Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

การพูดคุยครั้งแรกระหว่างรัฐไทย (ปาร์ตี้ เอ) กับตัวแทนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้(ปาร์ตี้ บี) ได้มีขึ้น ณ สถานที่ปิดลับแห่งหนึ่งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย การกล่าวแสดงความยินดีได้เกิดต่อมาเลเซียอันเนื่องจากความสำเร็จของภารกิจสำคัญยิ่งนี้ การพูดคุยครั้งนี้นับเป็นก้าวแรกในการก่อเกิดกระบวนการสันติภาพในภาคใต้ของไทย

ก่อนจะมีการพูดคุยในครั้งนี้ ได้เกิดกระแสข่าวสารจำนวนมาก ทั้งในสื่อภาษาไทย ภาษามลายู หรือสื่อภาษาอังกฤษ ประเด็นหนึ่งที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือตัวแทนการพูดคุยจากปาร์ตี้ บี นั้นเป็นตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจย่างแท้จริงหรือไม่ บ้างก็กล่าวกันการพูดคุยครั้งนี้ไม่มีความหมายแต่อย่างใด เป็นเพียงละครการเมืองฉากหนึ่งเท่านั้น ข่าวต่างประเทศในภาษาอังกฤษ (ไม่ใช้จากไทยและมาเลเซีย) ส่วนหนึ่งนำเสนออย่างขี้ระแวงและมองโลกในแง่ร้ายต่อกระบวนการพูดคุยครั้งนี้ ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าได้ข้อมูลจากแห่ลงข่าวที่ไม่แน่นอน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีคำถามร้อยแปดพันเก้า แต่การพูดคุยก็ได้เกิดขึ้น โดยมีตัวแทนจาก ปาร์ตี้ บี จำนวน 6 คนที่เป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการและการพูดคุยครั้งนี้ย่อมมีผลอย่างแน่นอน และกำหนดการเจรจาครั้งต่อไปได้กำหนดขึ้นในวันที่ 29 เมษายน 2556 โดยที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับกรอบข้อตกลงที่ได้พูดคุยไว้

เพื่อให้กระบวนการสันติภาพที่พึ่งจะเริ่มต้นนี้ประสบความสำเร็จ ทุกฝ่ายต่างให้คำมั่นอย่างจริงจังและต่างมีเจตนาที่บริสุทธิ์ซึ่ง ณ ที่นี้ผู้เขียนใคร่มีข้อเสนอบางประการที่หลายๆ ฝ่ายควรกระทำในวาระนี้

ประการแรก ฝ่ายรัฐไทยจะต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง แม้ว่าก่อนการพูดคุยที่กัวลาลัมเปอร์เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมาได้มีการจัดการประชุมพบปะระหว่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ ศูนย์อำนวยการบริการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และตัวแทนประชาชนในพื้นที่ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่าบุคคลที่มาร่วมงานดังกล่าวประกอบด้วยผู้รู้ ผู้นำชุมชน นักวิชาการ ผู้นำศาสนาและนักเคลื่อนไหวในพื้นที่ที่มีชื่อเสียงและเก่งกาจ แต่ถึงกระนั้น ความรูความสามารถและทัศนะของพวกเขาเหล่านั้นไม่เท่าเทียมกับเป้าประสงค์และความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง ที่สำคัญคือระดับชั้นและสภาพความเป็นอยู่ระหว่างคนเหล่านี้กับประชาชนทั่วไปพื้นแตกต่างกัน

ด้วยเหตุนี้ฝ่ายรัฐจึงต้องพยายามในการเข้าถึง คลุกคลีกับประชาชนในพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น ภาระหน้าที่นี้ไม่สมควรที่จะมอบให้กับฝ่ายทหาร  เพราะประชาชนในพื้นที่มีความรู้สึกหวาดระแวงและความรู้สึกกลัวต่อเจ้าหน้าที่ใส่ชุดฟอร์มครบชุดเช่นนั้น

นับจากกระบวนการสันติภาพเริ่มขึ้น บทบาทพรรคฝ่ายค้านในประเทศไทยเองก็ถูกตั้งคำถาม ในทัศนะของผู้เขียน พวกเขามีพฤติกรรมที่จะชะลอกระบวนการสันติภาพหรือขัดขวางกระบวนการนี้ จนถึงขณะนี้ กว่า 5,300 คนเสียชีวิต และชีวิตประชาชนในพื้นที่ต่างแขวนอยู่กับความสำเร็จของกระบวนการสันติภาพในครั้งนี้ ดังนี้ขอให้พรรคฝ่ายค้านเอาผลประโยชน์ทางการเมืองไว้ข้างหลังก่อนและควรให้ความร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อให้กระบวนการสันติภาพประสบผลสำเร็จ อย่าได้ทำอะไรตามความคิดที่คับแคบ เพราะสิ่งนั้นจะส่งผลร้ายต่อพวกเขาเอง

