Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮ.ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนฑูตมูฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน


โครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ (คจต.) ได้จัดประชุมและแสดงนิทรรศการในเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการก้าวต่อไปสู่นโยบายสาธารณะที่ยั่งยืนสำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 10 - 12 เมษายน 2556 ณ ลีลารีสอร์ท ตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลาโดยมี เพื่อนสื่อมวลชนในพื้นที่ นักวิชาการทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ สถาบันวิจัย องค์กรพัฒนาเอกชน สภาประชาสังคม มหาวิทยาลัยต่างๆ องค์การบริหารส่วนตำบลในเครือข่ายและนอกเครือข่ายตำบลสุขภาวะซึ่งได้รับงบสนับสนุนจาก (สสส) นักพัฒนาชุมชนในส่วนบริหารส่วนภูมิภาค แกนนำสี่เสาหลักในแต่ละตำบล หมู่บ้าน เข้าร่วมการประชุมและแสดงนิทรรศการในเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ จำนวน 300คน ซึ่งงานนี้ ได้รับงบสนับสนุน จาก สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 

การประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ได้ ให้ความสำคัญกับคำว่า กระบวนการชูรอกับคำว่าพลเมือง โดยใช้สโลแกนร่วมกันภายใต้คำว่า “ ชูรอ กุญแจสู่ความเป็นพลเมือง”

โครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นโครงการพัฒนาชุมชนด้วยการใช้กระบวนการชูรอในการออกแบบพัฒนาชุมชนโดยมีเครือข่ายจังหวัดชายแดนใต้เป็นเจ้าภาพในการดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2552

คำว่า ชูรอ เป็นคำภาษาอาหรับ มาจากคำเต็มว่า อัช-ชูรอ (al-Shura ) ในหลักภาษาอาหรับ ซึ่งแปลว่า การปรึกษาหารือ ดังที่อัลลอฮฺ (สุบหานะฮูวะตะอฺาลา) ได้ตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน

وأمرهم شورى بينهم

ความว่า ...และกิจการของพวกเขามีการปรึกษาหารือกันระหว่างพวกเขา ( อัชชูรอ : 38 )

 

สำหรับความหมายทางด้านศานบัญญัติหมายถึง การประชุมหรือปรึกษาหารือตามรูปแบบอิสลามจนได้ข้อสรุปหรือมติเพื่อนำไปปฏิบัติ

แต่คำนิยามปฏิบัติสำหรับโครงการนี้นั้น กระบวนการชูรอ หมายถึง การประชุมปรึกษาหารือเพื่อหามติในเรื่องใดเรื่องหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะในพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับศาสนบัญญัติ

ในแต่ละตำบลที่เข้าร่วมโครงการจะมีคณะทำงานชุดหนึ่งเรียกว่าสภาชูรอตำบลสุขภาวะ โดย คณะทำงานชุดนี้จะได้รับการสรรหาจากหลากหลายองค์กร ในตำบลของตนเอง (ผู้นำศาสนา ท้องถิ่น ท้องที่ สตรี เยาวชน ข้าราชการและอื่นๆ ) โดยใช้กระบวนการชูรอในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะในพื้นที่เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังนี้

1 เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเรียนรู้ที่ตอบสนอง ขบวนการพัฒนาของชุมชนท้องถิ่น

2 เพื่อสนับสนุนให้เกิดระบบการจัดการสุขภาวะชุมชนโดยชุมชน

3 เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดเครือข่ายตำบลสุขภาวะด้วยวิถีศาสนธรรมกับการพัฒนา

4 เพื่อสร้างองค์ความรู้การสร้างเสริมสุขภาวะที่เกิดจากการปฏิบัติการในพื้นที่

5 เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะชุมชนท้องถิ่นที่สอดคล้องกับวิถีชุมชน

จากการขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ทั่วประเทศ พบว่า ถ้าสามารถพัฒนาให้ประชาชนทั่วประเทศไทยมีจิตสำนึกเป็นพลเมืองได้ก็จะทำให้ ประชาชนจะสามารถพัฒนาชุมชนของตนเองได้อย่างยั่งยืนถึงแม้รัฐบาลกลางหรือท้องถิ่นจะไม่สนับสนุนงบประมาณ

สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนก็น่าจะต้องสร้างจิตสำนึกความเป็นพลเมืองผ่าน กระบวนการชูรอ

นายสมพร ใช้บางยาง ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ได้ให้ทัศนะและบรรยายพิเศษ เรื่อง “สภาชูรอกับการสร้างพลเมือง” ไว้อย่างน่าสนใจว่า การพัฒนาคนจะมีความยั่งยืนได้นั้น จำเป็นต้องทำให้ประชาชนเป็นพลเมือง การสร้างความเป็นพลเมือง หมายถึง สร้างการมีส่วนร่วม สร้างความเป็นเจ้าของ สร้างศักยภาพ

จากนั้น มีการเสวนา ประเด็น ชูรอคือวิถีอิสลาม ผู้ร่วมเสวนาคือประธานสภาชูรอตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ตำบลสะดาวา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ตำบลมะรือโบออก อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ตำบลอาซ่อง อำเภอรามันจังหวัดยะลา ดำเนินรายการโดย นางปัณจรีย์ ช่างพูด เทศบาลตำบลปริก

ได้ผลสรุปว่า กระบวนการชูรอ นั้นโดยความเป็นจริงชาวบ้านและชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้นำมาใช้แก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนมายาวนานนับร้อยปี จนเป็นวิถีชีวิต และเมื่อแต่ละตำบลได้เข้าร่วมโครงการเครือข่ายตำบลสุขภาวะจังหวัดชายแดนใต้ทำให้ สามารถนำแนวคิดสู่การปฏิบัติ ผ่านการหนุนเสริมทางวิชาการของคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ จนเกิดการถอดบทเรียนเพื่อจะก้าวต่อไปในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

จากการถอดบทเรียนในแต่ละตำบล พบว่า เงื่อนไขปัจจัยที่ทำให้การดำเนินงานของสภาชูรอตำบลสุขภาวะ แต่ละตำบล ที่สามารถนำไปสู่ความสำเร็จได้นั้น ปรากฏว่าองค์ประกอบที่สำคัญของการดำเนินต้องมีส่วนประกอบทั้งหมด 5 ส่วนด้วยกัน คือ องค์กรที่ทำงานร่วมประเด็นสภาชูรอตำบลสุขภาวะ กิจกรรมขับเคลื่อนการดำเนินงาน เครื่องมือและกลไกในการทำงาน กระบวนการทำงาน พื้นที่หรือกลุ่มเป้าหมาย สุดท้ายจึงจะ เกิดผลลัพธ์ที่กลายเป็นความภาคภูมิใจในการดำเนินงานของสภาชูรอตำบลสุขภาวะ โดยองค์กรร่วมขับเคลื่อนจะเป็นตัวหลักที่จะขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมการดำเนินงานของสภาชูรอตำบลสุขภาวะ

แต่ปัจจัยต่างๆเหล่านี้จะไม่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้หากประชาชนยังขาดจิตสำนึกความเป็นพลเมือง กระบวนการชูรอ ก็จะหมดความหมายเมื่องบประมาณของโครงการหยุดการหนุนเสริม แต่ถ้ากระบวนการชูรอสามารถพัฒนาให้ประชาชนเป็นจิตสำนึกความเป็นพลเมืองได้ก็จะเป็นกุญแจสำคัญสู่การแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนอย่างยืน จากรุ่นสู่รุ่น รวมทั้งนโยบายสาธารณะที่ภาคีเครือข่ายได้ประกาศปฏิญญาในวันสุดท้ายของการประชุม

======================

 ปฏิญญาเทพา 2556 มีสาระสำคัญดังนี้


เราสมาชิกสภาชูรอ คณะกรรมการ คณะดำเนินงาน ของตำบลสุขภาวะ ตามโครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (คจต.) สถาบันการศึกษา และภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม ได้มีความเห็นพ้องต้องกันในการนำเสนอนโยบายสาธารณะจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ได้จากการทำงานร่วมกันอย่างหนักในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา โดยมีมติร่วมกันในการเสนอนโยบายสาธารณะ ดังนี้
1. นโยบายสาธารณะระดับชาติ 7+1 ดังนี้

(1). ข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อการบริหารจัดการและการมีส่วนร่วม

(2). ข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อการจัดสวัสดิการสังคมโดยชุมชน

(3). ข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อเด็กและเยาวชน

(4). ข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

(5). ข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อเกษตรกรรมยั่งยืน

(6). ข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อระบบการดูแลสุขภาพชุมชน

(7). ข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อการจัดการภัยพิบัติ

(8). การลงทุนด้านสุขภาพโดยชุมชน


2. นโยบายสาธารณะในระดับจังหวัดชายแดนภาคใต้ 6+1 ดังนี้

(1). ข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อการบริหารจัดการแบบการมีส่วนร่วมด้วยกระบวนการชูรอ

(2). การศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้และภาษามลายูสู่ประชาคมอาเซียน

(3). ศาสนทานและซะกาต : สวัสดิการสังคม โดยชุมชน

(4). อาชีพที่สอดคล้องกับวิถีชุมชน

(5). การป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติดด้วยวิถีศาสนธรรมโดยชุมชน

(6). พลังงานทางเลือกและการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยชุมชน

(7). การหนุนเสริมการกระบวนการสร้างบรรยากาศการพูดคุยเพื่อสันติภาพด้วยกระบวนการชูรอ


 ตามปฏิญญานี้ สมาชิกสภาชูรอ คณะกรรมการ คณะดำเนินงาน ของตำบลสุขภาวะ ตามโครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะในพื้นที่ตำบลจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คจต.) สถาบันการศึกษา และภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม ตามรายชื่อแนบท้ายนี้ (300 ชื่อ) จะร่วมกันผลักดันข้อเสนอนโยบายสาธารณะนี้ ให้มีการนำใช้เพื่อเกิดผลเชิงประจักษ์และร่วมกันสร้างสรรค์ชุมชนและสังคมน่าอยู่ มีความเข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการตนเองด้วยกระบวนการชูรอตามวิถีศาสนธรรม จึงได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ

 

ปฏิญญานี้จัดทำประกาศและลงนาม ณ วันที่ 12เมษายน 2556

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net