Skip to main content
sharethis

เมื่อวันศุกร์ที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา รัฐสภาร่วมกับ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และเครือข่ายผู้มีความหลากหลายทางเพศ ได้จัดเสวนาทางวิชาการ “เพื่อรับฟังความคิดประชาชนต่อร่าง พ.ร.บ. จดทะเบียนคู่ชีวิตของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ” ที่ในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการร่าง โดยมีคณะกรรมาธิการกฎหมาย ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับผิดชอบ และหากไม่มีข้อผิดพลาด ร่างนี้จะถูกนำเข้าสู่สภาในการเปิดสมัยประชุมเดือนสิงหาคมนี้

กฎหมายฉบับนี้เป็นผลพวงจากเหตุการณ์ที่นายนที ธีระโรจนพงษ์ หรือที่รู้จักในนาม “เกย์นที” จูงมือคู่รักเพศชายของตนไปยื่นขอจดทะเบียนสมรส ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2555 แต่ถูกปฏิเสธเนื่องจากกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ระบุไว้ว่าชายและหญิงเท่านั้นมีสิทธิ์จดทะเบียนสมรสได้ ซึ่งนทีได้โต้แย้งว่าการปฏิเสธดังกล่าวเป็นการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 30 ที่มีใจความว่า บุคคลมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเพศ เชื้อชาติ ศาสนา การศึกษา จะมิสามารถทำได้ หลังจากนั้นนทีได้ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองแต่ศาลตัดสินว่าไม่มีความผิด จึงหันมาผลักดันกฎหมายฉบับดังกล่าว โดยเริ่มจากการร้องเรียนไปที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนผู้เป็นคนรับเรื่องร้องเรียนจึงแนะนำให้นทีติดต่อไปยัง กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และคณะคณะกรรมาธิการกฎหมาย ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎรร่างกฎหมายฉบับนี้จึงเกิดขึ้น

นับได้ว่าเป็นก้าวย่างที่น่าจับตาอย่างยิ่งมองสำหรับภาคประชาชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ในประเทศไทย เนื่องจากที่ผ่านมาเรามักจะเห็นการเรียกร้องสิทธิ LGBT ที่ค่อนข้างกระจัดกระจาย เช่น การเดินพาเหรดเกย์ไพรด์ที่จังหวัดเชียงใหม่ การทำคลิ๊ปต่อว่าสภากาชาดกรณีไม่รับเลือดเพศที่สาม หรือการเรียกร้องความเป็นธรรมเป็นระยะๆ ของนายนที ประเด็นส่วนใหญ่เป็นการเรียกร้องสิทธิ ความเท่าเทียม และการยอมรับ แต่ยังไม่มีประเด็นที่ชัดเจน หรือการนำเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม ครั้งนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองมากกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา (รายละเอียดเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. : http://www.prachatai.com/journal/2013/04/46314)

นอกจากการนำเรื่องเข้าสู่สภาแล้ว สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งของการเคลื่อนไหวครั้งนี้คือการเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่ม “หญิงรักหญิง” อีกด้วย ที่ผ่านมาเรามักจะเห็นการเรียกร้องที่เป็นประเด็นของเกย์ และกลุ่มรักร่วมเพศที่มีเพศตามกำเนิดเป็นชาย เช่นเรื่องห้องน้ำเพศที่ 3 เรียกร้องให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศเครื่องแบบราชการผู้หญิงได้ แต่กฎหมายฉบับนี้ยังให้ประโยชน์แก่ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่มีเพศตามกำเนิดเป็นหญิงอีกด้วย เรียกได้ว่านี่เป็นการเคลื่อนไหวแบบ LGBT อย่างแท้จริงของประเทศไทย

เมื่อพิจารณาดูตัวกฎหมายฉบับดังกล่าวจากท่าทีของผู้ร่วมเสวนาทั้งสี่ท่าน กฎหมายฉบับนี้จะทำให้คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับสิทธิเฉกเช่นคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ “โดยอนุโลม” เช่นสิทธิในการแบ่งมรดก การกู้เงิน การเซ็นเอกสารเข้ารับการรักษาพยาบาลแทนกัน ฯลฯ ซึ่งโดยหลักการแล้วถือเป็นหมุดหมายที่แสดงถึงการยอมรับเพศที่ 3 ในสังคมไทย แต่ในที่นี้มีข้อสังเกตอยู่ 3 ประการได้แก่

  1. หากกฎหมายฉบับนี้แสดงออกถึงการยอมรับว่าการแต่งงานของผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมาย เหตุใดจึงใช้คำว่า “คู่ชีวิต” แทนคำว่าการสมรส ซึ่งเหตุการณ์แบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งออกกฎหมาย “Civil union” มาเพื่อประกันสิทธิในการแต่งงานให้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศ ถึงแม้ประเด็นนี้อาจเป็นเรื่องหยุมหยิมเล็กๆ น้อยๆ แต่มันก็แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยยังไงสงวนสถาบันการสมรสตามธรรมเนียมประเพณีให้กับผู้มีรักต่างเพศ (heterosexual) อยู่หรือไม่?
     
  2. อำนาจในการต่อรองของเครือข่าย LGBT มีมากแค่ไหนในร่างกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากผู้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นคณะกรรมาธิการของรัฐสภา ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีตัวแทนจากกลุ่ม LGBT อยู่ในนั้น ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงต้องวางอยู่บนความเชื่อใจว่าคณะกรรมาธิการไม่กี่คนจะสามารถเป็นตัวแทนของผู้มีความหลากหลายทางเพศทั้งประเทศซึ่งเป็นเดิมพันที่สูงทีเดียว
     
  3. มีหลายฝ่ายตั้งคำถามกับคำว่า “อนุโลม” ที่ระบุไว้หลายจุดในร่างกฎหมายว่าอาจจะทำให้เกิดการตีความโดยดุลยพินิจส่วนบุคคลจนอาจนำไปสู่การเลือกปฏิบัติและจำกัดสิทธิของคู่ชีวิตหรือไม่ ?

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ตัวแทนจากฝ่ายคณะกรรมาธิการสภา ได้กล่าวถึงประเด็นคำว่า “อนุโลม” บนเวทีเสวนาว่า “คำว่าอนุโลมมีไว้เพื่อความยืดหยุ่นในการตีความกฎหมาย หลักการและเหตุผลของกฎหมายยังคงเหมือนเดิม คือคู่สมรสได้อย่างไร คู่ชีวิตได้อย่างนั้น และที่สำคัญคุณต้องไม่ลืมว่าบางประเทศการมีความหลากหลายทางเพศมีโทษถึงประหารชีวิต บางประเทศก็มีโทษอาญาต้องจำคุก เสียค่าปรับ คุณต้องไม่ลืมว่ามันมีกระแสต่อต้านอยู่ เราเลยต้องใส่คำว่า ‘โดยอนุโลม’เอาไว้เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย”

“อย่าโลภ หากคุณโลภจะเอาทุกอย่างที่ต้องการ กฎหมายฉบับนี้อาจไม่ผ่าน” วิรัตน์กล่าว

คำว่าโลภนี้ควรจะใช้กับผู้ดิ้นรนเรียกร้องในสิ่งที่ไม่ใช่ของตน ไม่ควรใช้กับผู้เรียกร้องสิทธิที่ตนพึงมีในฐานะมนุษย์ นั่นหมายความว่าสุดท้ายแล้วสังคมไทยก็ยังคงมีกลุ่มที่ต่อต้าน ไม่ยอมรับ และมอง LGBT ว่าเป็นบุคคลชายขอบที่ต้องรอการช่วยเหลือจากสังคมกระแสหลัก และไม่มีสิทธิจะเรียกร้องอะไรมากมายจากการช่วยเหลือนั้น

ความคิดนี้เห็นได้ชัดเจนหลังจากที่ คุณดนัย ลินจงรัตน์ ตัวแทนจากเครือข่าย LGBT ได้พูดถึงข้อเสนอ 5 ข้อของกลุ่มเขาและถูกตอบโต้จากผู้ร่วมเสวนาในทำนองว่า “ถ้าคุณต้องการเช่นนั้น ก็รวบรวมรายชื่อ 15,000 ชื่อ แล้วร่างกฎหมายส่งมาเองเลย ผมจะรอ”

นายดนัย ลินจงรัตน์ ตัวแทนเครือข่าย LGBT ขึ้นกล่าวข้อเสนอของเครือข่าย
(ภาพโดย อรทัย ตามยุทธ)

 

ข้อเสนอ 5 ข้อ ของเครือข่าย LGBT ได้แก่

1. ร่างพระราชบัญญัติจดทะเบียนคู่ชีวิตจะต้องระบุหลักการและเหตุผล ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายว่า ประสงค์จะสร้างความเท่าเทียมและยุติการเลือกปฏิบัติที่มีอยู่ในระบบกฎหมาย และสังคมไทย

2. ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังขาดข้อกำหนดเรื่องบุตร ซึ่งบุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมายนี้อาจมีบุตรได้ไม่ว่าจะเป็นบุตรจากการสมรส ครั้งก่อน บุตรบุญธรรม

3. เงื่อนไขเกี่ยวกับอายุของบุคคลที่จะจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ ควรใช้เงื่อนไขเดียวกับบุคคลที่จะจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์

4. หลักการตามพระราชบัญญัตินี้ที่กำหนดให้กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจออกกฎกระทรวง เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินั้น อันปรากฏในมาตรา 4 ซึ่งควรเพิ่มเติมไปว่า “โดยมิให้แตกต่างจากระเบียบขั้นตอนการจดทะเบียนสมรสที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน” เพื่อให้เกิดมาตรฐานในหลักการปฏิบัติ

และ 5. การใช้คำว่า “อนุโลม” ตามพระราชบัญญัตินี้ อาจเปิดช่องให้มีการตีความผ่านดุลยพินิจส่วนบุคคลของผู้บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งอาจเป็นการตีความในลักษณะจำกัดสิทธิ ดังนั้นจึงควรให้ภาครัฐจัดอบรมแก่ผู้บังคับใช้กฎหมายในทุกระดับ อันจะนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริงได้

หลังการเสวนาจบลงประชาไทได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณดนัย ลินจงรัตน์ เกี่ยวกับทัศนคติของกลุ่มต่อ กฎหมายและการเสวนาในวันนี้

ประชาไท: ทางเครือข่าย LGBT คิดเห็นอย่างไรกับร่างกฎหมาย และการเสวนาในวันนี้

ดนัย: เป็นก้าวที่สำคัญมาก และน่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง จริงๆ เราไม่ได้ต้องการขัดกฎหมายร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่ก็มีข้อเสนอที่อยากให้เพิ่มเติม แต่พอเราเสนอเขากลับมองว่าเราเป็นฝ่ายตรงข้ามกับเขาทั้งๆ ที่ความจริงไม่ใช่ เราเห็นด้วย แต่เมื่อนี่เป็นเวทีเสวนาเราก็อยากมีข้อเสนอบ้าง เมื่อซักครู่หลังเวทีเสวนาจบ เขาก็มารับปากว่าจะปรับให้ตามที่เราเสนอ

ประชาไท: ทางคณะกรรมาธิการได้ให้ช่องทางการมีส่วนร่วมกับทางเครือข่ายในการร่างกฎหมายฉบับนี้มากน้อยแค่ไหน

ดนัย: ในการแก้ไขร่างครั้งสุดท้าย ทางคณะกรรมาธิการให้สัญญาทางวาจาว่าจะให้ตัวแทนจากเครือข่ายเข้าไปนั่งอยู่ในที่ประชุมด้วย

ประชาไท: ทางกลุ่มจะมีการรวบรวม 15,000 รายชื่อและยื่นร่างกฎหมายของตัวเองหรือไม่

ดนัย: มีแน่นอน เพราะฉะนั้นในท้ายที่สุดจะมีร่างกฎหมายนี้ 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งร่างโดยคณะกรรมาธิการ อีกฉบับหนึ่งร่างโดยเครือข่าย LGBT

ประชาไท: รู้สึกอย่างไรกับการใช้คำว่า “คู่ชีวิต” แทนคำว่า “สมรส”

ดนัย: จริงๆ เราเป็นคนเสนอให้ใช้คำนี้เอง เนื่องจาก 1.สถาบันการสมรสมีสถาบันเก่าแก่มีมายาวนาน เราก็ให้เกียรติปู่ย่าตายายเราที่เขาอาจจะรักและหวงแหนสถาบันของเขา และเราก็ไม่อยากเข้าไปยุ่ง 2. เราเห็นว่ากฎหมายการสมรสเองก็ยังมีปัญหาอยู่เรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ เราจึงร่างกฎหมายใหม่ขึ้นมาเลยดีกว่า เพื่อหวังให้คู่รักต่างเพศสามารถใช้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ได้ด้วย

ประชาไท: นอกจากเรื่องคู่ชีวิตแล้ว ทางเครือข่ายมีแนวโน้มที่จะเรียกร้องในประเด็นอื่นหรือไม่

ดนัย: เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่เราเห็นว่าเป็นปัญหาคือเรื่องเครื่องแบบราชการ ผู้มีความหลากหลายทางเพศบางคนเขามีเรือนร่างตรงตามเพศที่เขาอยากเป็นแล้ว แต่เขายังต้องถูกบังคับให้ต้องแต่งเครื่องแบบที่ตรงกับเพศตามกำเนิดของเขา ไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถเขาที่ทำงาน ไม่สามารถเข้าห้องสอบได้ ทั้งๆ ที่เรื่องเครื่องแต่งกายกับสติปัญญา ความสามารถ มันไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย  

ประชาไท: สุดท้ายนี้อยากจะฝากอะไรถึงผู้ที่ยังคงต่อต้านร่างกฎหมายฉบับนี้บ้าง

ดนัย: อยากจะฝากเรื่องความรู้สึก ความรักไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ว่าคุณเป็นเพศอะไร มันเป็นสิทธิของประชาชนทุกคน ความรักมันเริ่มได้และก็จบได้ กฎหมายฉบับนี้ก็ไม่ได้รับประกันว่าความรักของของเรายืนยาวขึ้น แต่มันให้หลักประกันว่าความรักของเราจะมั่นคงเหมือนคู่สมรสทั่วไป และมันเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องดูแลคู่สมรสทุกคู่อย่างเท่าเทียม

 

การเสวนาและร่างกฎหมายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าประเด็นเรื่องสิทธิ LGBT เป็นประเด็นสาธารณะในสังคมไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่จากสิ่งที่เกิดขึ้นในเวทีเสวนา เราคงยังไม่สามารถพูดได้ว่าสังคมไทยยอมรับ LGBT โดยสดุดี หากเครือข่าย LGBT ไทยต้องการเรียกร้องสิทธิของตนในระยะยาว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผนึกกำลังภาคประชาสังคมของตนให้เข้มแข็ง สร้างความตื่นตัวในสังคม จนกระทั่งมีบทบาทเป็นตัวแสดงสำคัญหนึ่งของสังคม เฉกเช่นเครือข่าย LGBT ในต่างประเทศ นอกจากนี้บรรดาผู้ที่ไม่ใช่ LGBT แต่เล็งเห็นถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นก็เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการเรียกร้องสิทธิให้กับ LGBT

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net