจากไม่มีความเข้มแข็งพอเหมือนกลุ่มก่อการในภาคใต้ และเป็นการก่อการจากโรฮิงญาพลัดถิ่นที่เคลื่อนไหวภายนอกเสียมากกว่า          

ดังนั้น ความเข้าใจสถานการณ์นั้นควรเริ่มจากการเข้าใจความเป็นมาของโรฮิงญาเสียก่อน ที่ไม่ใช่แค่เรื่องความขัดแย้งของชาวบ้าน หากหมายถึงการการเกลียดชังระหว่างเชื้อชาติ และศาสนา
           

“ มันเป็นเรื่องเชื้อชาติ และศาสนามานานแล้ว ทัศนคติของพม่าคือไม่เอาโรฮิงญา มองว่าเค้าไม่ใช่พม่า ทั้งๆที่โรฮิงญาอยู่ตรงนั้นมานานแล้ว ตามกฎหมายสากลระหว่างประเทศต้องรับเป็นพลเมืองแล้ว และคุณมีสิทธิอะไรมาไล่เค้าออกไป เพียงว่าเค้าแตกต่างนั้นหรือ ?”            

สอดคล้องกับกานัม ชายหนุ่มวัย 56 ผู้ประสานงานสมาคมชาวโรฮิงญาประจำประเทศไทย ที่ตามมาสมทบทีหลังให้ข้อมูลว่า สถานการณ์ปัจจุบันเป็นเพียงอุบายในการใช้ความขัดแย้งดังกล่าว เพื่อให้เกิดการแตกหัก และเราเห็นได้แล้วว่า พม่าไม่เพียงไม่ต้องการโรฮิงญา แต่ยังละเมิดศักดิ์ศรีในการมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย ทำให้ 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ชาวโรฮิงญาเหลือในพื้นที่เพียง 8 แสนคนจาก 4 ล้านคน โดย 3 แสนคนนั้นหนีข้ามพรมแดนไปบังกลาเทศ อีก 2 หมื่นคนนั้นอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภ้ยหรือเรฟูจี ส่วนที่เหลือนั้นเป็นโรฮิงญาพลัดถิ่นในประเทศที่สาม
           
ความขัดแย้งระดับชาติของพม่าดังกล่าว ทำให้รัฐบาลพม่าปิดพื้นที่ และปิดกั้นข่าวสารไม่ให้คนภายนอก หรือนานาชาติรับรู้ ซึ่งที่ผ่านมามีเพียงเจ้าหน้าที่จากองค์การสหประชาชาติได้ลงพื้นที่สังเกตการณ์เพียงครั้งเดียว ขณะที่การกดดันผ่านเวทีภูมิภาคอย่างอาเซียนก็ไร้ผล เนื่องจากทั้งสองเวทีสำคัญไม่ว่าจะเป็นที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ก็กลับไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนของพม่า เช่นเดียวกับที่ประชุมคณะกรรมาธิการปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือไอชาร์ ผู้แทนพม่าก็มีท่าทีที่แข็งมาก หรือหากพิจารณากลไกอาเซียนก็ยังพบว่ามีข้อจำกัดสูง รวมไปถึงการเจรจาลับ หรือ
ล็อบบี้ก็ไม่สำเร็จผลเท่าที่ควร ทุกฝ่ายจึงทำได้แค่เพียงขอให้เกิดการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นพื้นฐานก็พอ
           
ข้อมูลเบื้องต้น พร้อมรายละเอียดสถานการณ์ล่าสุดจากปากคำของสองชาวโรฮิงญา ที่นั่งตรงหน้าทำให้เราเห็นว่า แท้จริงสิ่งที่ปรากฏในหน้าข่าวเป็นเพียงเศษเสี้ยวของปัญหาที่ค้างคามานาน และเป็นเพียงมายาคติที่ทำให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้เป็นผู้สร้างเงื่อนไขของความรุนแรงเท่านั้น
           
ทุกวันนี้ชาวโรฮิงญาที่อยู่ในพื้นที่ต่างต้องประสบพบเจอความลำบาก การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่พบอุปสรรคทั้งการปิดพื้นที่ และการเดินทางทางภูมิศาสตร์ที่เป็นภูเขาสูง ทำให้พี่ชาลิดายอมรับว่า กระบวนการต่อสู้ต้องใช้เวลา แต่ตอนนี้ขอให้พวกเขามีความปลอดภัย อยู่รอด มีอาหารกินก่อนเป็นดีที่สุด ซึ่งข้อนี้ไทค์ได้เสริมเพิ่มเติมอย่างน่าสนใจว่า         

“ เรือที่เข้าไปก็ลำบาก เพราะมันมีภูเขากั้น ส่วนเฮลิคอปเตอร์เวลาหย่อนอาหาร คนโรฮิงญาก็ไม่ได้หรอก เพราะพวกเขาหนีทหารไปอยู่ตามป่า เขา ก็เป็นคนยะไข่ที่ได้สะส่วนใหญ่ สภาพตอนนี้ลำบากมาก”

คิดไปคิดมาก็น่าแปลกใจเหมือนกันนะครับ ปัญหาดังกล่าวนี้เรื้อรัง และออกดอกออกผลให้ประชาคมโลกได้เห็นกันมานัดต่อนัด แต่ใยเสียงของประชาคมโลก โดยเฉพาะประเทศเสรีประชาธิปไตยอย่างตะวันตกที่มักประกาศตัว และให้ค่ากับความหมายอันสูงส่งของ สิทธิมนุษยชน จึงดังน้อยกว่าเสียงเล็กๆของคนกลุ่มนี้ ฤาความหมายของ สิทธิมนุษยชน นั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว
           
พี่ชลิดาให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวในฐานะนักสิทธิมนุษยชนว่า ประเด็นดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือที่ดีในการวัดความหมายสิทธิมนุษยชน ของนักสิทธิมนุษยชน หรือประเทศที่ให้ค่ากับสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย
             
เธอเห็นว่า สิทธิมนุษยชนแท้จริงแล้วทำงานบนหลักการที่อธิบายได้ไม่ยากนัก นั่นคือ การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างไม่เลือกปฏิบัติ ไม่มีอคติทั้งด้านชาติ ศาสนา ลัทธิการเมือง หรือความเชื่ออะไรก็แล้วแต่
           
การขีดวงสิทธิมนุษยชนนั้น เธอเห็นว่าย่อมขึ้นอยู่กับ ความสัมพันธ์ของผลประโยชน์ กับความสัมพันธ์ส่วนตัว ดังนั้นเราจึงไม่ต้องแปลกใจว่า กรณีดังกล่าวใยสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปถึงเลือกที่จะเงียบ เพราะมีความสัมพันธ์เชิงผลประโยชน์กับพม่า ความแข็งกร้าวในความศักดิ์สิทธิ์ของประชาธิปไตยที่ให้ค่ากับสิทธิมนุษยชนจึงไม่เหมือนเดิม
           
ฟังพี่ชลิดาแล้วก็เห็นว่า แท้จริงความหมายของคำสูงส่งอย่างสิทธิมนุษยชนนั้น แม้มีระดับของความหมายที่กว้าง แต่ก็ไม่ได้มีหลักการที่ยากแก่การทำความเข้าใจเท่าใดนัก พื้นฐานของมันจึงอยู่ที่การเคารพศักดิ์ศรีเพื่อนมนุษย์โดยไม่เลือกปฏิบัติ เป็นมาตรฐานสากลขั้นพื้นฐานที่สุด นักสิทธิคนไหนจะจำเพาะกว่านี้ก็ว่ากันไป แต่หากใครต่ำกว่านี้ก็เห็นจะลำบาก หลักการง่ายๆเชิงนามธรรมนั้นนำมาสู่การเป็นรูปธรรมผ่านกฎ หรือบรรทัดฐานต่างของสากล ไม่ว่าจะเป็นปฏิญญาสิทธิมนุษยชนสากล หรือกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆ เพื่อหยิบยกคำนี้ให้ครอบคลุมถึงทุกคน ไม่ใช่กราบไหว้บูชาและใช้เป็นวาทศิลป์เพื่อสร้างภาพลักษณ์แก่ตนเอง
           
สอดคล้องกับคำกล่าวของไทค์ต่อความหมายสิทธิมนุษยชนกรณีโรฮิงญา ว่า แท้จริงแล้วนั้นความหมายสิทธิมนุษยชนนั้นไม่ได้เปลี่ยนไป แต่กลไกหรือฟังก์ชั่นของมันที่เปลี่ยนไป คนที่นำไปใช้ใช้ได้มิติของความหมาย ไม่ครบกลไก ไม่ทุกมุมมอง โดยเฉพาะตะวันตกคุณรักษาสิทธิซูจี แต่ใยสิทธิของคนอีกสี่ล้านที่ไม่มีแต่บ้านคุณถึงละเลยไป

“อย่างซูจี เราต้องเข้าใจว่า แต่ก่อนเค้ามีภาพต่อสู้เพื่อสิทธิ แต่ตอนนี้เค้ากลายเป็นนักการเมืองไปแล้ว นักการเมืองที่เดินสายไปแต่ละประเทศ”

หรือแท้จริงแล้ว สิทธิมนุษยชน คำคำนี้ก็อาจไม่ใช่คำสูงส่งอะไรนัก มันเป็นคำที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ที่ดิ้นรนมีอิสรภาพจากรัก โลภ โกรธ หลง เป็นคำที่พยายามตัดกิเลสทั้งปวงให้เกิดแต่สันติสุข แต่มนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์อยู่วันยังค่ำ เราจะหวังอะไรกับสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป หรือแม้กระทั่งซูจี และอดีตผู้นำกลุ่มนักศึกษา 888 หรือแม้แต่รัฐบาลไทย การได้แตะนิดแต่ะหน่อยแล้วบอกตนว่าเป็นนักสิทธิมนุษยชนก็ไม่ต่างอะไรกับการบริจาคเงินก้อนโตเข้าวัด แล้วก็บอกว่าตนเป็นศาสนิกที่ดีกว่าคนอื่นนั่นแหละ
           
ความเป็นจริงแล้วเมื่อคุณพูดถึงประชาธิปไตยมันไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง หรือมันไม่ใช่การแค่คุณสามารถชุมนุม หรือไฮค์ ปาร์คตามสถานที่สาธารณะได้อย่างเสรีภาพ มันไม่ได้มีความหมายแค่ว่า คุณมีเสรีภาพในการแสดงออกเท่านั้น หากมันถึงเสรีภาพ และอิสรภาพของร่างกายที่ดำรงอยู่ด้วยความปลอดภัย โดยเฉพาะ อิสรภาพจากความกลัว หรือ freedom from fear
           
สถานการณ์วิกฤติชีวิตของพี่น้องโรฮิงญานั้น ทั้งสามจึงอาศัยพลังอันเกิดอิสรภาพจากความกลัว ในการผลักดัน “ตนเอง” ผ่านช่องทางต่างๆให้เป้าหมายช่วยเหลือคนในพื้นที่ได้เร็วที่สุด ใช้ทั้งเวทีทางการทูต การล็อบบี้ และเครื่องมือเครื่องไม้สารพัด ก็เพื่ออย่างน้อยให้คนกลุ่มได้ละหมาดอย่างเป็นสุข และให้ทุกครั้งการอ้อนวอนขออัลเลาะห์ของพวกเขามีความเป็นหวังขึ้นมาบ้าง
           
พี่ชลิดาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ความหวังส่วนหนึ่งก็อยู่ที่กลไกกลุ่มประเทศมุสลิมอย่าง เช่น โอไอซี ซึ่งเค้าก็ขยับในเรื่องนี้พอสมควร แต่ก็พบว่าในประเทศเหล่านั้นก็เกิดปัญหาความไม่สงบกรณีการประท้วงสหรัฐอเมริกาเช่นกัน รวมถึงประเทศมุสลิมในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย หรือมาเลเซีย ซึ่งผู้นำอินโดนีเซียก็ขยับเรื่องนี้ แต่พม่าก็แข็งอยู่มาก ขณะที่ภาคประชาสังคมในมาเลเซียก็ตื่นตัวเรื่องนี้มาก เช่นการส่งเรือช่วยเหลือทางมนุษยธรรม แต่เมื่อไปขึ้นฝั่งก็พบอุปสรรคในการเข้าถึงมากมาย
           
เมื่อฟังพี่ชลิดา และพี่น้องโรฮิงญาอีกสองคนเล่า ก็นึกเปรียบเทียบไปถึงโลกตะวันตกที่มักบอกประเทศมุสลิม หรือโลกอาหรับว่ามีกลไกจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ มีข้อจำกัดทางศาสนามากมายที่ไม่ทำให้ชาวมุสลิมกลายเป็นเสรีนิยมอย่างที่พวกเขาต้องการ แต่ความจริงคนที่เคลื่อนไหวเพื่อช่วยสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์อยู่ตอนนี้ ก็ไม่ใช่กลุ่มคนมุสลิม หรือโลกอาหรับหรอกหรือ
           
ระหว่างโต๊ะพูดคุยของพวกเราทั้ง 4 คนนั้น นอกเหนือไปจากการสัมภาษณ์ข้อมูล ความรู้สึกของผมกับพวกเขาแล้ว การปรึกษาหารือ และถกเถียงแนวทางการต่อสู้ก็ปรากฏพร้อมๆกัน ทุกๆครั้งที่กานัมตอบคำถามก็จะปรากฎความมุ่งมั่นในการต่อสู้เพื่อชีวิต และเชื้อชาติตัวเองหลังจากดั้นด้นต่อสู่ในเมืองไทยกว่า 30 ปี แววตาที่ลุกโชนบอกถึงความคับแค้น หาใช่ความคับแค้นอย่างจิตใจอันโหดร้าย แต่เป็นความอัดอั้นตันใจและความเดียวดายที่พวกเขาพบเจอ และในทุกๆครั้งพี่ชาลิดาก็เข้ามาทำเข้าใจ และปลอบประโลนให้เห็นถึงขั้นตอน และวิธีการทางการทูตที่ต้องอดทนรอ และใช้ระยะเวลา
           
