หรือกองทัพจะได้ประโยชน์จากความรุนแรงทางศาสนาในพม่า

ฟรานซิส เวด เขียนบทความลง "Foreign Policy" กล่าวถึงเหตุรุนแรงทางศาสนาในพม่า เรื่องต้นตอของขบวนการ 969 ซึ่งแม้จะเป็นกลุ่มต่อต้านมุสลิม แต่ก็มีความหลากหลายทางความคิด ขณะเดียวกันก็มีข้อสงสัยว่า กองทัพพม่าซึ่งมีอำนาจน้อยลงจากการปฏิรูปประเทศ กำลังใช้ความรุนแรงทางศาสนาเป็นเครื่องมือในการหาความชอบธรรมเพิ่มอำนาจให้ตนเอง

ตัวอย่างของสติ๊กเกอร์ที่พิมพ์ตัวเลข '969' ในพม่า (ที่มา: Muangzarni.com)

ที่สำนักงานวัดมะหะแหม่ง, "จ่อ ลินน์" เดินฝ่าดงถุงสัมภาระที่เต็มไปด้วยสติกเกอร์ 969 ตราสัญลักษณ์ที่กลายมาเป็นตัวแทนการต่อต้านมุสลิมในพม่า เมื่อหกเดือนก่อน หัวหน้าคณะสงฆ์ "อูวิมะละ" เป็นคนสั่งพิมพ์สติกเกอร์เหล่านี้จากโรงพิมพ์ ตอนนี้เราจะพบมันได้ทั่วทุกที่ ทั้งตามแท็กซี่ รถประจำทาง และตามร้านค้าต่างๆ ทั่วกรุงย่างกุ้ง รวมถึงเมืองใหญ่ๆ ผู้ตนต่างแสดงสัญลักษณ์นี้ซึ่งคนนอกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของชาวพุทธสุดโต่ง สัญลักษณ์ที่มองว่ากลุ่มชุมชนชาวมุสลิมว่าเป็นภัยต่อประเทศ และต่อศาสนาของคนส่วนใหญ่

ความรู้สึกแบบนี้เองที่ก่อให้เกิดเหตุความรุนแรงหลายครั้งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เป็นเหตุทำให้มีคนเสียชีวิต 40 ราย และต้องกลายเป็นคนพลัดถิ่น 13,000 ราย เมื่อนับแต่เพียงเหตุการณ์ในปี 2013 วัดในเมืองมะละแหม่ง ทางตอนใต้ของพม่าถูกยกให้เป็นแหล่งกำเนิดของขบวนการ 969 การผลิตสติกเกอร์ 969 เริ่มขึ้นตามมาหลังจากเกิดเหตุจลาจลในพม่าเมื่อปีที่แล้ว ที่ชาวพุทธปะทะกับกับชาวมุสลิมโรฮิงยา ตัวเลข 969 เป็นเลขที่แสดงถึงจำนวนคำสอนของพระพุทธเจ้า และเป็นเลขศักดิสิทธิ์สำหรับชาวพุทธ

"พวกเราทำไปเพื่อปกป้องศาสนาพุทธ" อูวิมะละ กล่าว เขาบอกอีกว่าเหตุรุนแรงในรัฐอาระกันทำให้เห็นชัดว่าศาสนาพุทธในพม่ากำลังอยู่ในอันตราย เขาอ้างว่า "ในอินโดนีเซีย, บังกลาเทศ, ปากีสถาน, มาเลเซีย และที่อื่น เคยมีชาวพุทธมากกว่านี้ แต่ชาวมุสลิมก็เข้ามาไล่พวกเขาไป และในตอนนี้พวกนั้นก็กลายเป็นประเทศมุสลิม เมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์แล้ว พม่าาก็อาจจะกลายเป็นเช่นนั้นด้วย"

มีประชาชนราวร้อยละ 4 ของพม่านับถือศาสนาอิสลาม "อูวิมะละ" บอกว่าปัญหาเริ่มมาจากการที่ทั้งสองศาสนานี้อยู่ร่วมกัน ที่ตลาดในร่มของเมืองมะละแหม่ง ซึ่งเต็มไปด้วยผู้คน แต่ร้านค้าของชาวมุสลิมดูเงียบเหงา จากที่มีสติกเกอร์ 969 ติดอยู่ตามร้านค้าโดยรอบมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่คนขับแท็กซี่และเจ้าของร้านชาวพุทธบอกว่าพวกเขาไม่มีปัญหาถ้าหากชาวมุสลิมจะใช้บริการของพวกเขา

แต่โชคร้ายที่ไม่ใช่ทุกคนที่คิดอย่างเดียวกัน เมื่อเดือนที่ผ่านมาก็เกิดเหตุการณ์เลวร้ายขึ้นอีกครั้ง เมื่อมีการชกต่อยกันระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมในร้านทองที่ใจกลางเมือง เมคติลลา ของพม่า จนเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรงตามมาอีกสองวัน ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่ากลุ่มม็อบชาวพุทธที่ก่อเหตุรุนแรงดูจัดตั้งกันมาดี และตำรวจก็คอยยืนมองการสังหารเกิดขึ้นกลางวันแสกๆ รายงานเรื่องดังกล่าวนี้ทำให้เกิดข้อกล่าวหาเรื่องการสมรู้ร่วมคิดต่อความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตามมา ข้อสงสัยนี้ถูกตอกย้ำโดยความเชื่อว่ามีส่วนหนึ่งในรัฐบาลหรือในกองทัพที่มองว่าเหตุการณ์วุ่นวายที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณสำหรับการทำให้กองทัพกลับมามีอำนาจอีกครั้ง ซึ่งในขณะนี้อำนาจของกองทัพลดลงจากการปฏิรูปประเทศ

รายงานขององค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า กลุ่มผู้นำทางการเมืองและผู้นำศาสนาในรัฐอาระกันกำลังวางแผน, จัดตั้ง และยุยงให้เกิดการโจมตีกลุ่มโรฮิงยา และชาวมุสลิมกลุ่มอื่นๆ ช่วงปี ต.ค. ที่ผ่านมา (รายงานฉบับดังกล่าวเน้นพูดถึงเหตุการณ์นองเลือดในอาระกัน ซึ่งความรุนแรงดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดการพลัดถิ่นของชาวมุสลิมโรฮิงยา 125,000 คนจากบ้านเกิด)

แต่แม้ว่ารัฐบาลที่อยู่ใต้อิทธิพลของกองทัพ อาจมีส่วนช่วยส่งเสริมให้ความขัดแย้งในอาระกันและเมกติลลาประทุขึ้น แต่เชื้อเพลิงที่เป็นความรู้สึกต่อต้านชาวมุสลิมในหมู่ชาวพม่าถูกเก็บกักเอาไว้มานานหลายสิบปีแล้ว เริ่มตั้งแต่การโฆษณาชวนเชื่อในทศวรรษที่ 1960 ที่ทำให้มีการสังหารหมู่ชาวมุสลิมจากอินเดีย และต่อมาก็เป็นชาวโรฮิงยาในรัฐอาระกัน ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งคือการหลอมรวมพุทธศาสนาเข้ากับลัทธิชาตินิยมพม่าในเชิงประวัติศาสตร์

การเคลื่อนไหวนี้กลับมามีอีกครั้งตั้งแต่เกิดเหตุการจลาจลในรัฐอาระกันเมื่อปีที่แล้ว ทำให้เกิดกระแสต่อต้านมุสลิมไปทั่วประเทศพม่า สถานการณ์ในเมคติลลาเพิ่มน้ำหนักให้กับผู้สังเกตการณ์บางส่วนที่มองว่าขบวนการกวาดล้างชนกลุ่มน้อยกำลังจะเกิดขึ้นในส่วนต่างๆ ของประเทศ ในตอนนี้กลุ่มประชากรชาวมุสลิมที่เคยมีอยู่จำนวนหนึ่งในเมืองถูกต้อนให้ไปอยู่ในค่ายผู้อพยพซึ่งสั่งห้ามไม่ให้นักข่าวเข้าไป คล้ายๆ กับการ "กวาดล้าง" ที่เกิดขึ้นในเมืองซิตตะเหว่ รัฐอาระกัน

การเล่าถึงเรื่องนี้ส่วนใหญ่จะแปะป้ายว่าขบวนการ 969 เป็นกลุ่มต่อต้านชาวมุสลิมที่ต้องการชำระล้างการมีอยู่ขอศาสนาอิสลามที่ถูกมองว่าเป็นภัยออกจากพม่า แม้ว่าจะมีการประท้วงต่อต้านความรุนแรงโดยการใช้ 969 เป็นสัญลักษณ์ในการชุมนุม แต่ก็มีความคิดเห็นต่างกันไปในหมู่คนที่ถือสัญลักษณ์นี้ และเป้นสิ่งที่ไม่อาจระบุเจาะจงได้ชัดเจน ในแง่หนึ่งมีคนมองว่ามันเป็นการแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวพุทธ เช่นเดียวกับที่ชาวคริสเตียนแสดงไม้กางเขน หลายคนใช้สัญลักษณ์ 969 เป็นเครื่องมือในการต่อต้านตัวเลข 786 ซึ่งเป้นตัวเลขที่มีความหมายต่อชาวมุสลิม ซึ่งเห็นได้ในร้านค้าบางร้าน "ในตอนนี้ประชาชนชาวพุทธกำลังพยายามทำให้แนวคิด 969 มีชีวิตขึ้นมา ซึ่งทำให้ผมเสียใจ" อูกัมบีระ กล่าว เขาเป็นอดีตพระสงฆ์ที่ถูกจับเข้าคุก 4 ปี จากการที่มีบทบาทนำในช่วงการปฏิวัติชายจีวร ในปี 2007 "พวกเขาแค่กำลังลอกเลียนในสิ่งที่พวกเขาเกลียด"

กลุ่มสุดโต่งพยายามสร้างความชอบธรรมให้กับแนวคิดปรัชญาที่น่าตำหนิ อย่างเช่นการอ้างเรื่อง "ความดี" ในเชิงจิตวิญญาณนิยม จากความหมายของ 969 คือ พุทธคุณ 9 ธรรมคุณ 6 และสังฆคุณ 9 ซึ่งสังฆะเองก็ถือเป็นสภาของสถาบันทางพระพุทธศาสนาในพม่า สิ่งนี้กลายเป็นการเคลื่อนไหวที่ดึงดูดกลุ่มชาวพุทธ และผู้นำศาสนาก็นำแนวคิดต่อต้านมุสลิมที่แฝงอยู่มาใช้ในการรวบรวมมวลชนได้ ทั้งโดยตั้งใจและโดยไม่ตั้งใจ

ผู้นำของขบวนการนี้คือพระวีระธุ หรือ "อู วีระธุ" เจ้าอาวาสวัดมะซอเหย่นในมัณฑะเลย์ เป็นที่รู้จักในอดีตในฐานะผู้จัดกิจกรรมต่อต้านเผด็จการทหาร ในตอนนี้วัดมะซอเหย่นกลายเป็นที่รู้จัก เนื่องจากการที่อูวีระธุ กล่าวเทศน์ต่อต้านมุสลิมอย่างเผ็ดร้อน แม้ว่าเขาจะรับรู้เรื่องความเป็นไปได้ที่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทางกองทัพอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เขาก็บอกว่าอิสลามเป็นภัยที่สำคัญกว่ากองทัพซึ่งก่อนหน้านี้เขาเคยต่อต้าน

วีระธุ เลือกที่จะให้สัมภาษณ์อยู่หน้ากำแพงที่มีรูปภาพแทนตัวเองอยู่จำนวนมาก ภาพฉากหลังทำให้เขาดูเหมือนเจ้าลัทธิมากกว่าพระสงฆ์ผู้สมถะ พระวีระธุอ้างว่าจากการสำรวจของเขาเอง ร้อยละร้อยของคดีข่มขืนในพม่าเป็นฝีมือของชาวมุสลิม ไม่ใช่ฝีมือชาวพุทธ "พวกนั้นใช้กำลังบังคับหญิงชาวพุทธให้กลายไปเป็นเมีย ถ้าหากภรรยายังคงปฏิบัติกิจของชาวพุทธอยู่พวกเขาจะทรมานพวกเธอทุกวัน"

วีระธุ เป็นบุคคลที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งในตัวเอง วิธีการหยุดยั้งความรุนแรงและความตึงเครียดทางศาสนาในพม่าคือการกำจัดสิ่งที่เขาเรียกว่า "มุสลิมเลวๆ" ออกไป แต่กลับไม่รับรู้ว่าข้อความเช่นนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความรุนแรง "ถ้าหากทุกคนในพม่าเป็นเหมือนผม จะต้องมีสันติภาพอย่างแน่นอน" เขาพูดต่อไป ก่อนที่จะนำหนังสือภาพที่หน้าปกเป็นรูปสิงโตแยกเขี้ยวใส่เด็ก เขาอธิบายว่าสิงโตคือมุสลิม เด็กคือชาวพุทธ

วีระธุ เคยถูกสั่งจำคุกในปี 2003 ข้อหายุยงให้เกิดการจลาจลต่อต้านชาวมุสลิม (แม้เขาจะปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงนี้) แต่การที่รัฐบาลไม่มีความตั้งใจในการดำเนินการในครั้งนี้ ยิ่งชวนให้รู้สึกว่า ส่วนหนึ่งในรัฐบาลหรือในกองทัพ อาจจะได้รับผลประโยชน์จากสิ่งที่ตามมาซึ่งอาจทำให้พม่าเกิดความแตกแยก

การรณรงค์ของชาวพุทธแพร่ขยายไปไกลกว่าในเขตที่มีชาวมุสลิมอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อเดือนที่ผ่านมาในเมืองน้ำคำ เมืองหนึ่งของรัฐฉาน มีโปสเตอร์ต่อต้านมุสลิมปรากฏอยู่ตามเสาไฟถนน แม้ว่าจะมีประชากรมุสลิมอาศัยอยู่ราวไม่กี่ร้อยคนจากประชากรทั้งหมดในเมือง 100,000 คน คนในท้องถิ่นของที่นั่นซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ต่อต้านท่อก๊าซและน้ำมันจากโครงการที่จีนหนุนหลัง ชวนให้ตั้งคำถามว่าถ้าหากเกิดการจลาจลทางศาสนาในเมืองที่สองศาสนาอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ มันจะถูกรัฐบาลนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการปราบปรามนักกิจกรรมต่อต้านท่อก๊าซหรือไม่

ดังนั้นการรณรงค์เช่นนี้จึงกลายเป็นประโยชน์กับคนที่มีอำนาจสองกลุ่มในพม่า คือกลุ่มประชาชนชาตินิยมจัด และกลุ่มหัวแข็งในรัฐบาลและกองทัพ ถ้าหากสองกลุ่มนี้เข้มแข็งขึ้น มันจะส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในพม่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท