สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ระลึกพระเจ้าตากสินมหาราช

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อวันที่ 6 เมษายน ที่ผ่านมานี้ กลุ่มแดงกรุงธนบุรี กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กลุ่ม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมืองและเครือข่าย ร่วมจัดงานรำลึก 231 ปี แห่งการสวรรคตของพระเจ้าตากสินมหาราช ที่บริเวณอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสหนึ่งแห่งการทบทวนเรื่องราวของพระองค์ ในฐานะวีรบุรุษผู้กอบกู้บ้านเมือง อันเป็นที่มาของประเทศไทยปัจจุบันนี้

ในระยะที่ผ่านมา การศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องราวของพระเจ้าตากสินมหาราชในวงการวิชาการมีความก้าวหน้าพอสมควร โดยเฉพาะหลังจากที่มีการพิมพ์เรื่อง “การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี” เมื่อ พ.ศ.2529 ที่เขียนโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ หนังสือเล่มนี้กลายเป็นหนังสือขายดี แต่เป็นที่น่าผิดหวังว่า การอธิบายเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้ากรุงธนบุรีในสังคมไทยหลังจากนั้น ก็ยังมิได้มีได้รับผลกระทบจากหนังสือเล่มนี้ แต่ก็เป็นน่ายินดีว่าในขณะนี้ ความสนใจในเรื่องพระเจ้าตากสินมีเพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างน้อยการจัดงานระลึกถึงพระองค์ในครั้งนี้ ก็สะท้อนความสนใจดังกล่าว

พระเจ้ากรุงธนบุรี เกิดเมื่อ พ.ศ.2277  เป็นลูกจีนที่เกิดในกรุงศรีอยุธยา บิดาของพระองค์เป็นจีนแต้จิ๋ว มีความเป็นไปได้ว่า พระองค์เป็นพ่อค้าเกวียน ได้วิ่งเต้นเข้ารับราชการและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองตาก เท่ากับว่าพระองค์มีความก้าวหน้าในราชการอย่างมากในสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ ก่อนที่จะเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2

ในเรื่องการเสียกรุง ในคำอธิบายดั้งเดิมกล่าวว่า ความพ่ายแพ้ของกรุงศรีอยุธยานั้นมาจากความอ่อนแอของพระเจ้าเอกทัศน์และเหล่าขุนนาง แต่ความจริงแล้ว คงต้องอธิบายว่า เป็นเพราะแสนยานุภาพของฝ่ายกรุงศรีอยุธยาด้อยกว่าพม่ามาก เพราะพม่าเพิ่งรวบรวมอาณาจักรในสมัยพระเจ้าอลองพญา ต้องทำสงครามพิชิตเมืองต่างๆ เพื่อรวบรวมอาณาจักร ทำให้พม่ามีความเชียวชาญในการทำสงครามมากกว่าฝ่ายไทยอย่างมาก ยิ่งกว่านั้นในสงครามครั้งเสียกรุง พม่าเตรียมการด้านยุทธศาสตร์มาอย่างดี โดยใช้ยุทธการตีกระหนาบแบบคีม ให้ เนเมียวสีหบดี เป็นแม่ทัพยกผ่านเชียงใหม่มาทางเหนือ และมังมหานรธา เป็นแม่ทัพยกเข้ามาทางตะวันตก กองทัพทั้งสองปราบหัวเมืองรายทาง และยกมาประชิดพระนครเมื่อต้นปี พ.ศ.2309

ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาพยายามส่งกองทัพไปสกัดกั้นพม่า แต่ไม่ประสบผล เพราะระบบการป้องกันหัวเมืองอ่อนแอ ในที่สุดต้องใช้การตั้งรับในกำแพงพระนครเป็นหลัก และคอยให้ถึงฤดูน้ำหลาก ฝ่ายพม่าจะต้องถอยกำลังไปเอง แต่ในครั้งนี้ ฝ่ายพม่ามีการเตรียมการอย่างดี โดยให้มีการรวบรวมเสบียงสำรองไว้ เมื่อน้ำหลากมาก็ถอยไปตั้งในที่ดอน แล้วต่อเรือรบจำนวนมากติดปืนใหญ่มาโจมตีพระนคร  จนกระทั่งน้ำลด ฝ่ายพม่าก็กลับมาตั้งค่ายล้อมพระนคร แล้วระดมเข้าตีเมืองอีกครั้ง พร้อมทั้งใช้การขุดอุโมงค์เพื่อหาทางเข้าโจมตี ในที่สุด กองทัพพม่าก็สามารถเข้าเมืองได้สำเร็จในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2310

หลังจากนั้น ฝ่ายพม่าก็เผาเมือง กวาดต้อนทรัพย์สินและผู้คน รวบทั้งจับขุนนางและพระราชวงศ์ไปยังเมืองพม่า พระเจ้าเอกทัศน์หนีไปซ่อนตัวที่ป่าบ้านจิก แต่ต่อมา ฝ่ายพม่าจับมาได้ พระองค์สวรรคตเพราะอดอาหารมาถึง 10 วัน

เป้าหมายของฝ่ายพม่า ไม่ได้ต้องการให้กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองออก แต่ต้องการที่จะทำลายศูนย์อำนาจของอยุธยาให้ราบคาบ ดังนั้นจึงไม่ได้ตั้งใครไว้เป็นกษัตริย์แทน เมื่อพม่าถอนกำลังกลับไปแล้ว จึงก่อให้เกิดช่องว่างแห่งอำนาจ มูลนายจำนวนมากตั้งตัวเป็นอิสระ จึงก่อให้เกิดการเมืองแบบชุมนุม คือ มูลนายสำคัญได้ควบคุมกำลังเป็นอิสระต่อกัน มีความเป็นไปได้ว่า เกิดการตั้งตนเป็นอิสระในลักษณะนี้จำนวนมาก แต่ที่เป็นชุมนุมใหญ่ก็เช่น สุกี้พระนายกองหรือนายทองสุก ที่ค่ายโพธิสามต้น พระยาพิษณุโลก เจ้าพระฝาง ที่สวางคบุรี เจ้านครศรีธรรมราช กรมหมื่นเทพพิพิธ ที่เมืองพิมาย และ พระเจ้าตาก ที่เมืองจันทบูรณ์ เป็นต้น

ในบรรดาชุมนุมเหล่านี้ พระเจ้าตาก น่าจะเป็นผู้ที่มีทัศนะกว้างไกลที่สุด และมีความสามารถในด้านการรบ พระองค์ยกกำลังมาปราบกองทัพสุกี้พระนายกอง เพื่อยึดศูนย์กลางอำนาจไว้เสียก่อน ทรงเลือกใช้กรุงธนบุรีเป็นที่มั่นแทนที่กรุงศรีอยุธยา และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2310 จากนั้น พระองค์ก็ดำเนินการ 3 อย่าง คือ ฟื้นฟูเศรษฐกิจแก่บ้านเมือง  เตรียมการป้องกันกองทัพพม่า และปราบปรามชุมนุมขนาดใหญ่ชุมนุมอื่น เพื่อรวมศูนย์อำนาจและความภักดีมาที่ราชสำนักใหม่ของพระองค์

พระองค์ประสบความสำเร็จในการรบกับพม่าเป็นครั้งแรกที่บางกุ้ง เมื่อ พ.ศ.2311 ต่อมา พระองค์ได้ทำศึกกับพม่าได้รับชัยชนะอีกหลายครั้ง โดยเฉพาะสงครามที่ใหญ่ที่สุด คือ ศีกอะแซหวุ่นกี้ เมื่อ พ.ศ.2318 ซึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรีสามารถเอาชนะในการสู้รบ ทำให้อะแซหวุ่นกี้ต้องถอนทัพกลับไป ยุทธศาสตร์ในการรบของพระองค์ ก็คือ ยกกองทัพไปยับยั้งพม่าเสียก่อน โดยไม่ยอมให้เข้ามาล้อมกรุงอีก แต่ก็ได้เตรียมทางถอยไว้ด้วย ในกรณีที่พม่ายกมาถึงธนบุรีได้ ก็จะถอยไปตั้งรับที่จันทบูรณ์ แต่ตลอดรัชกาลพระองค์ประสบความสำเร็จ ไม่เคยมีข้าศึกใดยกลงมาได้ถึงกรุงธนบุรีเลย นอกเหนือจากการทำสงครามกับพม่า พระองค์ได้ขยายอาณาเขตไปปราบปรามเชียงใหม่ กัมพูชา เวียงจันทน์ หลวงพระบาง และจำปาศักดิ์ ซึ่งเท่ากับเป็นการฟื้นฟูจักรวรรดิของกรุงศรีอยุธยาขึ้นใหม่ และขยายอำนาจมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

หลังจากศึกอะแซหวุ่นกี้ ภัยคุกคามจากพม่าถือว่าลดลง การเมืองแบบชุมนุมที่พระเจ้าตากทรงคุ้นเคยจะเริ่มเสื่อมลง การสร้างความมั่นคงกับพระราชอาณาจักรกลายเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้น ขุนนางสำคัญที่ช่วยเหลือพระองค์ในการรักษาอาณาจักร คือ เจ้าพระยาสุรสีห์(บุญมา) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองพิษณุโลก นอกจากนี้ ก็คือ เจ้าพระยาจักรี(ทองด้วง) ซึ่งเป็นตำแหน่งสมุหนายก ในภาวะแห่งการฟื้นฟูพระราชอาณาจักร เจ้าพระยาจักรีกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญมากขึ้นทุกที เพราะเจ้าพระยาจักรีสืบเชื้อสายมาจากขุนนางเก่าสมัยอยุธยา มีความรู้และความคุ้นเคยในด้านแบบแผนประเพณีมากกว่า และด้วยความเสื่อมของการเมืองแบบชุมนุมนี้เอง ทำให้พระเจ้ากรุงธนบุรี จะต้องแสวงหาความชอบธรรมทางเมืองมากยิ่งขึ้นพระองค์มีความสนใจด้านการคณะสงฆ์มาตั้งแต่ต้น และนี่น่าจะเป็นต้นเหตุที่พระองค์อธิบายว่า ตนเองบรรลุโสดาบัน ทั้งที่เป็นฆราวาส แต่การอ้างความชอบธรรมลักษณะนี้ กลับไม่ได้ผลตามแบบแผนประเพณี พระองค์จึงถูกกล่าวหาว่า วิกลจริต และสูญเสียการสนับสนุนในกลุ่มขุนนางและคณะสงฆ์

ในภาวะเช่นนี้เองทำให้เจ้าพระยาจักรีต้องวางแผนยึดอำนาจ โดยการหาเหตุไปราชการทัพที่กัมพูชา เมื่อ พ.ศ.2324 การยกไปตีกัมพูชาครั้งนี้ พระเจ้ากรุงธนบุรีได้แต่งตั้งให้เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ โอรสองค์โต ซึ่งเป็นพระมหาอุปราช เป็นแม่ทัพยกไปด้วย ในระหว่างที่เจ้าพระยาจักรีไปราชการทัพ พระยาสรรค์ก่อการกบฏ และยึดอำนาจได้สำเร็จในเดือนมีนาคม พ.ศ.2325 แล้วอัญเชิญให้พระเจ้ากรุงธนบุรีให้ทรงผนวช พระยาสรรค์ออกว่าราชการชั่วคราว

ในขณะนั้น พระยาสุริยอภัย(ทองอิน)ซึ่งเป็นหลานของเจ้าพระยาจักรี ซึ่งตั้งกองทัพอยู่ที่นครราชสีมา ได้ยกกำลังเข้ามาปราบปรามฝ่ายพระยาสรรค์ได้สำเร็จ ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 เจ้าพระยาจักรียกกองทัพกลับมาถึงกรุงธนบุรี และได้รับการอัญเชิญจากกลุ่มขุนนางให้ปราบดาภิเษกขึ้นครองสมบัติเพื่อรักษาความสงบของบ้านเมือง พระยาสรรค์และพวกที่ก่อการกบฎถูกประหารชีวิต

นอกจากนี้ เพื่อป้องกันไม่ได้เกิดปัญหายุ่งยาก พระมหากษัตริย์องค์ใหม่ จึงโปรดให้ประหารชีวิตพระเจ้ากรุงธนบุรีโดยการตัดศีรษะที่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ และนำพระศพไปฝังที่วัดบางยี่เรือใต้ พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จสวรรคตในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2325 สำหรับเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ ต่อมาได้ถูกจับกุมและประหารชีวิต เช่นเดียวกับพระโอรสของพระเจ้ากรุงธนบุรีที่เป็นชายอีกหลายพระองค์ โดยสรุปแล้ว การผลัดแผ่นดินครั้งนี้ มีขุนนางและเจ้านายฝ่ายธนบุรีถูกประหารชีวิตราว 150 คน

มีการเล่าในเชิงตำนานว่า พระองค์ได้หลีกทางให้เจ้าพระยาจักรีขึ้นครองราชย์ แล้วทรงหนีไปผนวชที่เมืองนครศรีธรรมราชตลอดชีวิต ส่วนผู้ถูกประหาร เป็นเพียงคนที่มีหน้าเหมือนพระเจ้าตาก เรื่องเล่าเช่นนี้ ไม่มีหลักฐานรองรับทางประวัติศาสตร์ และไม่น่าจะเป็นจริงไปได้

 

 

ที่มา: โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 406 วันที่ 13 เมษายน 2556

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท