คนงานเผาโลงประท้วง ส.ส.ปัดตก พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับแรงงาน

3 เม.ย.56 เวลาประมาณ 12.00 น. บริเวณหน้ารัฐสภา ถ.อู่ทองใน กลุ่มคนงานประมาณ 500 คน นำโดย นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยชุมนุมประท้วงสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร โดยใช้ชื่อกิจกรรม "ประณามกระบวนการนิติบัญญัติไทยที่ใช้อํานาจทางอ้อมทําลายหลักการประชาธิปไตยทางตรง” กรณีสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้ลงมติในวาระที่ 1 ไม่รับหลักการของร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ... ของนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 14,264 คน ทำให้ร่างฯ ดังกล่าวเป็นอันตกไป 

โดยกลุ่มคนงานดังกล่าวได้ร่วมกันยื่นไว้อาลัยให้กับ ส.ส. 250 คน ที่ลงมติไม่รับร่างฯ พร้อมวางดอกไม้จันทน์ และเผาโลงศพจำลองติดรูปภาพนายเจริญ จรรย์โกมล  รองประธานสภาฯ นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.พรรคเพื่อไทย พร้อมกับข้อความกำกับว่า ‘โฉมหน้าผู้อภิปรายคว่ำกฎหมายประชาชน’ เพื่อเป็นการแสดงออกทางสัญลักษณ์ถึงการประณามการไม่รับร่างฯ ดังกล่าว หลังจากนั้นยุติการชุมนุมในเวลา 12.40 น.

นายชาลี ลอยสูง กล่าวปราศรัยว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ ส.ส.ไม่รับร่างกฎหมายของประชาชน ร่างกฎหมายนี้พี่น้องเราได้เข้าชื่ออย่างยากลำบากกว่าจะได้ 14,264 รายชื่อ โดยเฉพาะหลักการที่เสนอให้สำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ จากที่เดิมกฎหมายประกันสังคม พ.ศ.2533 กำหนดให้อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงแรงงาน แต่วันนี้เราต้องการให้เป็นองค์กรอิสระ แต่ ส.ส.ไม่รับร่างฯ นี้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม เข้าไป 4 ฉบับ เช่น ฉบับของกระทรวงแรงงาน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นต้น รวมทั้งฉบับของนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 14,264 คน ด้วย ปรากฏว่าเมื่อบรรจุเข้าไปในสภาผู้แทนราษฎรในวาระ 1 ฉบับของประชาชน ส.ส.กลับไม่รับหลักการ

“การที่เรามานี้เราไม่มีการแบ่งว่าจะเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน แต่เราประณาม ส.ส.คนที่ไม่ยกมือให้กับพวกเรา ไม่ว่าจะเป็นใครก็แล้วแต่ เราประณามทั้งหมด” นายชาลี กล่าวพร้อมย้ำด้วยว่า จะผลักดันกฎหมายประกันสังคมเพื่อให้มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ และเข้าไปดูแลผู้ประกันตนได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากตอนนี้กองทุนประกันสังคมมีจำนวนมหาศาลหากประชาชนไม่ดูแลหรือควบคุมก็จะมีปัญหาในอนาคตได้

สำหรับมาตรการต่อไปนั้น ประธานคณะกรรมการสมานฉันแรงงานไทย กล่าวว่าจะล่ารายชื่อเพื่อขับไล่ ส.ส.ที่ไม่รับร่างฯ ของประชาชนต่อไป รวมทั้งลงไปทำความเข้าใจกับผู้ร่วมลงชื่อ 14,264 รายชื่อ ตามพื้นที่ต่างๆ  และคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับอื่นที่กำลังพิจารณาในขั้นกรรมาธิการ ในประเด็นที่ไม่มีความโปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ และไม่เป็นผลประโยชน์กับผู้ประกันตน พร้อมทั้งย้ำว่ากลุ่มของเขาจะคัดค้านเรื่องนี้ถึงที่สุด
 

นายชาลี ลอยสูง

5 เหตุผล ในการประณาม :

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยในฐานะผู้เสนอร่างฯ ดังกล่าว ขอประณามกระบวนการนิติบัญญัติไทยที่ใช้อำนาจทางอ้อม ทำลายหลักการประชาธิปไตยทางตรง ด้วยเหตุผล 5 ข้อดังนี้

  1. ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ เป็นกฎหมายแรงงานฉบับแรกของประเทศไทยที่เสนอสู่รัฐสภา ภายหลังจากการมีรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 หลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ ในเรื่องประชาธิปไตยทางตรง ที่กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิใช้อำนาจอธิปไตยทางตรง คู่ขนานไปกับประชาธิปไตยทางอ้อมที่ใช้อำนาจผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นประชาธิปไตยทางอ้อม กลับใช้อำนาจของตนทำลายอำนาจของประชาชน เท่ากับว่าสิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนตามรัฐธรรมนูญได้ถูกทำลายลงด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นภาพสะท้อนว่า  ถ้ากฎหมายฉบับใดที่ประชาชนร่างขึ้นมา ไม่ถูกใจสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กฎหมายฉบับดังกล่าวก็จะไม่ถูกพิจารณาในรัฐสภาฯโดยทันที  ถือเป็นการกีดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง
     
  2. สิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน  เป็นสิทธิที่ถูกให้ความสำคัญมาโดยตลอด  ทั้งนี้สิทธิการเข้าชื่อเสนอกฎหมายถือเป็นพัฒนาการสำคัญของกระบวนการนิติบัญญัติ  โดยมีเป้าหมายเพื่อชดเชยจุดอ่อนของระบบ“ประชาธิปไตยตัวแทน” ซึ่งในทางหนึ่ง คือ การมอบอำนาจให้แก่ “นักเลือกตั้ง” ซึ่งสัมพันธ์โยงใยกับปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียง การคอร์รัปชั่น และความล้มเหลวในการบริหารประเทศจนนำไปสู่วิกฤตการเมืองซ้ำซาก  ดังนั้นกระบวนการเสนอกฎหมายภาคประชาชนถือเป็น “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” ที่ถูกนำมาใช้เพื่อถ่วงดุลกับ “ประชาธิปไตยตัวแทน” ซึ่งถูกมองว่าถูกครอบงำโดยอำนาจ “รัฐ” และ “ทุน” แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า อำนาจรัฐจึงไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง การนำเสนอกฎหมายภาคประชาชนกลับถูกสกัดกั้น เพราะขั้นตอนตามกระบวนการนิติบัญญัติที่เปิดโอกาสให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กลายเป็นผู้คัดกรองร่างกฎหมายภาคประชาชนว่าฉบับใดจะสามารถเข้าสู่กระบวนการพิจารณาได้ ถ้าร่างกฎหมายฉบับใดที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วยหรือไม่ต้องการให้ร่างกฎหมายนั้นๆ ผ่านขั้นตอนไป ก็จะลงมติไม่รับหลักการเพื่อให้ร่างประชาชนไม่ได้รับการพิจารณา
     
  3. ตามหลักการทางการเมืองในระบอบรัฐสภา ถือได้ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจสูงสุดในกระบวนการนิติบัญญัติ แต่การปฏิเสธไม่รับร่าง พรบ.ประกันสังคม ฉบับนี้ ถือเป็นภาพสะท้อนสำคัญที่ ส.ส. จำนวนมากยังขาดความรู้ต่อสาระสำคัญของกฎหมาย จึงทำให้ไม่สามารถพิจารณากฎหมายได้อย่างมีประสิทธิผล และมีความสามารถจำกัดในการนำเสนอแนวทางเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขร่างกฎหมายที่มีอุปสรรคต่อการเข้าถึงของผู้ประกันตนในปัจจุบัน จึงมีโอกาสสูงที่จะมีแนวคิดอนุรักษ์นิยม ประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ตกต่ำลงสนใจประโยชน์ประชาชนน้อยกว่าผลประโยชน์ของตนเอง
     
  4. ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ เป็นร่างกฎหมายที่ถูกบรรจุวาระการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรมาตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับร่างฉบับคณะรัฐมนตรี และร่างที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยตรง ที่เพิ่งบรรจุวาระเมื่อมกราคมและมีนาคมตามลำดับ แสดงถึงการมีเจตนาแอบแฝงในการไม่ให้ความสำคัญกับร่างกฎหมายที่เสนอโดยผู้ใช้แรงงาน  รวมทั้งข้อจำกัดจากรัฐธรรมนูญที่ขาดการบัญญัติว่าร่างกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชน จะต้องได้รับการพิจารณาจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามระยะเวลาที่กำหนดโดยมิชักช้า มากกว่าจะต้องรอร่างกฎหมายฉบับรัฐบาลเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก่อน
     
  5. สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ คือ มีความเป็นอิสระของสำนักงานประกันสังคม โดยเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ต้องมาจากการเลือกตั้งจากคณะกรรมการ ไม่ใช่เป็นข้าราชการเช่นในปัจจุบัน เพื่อดึงดูดคนที่มีความสามารถเข้ามาบริหารได้ รวมถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการ   ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นมืออาชีพ มีความเป็นอิสระปราศจากกลุ่มผลประโยชน์    เสนอให้เลือกตัวแทนแรงงาน เข้ามาเป็นตัวแทนของแรงงานได้อย่างแท้จริง และยังครอบคลุมกลุ่มแรงงานทุกกลุ่ม ทั้งในระบบ นอกระบบ ข้ามชาติ ลูกจ้างภาครัฐ ดังนั้นการปฏิเสธร่างกฎหมายฉบับนี้จึงแสดงถึงความไม่เข้าใจความทุกข์ยากของผู้ประกันตนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาของผู้ประกันตนที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน  รวมทั้งเมื่อมีความพยายามของผู้ใช้แรงงานในการนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาให้ผู้ประกันตนอย่างถูกทาง ก็มีมติไม่เห็นด้วย

ภาพบรรยากาศการชุมนุม :

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท