'กลุ่มนักอ่านฯ' จี้สมาคมผู้จัดพิมพ์ ขยับปกป้องเสรีภาพคนในวงการ

หลังป่วนทางวัฒนธรรมลุยงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติหลายวัน "กลุ่มนักอ่านเพื่อเสรีภาพในการอ่าน เขียน พิมพ์ และเผยแพร่" ออกจดหมายเปิดผนึกถึงสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่วยหนังสือแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้เป็นตัวแทนยื่นเรื่องต่อรัฐบาล หลังมี นักเขียน นักแปล บรรณาธิการ โดนมาตรา 112 หลายราย
(7 เม.ย.56)  ก่อนวันสุดท้ายของงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปีนี้ "กลุ่มนักอ่านเพื่อเสรีภาพในการอ่าน เขียน พิมพ์ และเผยแพร่" อ่านจดหมายเปิดผนึกถึงสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้สมาคมฯ  แสดงท่าทีต่อการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการพิมพ์และการจำหน่ายหนังสือ โดยเป็นตัวแทนในการเสนอความคิดเห็น หรือยื่นเรื่องต่อรัฐบาล ตามวัตถุประสงค์ข้อ 7 ของสมาคมฯ ในส่วนของการพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือ หลังจากมีผู้เกี่ยวข้องในวงการหนังสือถูกลงโทษจำคุกด้วยมาตรา 112 (อ่านรายละเอียดด้านล่าง)

ทั้งนี้  "กลุ่มนักอ่านเพื่อเสรีภาพในการอ่าน เขียน พิมพ์ และเผยแพร่" เป็นการรวมตัวกันผ่านเฟซบุ๊ก เพื่อทำกิจกรรมเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก โดยตลอดงานสัปดาห์หนังสือฯ ที่ผ่านมา ได้ปฏิบัติการป่วนทางวัฒนธรรม (culture jamming) ด้วยการใส่หน้ากากสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ถูกดำเนินคดีตาม ม.112 ในฐานะบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Thaksin ทำกิจกรรมต่างๆ

กิจกรรมวันนี้ ประกอบด้วยการเดินซื้อหนังสือ นั่งอ่านหนังสืออย่างสงบ ถ่ายรูปกับนักเขียนชื่อดัง ทำตัวแข็งหุ่นนิ่ง สะดุดบันไดล้มใบปลิวว่อนกระจาย ก่อนจะถูก รปภ. กรูกันมาล้อมเพื่อให้หยุดกิจกรรมและถอดหน้ากากออก จากนั้น กลุ่มนักอ่านฯ จึงแยกย้ายไปรวมตัวหน้าประตูโซน C และนั่งอ่านจดหมายเปิดผนึกพร้อมกันจนจบ ท่ามกลางความสนใจของผู้คนละแวกนั้น 

 

จดหมายเปิดผนึกถึงสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

ในโอกาสที่สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เป็นเจ้าภาพจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 41 และในปี 2556 นี้กรุงเทพมหานครได้รับเลือกเป็นเมืองหนังสือโลก เราในนาม “กลุ่มนักอ่านเพื่อเสรีภาพในการอ่าน เขียน พิมพ์ และเผยแพร่” จึงถือโอกาสนี้มาร่วมงานสัปดาห์หนังสือฯ เพื่อสะท้อนให้ท่านและเพื่อนนักอ่านได้ตระหนักถึงสถานการณ์การจัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือในบ้านเรา

ท่านคงทราบดีว่า ในรอบ 5-6 ปีมานี้ มีนักเขียน นักแปล บรรณาธิการ ผู้จัดพิมพ์ คนขายหนังสือ ถูกจับกุมดำเนินดคีด้วยข้อหาเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามการตีความอย่างกว้างของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” คนเหล่านี้ประกอบสัมมาชีพด้านหนังสือและการพิมพ์อย่างสุจริตแต่ถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรมจากกฎหมายมาตรา 112 ไม่ว่าจะเป็นคุณบัณฑิต อานียา “นักเขียนผู้ต่ำต้อยที่สุดในประเทศสยาม” ที่เขียนและแจกเอกสารอันเข้าข่ายหมิ่นสถาบันกษัตริย์ในงานสัมมนา (คดีอยู่ในชั้นศาลฎีกา), คุณเลอพงษ์ (โจ กอร์ดอน) ถูกจำคุกโดยไม่รอลงอาญาในฐานะเจ้าของบล็อกที่เปิดให้ดาวน์โหลดหนังสือ The King Never Smiles (เขียนโดย Paul Handley ตีพิมพ์โดย Yale University Press เมื่อปี 2549) อันเป็นหนังสือต้องห้ามในประเทศไทย (ปัจจุบันคดีถึงที่สุดแล้ว), คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ถูกพิพากษาจำคุก 10 ปีจากการตีพิมพ์บทความ 2 ชิ้นอันเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ถูกจำคุกมาร่วม 2 ปี ยื่นขอประกันตัว 14 ครั้งไม่เคยได้รับสิทธิ), คุณเอกชัย หงส์กังวาน ผู้จำหน่ายซีดีสารคดีเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทยเผยแพร่ทางช่อง ABC ประเทศออสเตรเลีย ถูกตัดสินจำคุก 3 ปี 4 เดือนโดยไม่รอลงอาญา ทั้งที่เขาเป็นเพียงคนจำหน่าย และสารคดีดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก รวมถึงคนตัวเล็กตัวน้อยอีกมากที่ถูกจับกุมคุมขังเพียงเพราะพิมพ์ โพสต์ เขียน เผยแพร่ จำหน่าย โดยไม่ได้สิทธิประกันตัวมาสู้คดีในชั้นศาลเพื่อพิสูจน์เจตนาบริสุทธิ์ของตน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในรอบ 2 ปีมานี้มีการแสดงท่าทีวิตกกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าวของนักเขียนและบรรณาธิการอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกของนักเขียนกว่าร้อยรายชื่อ เรียกร้องให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และยุติการใช้ข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของเพื่อนร่วมวิชาชีพ ล่าสุดเมื่อต้นปีมานี้ ผู้ประกอบวิชาชีพบรรณาธิการ (บางส่วน) ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีการพิพากษาจำคุกสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นเวลาถึง 10 ปี ในฐานะบรรณาธิการที่ต้องความผิดฐานตีพิมพ์บทความ 2 ชิ้น ทั้งที่ พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ 2550 ได้มีบทบัญญัติยกเลิก พ.ร.บ. การพิมพ์ 2484 ไปแล้ว การตัดสินจำคุกบรรณาธิการ 10 ปีท่ามกลางความเงียบงันของสมาคมฯ ที่ไม่ควรเพิกเฉยต่อสถานการณ์คุกคามคนในวงการหนังสือ นั่นหมายความว่าอย่างไร?

ท่ามกลางบรรยากาศความกลัวในสังคมไทยเพราะมีคนในแวดวงหนังสือและการพิมพ์ถูกจับกุม ท่ามกลางสภาพที่มีหนังสือจำนวนมากถูกต้องห้าม ถูกเซ็นเซอร์ในประเทศไทย ท่ามกลางบรรยากาศจำกัดเสรีภาพในการอ่านและเผยแพร่บทความ บทวิจารณ์ ข้อเขียนใดก็ตามที่ถูก “ห้ามอ่าน” “ห้ามเผยแพร่” “ห้ามวิวาทะทางปัญญา” ในสภาพการณ์ดังกล่าวนี้ เราจะก้าวสู่เมืองหนังสือโลกอย่างสมศักดิ์ศรีได้อย่างไร?

เราเพียงหวังว่าสมาคมฯ จะเป็นตัวแทนในการเสนอความคิดเห็น หรือยื่นเรื่องต่อรัฐบาล ตามวัตถุประสงค์ข้อ 7 ของสมาคมฯ ในส่วนของการพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือ

เราเพียงหวังให้สมาคมฯ แสดงท่าทีต่อการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการพิมพ์และการจำหน่ายหนังสือ เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือผู้ใดต้องโทษจำคุกเพียงเพราะพิมพ์หรือจำหน่ายหนังสือ หรือเมื่อถูกจับกุมก็จักต้องได้รับสิทธิประกันตัวตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล เพราะพวกเขามิใช่นักโทษคดีอุกฉกรรจ์ หากมีเพียงปากกาและแท่นพิมพ์ดังที่พวกท่านมี

สุดท้ายนี้เราไม่มีเจตนาหรือความประสงค์ร้ายใดๆ ต่อการจัดงานครั้งนี้ เราเป็นเพียงกลุ่มนักอ่านจำนวนหนึ่งที่อยากรณรงค์ให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ด้วยการอ่านอย่างแท้จริง สมดังคำขวัญกรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก และสมดังเจตนารมณ์ของการก่อตั้งสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

กลุ่มนักอ่านเพื่อเสรีภาพในการอ่าน เขียน พิมพ์ และเผยแพร่
วันที่ 7 เมษายน 2556
แถลงที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท