ไม่มี 'วิญญูชน' ในกฎหมายอาญา : วิเคราะห์คำพิพากษาคดีเอกชัย คนขายซีดี

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

28 มีนาคม 2556 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาตัดสินจำคุกนายเอกชัย 5 ปี ปรับ 100,000 บาท เนื่องจากทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ ลดโทษให้หนึ่งในสาม เหลือ จำคุก 3 ปี 4 เดือน ปรับ 66,666 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชทายาท และตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 53 ประกอบมาตรา 82 ฐานประกอบธุรกิจจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน

การลงโทษในความผิดตามมาตรา 112 เป็นจำนวน 5 ปีก็ดี การลงโทษปรับขั้นต่ำฐานประกอบธุรกิจจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาตก็ดี เป็นแนวทางการกำหนดโทษที่เดินตามคำพิพากษาที่มีมาก่อนหน้านี้ทั้งสิ้น แต่การปรับใช้กฎหมายของศาลในคำพิพากษาคดีนี้ ยังมีประเด็นข้อสังเกตอยู่บ้างดังจะกล่าวต่อไป

การใช้อุดมการณ์สถาบันกษัตริย์ในสังคมไทย มาลงโทษจำเลย
คำพิพากษาคดีนี้กล่าวไว้ว่า การจะพิจารณาว่าเนื้อหาของสารคดีของสำนักข่าวเอบีซี ออสเตรเลีย ในแผ่นซีดี กับเนื้อหาในเอกสารจากเว็บไซต์วิกิลีกส์ ที่จำเลยนำมาขาย เป็นความผิดต่อกฎหมายหรือไม่นั้น...“...จะต้องพิจารณาถึงฐานะที่ทรงดำรงอยู่ในความรู้สึกของประชาชนชาวไทยอันมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ประกอบข้อความดังกล่าวด้วย ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 2 บัญญัติว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตรา 8 บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ มาตรา 70 บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตรา 77 บัญญัติว่า รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์”

จากการให้เหตุผลข้อนี้ของศาล มีประเด็นที่ควรพิจารณาว่า ตามคำพิพากษา ความผิดของจำเลยในคดีนี้ คือการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินีและรัชทายาท เนื่องจากเนื้อหาในแผ่นซีดีและในเอกสารวิกิลีกส์พาดพิงถึงพฤติกรรมของพระราชินีและรัชทายาทสองพระองค์ แต่ศาลกลับกล่าวอ้างว่าความผิดของจำเลยต้องพิจารณารัฐธรรมนูญมาตรา 2 และมาตรา 8 ซึ่งกล่าวถึงสถานะของ “พระมหากษัตริย์” ในฐานะ “บุคคล” ที่ดำรงตำแหน่งนั้น ไม่ใช่ตัว “สถาบันพระมหากษัตริย์” ซึ่งไม่รวมความถึง “พระราชินี” และ“รัชทายาท”

การที่ศาลกล่าวอ้างเรื่องหน้าที่ของบุคคลและรัฐในการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 70 และมาตรา 77 นั้น ก็ไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้อีกเช่นกัน เพราะจำเลยเองเบิกความไว้แล้วว่า การเผยแพร่ข้อความก็เพื่อต้องการชี้ให้เห็นว่ามีนักการเมืองกล่าวพาดพิงพระราชินีไว้อย่างไร ให้ประชาชนช่วยกันประณาม หากศาลลงโทษจำเลยโดยอ้างว่า เพราะบุคคลและรัฐมีหน้าที่รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์จึงเท่ากับศาลผูกขาดวิธีการทำหน้าที่รักษาสถาบันฯ ไว้เพียงแบบของตนเท่านั้น

การกล่าวอ้างเช่นนี้ จึงเป็นการเชิดชูอุดมการณ์ทางการเมืองการปกครองตามทัศนคติของตุลาการในคดี โดยไม่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงในคดีโดยตรง ซึ่งไม่ควรเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักมากพอจะนำมาใช้ลงโทษจำเลย

สำหรับประเด็นที่ว่า เนื้อหาในซีดีและเอกสารวิกิลีกส์เป็นความผิดต่อกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากผู้เขียนไม่สามารถนำข้อความมาเปิดเผยต่อสาธารณะได้เพราะอาจเป็นการกระทำผิดซ้ำ เมื่อไม่มีข้อมูลเพียงพอต่อการคิดวิเคราะห์ ผู้เขียนจึงไม่สามารถวิเคราะห์วิจารณ์ประเด็นนี้ แต่ศาลซึ่งเป็นผู้พิจารณาคดีและมีอำนาจเข้าถึงข้อเท็จจริงประกอบการกระทำในคดีทุกอย่าง ไม่มีเหตุต้องอ้างอุดมการณ์ทางการเมืองมาเป็นหลักในการวินิจฉัย การจะพิจารณาว่าเนื้อหาในซีดีและเอกสารที่จำเลยขายเป็นความผิดหรือไม่ ศาลต้องวินิจฉัยตามองค์ประกอบของกฎหมายเป็นหลัก หากเป็นการใส่ความต่อบุคคลที่สาม เป็นเหตุให้ผู้ถูกใส่ความเสียหายก็ย่อมเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท หากเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีของผู้ถูกกล่าวหาก็ย่อมเป็นการดูหมิ่น และศาลเป็นผู้ที่มีทั้งอำนาจและหน้าที่ในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในส่วนนี้อยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ต้องหยิบยกบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ไม่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงในคดีขึ้นมากล่าวอ้างอีก

ผลเสียของการใช้อุดมการณ์สถาบันพระมหากษัตริย์มาอธิบายเหตุผลของคำพิพากษา ทั้งที่อ้างอิงผิดพลาดหรือตอบไม่ตรงคำถาม มีแต่เป็นการลากเอาความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้กลายมาเป็นเหตุในการลงโทษบุคคล ใช้อุดมการณ์ความเชื่อเป็นเหตุลงโทษคนที่ไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และอาจขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 77 เรื่องหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เสียเอง

ศาลยังกล่าวด้วยว่า “ไม่เพียงแต่ในกฎหมาย ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ให้ความเคารพสักการะเทิดทูนไว้เหนือเกล้าตลอดมาตั้งแต่โบราณ การกล่าววาจาจาบจ้วงล่วงเกิน เปรียบเปรย หรือเสียดสีให้เป็นที่ระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาทนั้นไม่สามารถทำได้” ประเด็นนี้ก็น่าตั้งคำถามด้วยว่า การอ้างถึงความรู้สึกนึกคิดของประชาชนในสังคม ณ ช่วงเวลาหนึ่งๆ เพื่อประกอบการตีความกฎหมายและตัดสินคดีนั้น เป็นสิ่งที่ควรทำหรือไม่ เพราะความรู้สึกนึกคิดของประชาชนผูกพันกับประสบการณ์ของแต่ละยุคสมัย ซึ่งหากยึดตามความรู้สึกนึกคิดย่อมทำให้การตีความตัวบทกฎหมายเปลี่ยนแปลงได้ตามบรรยากาศของสังคม

ความผิดทางอาญา ต้องพิเคราะห์ที่ “เจตนา” ของจำเลย ไม่ใช่ความเข้าใจของ “วิญญูชน”
จำเลยและพยานจำเลยเบิกความยืนยันว่า เมื่อชมสารคดีในซีดีและอ่านข้อความในเอกสารที่จำเลยขายแล้วไม่รู้สึกว่าทำให้พระราชินี รัชทายาท เสียหาย เท่ากับ จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยไม่มีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย

ศาลอาจจะเชื่อข้อกล่าวอ้างของจำเลยหรือไม่ก็ได้ แต่ที่น่าสนใจคือ ศาลวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาว่า

“จำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นหรือไม่ ต้องดูความเข้าใจของวิญญูชนทั่วไปที่ได้อ่านข้อความนั้น ไม่ใช่ตามความเข้าใจหรือความรู้สึกของจำเลย”

