สันติภาพในมุม 'นัจมุดดีน อูมา' เมื่อเจอเอ็ม 79 ถล่ม 2 คืนซ้อน

สัมภาษณ์ ‘นัจมุดดีน อูมา’หลังโดยถล่มด้วยระเบิด M79 ถึง 2 คืนซ้อน กับบทบาทในกระบวนการพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้ ในฐานะนักการเมืองของพื้นที่และหนึ่งในมือประสานคนสำคัญที่ทำให้มีกระบวนการเจรจาสันติภาพ

หลังจาก “นัจมุดดีน อูมา” อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นราธิวาสหลายสมัย ถูกยิงระเบิดเอ็ม 79 ถล่มบ้านพักซ้ำ 2 คืนซ้อน สังคมพื้นที่ก็ตั้งคำถามขึ้นมาทันทีว่า เกิดอะไรขึ้นในเมื่อนัจมุดดีนคือตัวต่อสำคัญที่มีส่วนทำให้เกิดกระบวนการพูดเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

คืนแรกเกิดขึ้นในคืนวันที่ 7 เมษายน โดยคนร้ายยิงเอ็ม79 จำนวน 2 ลูก ไปโดนห้องประชุมที่กำลังก่อนสร้างใกล้เสร็จ ภายในบ้านพักริมถนนระแงะมรรคา หมู่ที่ 1 ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส และในคืนต่อมาคนร้ายยิง 1 ลูก แต่กระสุนพลาดเป้าไปถูกบ้านชาวบ้านจนมีคนบาดเจ็บ 1 คน

หลังเกิดเหตุครั้งที่ 2 นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส สั่งให้ตั้งด่านตรวจตลอดรัสมีการยิงลูกระเบิดเอ็ม79 เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นอีก ซึ่งอันที่จริงนายนัจมุดดีนถูกยิ่งถล่มบ้านพักด้วยเอ็ม79มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว

นัจมุดดีน เชื่อว่า คนร้ายที่ก่อเหตุทั้ง 2 ครั้งเป็นกลุ่มเดียวกัน ส่วนจะเป็นกลุ่มไหนนั้น เขาบอกว่าไม่ทราบ เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะคลี่คลายคดีนี้

อย่างไรก็ตามเขายืนยันว่า ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวและไม่ใช่เรื่องการเมืองแน่นอน แต่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ไม่สงบแน่นอน ส่วนจะมาจากกลุ่มไหนนั้น อัลลอฮ(พระเจ้าที่ชาวมุสลิมนับถือ)เท่านั้นคือผู้ที่รู้ดีที่สุด

นัจมุดดีน ยังได้พูดถึงกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติดภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ด้วยว่า ประชาชนทั่วไปร้อยละ 80 เห็นด้วยในหลักการ เช่นเดียวกับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เห็นด้วย แต่วิธีการที่จะเดินไปข้างหน้ายังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา

นัจมุดดีน ระบุว่า เราพลาดตรงที่การพูดคุยเป็นที่เปิดเผยมากเกินไป ทำให้คนรู้ตั้งแต่ต้น ทั้งที่รัฐบาลยังไม่ควรจะเปิดเผย ต่างจากกระบวนการสันติภาพที่มินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ ที่สังคมรู้ตอนที่กระบวนการใกล้จะจบแล้ว หลังจากที่มีการคุยกันมาเป็นเวลาหลายปี

“แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะกระบวนการพูดคุยครั้งนี้ เดินมาถูกทางแล้ว เพราะจะหาทางออกทางอื่นนอกจากนี้ไม่มีอีกแล้ว หากลองศึกษาประวัติศาสตร์ความขัดแย้งของที่อื่นในโลกดู พบว่า ไม่มีวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่จบลงด้วยการใช้อาวุธ”

เขาบอกว่า ปัญหาของคนจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส เป็นปัญหาทางการเมืองการปกครอง เพราะคนที่นี่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเมืองการปกครอง หากแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมจากการเมืองและการปกครองได้ ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ก็จะแก้ได้

เขาบอกว่า ในส่วนของคนที่ยังไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยเพื่อสันติภาพอีกร้อยละ 20 นั้น เป็นหน้าที่ฝ่ายรัฐจะต้องทำความเข้าใจกับคนกลุ่มนี้ให้ได้ เพื่อให้พวกเขาเข้าใจและเห็นด้วยในที่สุด