ประการต่อมา คือฝ่ายทหาร เนื่องจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษ 3 ฉบับ นั้นคือกฎอัยการศึก กฎหมายความมั่นคงภายในและ พรก. ฉุกเฉิน ดังนั้นอำนาจเบ็ดเสร็จได้อยู่ในมือทหาร รวมถึงอำนาจในการจับกุม สกัดกั้น ตรวจค้นและอื่นๆ ด้วยเหตุดังนั้น บางครั้งฝ่ายทหารมีการใช้อำนาจในทางที่ผิด และไม่มีฝ่ายใดที่จะตัดสินหรือพิพากษาฝ่ายทหารได้ ฝ่ายทหารจะต้องมีความรับผิดชอบที่สูงส่ง ซึ่งนี้คือแนวทางที่ผู้นำฝ่ายทหารย้ำแล้วย้ำอีกเสมอ

ถึงกระนั้นก็ตาม ยังพบว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารบางรายที่ยังคิดว่าตนเองอยู่เหนือกฎหมายทั้งหมด จึงเกิดกรณีการใช้อำนาจในทางที่ผิดในกรณีที่รุนแรงหลายๆ กรณี รวมถึงการเข้าตรวจค้นโดยไม่มีหลักฐาน การซ้อมทรมานระหว่างการสอบสวน การตรวจค้นขณะเจ้าของบ้านไม่อยู่ (และบางกรณีมีทรัพย์สินหายในระหว่างตรวจค้น) การลักพาตัว และอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ทำให้จำนวนคดีที่เกี่ยวเนื่องและถูกร้องเรียนไปยังศูนย์ทนายความมุสลิมนับเป็นตัวเลขที่ทำเป็นห่วง

ผู้เขียนเคยสัมภาษณ์บุคคลที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการใช้กฎหมายในทางที่ผิดของเจ้าหน้าที่ทหาร และด้านเจ้าหน้าที่ทหารเองไม่เคยยอมรับว่าเคยมีกรณีดังกล่าว นับตั้งแต่ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เริ่มขึ้นในปี 2004 จนถึงทุกวันนี้ ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ทหารสักรายเดียวที่ถูกพิพากษาหรือถูกลงโทษทางวินัยจากกรณีการใช้อำนาจในทางที่ผิด ตัวอย่างหนึ่งของการใช้อำนาจในทางที่ผิดของฝ่ายทหารคือ กรณีเลือดตากใบที่อย่างน้อยประชาชน 78 คนเสียชีวิต (และสูญหายจำนวนหนึ่ง) แต่กระทั่งทุกวันนี้ ยังไม่มีใครต้องรับผิดชอบต่อกรณีนี้

ในบรรดาเจ้าหน้าที่ทหารมีบ้างที่มีพฤติกรรมหยิ่งต่อชาวบ้าน เมื่อไม่นานมานี้ เจ้าหน้าที่ทหารคุกคามชาวบ้านที่หมู่บ้านดูกู อ.บาเจาะ โดยให้ถอดถอนหินบนหลุมศพนักต่อสู้ที่ชาฮีด ด้วยเหตุผลที่ว่า การกระทำดังกล่าวอาจจะยุยงคนอื่นๆ

แม้ว่าฝ่ายทหารจะยึดถือแนวทางตามพระราชดำรัสของในหลวงที่ว่าเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา แต่ก็มีบางส่วนที่ล้มเหลวตั้งแต่ต้น

ถ้าหากฝ่ายทหารยอมรับผิดต่อกรณีการใช้อำนาจในทางที่ผิดที่เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่บางส่วนที่ไม่มีความรับผิดชอบ แน่นอนว่าทัศนะคติของประชาชนในพื้นที่ต่อฝ่ายทหารจะเป็นไปในแง่ดีมากขึ้น แต่จนถึงวันนี้ สิ่งที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ทหารไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่

ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายทหารกระทำสารพัดโครงการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านการสาธารสุข การเลี้ยงสัตว์ หรือการเพาะปลูก กล่าวได้ว่าโครงพัฒนาทั้งหมดที่ริเริ่มโดยฝ่ายทหารไม่เกิดผลแต่อย่างใด เหตุนี้ไม่เป็นที่สงสัยแต่อย่างใด เพราะเจ้าหน้าที่ทหารคือ กลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญในการรบไม่ใช่ในด้านอื่น งานโครงการที่ไม่ประสบผลเหล่านี้เพราะไม่อาจเอาชนะใจประชาชนได้ สิ่งที่ต้องการคือความเข้าใจ ความบริสุทธิ์ใจ และการเปิดใจกว้างซึ่งพวกเขาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเคารพต่อความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่

กระนั้นก็ตาม ปาร์ตี้ บี หรือฝ่ายต่อต้านรัฐเองก็สามารถทำอะไรได้หลายอย่าง ในเบื้องต้น ขอให้ทุกองค์กรยืนยันสถานภาพของตัวเองต่อกระบวนการสันติภาพครั้งนี้ หรือย่างน้อยที่สุดต้องมีสักหนึ่งองค์กรที่จะเข้าร่วมกระบวนการนี้หรือไม่ จะผิดอะไรไหมหากเขาเหล่านั้นจะเปิดเผยตัวเองเพื่อที่ประชาชนในพื้นที่จะดีรับรู้สถานภาพ หลักการ กระทั่งอุดมการณ์ของกลุ่มต่างๆ

ในขณะเดียวกัน พวกเขาได้ถูกร้องขอให้เปิดทางแก่ประชาชนในพื้นที่เพื่อพวกเขาจะสามารถถ่ายทอดความปรารถนาของพวกเขาได้อย่างเป็นทางการ ในการจัดการชุมนุมเสวนา Bicara Patani ครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งมีประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมหลายพันคน เป็นที่แน่ชัดว่าประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่มีมีอุดมการณ์ของตนเองที่แตกต่างจากรัฐไทย (รัฐบาล) เช่นนี้แสดงให้เห็นว่ากลุ่มบุคคลที่เข้าร่วมการพูดคุยกับรัฐไทยที่กัวลาลัมเปอร์ไม่ใช่เพียงเป็นตัวแทนขององค์ที่ตนสังกัดเท่านั้น แต่เขาเหล่านั้นต่างเป็นตัวแทนของความปรารถนาและความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ ประชาชนในพื้นที่ไม่มีช่องทางอย่างเป็นทางการสำหรับการสื่อสารจุดยืนและความปรารถนาของตนเอง ช่องทางการสื่อสารสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายช่องทางไม่ว่าการเปิดพื้นที่สื่อสารทางสังคมเช่น Facebook การเปิดเว๊บไซท์ การเปิดตู้รับเรื่องร้องเรียนหรือเปิดสำนักงานถาวรที่มาเลเซีย

ท้ายที่สุด ผู้เขียนใคร่ขอยืนยันว่า กลุ่มต่อต้านรัฐอย่าได้ใช้ประชาชนทั่วไปเพื่อไปเป็นเหยื่อในการต่อสู้ของพวกเขา สิ่งที่ดีที่สุดคือ ควรหยุดการก่อเหตุร้ายตลอดช่วงระยะเวลาที่มีการเจรจา และหากข้อเสนอนี้เป็นไปไม่ได้ ก็ขอให้มีการโจมตีเฉพาะฝ่ายที่ติดอาวุธ เพราะประชาชนทั่วไปไม่มีอาวุธสำหรับการปกป้องตนเองและไม่เคยได้รับการฝึกด้านการทหาร การโจมตีประชาชนทั่วไปจะได้รับเพียงผลกระทบด้านลบต่อกระบวนการสันติภาพเท่านั้นเอง

ในกระบวนการสันติภาพที่แท้จริง ไม่ต้องการและไม่จำเป็นที่ภาคประชาสังคมหรือพลเรือนต้องเข้าไปมีส่วนร่วม ดังนั้นสังคมในพื้นที่เองจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งเพื่อที่จะได้เป็นสังคมพลเรือนที่มั่นคง ดังนั้นจึงต้องมีการพูดคุยในสังคมให้มากขึ้น  ฟอรัมและเวทีโดยนักศึกษาจะต้องมีขึ้นเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้รับข้อมูลข่าวสารและสามารถแสดงจุดยืนของตนเองได้

สื่อในท้องถิ่นหรือสื่อทางเลือกเองสามารถแสดงบทบาทที่สำคัญยิ่งในการกระตุ้นสังคมและประชาชนในพื้นที่ไปสู่แนวทางสังคมเข้มแข็ง เนื่องจากในชุมชนที่ยังล้าหลัง ประชาชนที่อยู่ในเขตนอกเมืองอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตนั้น สื่อวิทยุยังคงเป็นสื่อที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นรายการที่เป็นการให้ข้อมูลข่าวสารที่แท้จริงและให้ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันจำเป็นต้อมีมากขึ้น และในสถานการณ์เช่นนี้  บรรดานักศึกษาในสถาบันการศึกษาระดับสูงสามารถเป็นนักเคลื่อนไหวที่สำคัญด้วยการให้ความรู้ต่างๆ และข้อมูลข่าวสารที่เร็วไว

โดยสรุป แม้ว่าจะมีบางฝ่ายที่กล่าวหาว่ากระบวนการพูดคุยที่เกิดขึ้นนี้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจากเป้าหมายทางการเมือง ในความเห็นของผู้เขียน ไม่ผิดแต่อย่างใดหากกระบวนการพูดคุยเกิดขึ้นจากการริเริ่มด้วยเป้าหมายทางการเมืองและสามารถให้ประโยชน์กับทุกฝ่าย อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการนี้ ไม่ว่าจะเป็นโดยตรงหรือไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงอย่าได้ใช้กระบวนการพูดคุยนี้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ขอเพียงระลึกเสมอว่า แม้ว่าแรงจูงใจในการเข้าร่วมกระบวนการพูดคุยนี้จะต่างกัน แต่เป้าหมายของเราเหมือนกัน นั่นคือการนำสันติภาพคืนสู่แผ่นดินปาตานี อินชา อัลลอฮ์

 

 

แปลจาก:  Ke Arah Proses Kedamain Yang Sejati

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net