การพิจารณาความผิดในคดีอาญาซึ่งมีโทษเป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพนั้น ต้องพิจารณาเจตนาที่อยู่ภายในใจของจำเลยเป็นหลัก หากจำเลยไม่มีเจตนาก็ย่อมไม่มีความผิด การพิจารณาถึงเจตนาซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ภายในใจต้องดูจากพฤติการณ์ของการกระทำและองค์ประกอบแวดล้อมอื่นๆ หากศาลกล่าวอ้างถึงประวัติการศึกษา การทำงานของจำเลย วิธีการขายซีดีในวันเกิดเหตุ ประวัติการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง การแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีของจำเลยที่ผ่านมา ฯลฯ มาเป็นเหตุผลเพื่อชี้ถึงเจตนาภายในของจำเลย สิ่งเหล่านี้ถือเป็นพฤติการณ์แวดล้อมที่อาจนำมาใช้วิเคราะห์เจตนาได้ ดังเช่นที่ศาลวิเคราะห์ว่าจำเลยขายซีดีและเอกสารในที่ชุมนุมของกลุ่มแดงสยาม ช่วงที่นายสุรชัย แซ่ด่านถูกจับ ซึ่งถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 นั้น ศาลจึงตีความว่าจำเลยมีเจตนาให้ผู้รับสารรู้สึกเกลียดชัง กรณีนี้ ไม่ว่าจำเลยหรือผู้ใดจะเห็นด้วยกับการใช้ดุลพินิจของศาลหรือไม่ แต่อย่างน้อยศาลก็วิเคราะห์ตามหลักการการพิจารณาคดี

แต่การที่ศาลอ้างว่า การพิจารณาเจตนาของจำเลยไม่อาจพิจารณาตามความเข้าใจของจำเลยได้ แต่ต้องดูความเข้าใจของ “วิญญูชน” นั้น การวินิจฉัยเช่นนี้ขัดต่อหลักความรับผิดทางอาญาของจำเลยอย่างร้ายแรง

คดีนี้ฝ่ายโจทก์ไม่ได้นำสืบถึงความเข้าใจของ “วิญญูชน” เลย คือไม่นำสืบบุคคลทั่วไปหรือผู้เชี่ยวชาญว่า เมื่อได้ชมสารคดีในซีดีและอ่านข้อความในเอกสารแล้วรู้สึกอย่างไร มีเพียงปากคำของเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ตัดสินใจดำเนินคดี ซึ่งย่อมไม่ใช่ตัวแทนของวิญญูชน การกล่าวอ้างความเข้าใจของ “วิญญูชน” ในคำพิพากษา จึงเป็นความเข้าใจตามมาตรฐาน “ส่วนตัว” ของผู้พิพากษาในคดีนี้เท่านั้น ในเมื่อศาลเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยอยู่แล้ว ศาลจึงควรแสดงออกถึงมาตรฐานนี้ด้วยการวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่มีอยู่ปรับให้เข้ากับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยกล่าวไว้ในคำพิพากษาให้ชัดเจนว่า เนื้อหาส่วนใดในซีดีและเอกสารที่ทำให้พระราชินีและรัชทายาทเสื่อมเสีย และเสื่อมเสียอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ศาลควรทำแต่ก็ไม่ได้ทำ กลับอ้างความเข้าใจของ “วิญญูชน” ขึ้นมาลอยๆ ทั้งที่ไม่มีหลักวิชาการใดทางกฎหมายรองรับ