เวทีการพูดคุยนี้ สำหรับนิสิตตัวน้อยๆคนนึง ก็ภาคภูมิใจว่าอย่างน้อยมันก็เป็นเวทีแห่งสันติภาพ และอิสรภาพ ที่อยู่บ้านของเรานี่เอง เป็นเวทีสันติภาพที่ให้ความหมายของสิทธิมนุษยชนในทุกมิติ และไม่ยี่หระหากใครจะเลือกใช้บางมิติ เป็นเวทีแห่งอิสรภาพที่พ้นไปจากความกลัว ภายใต้ตึกแถวร่วมชาติแห่งนี้
             
อย่างไรก็ตาม แม้ความหมายของสิทธิมนุษยชน จะถูกตั้งคำถามจากกรณีนี้มากมาย ทั้งๆที่มีคำอธิบายที่ไม่ยากนัก แต่ความจริงสำคัญก็คือ สิทธิมนุษยชนต้องถูกพูดถึงในทุกประเด็น ในทุกปริมณฑล คุณจะยืดอกบอกตัวเองว่าเป็นนักสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร ถ้าหลงลืมต่อการละเมิดสิทธิของชีวิตของคนกลุ่มนี้ เพียงเพราะเป็นคนชายขอบ เพียงเพราะผลประโยชน์ หรือเพียงเพราะสีผิว และทรงผมที่แตกต่างนั้นหรือ?
           
หลังเสร็จสิ้นการพูดคุย แววตาขอบคุณจากทั้งสาม โดยเฉพาะกานัม และไทค์แม้จะฉายแววความซาบซึ้ง แต่ก็ปรากฏความเศร้าหมอง และเดียวดาย มันคงไม่ต่างอะไรกับชาวโรฮิงญาอีกหลายแสนที่อยู่ตามป่าเขาในพื้นที่ ที่ไม่เพียงต้องหลบหลีกไฟลุกโชนอันเกิดจากกระสุน และกองเพลิงที่เผาบ้าน แต่ยังรวมถึงไฟลุกโชนในจิตใจของผู้เกลียดชังพวกเขา ซึ่งร้อนแรงและอันตรายกว่าอาวุธชนิดใด
           
แววตาเหล่านี้เรียกร้องถามหา “ชีวิต” จากผู้มีพลังด้านสิทธิมนุษยชนของโลกทั้งหลาย ให้ช่วยเติมเต็มความหมายของสิทธิมนุษยชนให้สมบูรณ์ การช่วยเหลือพวกเขาไม่เพียงช่วยชีวิตผู้ไร้ทางสู้เท่านั้น หากหมายถึงการเติมเต็มสันติภาพให้กับโลก เพราะหากผู้มีอำนาจที่ละเลยเหล่านั้นใส่ใจ นั่นหมายความว่าพวกเขาสามารถตัดกิเลสอันเกิดจากผลประโยชน์ และความสัมพันธ์ส่วนตัวได้ เป็นพลังแห่งสันติสุขระยะยาวโลกใบนี้       

ระหว่างขับรถกลับบ้าน ผมขับรถผ่านมัสยิดคลองลำเจียก ศาสนสถานของพี่น้องอิสลาม  พลางให้คิดถึงความหมายของอิสลามในมุมของศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา  อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลาที่ว่า ความรู้ความเข้าใจแก่นแท้ของอิสลามคือรากฐานแห่งเสรีภาพ และอิสลามคือศาสนาแห่งสันติสุข ซึ่งไม่ต่างอะไรกับความหมายของสิทธิมนุษยชน ค่านิยมที่ตะวันตกต่างเรียกหาแต่อย่างใด
           
เสียงอ้อนวอนศรัทธาต่อองค์อัลเลาะห์ของพี่น้องโรฮิงญาผู้ประสบเคราะห์กรรมในพื้นที่ จึงเป็นคำเอื้อนเอ่ยถึงความหวังของการมี สิทธิมนุษยชน ผ่านบทสวดของตนเอง ที่เป็นคำศักดิ์สิทธิ์แห่งสันติภาพของโลก คำเดียวกันกับประชาคมโลก และตะวันตก
           
แต่เหตุใดมนุษย์ถึงนำไปใช้ได้แตกต่างกันมากมายกันนัก...
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท