คนมองหนัง: พี่มากพระโขนง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
(มีสปอยล์นะครับ ถ้าใครยังไม่ได้ดู ก็แชร์เก็บไว้ก่อน แล้วค่อยมาอ่านทีหลังก็ได้ 555)
 
ขอเขียนถึง “พี่มากพระโขนง” บ้างครับ หลังจากได้อ่านรีวิวของ อ.เกษียร ซึ่งแกตั้งข้อสังเกตไว้เฉียบคมมากๆ และผมรู้สึกเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง
 
หนึ่ง ก่อนหน้ากลับเมืองไทย เมื่อราวสองสัปดาห์ก่อนผมนั่งรถไฟไปเที่ยวที่ Warwick เนื่องจากวันที่ไปถึงนั้นมีฝนตกตลอดเวลา ผมจึงหมกตัวอยู่แถวๆ ปราสาท Warwick ในปราสาทดังกล่าว มีพื้นที่จัดแสดงส่วนหนึ่งที่ทำเป็น “บ้าน/ปราสาทผีสิง” เอาไว้ด้วย ซึ่งเป้าหมายหลักส่วนใหญ่ของโชว์นี้ก็ดูเหมือนจะเป็นพวกเด็กๆ
 
ขณะยืนต่อคิวอยู่หน้าพื้นที่จัดแสดง ก็มีเด็กผู้หญิงญี่ปุ่น 2-3 กลุ่มย่อยๆ ยืนต่อคิวเข้าปราสาทผีสิงก่อนหน้าผม (จริงๆ ผมเดาว่า พวกเธออาจเป็นเด็กนักเรียนกลุ่มเดียวกันที่มาเรียนซัมเมอร์ที่นี่ แต่เพราะโชว์บ้านผีสิง จะจำกัดผู้ชมให้เข้าไปได้ครั้งละประมาณ 10-15 คน เด็กญี่ปุ่นเหล่านี้เลยต้องถูกซอยออกเป็นกลุ่มย่อยๆ โดยมีครูชาวอังกฤษคอยเทคแคร์นักเรียนแต่ละกลุ่ม) 
 
พวกเธอมีอาการร่าเริงเป็นอย่างยิ่งก่อนเข้าไปในตัวปราสาทผีสิง เท่าที่สังเกตจากกริยาเล่นหัวหยอกล้อหัวร่อในหมู่พวกเดียวกันเอง และกับนักแสดงตลกหน้าประตูปราสาทอย่างสนุกสนาน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ หลังจากพวกเธอเข้าไปในตัวปราสาทแล้ว ในแต่ละกลุ่มย่อยจะต้องมีเด็กมีอาการช็อกร้องไห้โฮออกมาก่อนชมการแสดงจบ กลุ่มละอย่างน้อยหนึ่งคนเสมอ
 
เมื่อถึงรอบผม ผมก็ไม่รู้สึกกลัวอะไรมากน่ะนะ แล้วคนในกลุ่มผม (ซึ่งเป็นฝรั่ง -ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และคนแก่- เสียส่วนใหญ่ และดูเหมือนจะมีสาวๆ ฟิลิปปินส์ที่มากับผู้ชายฝรั่งคนหนึ่งอีก 2-3 คน) ก็ไม่มีใครมีอาการช็อกตกใจต้องขอออกจากปราสาทผีสิงดังกล่าวกลางคัน
 
ตามความเห็นของผม เด็กผู้หญิงญี่ปุ่น 2-3 คนที่มีอาการช็อกออกมาจากปราสาทผีสิงกลางคัน น่าจะมีอาการเหมือน culture shock คือ ด้านหนึ่ง ไอ้ “ผีหลอก” ในปราสาทที่ Warwick นี่ มันคงไปกระตุกต่อมกลัวต่อมตกใจของพวกเธอพอดี โดยเป็น “ความกลัว” ในแบบที่พวกเธอไม่คุ้นเคย และรับมือคาดการณ์ไม่ทัน อีกด้านหนึ่ง อาจเป็นเพราะ พวกเธอเป็นคนญี่ปุ่นยกแก๊งที่เดินเข้าไปในปราสาทผีสิงอังกฤษ (โดยมีครูพี่เลี้ยงชาวอังกฤษตามประกบหนึ่งคน) เพราะฉะนั้น ทั้งหมดดูจะมีความเป็น “อันหนึ่งอันเดียวกัน” ทางวัฒนธรรมร่วมกันอยู่ แต่อยู่ดีๆ พอเดินเข้าไปในตัวปราสาท ก็มี “ผีอังกฤษ” โผล่มาหลอกหลอน กระตุกขวัญ ป่วนปั่นให้จิตใจ อารมณ์ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวดังกล่าวแตกกระเจิง กระทั่งพวกเธอบางคน ไม่สามารถตั้งรับกับภาวะแตกกระเจิงแบบนั้นได้ทันท่วงที
 
ทั้งหมดนี้ อาจถือเป็นการหลอกหลอนของ “ผี” ที่ถูกวางอยู่บนพื้นฐานเรื่อง “ความแตกต่าง” (ทางวัฒนธรรม)
 
สอง ก่อนหน้าจะดูหนังเรื่อง “พี่มากพระโขนง” ไม่นาน ผมมีโอกาสได้อ่านบทความภาษาอังกฤษสั้นๆ ของ “ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช” ที่เขียนถึง “ผี” ในหนังของ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล”
 
ฤกษ์ฤทธิ์อ้างอิงถึงประสบการณ์ของตนเองที่เติบโตมากับละครโทรทัศน์ยุค 1970 เขาเชื่อมโยงข่าว-สารคดีปลุกใจต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลฝ่ายขวา/ทหารในโทรทัศน์ยุคนั้น เข้ากับละครทีวีหลังข่าว ซึ่งมักจะเป็น “เรื่องผี” 
 
“ผี” (และ/หรือคอมมิวนิสต์) ที่ฤกษ์ฤทธิ์เติบโตมาด้วย จึงหลอกหลอนผู้คนให้ตกอยู่ในความกลัว บนพื้นฐานเรื่อง “ความแตกต่าง”
 
นอกจากนั้น “ผี” ยังเป็นกลไกของชนชั้นปกครองในการครอบงำให้คนตกอยู่ภายใต้อำนาจ (สื่อ) ที่ใช้สร้างความกลัวดังกล่าว และเป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์ให้สามัญชนเชื่อฟัง/ยอมรับอำนาจแห่งความเหลื่อมล้ำ/ความไม่เท่าเทียมในสังคม (“ผี” จึงมีหน้าที่คล้ายๆ ความเชื่อเรื่อง “กรรม” แม้ฤกษ์ฤทธิ์จะไม่ได้กล่าวถึงเรื่องหลังไว้ในบทความของเขาก็ตาม)
 
แต่ “ผี” ในหนังของอภิชาติพงศ์กลับมีความแตกต่างออกไปตามมุมมองของฤกษ์ฤทธิ์ กล่าวคือ “ผี” ของอภิชาติพงศ์ไม่ได้หลอกคนผ่านสถานะอัน “แตกต่าง” ของตนเอง แต่ “ผี” ดังกล่าวกลับบ่งชี้ให้เห็นถึงสภาวะที่มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันกับ “ความแตกต่าง” ของผีได้อย่างปกติ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว
 
“ผี” จึงยังคงดำรงอยู่ในจอโทรทัศน์/ภาพยนตร์และสังคมไทย แต่ผู้คนไม่ได้กลัว “ผี” ที่ “แตกต่าง” จากตนเอง รวมทั้งเป็นกลไกอำนาจของชนชั้นปกครองอีกต่อไปแล้ว เพราะพวกเขาสามารถอยู่ร่วมกับ “ความแตกต่าง” ดังกล่าวได้อย่างปกติและด้วยความเข้าใจ
 
คิดต่อจากบทความของฤกษ์ฤทธิ์ “ผี” ประเภทหลังนี้มิได้ดำรงอยู่แต่เพียงในหนังอิสระรางวัลปาล์มทองคำของอภิชาติพงศ์เท่านั้น หากมันยังดำรงอยู่ในหนังร้อยล้าน (อาจถึงสองร้อยล้านหรือมากกว่านั้น) เรื่องล่าสุดอย่าง “พี่มากพระโขนง” อีกด้วย
 
สาม มาถึง “พี่มากพระโขนง” ผมคิดว่า มันน่าสนใจไม่น้อย หากนำ “พี่มากฯ” ไปเปรียบเทียบกับ “นางนาก” ผลงานการกำกับของ “นนทรีย์ นิมิบุตร” เมื่อปี พ.ศ.2542
 
เนื่องจาก “พี่มากฯ” อ้างอิงตนเอง (รวมถึงยั่วล้อ) เข้ากับโครงเรื่องและเกร็ดเรื่องราวหลายอย่างของ “นางนาก” อย่างชัดเจน ไม่นับว่าผู้อำนวยการผลิตของ “นางนาก” อย่าง “วิสูตร พูลวรลักษณ์” ก็ยังมารับหน้าที่เป็นหนึ่งในผู้อำนวยการผลิตของ “พี่มากฯ” (กระทั่ง “ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์” ที่เริ่มโด่งดังในฐานะคนทำดนตรีประกอบภาพยนตร์มือวางอันดับต้นๆ ของเมืองไทยจาก “นางนาก” ก็ยังคงเป็นหนึ่งในคนทำดนตรีประกอบให้ “พี่มากฯ” เช่นกัน) 
 
ถ้า “นางนาก” เป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของวงการหนังไทยหลังยุควิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ที่พยายามเผชิญหน้า/วิพากษ์วิกฤตที่เกิดขึ้น (จาก “ภัยภายนอก” เช่น ไอเอ็มเอฟ หรือ ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ของฝรั่ง ตามความเข้าใจทั่วๆ ไป) ด้วยอารมณ์ความรู้สึก “โหยหาอดีต” “หวนหารากเหง้าความเป็นไทยดั้งเดิม” (ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นในโลกภาพยนตร์)
 
“พี่มากพระโขนง” ก็อาจเป็นหนึ่งในหนังไทยร่วมสมัยที่พยายามพูดถึงวิกฤตการเมืองนับแต่ช่วงปลายทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา และยังดำเนินสืบเนื่องมาจนถึงช่วงกลางทศวรรษ 2550 หากแต่หนังเรื่องนี้มิได้วิพากษ์วิกฤตอันเกิดขึ้นจาก “ความขัดแย้งภายใน” ด้วยท่าทีของการกลับไปแสวงหาหรือรื้อฟื้นรากเหง้าอันดีงามในอดีต ทว่ากลับพยายามยั่วล้อ/กลับหัวกลับหางท่าทีดังกล่าวที่ถูกสร้างขึ้นโดยนางนาก (และหนังไทยเรื่องอื่นๆ ที่อยู่ร่วมสมัยกับนางนาก) และพยายามนำพาตัวเองให้หลุดพ้นไปจากกับดักดังกล่าว
 
ถ้าคนทำหนังไทยเชิงพาณิชย์ถือเป็น “ชนชั้นกลางวัฒนธรรม” (ตามความเห็นของ “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล”) อันเป็นกลุ่มคนที่ยึดกุมอำนาจนำในพื้นที่ “สื่อ” และมีความสำคัญยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม-การเมือง แต่คนกลุ่มนี้ในสังคมไทยกลับไม่ค่อยเลือกอยู่ข้างฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม-การเมืองไทยร่วมสมัยมากนัก 
 
การเกิดขึ้นและการประสบความสำเร็จของ “พี่มากฯ” อาจบ่งชี้ถึง “ชนชั้นกลางวัฒนธรรมไทย” ที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามความเปลี่ยนแปลงทางสังคม-การเมืองที่เคลื่อนตัวไปอย่างมหาศาลในช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา แต่แน่นอนว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นย่อมเป็นผลมาจากการที่คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญหน้ากับ “ปัญหา” ที่วางอยู่บนพื้นฐานและอยู่ในบริบท/ช่วงเวลาที่แตกต่างกันด้วย 
 
(จริงๆ เวลาพูดถึง “ชนชั้นกลางวัฒนธรรมไทย” ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ เราคงต้องยอมรับว่า คนกลุ่มนี้ไม่ได้มีความเป็นหนึ่งเดียว เช่น นนทรีย์ กับ “บรรจง ปิสัญธนะกูล” ก็เป็นคนทำหนังต่างรุ่นกัน ขณะเดียวกันคนรุ่นเดียวกันอย่างนนทรีย์ “เป็นเอก รัตนเรือง” และ “วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง” ก็มีท่าทีต่อปัญหาการเมืองไทยร่วมสมัยแตกต่างกันไป)
 
สี่ พิจารณาในเชิงรายละเอียด “นางนาก” ฉบับนนทรีย์ พยายามสถาปนา “ความจริงทางประวัติศาสตร์” ขึ้นมาให้กับตำนาน “แม่นาคพระโขนง” ผ่านการใส่บริบทจริงๆ ทางประวัติศาสตร์ เช่น ศึกเชียงตุง หรือบุคคลที่มีตัวตนจริงๆ ทางประวัติศาสตร์ อย่าง “สมเด็จโต” ลงไปในหนัง ผนวกด้วยการสร้างบรรยากาศของ “ความสมจริงทางประวัติศาสตร์” ตามโลกทัศน์ของ “ชนชั้นกลางวัฒนธรรม” ยุคนั้น ผ่านการออกแบบงานสร้าง ตลอดจนการประพันธ์/เรียบเรียงดนตรีประกอบให้กับหนัง 
 
ถ้าจำไม่ผิด “อ.ทรงยศ แววหงษ์” ถึงกับเคยเขียนบทความทำนองว่าหนัง “นางนาก” ของนนทรีย์ ได้ทำให้ความเป็นตำนานของ “แม่นาคพระโขนง” สิ้นสุดลงไป
 
ขณะเดียวกัน บทบาทสำคัญของตัวละคร “สมเด็จโต” ในหนังของนนทรีย์ ก็ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงบทบาทอำนาจของพุทธศาสนากระแสหลัก ในการแบ่งแยกชี้นำว่ามนุษย์ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับ “ความแตกต่าง” อย่าง “ผีนางนาก” ได้
 
อย่างไรก็ตาม การย้อนกลับไปหา “รากเหง้าทางประวัติศาสตร์” อันทรงพลังและงดงามในแบบ “นางนาก” ก็ถูกกร่อนเซาะลงโดยการมาถึงของหนังตลก “พี่มากพระโขนง”
 
ห้า “พี่มากฯ” ทำลายองค์ประกอบอะไรของ “นางนาก” ลงบ้าง?
 
ประการแรก “พี่มากฯ” ทำลายองค์ประกอบ “ความสมจริงทางประวัติศาสตร์” ลงไปอย่างสิ้นซากย่อยยับ มีงานโปรดักชั่นดีไซน์และมุขตลกที่ผิดยุคผิดสมัยดำรงอยู่ทั่วไปและอย่างจงใจในหนังเรื่องนี้ (ขณะที่ตัวสกอร์ประกอบหนังเอง แม้ชาติชาย คนทำสกอร์ “นางนาก” จะมาร่วมงานกับ “หัวลำโพง ริดดิม” ในการทำสกอร์ “พี่มากฯ” แต่กลิ่นอายแบบเพลงไทยเดิมหรือเพลงกล่อมลูกพื้นถิ่น ก็ไม่ได้ถูกขับเน้นออกมาให้โดดเด่นเหมือนเดิม) สงครามที่มากและสี่สหายไปร่วมรบ ไม่ได้ถูกระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นศึกอะไร อยู่ในปีไหน ไม่มี “สมเด็จโต” ในหนังเรื่องนี้ มีแต่พระตลกๆ ที่พบได้ในหนังตลกไทยทั่วไป
 
ที่เด็ดขาดที่สุด ก็คือ ไดอะล็อกช่วงต้นของหนัง ที่เล่นงานซะ บทพูดแบบ “โบราณประดิษฐ์” ซึ่งแพร่หลายในหนังไทยมาตั้งแต่ยุค “นางนาก” “บางระจัน” เรื่อยมาจนถึง “สุริโยไท” หรือ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวร” แทบจะหมดความชอบธรรมหรือมนต์ขลังในเชิงภาพยนตร์ไปอย่างสิ้นเชิง (เข้าใจว่า อ.เกษียร น่าจะชอบซีนนี้เป็นพิเศษ ส่วนผมนี่ตอนดูฉากนี้ถึงกับตบเข่าฉาดใหญ่เอาเลย)
 
ประการต่อมา หาก “นางนาก” เป็นการพยายามหันมาเพ่งมองพินิจพิเคราะห์ภูมิปัญญาหรือรากฐานทางประวัติศาสตร์ของ “ปัจจัยภายใน” ในยามที่สังคมไทยช่วงปี 2540 เผชิญกับภัยเศรษฐกิจ (ที่ถูกเข้าใจว่าเกิดจาก) จาก “ปัจจัยภายนอก” “พี่มากฯ” กลับไม่ได้ปฏิเสธ “ปัจจัยภายนอก” ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ลุ่มหลง “ปัจจัยภายใน” อย่างเกินเลย
 
ตัวละครพี่มากหรือมาร์คในหนัง มีหน้าตาเป็นฝรั่ง เพราะเป็นลูกของมิชชันนารีอเมริกัน และเขาก็สามารถดำรงอยู่ในสังคมไทยได้อย่างไม่มีปัญหา (หนังที่พูดถึงประเด็น “มิชชันนารี” ในยุครัชกาลที่ 5 ได้อย่างสนุกและชวบขบคิดอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ “สาบเสือที่ลำน้ำกษัตริย์” ของ “บัณฑิต ฤทธิ์ถกล” ผู้ล่วงลับ) ส่วน “ความเป็นชาติ” ของสยาม/ไทย ก็ถูกตั้งคำถามผ่านมุขตลก ทหารสยามที่ได้รับการปลุกใจสไตล์ชาวบ้านบางระจัน จนควงดาบด้วยท่าทีหาญกล้าออกไปสู้รบกับอริราชศัตรู (ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใคร เพราะหนังไม่ได้ฉายภาพให้เห็น) ก่อนจะพบว่าข้าศึกแม่งมือปืน ส่วนเรามีแค่ดาบ กระทั่งถูกยิงและต้องหนีเอาตัวรอดกันจ้าละหวั่น
 
และแน่นอนว่า หนึ่งในไดอะล็อก “จำ” ของหนังเรื่องนี้ ก็คือตอนที่มากกลับไปอ้อนนาคว่า ตอนออกศึกนั้น “เค้าไม่เคยคิดถึงสยามเลย เค้าคิดถึงแต่ตัวเอง” (เล่นเอา “พี่ชมพู ฟรุตตี้” แทบจะร้อง “ออกศึกข้านึกแต่รบและรบ จบศึกข้านึกแต่รักเจ้าเท่านั้น” ไม่ออกเอาเลยทีเดียว)
 
ประการสุดท้าย “พี่มากฯ” ไม่ได้แค่ทำลายโครงเรื่องของ “นางนาก” แต่ทำลายโครงเรื่องของตำนาน “แม่นาคพระโขนง” ลงไปด้วย ตอนช่วงท้ายๆ หนังตั้งคำถามหรือเล่นหัวกับโครงเรื่องดั้งเดิมอย่างสนุกสนานว่าตกลงใครกันแน่ที่เป็นผีหรือเป็นคน (จนทำให้คนดูสามารถ “หลงทาง” ไปถึงขั้นที่ว่า นาคอาจไม่ใช่ผี) แม้จะไม่ได้ทำลายโครงเรื่อง “แม่นาคฯ” ลงอย่างถอนรากถอนโคน คือ ปฏิเสธความเป็น “ผี” ของนาคอย่างสิ้นเชิง แต่หนัง “พี่มากพระโขนง” ก็เดินทางไปไกลพอที่จะทำให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันกับ “ผี” (หรือ “ความแตกต่าง”) ได้อย่างเข้าใจและเป็นมิตร ภาพนาคยืนกลับหัวบนเพดานศาลาการเปรียญวัดมหาบุศย์ไม่ได้นำไปสู่การตัดสินใจขั้นเด็ดขาดว่า ชาตินี้นาคและมากจะไม่มีวันอยู่ร่วมกันได้ หากเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเข้าใจว่า “คน” และ “ผี” สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ต่างหาก
 
หก ผมเข้าใจ (หรือพยายามตีความไปเอง) ว่า ฉากจบของหนังเรื่องนี้ ที่ฉายภาพชาวบ้านชุมนุมขับไล่ “ผีแม่นาค” (ซึ่งสามารถอยู่ร่วมกับพี่มากและสี่สหายได้อย่างปกติสุข) อาจมี “สารทางการเมือง” อยู่บ้างไม่มากก็น้อย เช่น คนทำหนังอาจพยายามยั่วถามคนดูว่า เราจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมในสังคมเดียวกันกับคนที่มีความเห็นทางการเมือง “แตกต่าง” กับเราได้หรือไม่? และทำไมเราต้องขับไล่คนที่มีความเห็นต่างออกไปจาก “บ้าน” หลังนี้?
 
อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่น่าตั้งคำถามถึงสถานะการดำรงอยู่ของ “นาค” ในหนังเรื่องนี้เช่นกัน กล่าวคือ สุดท้าย แม้จะมีคนเปิดรับความ “แตกต่าง” ของนาค แต่พวกเขาก็คือมากและสี่สหาย ไม่ใช่คนทั้งชุมชน อีกทั้งพื้นที่ที่เปิดต่อการดำรงอยู่ของ “นาค” จริงๆ กลับเป็น “ซุ้มผีสิง” ในงานวัด ราวกับว่า “ความแตกต่าง” ของ “ผีแม่นาค” จะดำรงอยู่ในสังคมไทยได้ก็ต่อเมื่อ มันเลือกจำกัดศักยภาพในการยั่วล้อ/พลิกหัวกลับหางความเชื่อทางสังคม-การเมืองกระแสหลักของตนเอง ให้อยู่ใน “โลกใต้ดินเสมือน” อันเป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลคาร์นิวัลอะไรสักอย่าง ไม่ใช่ในการดำเนินวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนแต่อย่างใด
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท