Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เห็นข่าวคุณจรัญบอกว่างงที่นักมวยไล่ชกกรรมการ และก็พูดทำนองว่าไม่อยากต่อความยาวสาวความยืดเพราะมีงานต้องทำ ผมก็เข้าใจได้ทันทีว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหลายๆคนกำลังจะจนมุมเข้าทุกทีแล้ว

ใช้คำว่า"จนมุม"ก็ดูจะเข้ากับบรรยากาศดีทีเดียวเพราะเป็นเรื่องหมัดๆ มวยๆ

คุณจรัญ นับได้ว่าเป็นระดับมันสมองของศาลรัฐธรรนูญที่คอยทำหน้าที่ปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างหัวชนฝามาตลอด ด้วยความสามารถระดับคุณจรัญ ถ้าไม่จนมุมจริงๆคงไม่ออกลูกนี้แต่ที่ต้องมาเปรียบเทียบเป็นนักมวยกับกรรมการก็เพราะเรื่องที่กำลังโต้แย้งเกี่ยวกับบาทบาทที่เลยเถิดของศาลรัฐธรรมนูญกันอยู่ในขณะนี้ ฝ่ายศาลรัฐธรรมนูญไม่มีทางโต้แย้งด้วยเหตุผลได้เลย

ยิ่งโต้กันไปโต้กันมา คนทั้งบ้านทั้งเมืองก็ยิ่งเห็นตรงกันว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นฝ่ายผิดเต็มประตูคือกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญเสียเอง ก้าวก่ายการทำหน้าที่ของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งๆที่ตนเองไม่มีอำนาจและตั้งตัวอยู่เหนือรัฐธรร,นูญ

เมื่อรู้ว่าโต้ไปก็ยิ่งแพ้ ยิ่งเข้าเนื้อ คุณจรัญจึงใช้วิธีเปรียบเทียบที่ง่ายๆและคงหวังว่าสังคมไทยจะคล้อยตามได้ง่าย

แต่ผมคิดว่าในหลายปีมานี้ สังคมไทยได้เรียนรู้อะไรๆ มามากพอที่จะรู้เท่าทันคุณจรัญแล้ว

ความจริงเรื่องระหว่างรัฐสภากับศาลรัฐธรรมนูญนั้นซับซ้อนเกินกว่าที่จะเปรียบเทียบว่าฝ่ายหนึ่งเป็นนักมวยและอีกฝ่ายเป็นกรรมการ ต้องอธิบายกันหลายแง่มุม

แต่ถ้าจะเปรียบอย่างที่คุณจรัญเปรียบคงต้องบอกว่าขณะนี้ไม่ใช่นักมวยไล่ชกกรรมการ แต่คนดูทั้งสนามเขาเห็นว่ากรรมการนั้นไม่เป็นกลางและทราบกันโดยทั่วไปว่ากรรมการนั้นสังกัดค่ายมวยค่ายหนึ่ง ค่ายมวยนี้นักมวยชกไม่เป็นแต่ที่ยังมีนักมวยชกอยู่ได้และบางทีก็ชนะเสียด้วยก็เพราะมีกรรมการคอยช่วยอยู่เรื่อย มาช่วงหลังๆนักมวยก็ยิ่งชกไม่เป็น ภาษามวยเขาเรียกว่า"ออกทะเล" กรรมการก็เลยใจร้อน โดดเข้าช่วยนักมวยในสังกัดเดียวกัน ถึงขั้นชกเสียเองเลย

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว คนดูเขาจึงไม่สนใจแล้วว่ามวยที่ชกกันนั้นใครจะแพ้ ใครจะชนะ แต่เขาสนใจว่าจะเปลี่ยนกรรมการได้ยังไงมากกว่า

ใครที่ชอบดูมวยหรือดูกีฬาอะไรก็ตาม ลองพบว่ากรรมการเอียงกระเท่เร่เสียแล้ว ดูยังไงก็ไม่สนุกหรอกครับ นุ่มนวลที่สุดก็คือต้องโห่ไล่กรรมการกันละครับ

พูดเรื่องศาลรัฐธรรมนูญต่ออีกหน่อยครับ

ศาลรัฐธรรมนูญกำลังเข้าตาจนแล้ว ขอใช้ภาษาหมากรุกสักหน่อย

ความจริงต้องเรียกว่าหมดสภาพ คือไม่ว่าจะพิจารณาในแง่มุมไหนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคณะนี้ก็ไม่เหลือความน่าเชื่อถืออะไรอยู่อีกแล้ว

ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ไม่ใช่หรือที่ปลดนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งโดยอ้างพจนานุกรมในเรื่องที่คนทั้งโลกเขางงกันไปหมด

ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ไม่ใช่หรือที่ยุบพรรคการเมือง 3 พรรคเพื่อจะล้มรัฐบาลๆหนึ่งลงไป เพื่อจะให้มีการตั้งรัฐบาลกันในค่ายทหาร แล้วต่อมาก็มาอธิบายว่าทำกันไปแบบสุกเอาเผากิน ถ้าฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลจับมือกันก็คงไม่ยุบพรรคการเมืองเหล่านั้น

ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ไม่ไช่หรือที่มีคลิปหลุดออกมาเป็นภาพตุลาการหลายคนกำลังหารือกันว่าจะช่วยพรรคการเมืองพรรคหนึ่งให้รอดจากการถูกยุบพรรคได้อย่างไร และยังมีภาพการหารือกันในลักษณะทุจริตเพื่อช่วยลูกหลานของพวกตนสอบเข้าทำงานในสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญด้วย ที่แย่กว่านั้นก็คือแทนที่จะสอบหาคนผิดมาลงโทษ ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้กลับไปเอาเรื่องคนปล่อยคลิปแทน

ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ได้ตัดสินไม่ยุบพรรคปชป.ด้วยการตีความว่านายทะเบียนพรรคการเมืองคนเดียวใหญ่กว่ากกต.ทั้งคณะ ทั้งๆที่มีหลักฐานการกระทำผิดเป็นคันรถๆ

ศาลรัฐธรรนูญชุดนี้อีกเช่นกันที่ตัดสินว่าแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชาเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ แล้วต่อมาเราก็มาพบว่าแนวทางตามแถลงการร่วมนั้นเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากกว่าการเดินหน้าไปขึ้นศาลโลก และแถลงการร่วมก็ไม่ได้เป็นสนธิสัญญาที่จะต้องผ่านรัฐสภาแต่ก็ตีความว่าต้องผ่าน

ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ยังได้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการพ้นจากสมาชิกภาพของส.ส.ไปแล้วเมื่อคราวปลดนายจตุพร พรหมพันธ์ุจากส.ส.

ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ได้เข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงการทำหน้าที่ของรัฐสภาในการแก้รัฐธรรมนูญทั้งๆที่ตนเองไม่มีอำนาจแต่อย่างใดเลย บอกว่าการแก้มาตรา 291 ขัดเจตนาของมาตรา 291 ซึ่งเป็นการใช้ตรรกะที่พิสดารที่สุด แนะนำว่าสมควรลงประชามติเสียก่อนทั้งๆที่ไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญรองรับ พร้อมทั้งบอกให้ไปแก้เป็นรายมาตรา

พอเขาจะแก้รายมาตรา ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ก็รับคำร้องคัดค้านอีกทั้งๆที่ตนเองไม่มีอำนาจ รัฐธรรมนูญเขาบัญญัติไว้ชัดเจนว่าหากมีการออกกฎหมายหรือแก้กฎหมายในรูปแบบต่างๆแล้วขัดต่อรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐสภาพิจารณาเสร็จแล้วก็เปิดโอกาสให้ไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาว่าร่างกฎหมายนั้นขัดต่อรัฐธรรนูญหรือไม่ แต่สำหรับการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชดเจนว่าเป็นอำนาจ หน้าที่ของรัฐสภาและไม่มีบทบัญญัติใดเลยที่บอกว่าเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ

แต่นี่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังใช้อำนาจที่ไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญในทุกขั้นตอนตามอำเภอใจ

มาถึงการแก้มาตรา 68 เพื่อไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจเกินขอบเขต ศาลรัฐธรรมนูญก็กำลังรับพิจารณาในประเด็นว่าการแก้มาตรา 68 ขัดต่อมาตรา 68 หรือไม่ ตรรกะแบบพิสดารมาอีกแล้ว

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญจงใจขัดรัฐธรรมนูญเสียเองอย่างโจ่งแจ้งอย่างนี้ จึงถูกต้องแล้วที่สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่จะไม่ยอมรับว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจที่จะรับคำร้องและพิจารณาตรวจสอบการแก้รัฐธรรมนูญอย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญทำอยู่และก็เป็นการถูกต้องแล้วที่สมาชิกรัฐสภาหลายๆคนรวมทั้งประชาชนจะหาทางตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญถอดถอนตุลาการบางคนที่จงใจขัดรัฐธรรมนูญเสียเอง

นอกจากนั้น ขั้นตอนต่อไปที่ดูเหมือนจะไม่อาจหลีกเลี่ยงได้แล้วก็คือการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดที่มา องค์ประกอบ บทบาท อำนาจ หน้าที่ กระบวนการ วิธีการทำงานตลอดจนการตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญเสียใหม่ให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม

วิกฤตของบ้านเมืองเราในหลายปีมานี้ ความจริงแล้วต้นเหตุสำคัญอย่างยิ่งก็มาจากบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญนี้เอง วิกฤตที่เกิดจากการตั้งตนอยู่เหนือรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้จะได้รับการแก้ไขได้อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อสังคมเราร่วมกันยกเครื่องระบบ กติกาเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญทั้งระบบเสียใหม่ให้ถูกต้องครับ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net