แต่เมื่อย้อนถามว่า - เป็นไปได้หรือไม่ว่า เหตุยิ่งเอ็ม 79 ทั้ง 2 ครั้ง มาจากคนกลุ่มนี้ นัจมุดดีน บอกว่า เป็นไปได้ เพราะกลุ่มเคลื่อนไหวในพื้นที่มีหลายกลุ่ม

“ที่จริงไม่ใช่พวกเขาไม่เห็นด้วยกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ แต่เรายังหาจุดไม่เจอว่าจะคุยกันอย่างไร ซึ่งก็ต้องพยายามต่อไป”

ส่วนในฝ่ายรัฐ เขาเชื่อว่า ไม่มีคนที่ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ในเมื่อมันเป็นนโยบายของรัฐบาลแล้ว ทุกฝ่ายก็ต้องทำตาม ยกเว้นว่าจะมีใครเล่นนอกกติกา

 

ที่ผ่านมามีบทบาทในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพอย่างไร

ผมมี 2 ฐานะ ฐานะแรก คือการเป็นนักการเมืองในพื้นที่ ผมเคยเป็น ส.ส. 4 สมัย แน่นอนว่าคนที่เป็น ส.ส.ก็ย่อมต้องมีมือไม้ในพื้นที่ ไม่ว่าจะอยู่พรรคไหนก็ตาม ต้องรู้จักคน ทั้งที่สนับสนุนและไม่สนับสนุน

ฐานะที่ 2 คือ มีคนถามว่าที่โดนถล่มครั้งนี้เพราะการเป็นที่ปรึกษาของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงหรือไม่ ที่จริงที่ปรึกษาทั้งหมดมี 9 คน ถ้าบอกว่า ที่โดนผมเพราะเป็นที่ปรึกษา ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องโดนกันหมด แต่นี่ทำไมโดนผมคนเดียว แถมยังโดน 2 ครั้งติดต่อกัน

เมื่อเช้า ร.ต.อ.เฉลิมก็โทรศัพท์มา เมื่อวานก็โทรศัพท์มา วันนี้โดนอีกก็โทรมาอีก ถามว่าเรื่องอะไร ผมบอกว่าไม่มีอะไร อาจเป็นเพราะมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับความพยายามในการสร้างสันติภาพก็เป็นได้

ในฐานะที่เป็นอดีต ส.ส.ก็ต้องฟังประชาชน ส่วนในฐานะที่ปรึกษาก็ต้องทำหน้าที่ที่ปรึกษา

 

การทำงานร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นอย่างไร

ผมไม่มีตำแหน่งหน้าที่อะไรใน ศอ.บต. เพียงแต่รู้จักเป็นการส่วนตัวกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศอ.บต. เวลามีอะไรก็มักจะคุยโทรศัพท์ไปมาในเรื่องปัญหาต่างๆ

อีกเรื่อง คือผมได้ไปพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนที่อยู่ในมาเลเซียมาหลายปีแล้ว บอกว่าตอนนี้รัฐบาลได้เปิดโอกาสที่จะให้คนที่อยู่ต่างประเทศได้กลับบ้าน รวมทั้งได้มีการพูดคุยทำความเข้าใจก็เท่านั้น

 

การติดต่อกับคนในขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชของฟาฏอนีย์

คนเราก็ต้องมีคนที่รู้จักกันเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นคนในขบวนการหรือไม่ ต่างก็เป็นคนที่นี่เหมือนกัน คนที่อยู่ในขบวนการและมีคดีติดตัวก็พยายามช่วยเรื่องคดี ถ้าใครไม่อยากให้พบเราก็ไม่ไปพบ หรือใครที่อยากให้เจอเราก็ไปเจอ ไม่ใช่ไปหาคนทำผิดมาลงโทษ ไปเจอก็คุย ส่วนเขาจะเห็นด้วยหรือไม่ ก็เรื่องของเขา แต่เราก็คุยกัน

 

มองการพูดคุยสันติภาพครั้งนี้จะไปต่อข้างหน้าอย่างไร

ต้องเดินหน้าต่อไป แต่จะให้ปัญหาจบลงในเวลา 3 – 4 วัน หรือ 5 เดือน คงเป็นไปไม่ได้ อย่างที่อาเจะห์ประเทศอินโดนีเซีย ก็ใช้เวลาถึง 7 – 8 ปี ส่วนที่มินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ก็ใช้เวลาถึง 10 ปีกว่าถึงจะสำเร็จ

ส่วนของเราแค่ 3 เดือนเอง แล้วจะให้ปัญหาจบได้อย่างไร เพราะฉะนั้นก็ต้องเดินหน้าต่อไป ส่วนเหตุการณ์ในพื้นที่จะเป็นอย่างไร ก็ให้มันเป็นไป เพราะคนทะเลาะกันมาเป็นร้อยปี มาคุยแค่ 4 วันแล้วจะให้จบ เป็นไปไม่ได้

 

ระหว่างนี้จะต้องทำอะไรเพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ

ต้องทำความเข้าใจแก่ประชาชนในเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ต้องทำความเข้าใจแก่คนที่ยังไม่เข้าใจ รัฐต้องทำ เช่น ผมได้ให้ความเห็นแก่เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่า ควรแปลนโยบายความมั่นคงให้เป็นภาษามลายู ภาษาอังกฤษ รวมทั้งภาษาอาหรับ เพื่อต้องการให้โลกรู้ เช่นเดียวกับนโยบายของศอ.บต.ก็ต้องแปลให้เป็นภาษาเหล่านั้นด้วย นี่ก็คือการทำความเข้าใจอย่างหนึ่ง

 

นักการเมืองเองต้องทำอะไรบ้าง ทั้งในฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน

ที่เป็นปัญหาตอนนี้คือ ส.ส.ที่มีอยู่ในพื้นที่เป็นของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งนั้น ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน นี่คือสิ่งที่คนในพื้นที่เสียเปรียบ เพราะพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล แต่ไม่มีส.ส.อยู่ในพื้นที่แม้แต่คนเดียว เพราะฉะนั้นต้องช่วยกันขอดูอา(ขอพร) ให้มากๆ เพื่อให้มีส.ส.และมีรัฐมนตรีเป็นคนมุสลิมในพื้นที่ ถึงจะมีความหวังในวันข้างหน้าได้

ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องมีรัฐมนตรีเป็นคนในพื้นที่ การทำงานจึงจะสำเร็จ เช่นการตั้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย การอนุญาตให้ผู้หญิงมุสลิมสามารถคลุมฮิญาบได้ ก็เกิดขึ้นในสมัยที่มีคนมุสลิมในพื้นที่เป็นรัฐมนตรี

 

ก่อนจะไปถึงจุดนั้น นักการเมืองควรทำอะไรบ้าง

หัวใจสำคัญคือ ต้องหาช่องทางในการหยุดความรุนแรงให้เจอก่อน ถ้าแก้ปัญหาไม่สงบไม่ได้ การแก้ปัญหาอย่างอื่นที่ตามมาก็จะยาก

 

โดนมา 2 ครั้งติดต่อกันรู้สึกอย่างไร

ปกติ งานที่ทำก็จะทำต่อไป ตามความเชื่อของคนมุสลิม ในเรื่องความตายนั้น พระเจ้ากำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้น ยิ่งทำให้รู้สึกว่าต้องสู้ต่อไป ไม่มีปัญหาอะไร เรื่องแค่นี้เป็นเพียงการทดสอบ ยังไม่ใช่ภัยพิบัติ เป็นการทดสอบจิตใจว่าเราอดทนมากน้อยแค่ไหน

 

ส่วนบทบาทของกลุ่มวาดะห์ที่มารวมตัวกันอีกครั้งเป็นอย่างไรบ้าง

เรามารวมตัวกันอีกครั้ง โดยในปีแรกนี้เราได้ขอความช่วยเหลือจากนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ให้กลับมาเป็นประธานกลุ่มวาดะห์อีกครั้ง เพื่อให้กลุ่มวาดะห์ได้รื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง โดยนายเด่น โต๊ะมีนา นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ รวมทั้งผม และนายบูราฮานุดิง อุเซ็ง มาเป็นนักคิดให้กับกลุ่มเพื่อจะเดินต่อไปข้างหน้า โดยในวันที่ 21 เมษายน 2556 นี้ จะมีการประชุมอีกครั้งหนึ่ง ที่บ้านของนายวันมูหะมัดนอร์ ที่จังหวัดยะลา และจะเปิดกว้างให้คนเข้าร่วม จุดประสงค์คือ จะทำอย่างไรที่จะเอาชนะพรรคประชาธิปัตย์ให้ได้

 

ในเรื่องกระบวนการสันติภาพ กลุ่มวาดะห์ทำอะไรบ้าง

กลุ่มวาดะห์สนับสนุนทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ส่วนการทำงานในทางลับก็ต้องทำด้วยเพื่อสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ เป็นเรื่องปกติดที่ทำอยู่แล้ว ซึ่งบ้างเรื่องไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะชนในวงกว้างได้ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อกระบวนการที่เดินอยู่ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท