ประวัติศาสตร์แห่งศรัทธาเพื่อที่จะฆ่าความแตกต่าง ว่าด้วยการยืนเคารพเพลงสรรเสริญฯ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สิ่งที่ผู้เขียนต้องการอธิบายปรากฏการณ์ความผิดปรกติของสังคมไทยที่มีต่อความเห็นมุมมองที่แตกต่างในสังคมไทยด้วย “ชุดความเชื่อที่ปิดตาย” ที่ปิดกั้นไม่ให้เปิดรับสิ่งที่เรียกว่าความแตกต่างทางความคิด รวมทั้งเป็นสิ่งที่จะอธิบายเหตุผลในการกระทำในครั้งนี้ที่ได้โพสไปในแฟนเพจของโรงภาพยนต์เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ ให้เป็นที่กระจ่างแจ้ง และแสดงความจำนงให้ประเทศไทยมีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ(Constitutional Monarchy) สามารถปรับตัวสถาบันให้เข้ากับสภาพของสังคมประชาธิปไตยในนานาอารยประเทศที่ปกครองด้วยระบอบนี้อย่างแข็งแกร่งเพื่อความเจริญแก่สถาบันกษัตริย์ไทยนั้นเองมิใช่ด้วยจุดประสงค์อื่นใด

จากอาทิตย์ที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ดราม่าระลอกใหญ่เกี่ยวกับเรื่องการให้บริการของผู้จัดการโรงภาพยนตร์ของเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์ วิจารณ์อย่างมากในประเด็น ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่าง ลูกค้า-พนักงาน ในเรื่อง service mind ว่าควรมีลักษณะประพฤติเช่นไรในงานบริการ ซึ่งได้มีการด่าว่ากล่าวรวมทั้งเหยียดหยามคุณค่าความเป็นมนุษย์ในตัวเธอที่เป็นพนักงานผู้หญิง โดยเฉพาะในแฟนเพจของทางโรงภาพยนต์เมเจอร์ฯ ที่มีคนชั้นกลางเข้าไปด่าทอเธออย่างรุนแรง ทำให้ผู้เขียนเกิดตั้งคำถามต่อสังคมโดยเฉพาะคนชั้นกลางที่ชอบเรียกร้อง “สิทธิ” “

ผู้เขียนตั้งคำถามว่า เหตุใดที่ผู้เขียนและเพื่อนหลายๆคนต้องมาทนกับการบังคับยัดเยียดความรัก ความรู้สึกต่างๆผ่านพื้นที่อย่างโรงภาพยนตร์ ที่ยังกำหนดให้มีการยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี เหตุใดประเทศที่ขึ้นชื่อว่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ยังจำเป็นต้องใช้ “เครื่องมือ” อย่างบทเพลงมายัดเยียดอารมณ์ ความรู้สึก ความเชื่อให้กับประชาชน โดยที่หากใครคิดแตกต่างแน่นอนว่าจะมีพระบารมีของผู้คลั่งเจ้ามาถล่มอย่างแน่นอน เช่นคุณหมอกัมปนาทที่ขู่อาฆาต นำรูปภาพผู้ที่มีความคิดต่างมาประณาม ก็ในเมื่อผู้ชมท่านอื่นสามารถเรียกร้องในสิทธิการได้รับบริการจากโรงภาพยนต์ได้  ผู้เขียนก็ย่อมสามารถตั้งคำถามถึงการยัดเยียดบทเพลงที่เต็มไปด้วยการสอดแทรกความเชื่อ ความรัก ความจงรักภักดี ได้ด้วยเช่นกัน

 https://www.facebook.com/photo.php?fbid=359579104147912&set=a.337942942978195.63209.337926936313129&type=1&theater

“ผมเอารูปมาให้ดูกันอีกครั้ง(ตอนนี้หน้าอาจจะ เปลี่ยนเป็นตูดเพราะมีปากเน่าๆอยู่ตรงหน้า) จากเหตุการณ์วันอาทิตย์ที่ 13 ม.ค. 56 จำหน้ามันไว้ดีๆนะครับ ...วันที่เสียดายไม่ได้เอาเท้าตบปากเด็กเวรตะไล (ขอความกรุณาอย่าด่าสถาบันนะ ครับ สถาบันไม่เกี่ยวครับ)” https://www.facebook.com/photo.php?fbid=398361636938269&set=a.187334648040970.40202.160858877355214&type=1&theater

“:: มันไม่สมควรอยู่ประเทศไทยอีสัสสส
คนแบบนี้ต้องจับมันแก้ผ้า เอาเชือกมัดให้รถลากประจานไปรอบเมือง แล้วให้หมามันเอาแบบรุมโทรม...

// เห็นแล้วปี๊ดเลยกุ!!!” ต้นเหตุมาจากเพจนี้ https://www.facebook.com/photo.php?fbid=183251525159937&set=a.126019607549796.27536.126000124218411&type=1&theater

เมื่อพิจารณาจากมิติทางประวัติศาสตร์ของเพลงสรรเสริญพระบารมีแต่แรกเริ่มในสมัยราชาธิปไตย – สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ด้วยข้อมูลทางประวัติศาสตร์มากมายในการกล่าวถึงผู้แต่งทำนองซึ่งทุกท่านมีข้อสรุปตรงกันว่าตัวทำนองประพันธ์มิใช่คนแต่งที่เป็น “ชาวสยาม” เลย นั้นคือ ประเพณีเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้นล้วนเป็นประดิษฐกรรมนำเข้าเพื่อที่จะสถาปนาอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำให้มีความเป็นอารยะทัดเทียมกับเจ้าตะวันตกในสมัยนั้น  

เพลงสรรเสริญพระบารมีนั้นก็ถูกใช้ในการเปิดในงานมหรสพจนกระทั่งมาสู่ยุคประชาธิปไตยหลัง 2475 ที่มีการสถาปนาเพลงชาติสยามของขุนวิจิตรมาตรา-นายฉันท์ ขำวิไล ขึ้นเป็นครั้งแรกที่ไม่ใช่เพลงสรรเสริญพระบารมี จนกระทั่งเปลี่ยนชื่อประเทศในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพลงชาติก็ถูกแก้ไขใหม่ การสร้างเพลงชาตินี้ล้วนเพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ “สถาบันชาติ” กระนั้นคณะราษฎรก็ยังมิได้แก้ไขกฎประเพณีการยืนเคารพเพลงสรรเสริญในงานมหรสพ[1] จนกระทั่งรัฐบาลของ จอมพล ป. ได้เน้นย้ำถึงเรื่องนี้ในรัฐนิยมฉบับที่ 4[2] ซึ่งในขณะแรกที่สยามนำเข้าประเพณีนี้นั้นเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้นได้ถูกนำไปเปิดหลังจากจบงานมหรสพ จนกระทั่งช่วงทศวรรษ 1970s/2510s เป็นต้นมาจึงทำการเปลี่ยนมาไว้นำก่อนภาพยนตร์จะฉายจนถึงทุกวันนี้[3]

ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องมาทบทวนถึงเรื่องประวัติศาสตร์ “การยืน” เคารพเพลงสรรเสริญในประเทศไทย นอกจากเราจะได้เรียนรู้ว่าประดิษฐกรรมเพลงสรรเสริญพระบารมีแรกเริ่มของสยาม-ไทยนั้นก็นำมาจากตะวันตก ประเพณีการยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีก็เช่นกันเป็นสิ่งที่ถูกนำเข้าและเลียนแบบมาจากเจ้าจักรวรรดินิยมอย่างอังกฤษโดยสยามได้นำเข้าจากเมืองอาณานิคมอย่างสิงค์โปร มาเลเซีย พม่า อินเดีย ซึ่งในประเทศของจักรวรรดินิยมอังกฤษเวลานั้นเมื่อมีการฉายภาพยนตร์ในตอนจบ จะมีรูปของกษัตริย์จอรจ์ถูกนำฉายอยู่บนหน้าจอพร้อมกับเริ่มการเปิดเพลง “God Save The King” อันเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีและเป็นเพลงชาติของอังกฤษด้วย [4] ซึ่งอาจารย์ชาญวิทย์ได้เขียนถึงว่า ประเพณีนี้ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อที่จะสนับสนุนนโยบายคำขวัญของเหล่าผู้ที่ชาตินิยมและจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ที่ว่า God, King and Country ซึ่งก็เป็นมรดกตกทอดจากเจ้าจักรวรรดินิยมอีกอย่างที่เจ้าสยามนำมาใช้

ซึ่งประเพณีการยืนในโรงหนังนั้นถูกบังคับใช้อย่างทั่วถึงทั้งในสหราชอาณาจักรและบรรดาประเทศในอาณานิคม จนกระทั่งราชินีอลิซาเบธขึ้นครองราชย์เพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติอังกฤษจึงเปลี่ยนเป็น “God Save the Queen” ซึ่งธรรมเนียมประเพณีการยืนเคารพก็ยังคงอยู่

จนกระทั่งในปลายทศวรรษปี 1950s – 1960s(พุทธศักราช 2493-2513) ได้มีกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย Oxford และ Cambridge เริ่มที่จะต่อต้านระเบียบประเพณีเหล่านี้  พวกเขารวมตัวประท้วงโดยการไม่ยืนในขณะบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีและเดินออกไปจากโรงภาพยนตร์เมื่อภาพยนตร์จบ ด้วยเหตุนี้บรรดารัฐและทางการ รวมทั้งเจ้าของโรงภาพยนตร์จึงหาทางออกด้วยการ “บังคับยัดเยียด” ทางใหม่โดยนำเพลงสรรเสริญพระบารมีมาเปิดก่อนที่ภาพยนตร์จะฉาย แต่ทว่าไม่มีประโยชน์อันใด

กระทั่งในปัจจุบันประเทศอังกฤษได้ยกเลิกประเพณีอันล้าสมัยที่เต็มไปด้วยอำนาจเผด็จการทางความคิดออกไปตั้งแต่ประมาณ  ค.ศ.1968(พ.ศ.2511)   แต่ทว่าในประเทศไทยนั้นจะเห็นได้ชัดเจนว่านอกจากรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ของเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ถูกบังคับใช้ให้มีการยืนเคารพ มาจากสมัยเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ต่อมาในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนถึงปัจจุบัน “ตัวอุดมการณ์” ของการยัดเยียดความรัก ความรู้สึก ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

 

คำถามคือ ยังมีประโยชน์อันใดที่ประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 จะต้องบังคับให้คนไทยฟังเพลงสรรเสริญพระบารมีทุกครั้งก่อนชมภาพยนตร์

ประเทศไทยนิยมที่จะใช้ระเบียบประเพณีต่างๆรวมทั้งโฆษณาชวนเชื่อด้านเดียวของสถาบันกษัตริย์ที่กรอกหูคนไทยอยู่ทุกวันตั้งแต่ถือกำเนิดมาเป็นเครื่องมือในการสร้าง “ความจงรักภักดี” โดยที่ประชาชนคนไทยไม่มีความรู้สึกที่ว่าความรัก ความศรัทธาของตนนั้นถูกผลิตซ้ำโดยเครื่องมือที่เป็นกลไกของรัฐในการจะสร้างอุดมการณ์แบบ “ราชาชาตินิยม” ขึ้นมา บรรดาผู้จงรักภักดียินดีที่จะอ้าง “พระบารมี” ในการจัดการกับผู้ที่คิดแตกต่างในสังคมด้วยความรุนแรงตั้งแต่ในอดีตเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่นักศึกษาถูกใส่ร้ายและถูกสังหารหมู่โดยประชาชนผู้คลั่งในสถาบันกษัตริย์ นี่คือการกระทำของ “คนบาปในคราบนักบุญ”

จนในปัจจุบัน เมื่อความศรัทธาถูกนำมาใช้มากกว่าปัญญาและเหตุผล บรรดาผู้จงรักภักดีเหล่านี้นี่เองที่เป็นคนทำให้สถาบันกษัตริย์อ่อนแอลงไปโดยการอ้างความชอบธรรมในการจะปกป้องสถาบันโดยการใช้ความรุนแรงจัดการกับผู้อื่นที่คิดต่าง  การถกเถียงมักเต็มไปด้วยอารมณ์และปฏิเสธหลีกเลี่ยงที่จะใช้เหตุผล  หากจะกล่าวว่าความศรัทธาที่มากจนเรียกว่า “คลั่ง” จะกลายมาเป็นเครื่องมือในการทำร้ายตัวสถาบันเสียเองก็คงไม่ผิด ต่างจากมุมมองของประชาชนที่นิยมระบบเสรีนิยมประชาธิปไตยที่ต้องการให้สถาบันกษัตริย์ไทยอยู่ได้อย่างสง่างามด้วยการเปิดกว้างให้สามารถวิพากษ์ วิจารณ์ ตรวจสอบได้ อันนำมาสู่ความชอบธรรมและความโปร่งใสของสถาบันกษัตริย์ไทยให้เจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศ

เหตุผลใดที่จะต้องยกเลิกเพลงสรรเสริญพระบารมีออกจากการบังคับให้ฟังอยู่ในโรงภาพยนตร์ในประเทศไทยทุกวันนี้ทั้งจากแง่มุมทางประวัติศาสตร์ที่ได้อธิบายไว้แล้ว กล่าวคือสิ่งเหล่านี้คือกระบวนการหนึ่งที่ “บังคับ ยัดเยียด” ความรัก ความรู้สึกผ่านเข้าไปยังผู้ชมภาพยนตร์ในเมืองไทย มันมิใช่เสรีภาพที่แท้จริงที่ว่าคุณจะเลือกยืนหรือไม่ยืนในโรงภาพยนตร์  แต่มันคือการบังคับนำเอาชุดความเชื่อชุดหนึ่งมาสถาปนาให้ทุกคนจำต้องรับรู้หรือรู้สึกตามกันไป ซึ่งไม่ใช่วิถีที่รัฐสมัยใหม่ที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

การมีเพลงสรรเสริญในโรงหนังในประเทศไทยก็มิใช่วิถีทางในระบอบประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่การที่จะใช้เสียงส่วนใหญ่มาเบียดเบียน “สิทธิขั้นพื้นฐาน” ของคนกลุ่มอื่น จริงอยู่ที่ว่าประชาธิปไตยต้องเคารพของเสียงส่วนใหญ่และเคารพในสิทธิของคนกลุ่มน้อย แต่ฐานของการกระทำต่างๆของคนส่วนใหญ่ต้องไม่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้อื่นโดยเฉพาะ “สิทธิที่จะรัก จะชอบ จะรู้สึก จะศรัทธา” ซึ่ง “ไม่สามารถบังคับกันได้ และไม่ควรที่จะบังคับ”

ดังนั้น รัฐต้องดำเนินจัดการปัญหาเหล่านี้ให้อยู่ในหลักการ “ความเป็นกลางทางความเชื่อ” เพื่อให้สังคมมีความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย จะไม่มีใครที่อ้างความเป็นส่วนใหญ่แล้วจะสามารถยัดเยียดความรักความใคร่ทั้งในตัวสถาบันกษัตริย์ ศาสนา ความเชื่อใดๆ ลงไปได้เพื่อที่จะกลบกลืนความเชื่ออื่นๆของคนในชาติได้ มิฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ต่างจากการเป็นเผด็จการเสียงส่วนมาก มิใช่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงอย่างที่บรรดาผู้คลั่งเจ้าได้กล่าวไว้

ดังนั้นการที่ประเทศไทยที่ยังคงมีเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์นั้นก็ไม่ต่างจากประเทศอังกฤษเมื่อศตวรรษที่แล้วที่ได้ยกเลิกกระบวนการยัดเยียดความรักความเชื่อที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายเผด็จการแบบที่ประเทศไทยกำลังเป็นอยู่ลงไปผ่านสถานที่ที่เป็นสาธารณะหรือมีมวลชนมากอย่างในโรงภาพยนตร์และที่อื่นๆไปเรียบร้อย แต่ประเทศไทยกลับชอบที่จะจองจำความรักความรู้สึกเหล่านี้ ให้เป็นสิ่งที่จะนำมาเป็นข้ออ้างในการใช้ “ศรัทธา ฆ่า ความแตกต่าง”

ไม่เพียงแต่เรื่องสถาบันกษัตริย์ ในเรื่องศาสนาและความเชื่อเราก็จำเป็นที่จะต้องทำให้มีความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย อย่างที่ในบรรดาประเทศประชาธิปไตยโลกที่ 1 ได้ทำให้รัฐของตนเป็นรัฐทางโลกย์ (Secular State) คือแยก ศาสนา ออกจากรัฐ และที่สำคัญในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบสถาบันกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญก็ต้องแยก สถาบันกษัตริย์ออกจากการปกครอง ด้วยเช่นกัน กล่าวคือ “กษัตริย์ครองราชย์ แต่มิได้ปกครอง” ซึ่งสิ่งเหล่านี้ประเทศไทยประชาชนคนไทยต้องตั้งคำถามว่า หากต้องการให้สถาบันกษัตริย์ไทยอยู่ได้และได้รับความเคารพจากประชาคมโลก สิ่งใดที่เราต้องปรับแก้ไข และคนไทยใจกว้างพอหรือยังที่จะยอมรับการวิพากษ์ วิจารณ์ ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ในระบอบด้วยความชอบธรรมและโปร่งใส และยกเลิกกระบวนการยัดเยียดความรัก 24 ชม. ทั้งจากแบบเรียน โรงเรียน ข่าวในพระราชสำนัก รูปภาพ สิ่งต่างๆรวมทั้ง การบังคับให้ฟังเพลงสรรเสริญในโรงภาพยนตร์

 

ถ้าสถาบันกษัตริย์ไทยเข้มแข็งจริง จำเป็นด้วยหรือที่ต้องมี “สิ่งเหล่านี้” ?



[1] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “ความเป็นมาของเพลงชาติไทยในปัจจุบัน” ใน วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 27 ฉบับที่ 1; 2547 . น.62-64

[2] ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ ๔ เรื่อง การเคารพธงชาติ, เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี ลงวันที่ ๘ กันยายน ๒๔๘๒

[3] บทความข่าวชิ้นนี้มีที่มาจาก การอีเมล์เรื่องประวัติศาสตร์ของเพลงสรรเสริญพระบารมีในสยาม โดย อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ . Subhatra Bhumiprabhas. “The history of standing for the Royal Anthem” The Nation, May 6, 2008

[4]  “'God Save The King' was a patriotic song first publicly performed in London in 1745, which came to be known as the National Anthem at the beginning of the nineteenth century.” ดูใน “National Anthem” ใน The Official Website of British Monarchy : http://www.royal.gov.uk/MonarchUK/Symbols/NationalAnthem.aspx

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท