Skip to main content
sharethis

 

แม้การเจรจาเพื่อยุติปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้  จะเป็นการดำเนินการระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น แต่การเจรจาระหว่างสองฝ่ายดังกล่าว  ไม่ควรทำให้หลงลืมไปว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในเหตุการณ์ความไม่สงบ คือ ภาคประชาชน ดังนั้นประชาชนจึงควรดำเนินบทบาทของตนอย่างแข็งขัน เพื่อผลักดันให้การเจรจาบรรลุผล  และสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับสู่ความสงบร่มเย็นอีกครั้ง ทั้งนี้  ควรตระหนักว่าการที่ทั้งสองฝ่ายหันหน้ามาเจรจากันนับเป็นโอกาสอันดีที่ภาคประชาชนต้องใช้เพื่อสำแดงพลัง ทั้งในรูปของการผลักดันการเจรจาให้เดินหน้า และลดทอนอิทธิพลบทบาทของฝ่ายที่ต้องการล้มโต๊ะเจรจาและปรารถนาจะเห็นความรุนแรงดำเนินต่อไป

บทบาทดังกล่าวนี้ ผู้เขียนเห็นว่ามุสลิมต้องรับผิดชอบมากกว่าใคร เนื่องจากในความรุนแรง ที่เกิดขึ้น มุสลิมมีส่วนอย่างสำคัญทั้งในฐานะผู้กระทำและในฐานะผู้ถูกกระทำ และการดำรงอยู่ในสถานะดังกล่าว ทำให้สังคมมุสลิมโดยรวมตกอยู่ในฐานะผู้เสียหาย มากกว่าจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์โภชผลใด ๆ

โดยนัยนี้ สังคมมุสลิมจึงควรใช้โอกาสการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ดำเนินการในภาคส่วนสำคัญ ดังนี้

 

1.สนับสนุนการเจรจาอย่างแข็งขัน

เพราะการเจรจา คือ แนวทางอันสอดคล้องกับหลักธรรมคำสอนของอิสลามที่ต้องการให้มนุษย์รู้จักและเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างถ่องแท้  ผ่านการศึกษาเรียนรู้และพูดคุยเจรจา ทั้งในหมู่ประชาชนกันเองที่มีความแตกต่างทางความคิดความเชื่อ  และระหว่างรัฐกับประชาชนที่อาจมีความต้องการแตกต่างกัน        ความพยายามที่จะเข้าใจประชาชนของตนเอง และยอมรับในความแตกต่าง เป็นสิ่งที่รัฐไทยในอดีตทำน้อยมาก จนเป็นเหตุให้เกิดความคับข้องใจเป็นอย่างสูงในหมู่ชนชาวมลายูปัตตานี นำไปสู่สภาวะการไม่ยอมรับรัฐไทยและการต่อสู้ด้วยความรุนแรงเป็นระยะ ๆ เสมอมา

การเคลื่อนไหวต่อสู้บนพื้นฐานของความเคียดแค้นชิงชังของฝ่ายผู้ถูกกดขี่ ทำให้ขาดวุฒิภาวะและเต็มไปด้วยความรุนแรง มีลักษณะตีขลุม ไม่แยกแยะ และมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย จึงยังคงใช้ความรุนแรงตอบโต้อยู่เช่นนั้น

ด้วยลักษณะที่ทั้งสองฝ่ายต่างมีความคิดตกขอบสุดขั้วอยู่ในตัว จึงทำให้ประตูการเจรจาถูกปิดตายเรื่อยมา ความไม่เข้าใจและเข้าไม่ถึงกันดำรงอยู่ และอุดมการณ์ความคิดของทั้งสองฝ่ายก็อยู่บนเส้นขนาน คล้ายไม่มีวันบรรจบกันได้เลย

ตราบจนวันนี้ที่เริ่มมีการพูดคุยกันมากขึ้น จึงเป็นโอกาสของภาคประชาสังคม ที่จะต้องผลักดันให้การเจรจา เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง มิใช่การอวยประโยชน์เฉพาะแก่ภาครัฐหรือฝ่ายบีอาร์เอ็นเพียงถ่ายเดียว

โดยนัยนี้ ภาคประชาสังคมจึงควรเป็นฝ่ายที่สาม คอยกำกับการเจรจาของอีกสองฝ่ายให้อยู่ในกรอบ อันจะทำให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมอย่างแท้จริงนั่นหมายความว่า ประชาชนควรจัดตั้งองค์กรอันเข้มแข็งขึ้น วิสัยทัศน์พื้นฐานคือสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้จะสงบร่มเย็นได้ ก็ด้วยการสร้างความยุติธรรมอันแท้จริงขึ้น ไม่ใช่ยุติธรรมจากมุมมองของฝ่ายรัฐ และไม่ใช่ยุติธรรมจากมุมมองของฝ่ายบีอาร์เอ็น แต่เป็นยุติธรรมจากประชาชนในพื้นที่เอง คือ ความยุติธรรมจากหลักธรรมคำสอนของอิสลาม อันคนส่วนใหญ่ยืดถือและเป็นความยุติธรรมที่ไม่เคยฝักใฝ่ฝ่ายใดเป็นการเฉพาะ

พันธกิจขององค์กรภาคประชาชนนี้ คือ กำกับดูแลให้คู่เจรจาดำเนินภารกิจของตน โดยคำนึงความสงบสุขของประชาชน และการพัฒนาที่มีดุลยภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหลัก

หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสนอข้อเรียกร้องที่แสดงถึงความอยุติธรรม อันจะส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวมแล้ว องค์กรนี้ต้องนำประชาชนลุกขึ้นคัดค้าน ต่อต้านข้อเสนอดังกล่าว และนำผู้เสนอกลับเข้าสู่กรอบการเจรจาอันเป็นธรรมต่อไป สมดังพระบัญชาแห่งอัลลอฮฺ ที่ทรงให้ฝ่ายที่สามกำกับดูแลความเป็นธรรม กรณีเกิดความขัดแย้งระหว่าง 2 ฝ่าย ในซูรอฮฺอัลหุญุรอต อายะฮฺที่ 9 ความว่า

 “แม้นหากศรัทธาชนสองกลุ่มทำการรบพุ่งกัน ก็จงประนีประนอมทั้งสองฝ่ายเข้าด้วยกันด้วยดีเถิด หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดละเมิดสิทธิของอีกฝ่าย ก็จงทำสงครามกับฝ่ายที่ละเมิด จนกว่าฝ่ายนั้นจะกลับเข้าสู่พระบัญชาแห่งอัลลอฮฺ แม้นพวกเขากลับเข้าสู่กรอบแห่งคำบัญชา ของอัลลอฮฺแล้ว ก็จงประนีประนอมรอมชอมทั้งสองฝ่ายเข้าด้วยกันอย่างเป็นธรรมเถิด และจงดำรงรักษาไว้ซึ่งความยุติธรรม แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักผู้มีความเป็นธรรมอย่างยิ่ง”

เมื่อผู้เขียนนำเสนอโองการนี้ในสถานการณ์การเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้ง ผู้รู้บางท่านท้วงติงว่าเป็นการนำเสนอที่ไม่เข้ากับสถานการณ์ เนื่องจากความหมายของโองการแห่งอัลกุรอาน หมายถึง คู่ขัดแย้งที่เป็นผู้ศรัทธาด้วยกันทั้งคู่

แต่ในกรณีที่เจรจากันอยู่นี้ ฝ่ายหนึ่งเป็นมุสลิมและอีกฝ่ายไม่ใช่! กระนั้นผู้เขียนก็ไม่เห็นคล้อยตามข้อทักท้วงนี้ด้วยเหตุผล คือ

ก.  โองการแห่งอัลลอฮฺที่กล่าวถึงข้างต้น เน้นย้ำเรื่องความเป็นธรรมซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะกรณีระหว่างมุสลิมกับมุสลิมเท่านั้น แต่ความยุติธรรมต้องมีแก่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือมิใช่ ดังความหมายของ อายะฮฺที่ 8 แห่งซูรอฮฺอัลมาอิดะฮฺ:

“ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงเป็นผู้ยืนหยัดเพื่ออัลลอฮฺ เป็นผู้แสดงให้ประจักษ์ถึงความเป็นธรรม และอย่าปล่อยให้ความเกลียดชังที่พวกเจ้ามีต่อคนกลุ่มหนึ่ง มาทำให้พวกเจ้ากลายเป็นผู้ประกอบอาชญากรรม โดยการไม่อำนวยความยุติธรรม จงอำนวยความเป็นธรรมเถิด เพราะมันใกล้ชิดยิ่งกับการยำเกรงต่ออัลลอฮฺ และจงเกรงกลัวต่ออัลลอฮฺเถิด แท้จริงพระองค์ทรงรู้ดียิ่งถึงสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ”

โดยนัยนี้ แม้คู่เจรจาฝ่ายหนึ่งจะมิใช่มุสลิม ก็มิได้หมายความว่าฝ่ายที่เป็นมุสลิมจะต่อรองโดยไม่คำนึงถึงความเป็นธรรมได้ เช่นเดียวกับที่ไม่อาจดูดาย เพียงเพราะฝ่ายที่ถูกเอาเปรียบมิใช่มุสลิม

ข.  เมื่อถอดนัยยะ จับประเด็นจากความหมายแห่งพระบรมราชโองการจากอัลลอฮฺแล้ว จะพบว่ามีความจำเป็นต้องมีผู้ทำหน้าที่ตัวกลางในการประนีประนอมข้อขัดแย้ง แม้นหากเห็นว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดละเมิดขอบเขตของอีกฝ่าย ก็ชอบที่ผู้ประนีประนอมจะช่วยเหลือผู้ถูกละเมิด แม้จะต้องทำสงครามกับผู้ละเมิดก็ตาม

การจำกัดความหมายของโองการนี้ไว้เฉพาะกรณีข้อขัดแย้งระหว่างมุสลิมกับมุสลิม แล้วปล่อยให้การเจรจาสันติภาพดำเนินไปตามความต้องการของผู้เจรจา โดยประชาชนไม่คิดจัดตั้งองค์กรฝ่ายที่สามขึ้นทำหน้าที่กำกับควบคุมการเจรจาให้ดำเนินไปในทิศทางอันควร จะทำให้ประชาชนนั่นเองที่เป็นผู้เสียโอกาส และเสียผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ไป

 ค.  ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบจริง ๆ คือ ประชาชนคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ขณะที่ผู้สร้างผลกระทบส่วนหนึ่งก็เป็นมุสลิมเช่นกัน การเจรจาในความหมายที่ลึกซึ้งที่สุดจึงน่าจะเป็นการพูดคุยระหว่างมุสลิมกันเอง หนึ่ง เพื่อหาข้อสรุปในกรอบของหลักศาสนาอิสลาม ว่าการใช้ความรุนแรงอย่างที่เกิดอยู่ในปัจจุบันถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ และที่เหมาะสมแล้วควรทำอย่างไร และอีกหนึ่งคือเพื่อร่วมกันวางกรอบมิให้ผู้ใช้อำนาจรัฐ ใช้อำนาจนั้นอย่างไม่เป็นธรรม ผลักดันเจ้าหน้าที่รัฐให้ยอมรับความแตกต่างมากขึ้น และให้อำนาจแก่ประชาชนในการดูแลตัวเองได้มากขึ้น

โดยนัยนี้ หากฝ่ายความมั่นคงที่ไปเจรจารับฟังข้อเสนอจากภาคประชาชนจริง และนำข้อเสนอนั้นไปสู่โต๊ะเจรจา ย่อมถือได้ว่าพวกเขาคือตัวแทนของประชาชน ไม่อาจมองแค่ศาสนาที่ผู้เจรจานับถือได้

ส่วนจะให้ฝ่ายความมั่นคงที่ไปเจรจา รับข้อเสนอของประชาชนมากน้อยเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับประชาชนเองว่ามีความตื่นตัวและเข้มแข็งแค่ไหน

 

2.การเยียวยาบาดแผลของตนเองด้วยตัวเอง

โดยการสร้างประชาสังคมอันเข้มแข็งขึ้น ผ่านโครงสร้างทางสังคมศาสนาที่มีอยู่แล้ว นั่นหมายความว่าองค์กรศาสนาที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายตั้งแต่ระดับมัสยิด คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ตลอดไปจนถึงสำนักจุฬาราชมนตรี ต้องมีปฏิบัติการอย่างจริงจังในอันที่จะสร้างสังคมมุสลิมให้เข้มแข็ง เพื่อให้พึ่งพาตนเองได้ ไม่ใช่สังคมที่รอแต่จะรับความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นถ่ายเดียว เพราะการงอมืองอเท้ารอให้ผู้อื่นช่วยก่อน ย่อมถูกกลืนกลายไปในกระแสต่าง ๆ ได้ง่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสบริโภคนิยม และการใช้ความรุนแรง

สังคมที่พึ่งพาตนเองได้ จะสามารถป้องกันตนเองมิให้ถูกรังแกโดยง่าย ซึ่งจะทำเช่นนั้นได้สังคมมุสลิมต้องมีการจัดการความรู้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์และยุคสมัย ผู้รู้ต้องก้าวข้ามความแตกแยกขัดแย้งภายใน อันเกิดจากมุมมองทางศาสนาอันคับแคบ หรือด้วยเหตุจากผลประโยชน์ส่วนตนเป็นใหญ่ แล้วหันมาร่วมกันใส่ใจภัยที่คุกคามประชาชาติอย่างแท้จริง  ไม่ว่าจะเป็นภัยจากดุนยานิยม ยาเสพติด ความอวิชชา และสถาบันครอบครัวที่ง่อนแง่นแคลนคลอนอย่างยิ่ง

ภัยเหล่านี้ บ่อนเซาะกัดกินศักยภาพของประชาชาติอิสลามไปจนแทบหมดสิ้น กลายเป็นประชาชาติที่เติบใหญ่ด้วยปริมาณหากแต่ไร้คุณภาพแทบสิ้นเชิง เป็นภัยที่ไม่อาจแก้ได้ด้วยลัทธิชาตินิยมอันคับแคบ และไม่สามารถสลายได้ด้วยกำลังอาวุธ หากแต่ต้องกำจัดด้วยความรู้และสำนึกศรัทธาอันแท้จริงต่ออัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น

 

3.การฟื้นฟูภาพลักษณ์อันหมดจดงดงามของอิสลาม

ต้องยอมรับว่า ภาพลักษณ์ของมุสลิมในประเทศไทยโดยรวม ไม่สู้ผ่องใสนักเมื่อมาถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าอีก ก็ยิ่งขุ่นมัวเข้าไปใหญ่ ในวงสัมมนาบางเวที ผู้เขียนเคยได้ยินสำเนียงที่แสดงถึงความวิตกกังวลของพี่น้องต่างศาสนา ว่าหากมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้สิทธิปกครองตนเองขึ้นมาจริง ๆ  พวกเขาซึ่งเป็นชาวพุทธอยู่ในพื้นที่นั้นจะอยู่กันอย่างไร?

ความกังวลดังกล่าว เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะตลอดช่วงนับร้อยปีที่ผ่าน สังคมมุสลิมแทบจะไม่เคยหารือกันเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การนำเสนออิสลามต่อพี่น้องศาสนิกชนอื่นเลย พูดอีกอย่างคือแทบไม่มีงานดะฮฺวะฮฺอย่างจริง ๆ จัง ๆ จากกลุ่มมุสลิมไทย

ขณะที่เหตุการณ์ซึ่งทำลายภาพลักษณ์อิสลามเกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งจากน้ำมือของมุสลิมเองและจากอคติของคนนอก จนเมื่อเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นในปี 2547 ภาพลักษณ์ของ

อิสลามและมุสลิม ก็กลับกลายจากศาสนาที่มุ่งสร้างสันติสุขไปเป็นศาสนาแห่งความรุนแรง และการมุ่งร้ายหมายขวัญคนที่มิใช่มุสลิมไปเรียบร้อย

อคติที่พอกพูนขึ้นในจิตใจของพี่น้องร่วมชาติ อันเนื่องจากมองเห็นแต่เพียงภาพลักษณ์ภายนอกของมุสลิม โดยองค์กรศาสนาอิสลามเองไม่ได้ใช้ความพยายาม เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างจริงจัง ถือเป็นอันตรายต่อการอยู่ร่วมกันของผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ความเชื่ออย่างยิ่ง

องค์กรมุสลิมวันนี้จึงต้องเร่งสร้างตนเองให้เข้มแข็ง เพื่อจะได้มีกำลังสร้างประชาสังคมมุสลิมอันเปี่ยมด้วยพลังที่จะมอบสิ่งดี ๆ ให้แก่เพื่อนร่วมชาติได้ เพราะการเป็นผู้ให้ต่างหากที่ช่วยให้คนเราเป็นอิสระได้ และช่วยสร้างบรรยากาศแห่งความสมานฉันท์ได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

การสร้างเนื้อสร้างตัวและการฟื้นฟูภาพลักษณ์ ดังที่กล่าวมาจำต้องอาศัยบรรยากาศแห่งสันติภาพไม่อาจสร้างได้ท่ามกลางไฟสงคราม นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องสนับสนุนการเจรจา แต่หากการเจรจาบรรลุผลแล้ว โดยที่มุสลิมยังไม่ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนเอง ก็เชื่อได้ว่าความรุนแรงทั้งหลาย ก็จะหวนย้อนมาอีก และอาจหนักหน่วงกว่าเดิมด้วยซ้ำ

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net