การพิจารณามาตรฐานของ “วิญญูชน” นั้น เป็นหลักการที่ปรากฏในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันเกี่ยวข้องกับเรื่องทรัพย์สิน เช่น มาตรฐานการดูแลทรัพย์สินที่รับฝาก มาตรฐานการจัดการทรัพย์สินแทนผู้เยาว์ มาตรฐานการใช้ความระมัดระวังก่อนตกลงทำสัญญา ฯลฯ หากมีข้อพิพาทระหว่างบุคคลสองฝ่ายว่าอีกฝ่ายหนึ่งทำหน้าที่ด้วยความระมัดระวังเพียงพอแล้วหรือไม่ ฝ่ายหนึ่งคงกล่าวอ้างว่าตนทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว แต่ฝ่ายที่เสียหายคงกล่าวอ้างว่า ยังใช้ความระมัดระวังไม่เพียงพอ จึงต้องใช้มาตรฐานความระมัดระวังเยี่ยง “วิญญูชน” มาเป็นมาตรฐานในการตัดสิน ซึ่งมาตรฐานนี้แม้จะไม่ชัดเจนแต่ก็เป็นมาตรฐานระดับกลางๆ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงแวดล้อมของกรณีนั้นๆ แต่ไม่ใช่การก้าวล่วงเข้าไปกล่าวว่าภายในจิตใจของแต่ละคนคิดอย่างไร

แต่หลักการในคดีอาญานั้นแตกต่างกัน เพราะเป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพของจำเลย ไม่ใช่ข้อพิพาททางทรัพย์สิน ความรับผิดของจำเลยในคดีอาญาต้องพิจารณาที่ “เจตนา” ของจำเลย ด้วยเหตุนี้ คำว่ามาตรฐานของ “วิญญูชน” จึงไม่ปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายอาญาเลย และไม่ใช่หลักการของกฎหมายอาญา หากจำเลยกล่าวอ้างว่าตนไม่มีเจตนา โจทก์ไม่ได้นำสืบจนปราศจากข้อสงสัย และศาลไม่เห็นพฤติการณ์แวดล้อมอื่นๆ ที่ส่อให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยได้ การจะอ้างอิงหลักในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มากล่าวว่า ตามความเข้าใจของ “วิญญูชน” ทั่วไปจำเลยย่อมมีความผิด จำเลยจึงมีความผิดนั้นเป็นการให้เหตุผลที่ไม่ถูกต้อง

การขายซีดีที่อาจเข้าข่ายหมิ่นฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำครั้งเดียวจึงเป็นความผิดกรรมเดียว
คดีนี้ศาลวิเคราะห์เพียงสั้นๆ ว่า “...การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91”

ศาลไม่ได้ให้เหตุผลประกอบเลยว่า การขายซีดีเป็นการกระทำหลายกรรมอย่างไร ในเมื่อการกระทำที่ถูกฟ้องเป็นการขายซีดีในครั้งเดียวกัน วันเดียวกัน แผ่นเดียวกัน โดยจำเลยมีหนึ่งเจตนา แต่ศาลกลับวินิจฉัยว่าเป็นความผิดหลายกรรมต้องลงโทษทุกกรรมทั้งสองฐานความผิด

คดีนี้ ศาลอาจวินิจฉัยไปตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 3218/2549 และคำพิพากษาอื่นๆ ทำนองเดียวกัน ซึ่งเป็นกรณีพรากผู้เยาว์ไปทำอนาจาร ศาลวินิจฉัยไว้ว่าการพรากผู้เยาว์กับการทำอนาจารนั้นเป็นความผิดคนละกรรม เพราะความผิดฐานพรากผู้เยาว์เป็นความผิดต่ออำนาจปกครองของบิดามารดา ส่วนความผิดฐานทำอนาจารเป็นความผิดต่อตัวผู้เยาว์เอง กฎหมายมุ่งคุ้มครองผู้เสียหายที่ต่างกัน การกระทำของจำเลยจึงมีหลายเจตนาแยกต่างหากจากกัน เป็นความผิดหลายกรรม ต้องลงโทษทุกกรรมแยกเป็นกระทงความผิดไป

แต่ที่ฎีกา 3218/2549 ลงโทษจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันนั้น ไม่ใช่เพียงเพราะกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีวัตถุประสงค์คุ้มครองผู้เสียหายที่ต่างกันเท่านั้น แต่ยังมี “การกระทำ” ที่เกิดขึ้นหลายครั้งด้วย คือ มีทั้งความผิดฐานพรากผู้เยาว์ ซึ่งความผิดสำเร็จเมื่อมี “การพราก” และ ความผิดฐานอนาจารซึ่งความผิดสำเร็จเมื่อมี “การทำอนาจาร” ที่อาจเกิดต่างบริบทต่างเวลากัน พอจะสามารถแยกออกจากกันได้ เมื่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องคุ้มครองผู้เสียหายต่างกัน จึงมองว่าเป็นความผิด “หลายกรรม” หรือหลายการกระทำได้

ข้อเท็จจริงตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น ต่างจากข้อเท็จจริงในคดีของนายเอกชัย เพราะความผิดฐานหมิ่นประมาทพระราชินี หรือรัชทายาท จะเป็นความผิดสำเร็จก็ต่อเมื่อข้อความที่หมิ่นฯ นั้นถูกเผยแพร่ออกไปยังบุคคลที่สามแล้ว และความผิดฐานจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาตจะเป็นความผิดสำเร็จก็ต่อเมื่อมีการ “จำหน่าย” สำเร็จสมบูรณ์แล้วเท่านั้น หากจำเลยเพียงแค่ดาวน์โหลดข้อมูลมาไรท์ลงแผ่นซีดี ย่อมไม่เป็นความผิดทั้งสองฐาน กรณีของนายเอกชัยนั้น ความผิดทั้งสองฐานจะสำเร็จเป็นความผิดพร้อมกันด้วยการกระทำเดียวกันคือ เมื่อจำเลย “จำหน่าย” ซีดีไปยังบุคคลที่สามแล้ว ดังนั้นข้อเท็จจริงในคดีนี้จึงต่างจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3218/2549 จึงไม่สามารถนำหลักในคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับดังกล่าวและฉบับอื่นๆ ทำนองเดียวกันนั้นมาปรับใช้ได้

แม้ข้อหาตามคำฟ้องในคดีนี้ทั้งสองข้อหา จะมุ่งคุ้มครองคุณธรรมคนละประการ กล่าวคือ ความผิดฐานจำหน่ายซีดีโดยไม่ได้รับอนุญาตมุ่งคุ้มครองจัดระเบียบการประกอบธุรกิจ ส่วนความผิดตามมาตรา 112 มุ่งคุ้มครองพระเกียรติยศของพระราชินี และรัชทายาท แต่เมื่อการกระทำของจำเลยที่ถูกฟ้องเป็นคดีนี้ คือ การ “จำหน่าย” เป็นการกระทำในทางกายภาพเพียงครั้งเดียวจริงๆ จึงมองไม่เห็นเหตุที่จะนับว่าเป็นการกระทำความผิด “หลายกรรม” ต่างกันตามคำพิพากษาในคดีนี้ได้เลย หากวินิจฉัยโดยชอบแล้วว่าเป็นความผิด การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ศาลต้องลงโทษบทหนักที่สุด คือ มาตรา 112 เพียงบทเดียว ไม่สามารถลงโทษจำเลยในความผิดฐานจำหน่ายซีดีโดยไม่ได้รับอนุญาตอีก

จำเลยจำหน่ายซีดี “ภาพยนตร์” ไม่ใช่ “วีดิทัศน์” และไม่ได้ประกอบธุรกิจ
การที่ศาลวินิจฉัยในคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานประกอบธุรกิจจำหน่ายวีดิทัศน์หรือซีดีโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 54 นั้นเป็นการปรับบทกฎหมายที่ผิดโดยชัดแจ้ง

ประการที่หนึ่ง ตามความเข้าใจของคนทั่วไปอาจเรียกแผ่นซีดีว่า “วีดิทัศน์” แต่ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 กำหนดคำนิยามเอาไว้ ว่า

“ภาพยนตร์” หมายความว่า วัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ไม่รวมถึงวีดิทัศน์

“วีดิทัศน์” หมายความว่า วัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องในลักษณะที่เป็นเกมการเล่น คาราโอเกะที่มีภาพประกอบหรือลักษณะอื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง”

แผ่นซีดีตามฟ้องในคดีนี้บรรจุสารคดีภาพเคลื่อนไหวที่มีทั้งภาพและเสียงของสำนักข่าวเอบีซี ออสเตรเลีย เกี่ยวกับการเมืองไทยและกฎหมายอาญามาตรา 112 สามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพเคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ชมสามารถชมได้อย่างเดียว ไม่สามารถตอบโต้ได้ ไม่มีลักษณะเป็นเกมการเล่นหรือคาราโอเกะหรือสิ่งอื่นใดที่มีลักษณะคล้ายกัน ดังนั้น ในคดีนี้ จำเลยจำหน่ายแผ่นซีดีบรรจุ “ภาพยนตร์” ไม่ใช่ “วีดิทัศน์”

การที่ศาลสั่งลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 54 ประกอบมาตรา 82 ฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน โดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเป็นการปรับใช้กฎหมายที่ผิด เพราะเป็นมาตราที่เกี่ยวข้องกับวีดิทัศน์เท่านั้น หากตีความตามกฎหมายต้องลงโทษจำเลยฐานจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 38 ซึ่งว่าด้วยการประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน ซึ่งจะมีผลให้โทษต่างกัน

ประการที่สอง การกระทำของจำเลยซึ่งขายซีดีแผ่นละ 20 บาท ขายมาเพียงแค่สองครั้ง โดยวิธีการขายไม่มีการตั้งร้านแต่เอาซีดีใส่กระเป๋าแล้วเดินขาย ซึ่งจำเลยต่อสู้คดีว่าตนมีเจตนาจะเผยแพร่ข้อมูลมากกว่าหารายได้จากการขาย และในการชุมนุมทางการเมืองตามปกติก็มีการวางขายซีดีเป็นจำนวนมากโดยไม่มีใครต้องขออนุญาต การกระทำของจำเลยย่อมไม่อาจถือว่าเป็นการ “ประกอบกิจการ” ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้ จำเลยจึงไม่ควรจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ไม่ว่าจะตามมาตรา 38 หรือ 54 ก็ตาม

พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 เป็นกฎหมายฉบับหนึ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากในสังคม จากกรณีที่เป็นข่าวว่าคนเก็บขยะเก็บซีดีเก่าแล้วนำไปขายโดยไม่ขออนุญาต ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 38 ประกอบ มาตรา 79 เช่นเดียวกับจำเลยในคดีนี้ และศาลลงโทษปรับ 200,000 บาท จำเลยรับสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือปรับ 100,000 บาท ซึ่งกรณีดังกล่าวเคยสร้างแรงสั่นสะเทือนให้สังคมเห็นแล้วว่ากฎหมายนี้ควรถูกแก้ไข ดังนั้นในระหว่างที่กฎหมายยังไม่ได้รับการแก้ไข ศาลจึงไม่ควรบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างเคร่งครัดจนเกินไปและควรตีความในทางที่เป็นประโยชน์กับสิทธิเสรีภาพของจำเลย

คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ ทั้งเพราะเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรา 112 เกี่ยวเนื่องกับสำนักข่าวของประเทศออสเตรเลีย และข้อมูลจากเว็บไซต์ชื่อดังอย่างวิกิลีกส์ อีกทั้งยังเป็นคดีอาญาที่ผลของคำพิพากษาจำกัดสิทธิของจำเลยโดยตรง ข้อสังเกตต่างๆ ที่กล่าวมานี้จึงมุ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหาการตีความกฎหมายและการจำกัดเสรีภาพของประชาชนที่อาจตามมา หากยึดคำพิพากษาข้างต้นเป็นแนวทางในการวินิจฉัยคดีความต่างๆ ต่อไป

 

 

อ้างอิง: คดีนายเอกชัย คนขายซีดีสารคดีเอบีซีและเอกสารวิกิลีกส์
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://freedom.ilaw.or.th/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท