ความเปราะบางและการต่อรองของชาวนาในอุตสาหกรรมข้าวภาคกลาง [1]

บทความชิ้นแรกในชุดบทความ ข้าวนาปรัง : ความสัมพันธ์ ความเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งของสังคมไทยในชุมชนเกษตรภาคกลาง โดยจะทำการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการผลิต  ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมไทย ในการศึกษาชุดความรู้นี้ ทางประชาไทจะทยอยนำเสนอบทวิเคราะห์ที่มีความเชื่อมโยงกับประเด็นข้างต้นจำนวน 6ชิ้น

อนึ่ง ภายในไตรมาสที่สองของปี  2556 ประชาไท จะทยอยนำเสนอบทความที่จะพยายามทำความเข้าใจวิถีชีวิตและความสัมพันธ์การผลิตของชนบทไทยในปัจจุบัน 4ประเด็นคือเกษตรอินทรีย์, เกษตรพันธสัญญากรณีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภาคเหนือ,พืชเศรษฐกิจในภาคอีสาน และการทำนาปรังในภาคกลางที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้

คำแนะนำของนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ให้ชาวนาไทยเลิกปลูกข้าวปรัง เพราะต้นทุนในการปลูกข้าวของไทยเริ่มสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงลดการผลิตพืชหลัก 6 ชนิด คือ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย ข้าวโพด และควรนำเงินที่อุดหนุนสินค้าเกษตรดังกล่าวเอาไปพัฒนาระบบชลประทาน[2]   ออกมาหลังจากที่ก่อนหน้าข่าวกระทรวงพาณิชย์ จะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ให้ปรับลดราคารับจำนำลงจากตันละ 15,000 บาท เหลือ 13,000 บาท  [3]  ซึ่งต่อมานายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  ประธาน  กขช. ได้จะออกมายืนยันหลังการประชุมคณะกรรมการฯ ว่า รัฐบาลจะยังเดินหน้าโครงการจำนำข้าวในรอบการผลิตข้าวปี 2555/56 ตามเดิม   แต่นาปรัง ปี 2557 จะมีการทบทวนราคาใหม่ให้สอดคล้องกับแผนการปรับเขตพื้นที่ปลูก (zoning)  ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ  ได้ออกประกาศ เรื่องการกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556  อีกทั้งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมกับกรมการข้าว ได้ทำการวิจัยซึ่งจะเสร็จใน ปี 2556 และเตรียมจะออกประกาศเขต zoning ภายในเดือนมิถุนายน  และหากนำระบบนี้มาใช้ ประเทศไทยจะมีพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกข้าวประมาณ 38% ของพื้นที่ปลูกข้าวในปัจจุบัน ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปีราว 67 ล้านไร่ และข้าวนาปรังราว 16 ล้านไร่[4]    โดยพื้นที่เหมาะสมกับการลูกข้าวนี้กระจายอยู่ใน 75 จังหวัด 793 อำเภอ 5,669 ตำบล   นั่นคือมีเพียง พังงา จังหวัดเดียวที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว [5]

หรือนี่จะเป็นทางลงให้กับโครงการจำนำข้าวหลังจากที่ โครงการจำนำซึ่งข้าวถูกวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์  ชินวัตร ประกาศให้มีการดำเนินโครงการครั้งแรก หลังเข้ารับตำแหน่ง?    

 

โครงการจำนำข้าว :  โอกาสที่เลือกได้จากนโยบายพรรคการเมือง

โครงการจำนำข้าว   เป็นการเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับ ชาวนา  แรงงาน และอุตสาหกรรมข้าวของไทย  ดัง  นิธิ เอียวศรีวงศ์ ออกมาสนับสนุนโครงการรับจำนำข้าวว่าเป็นนโยบาย  “เปลี่ยนประเทศไทย”  ชาวนาอาจนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นไปใช้ในการเลื่อนสถานภาพทางสังคม [6] และพัฒนาตนเองเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองของตนเองและหรือลูกหลานในตลาดแรงงานในอนาคต  และเห็นว่าการคัดค้านโครงการรับจำนำข้าวของฝ่ายจารีตนิยมนั้นเป็นเพียงเพื่อเก็บชาวนาให้เป็นเพียงปัจเจกบุคคลตัวเล็ก ที่เป็นแรงงานราคาถูก และอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของปราชญ์ชาวบ้านที่สยบยอมต่อระบบเท่านั้น[7]   


ข้อมูลจาก: ประชาชาติธุรกิจ

ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมข้าวไม่ใช่แต่เพียงกลุ่มชาวนาเท่านั้น   ยังไม่นับรวมแรงงานรับจ้างรายวันที่ได้อานิสงค์การเพิ่มค่าจ้างจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท และโครงการรับจำนำข้าว ทั้งนี้ แรงงานรับจ้างในอุตสาหกรรมข้าวมี ทั้งประเภท ;   การฉีดพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช   หว่านปุ๋ย  แช่ข้าวพันธุ์   กีดน้ำ  ตัดข้าวดีด   ปั่นนา  ตีเทือก  บรรทุกข้าวส่งโรงสี   คนขับและเด็กรถเกี่ยว  ที่บางรายก็เป็นชาวนารายย่อย มีทุนสะสมต่ำที่ออกรับจ้างหารายได้เพิ่มอีกทางจากการทำนา 

นอกจากนี้ยังมีหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้อง    อาทิ  กลุ่มโรงสีและท่าข้าว  ซึ่งหากนับเฉพาะที่อยู่ในโครงการจำนำข้าวนั้นมีอยู่  ในสุพรรณบุรี 87 จุด และ พระนครศรีอยุธยา 32 จุด   , เครือข่ายผู้ประกอบการรถเกี่ยวนวดข้าว  21 จังหวัดในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง รวม 882 ราย ซึ่งในสุพรรณบุรีมากที่สุด  คือมีถึง 203 ราย และในพระนครศรีอยุธยา  มี 82 ราย  เป็นอันดับ 4 ของกลุ่ม    รวมไปถึงเครือข่ายผู้ผลิตเครื่องเกี่ยวนวดไทย และเครือข่ายผู้เกี่ยวข้าว ซึ่งให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจการเกี่ยวข้าว เช่น รถเกี่ยวข้าวและความเหมาะสมต่อการใช้งาน  บริการขนย้ายรถ และอื่นๆ   ซึ่ง ในปี 2556 นี้ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประมาณการร์ว่านโยบายประชาจำนำสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าว จะสร้างมูลค่าตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรในไทย  มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์คือมากกว่า  1.1  แสนล้านบาท[8]  

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมข้าวครบวงจรรายใหญ่ของไทยอย่าง บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด  ได้ออกมาสนับสนุนโครงการจำนำข้าวว่าต้องมีกระบวนการที่โปร่งใสมากขึ้นแล้ว  ภาครัฐฯและภาคเอกชนจำเป็นต้องผนึกกำลังปรับประสิทธิภาพการส่งออกข้าวไทยเพื่อสร้างศักยภาพความสามารถในการแข่งขันภายใต้โครงการรับจำนำ โดยเน้นการผลิตข้าวคุณภาพดี ประหยัดต้นทุนด้วยพันธุ์ข้าวดีที่เพิ่มผลผลิต/ไร่สูงขึ้น  [9]   ทั้งนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์เตรียมความพร้อมเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ปี 2558 โดยทุ่มงบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาทเพื่อธุรกิจข้าวสารครบวงจร  ที่อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายในพื้นที่กว่า 270 ไร่  มีกำลังการผลิต 3,600 ตัน/วัน หรือกว่า 1,080,000 ตัน/ปี ซึ่งผลิตผล 80% จะส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ 120 ประเทศทั่วโลก  [10]

 

การเมืองเรื่องข้าวกับชาวนายุคโลกาภิวัตน์

ขึ้นชื่อว่า “ข้าว” พืชเศรษฐกิจสำคัญที่มีพื้นที่ปลูกกว่า 61 ล้านไร่ และไทยที่ผลิตส่งออกข้าวจนเป็นอันดับหนึ่งผู้ส่งออกข้าวชาวนาไทยรู้กันดีว่าราคาข้าวที่ตนผลิตขายนั้นถูกตีราคามาจากราคาค้าขายข้าวในตลาดโลก     พ่อค้าส่งออกข้าวไทยก็ยังไม่สามารถกำหนดราคาขายข้าวได้เอง และใช้วิธีไล่เบี้ยเอากับชาวนา  

และการขายข้าวได้ราคาดี  ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะมีพ่อค้าข้าวคนดี หรือรัฐบาลคนดีมารับซื้อในราคาที่พวกเขาพึงพอใจ

ภายใต้โครงสร้างตลาดข้าวที่ชาวนาผู้ผลิตข้าวจะไม่สามารถกำหนดราคาขายข้าวของตัวเอง    ยังมีนโยบายของรัฐที่เข้ามาควบคุมเสถียรภาพราคาข้าวให้กับผู้บริโภคภายในประเทศเป็นหลัก และส่งผลกระทบต่อชาวนามาตั้งแต่เริ่มมีการส่งออกข้าว 

นับตั้งแต่มีการส่งออกข้าวในอดีต ซึ่งยังใช้เทคโนโลยีการผลิตข้าวยังอิงกับสภาพธรรมชาติ  การเพาะปลูกมีจำกัด และผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค    จนถึงยุคที่มีการบุกเบิกคลองชลประทานเพื่อส่งเสริมการทำนาเพื่อการค้าสมัยรัชกาลที่ 5     และเดินหน้าเข้าสู่ยุคปฏิวัติเขียว ซึ่งพัฒนารูปแบบการผลิตจนอุปทานข้าวมีมากกว่าอุปสงค์และราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง   การเก็บค่าพรีเมี่ยมจึงได้ยกเลิกไป ปี 2529   จนกระทั่งต่อมามีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตก้าวหน้ามากขึ้นจนผลผลิตข้าวมีอุปทานมากเกินอุปสงค์จนราคาข้าวที่ชาวนาขายได้ตกต่ำ สร้างผลกระทบต่อความอยู่รอดของชาวนา  มีผลทำให้รัฐต้องเปลี่ยนมาใช้นโยบายการแทรกแซงกลไกตลาดเพื่อให้การอุดหนุนแก่ผู้ผลิตแทน [11]    ดังเราจะเห็นภาพคุ้นชินกับกลุ่มชาวนาเช่น สมาคมชาวนาไทย   และเครือข่ายชาวนากลุ่มต่างๆ  ออกมารวมตัวกันประท้วงเพื่อเรียกร้องให้รัฐหันมาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพวกในเรื่องต่างๆ     

 

ความเปราะบาง กับโอกาส และการต่อรอง  

สิ่งที่สร้างความเปราะบางต่อชาวนาไม่ใช่แค่เพียงต้องราคาขายที่ถูกกำหนดจากตลาดโลกท่ามกลางความเสี่ยงที่ต้อง เผชิญกับน้ำ ฝน  ชลประทาน  และสภาพอากาศ  ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเจริญเติบ การให้ผลผลิตข้าว  และนำมาถึงกระบวนการต่อรองระหว่างชาวนากับรัฐอยู่เป็นระยะๆ

 

กรณีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

การแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดด และสร้างความเสียหายต่อชาวนาทั้งในประเทศไทย และเวียดนาม ประเทศคู่แข่งส่งออกข้าวของไทย  ในไทยมีรอบการแพร่ระบาดทุกๆ 10 ปี สร้างความเสียหายต่อชาวนาอย่างรุนแรงและกว้างขวาง อยู่เป็นระยะๆ[12]    เวียดนาม คู่แข่งของไทยก็เผชิญปัญหานี้เช่นเดียวกับไทย    ใน ปี 2550  มีการระบาดของเพลี้ยกระโดดหลังขาว และสร้างความเสียหายต่อพื้นที่ปลูกข้าวของเวียดนามเกือบทั้งหมด [13]  ประกอบกับช่วงกลางปี 2550  สต๊อกข้าวโลกลดลงเหลือ 8 % เพราะผลิตข้าวในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลางมีผลผลิตลดลง โดยเฉพาะจีน และอินเดีย หยุดส่งออก  น้ำมันดิบราคาแพงขึ้นจนเกษตรกรส่วนหนึ่งหันไปปลูกพืชพลังงานทดแทนมากขึ้นเพราะได้ราคาดีกว่า แต่ปริมาณความต้องการบริโภคข้าวโลกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 1.5 หรือ 6.3 ล้านตัน ส่งผลให้การค้าข้าวโลกปี 2550 จะเพิ่มขึ้นเป็น 29.7 ล้านตัน ในปีช่วงต้นปี 2551 จึงเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมส่งออกข้าวไทย  [14]  และช่วงนี้เองที่ชาวนาได้เรียกร้องให้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกในขณะนั้น   ประกาศราคารับจำนำในฤดูนาปรังปี 2551  ให้เท่ากับราคาตลาดซึ่งในขณะนั้นราคาข้าวเปลือกที่ระดับฟาร์มได้ขึ้นไปสูงถึงตันละ 15,000 บาท  มีผลทำ คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังและ ธกส. ดำเนินการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังความชื้นไม่เกิน 15% ที่ตันละ14,000 บาท [15]

กรณี ภัยแล้ง น้ำท่วม: ความเสี่ยงที่ชาวนาภาคกลางเจอจนชิน

การปรับโครงสร้างการผลิตและระบบชลประทาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการปลูกข้าวของชาวนาก็ยังเป็นที่ต้องสงสัยต่อกลุ่มชาวนาเสมอๆ   โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤตภัยแล้ง และอุทกภัย   ซึ่งนับวันปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวนาด้วยกันเองในช่วงการผลิต  และชาวนากับเมืองและอุตสหากรรม 

ในพระนครศรีอยุธยา ในอดีต ช่วงพฤษภาคม – มกราคม พื้นที่นาลุ่มที่น้ำท่วมในหน้าน้ำมีระดับความสูงของน้ำ    1.50 – 4 เมตร   นั้น เคยปลูกพันธุ์ข้าวฟางลอย  ซึ่งเป็นการทำนาที่อาศัยน้ำฝนโดยปลูกพันธุ์ข้าวข้าวที่สามารถยืดตัวลอยขึ้นตามระดับน้ำได้โดยไม่ตาย  ทั้งในเขตพระนครศรีอยุธยาบางส่วน รวมถึง อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท และสุพรรณบุรี เคยมีที่นาฟางลอยกว่า 6 ล้านไร่   แต่ปัจจุบันพื้นที่การเพาะปลูกข้าวนาปีที่เป็นข้าวฟางลดลงเป็นจำนวนมาก   เนื่องมาจากการเปลี่ยนโครงการการจัดการน้ำและที่ดินให้กลายเป็นพื้นที่รับน้ำท่วม และตลาดไม่เป็นที่นิยมข้าวฟางลอยเพราะเป็นข้าวด้อยคุณภาพ และให้ผลผลิตต่ำ [16]   อีกทั้งการปลูกข้าวฟางลอยในยุคปัจจุบันยังมีปัญหาขัดแย้งเรื่องการใช้น้ำกับกลุ่มชาวนาปรังในพื้นที่เดียวกันที่กำลังมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น  ระดับน้ำที่ท่วมสูงและไวในปี 2549 และ 2554 มีผลทำให้ ปริมาณผลผลิตข้าวฟางลอยลดต่ำ   รวมทั้งการปลูกข้าวฟางลอยปนกับข้าวนาปรังยังส่งผลกระทบถึงการระบายน้ำเพื่อให้น้ำท่วมนองในทุ่งนาแทนเขตเมืองด้วย[17]     ปัจจุบัน  พระนครศรีอยุธยาจึงมีรูปแบบการผลิตข้าวมีรอบการเพาะปลูกไม่แตกต่างกับทางสุพรรณบุรีมากนัก     จะยังมีอยู่บางพื้นที่เท่านั้นที่น้ำท่วมสูงและโครงสร้างทางชลประทานยังไม่ดีพอจนชาวนาไม่กล้าเสี่ยงลงทุนปรับแปลงนา ดังเช่น ต.หนองน้ำใหญ่ อ.ผักไห่   

หากเข้าใจถึงสภาพภูมิศาสตร์และปัญหาการจัดน้ำที่เกิดขึ้นกับชาวนาแล้ว เราอาจะเข้าใจได้ว่า  การเลือกปลูกข้าวอายุสั้นกว่า 110 วัน ของชาวนากับโครงการจำนำข้าวที่กำลังเป็นปัญหาอยู่นี้มีความสำคัญและจำเป็นจะต้องปรับเงื่อนไขให้ยืดหยุ่น และสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในระดับพื้นที่ 

ชาวนาอยุธยาส่วนใหญ่ที่เปลี่ยนรูปแบบมาทำนาปรัง    ต้องเร่งการปลูกข้าวนาปรังครั้งที่ 2 ให้ทันในช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม  แล้วจึงปล่อยให้น้ำท่วมนองนาน 4 เดือน คือ  กันยายน –ธันวาคม หรืออาจจะเลยไปยังต้นเดือนมกราคมในปีที่น้ำมากอยู่เสมอ  หลังวิกฤตน้ำท่วมเฉียบพลัน ปี2549 สร้างทั่วทั้งพื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง  ความเฉพาะพื้นการเกษตรของ อ.ผักไห่ เสียหายถึง 206,000 ไร่        ต่อมาที่นารอบเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาและเขตอุตสาหกรรมจึงกำหนดให้เป็นพื้นที่ที่รับน้ำนองในโครงการพระราชดำริ แก้มลิงบางบาล1 [18]  และกลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ในโครงการรับน้ำนองที่มีขึ้นหลังปีมหาอุกทกภัยครั้งล่าสุดเมื่อปี 2554 [19]  

ประสบการณ์ในภาวะขาดแคลนน้ำทำนาปรังครั้งที่2 ในช่วงฤดูแล้ง  และต้องเป็นที่รับน้ำนองในช่วงฤดูน้ำหลาก ของชาวนาในเขตพระนครศรีอยุธยา มักทำให้เกิดข้อร้องเรียนต่อปัญหาการจัดการน้ำที่ไม่เท่าเทียม  เมื่อเทียบเคียงชาวนาสุพรรณบุรี  ซึ่งมีบางพื้นที่ที่ติดต่อกันกับเขตพระนครศรีอยุธยา[20]  ดังกรณีที่ชาวนาในพระนครศรีอยุธยาไม่สามารถทำนาในฤดูหน้าแล้ง และต้องเลื่อนการปลูกข้าวนาปรังครั้งที่2 ไปตามแผนการส่งเสริมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามแผนการจัดการน้ำของกรมชลประทาน แต่ต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วมและเกี่ยวข้าวเขียวหนีน้ำในฤดูปลูกนั้น เมื่อปี 2553 นั้นที่มีพื้นที่ขัดแย้งรุนแรงกว้างขวางครอบคลุมพื้นที่การเกษตรกว่า 4 ล้านไร่ จนถึงกับมีคำสั่งจากผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกกำชับให้ทหารประสานงานกับฝ่ายปกครองในพื้นที่เฝ้าระวังประตูกั้นน้ำที่ พระนครศรีอยุธยา และ สุพรรณบุรี [21]   

ชาวนาไทยหรือที่ไหนในโลกก็คงไม่นึกว่า ตนต้องเจอ ภัย 3 เด้ง ในรอบปีเดียว !?

ต้นปี 2553  ชาวนาในภาคกลางยังต้องเผชิญภัยเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปี 2552    และถูกซ้ำเติมด้วยภาวะภัยแล้งในช่วงฤดูแล้ง  จนกระทั่งช่วงปลายสิงหาคม  น้ำไหลบ่าลงมาจากตอนบน ก็ได้เอ่อนองท่วมพื้นผืนนาในเขตนี้ไว้กว่าปกติกว่า 10  ทำให้ข้าวที่กำลังเขียวและต้องถูกกลืนหายไปกับน้ำ   โดยรัฐบาลยุคนายกอภิสิทธิ เวชชาชีวะ  จ่ายค่าชดเชยน้ำท่วมให้ชาวนาเพียง 55 % ของต้นทุนการผลิตโดยเฉลี่ย หรือ 2,098 บาท/ไร่ รวม 1.4 หมื่นล้านบาท [22]      

หลังจากเจอ 3 เด้งในรอบปีเดียวไปหมาดๆ   แต่ชาวนาก็ยังความหวังกับข้าวซึ่งเป็นพืชอายุสั้นอยู่บ้างหากไม่โดนภัยธรรมชาติซ้ำเติมอีก    แต่ข้อเท็จจริงก็คือเรามี ปี 2554 เป็นปีมหาอุทกภัย  ซึ่งสร้างปัญหาให้กับผู้คนหลากอาชีพได้อย่างกว้างขวาง  

เฉพาะต้นเดือนกันยายน ปี 2554   ที่  อ.ผักไห่  ซึ่งเป็นเขตติดต่อระหว่าง จ.พระนครศรีอยุธยา – สุพรรณบุรี และ อ่างทอง  มีเหตุประท้วงจากปัญหาการจัดการน้ำท่วมที่ไม่สามารถแก้ไขให้ลงรอยกันได้ ถึง 4 ครั้ง ซึ่ ง 3 ครั้งแรกเกิดที่จุดประตูน้ำลาดชะโด  โดย ชาวบ้าน กับชาวนา ผักไห่     ชาวนาจากสุพรรณบุรีกับชาวบ้านผักไห่ [23]  และชาวบ้านผักไห่ราว 300 คนออกมากดดันให้เปิดประตูน้ำอีกรอบ    ส่วนครั้งสุดท้ายที่ชาวบ้านริมน้ำต้องออกมาประท้วงให้เปิดบานประตูน้ำระบายน้ำลาดชิด  ซึ่งหลังจากวันที่มีการเปิดประตูน้ำนี้แล้ว คาดว่ามีชาวนาผักไห่ต้องเกี่ยวข้าวเขียวกลางน้ำนับ 100,000 ไร่ [24]

สรุปความเสียหายของชาวนาทั่วประเทศในปี 2554  พบมี พื้นที่นาเสียหาย 7 ล้านไร่  ชาวนากว่า 3.5 แสนครัวเรือนที่ถูกน้ำท่วม  รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จ่ายค่าชดเชยไร่ละ 2,222 บาท และแจกเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่ละ 10 กก. แต่ไม่เกิน 10 ไร่  ส่วนชาวนาที่เร่งเก็บเกี่ยวข้าวในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน  ประมาณ 8.8 ล้านไร่ จำนวนผลผลิต 4.5 ล้านตัน จะได้รับเงินเยียวยาเพิ่มตันละ 1,437 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนเนื่องจากเป็นช่วงรอยต่อโครงการประกันรายได้เกษตรกรปิดโครงการเมื่อ 15 กันยายน 2554 และโครงการจำนำข้าว ภายใต้เงื่อนไขว่าชาวนาที่ได้รับการเยียวยาดังกล่าวแล้วจะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวครั้งที่ 1 ซึ่งจะเริ่มดำเนินการ 7 ตุลาคม 2554 ได้อีก   (แทรกภาพที่ 005)

โครงการจำนำข้าวที่ประกาศรับซื้อข้าวตันละ 15,000 บาท ที่ความชื้น 14 % ทันทีในเมื่อตุลาคม 2554 จึงเป็นฝันที่เป็นจริงของชาวนาใน เขต ม.9 ต.หนองน้ำใหญ่  อ.ผักไห่   ที่ต้องการปรับโครงสร้างการผลิตที่ส่วนใหญ่ยังทำนาฟางลอยแต่กำลังให้กลายเป็นนาปรังทั้งทุ่ง  เพื่อหลีกหนีจากการเผชิญกับหายนะจากภาวะน้ำท่วมซ้ำซาก ผลผลิตตกต่ำ  และมีปัญหาขัดแย้งเรื่องการจัดน้ำทั้งกับชาวนาปรังด้วยกันเองและกับการจัดการน้ำภาพรวมของโครงการชลประทาน  โดยหวังว่าพวกเขาจะสามารถทำนาปรังได้ปีละ 2 ครั้ง ขายข้าวตันละไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท   ไปพร้อมๆ กับยอมรับภาวะจำยอมเป็นพื้นที่รับน้ำนองให้กับเมืองและอุตสาหกรรมในยามน้ำหลาก

น่าสนใจว่า ชาวนาหนองน้ำใหญ่   และเครือข่ายธุรกิจอุตสาหกรรมข้าวจะ ที่ต้องการเปลี่ยนโครงสร้างจากความล้มเหลวในการนาปีข้าวฟางลอย  มาสู่วิถีการทำนาปรัง ที่แม้จะมีความเสี่ยงและลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ก็ให้ผลผลิตได้มากขึ้นด้วย   พวกเขาจะปรับตัวและงัดกลยุทธ์ใดมาใช้ท่ามกลางภาวะที่ยังหวั่นวิตกว่าในฤดูนาปรังหน2 ที่จะเริ่มในเดือนพฤษภาคมนี้ อาจจะไม่มีน้ำให้ทำนาอย่างที่คาดไว้ ?    (โปรดติดตามตอนหน้า) 

 

 

 


[1] บทความชุดที่สังเคราะห์ขึ้นจาก กรณีศึกษา  “โครงการจำนำข้าว: โอกาสและกลยุทธ์การลดต้นทุนและพัฒนาการผลิตของชาวนารายย่อยและแรงงานในอุตสาหกรรมข้าว”  กรณีศึกษา  ต.หนองน้ำใหญ่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา  และ  ต.สระแก้ว  อ.เมือง  จ.สุพรรณบุรี   ระหว่าง มกราคม – พฤษภาคม 2556   โดยการสนับสนุนของ ประชาไท และ  ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

[2] ขย่มล้มนาปรังแนะโยกงบฟื้นอีสเทิร์นซีบอร์ด โพสต์ทูเดย์  19-03-56  http://bit.ly/ZWrDrV   

[3] ปลดล็อกโครงการรับจำนำข้าว ถอยคนละก้าวหาสมดุลชาวนา-ส่งออก ไทยรัฐ  11-03-56  http://www.thairath.co.th/column/eco/ecoscoop/331480

[4] รัฐถังแตกดัน"โซนนิ่ง"คุมจำนำข้าว ดีเดย์นาปรังปี"57เลิกซื้อทุกเมล็ด   ประชาชาติธุรกิจออนไลน์  13-03-56  http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1363153049&grpid=09&catid=19&subcatid=1900

[5] โซนนิ่งพืช 6 ชนิด พังงาไม่เหมาะปลูกข้าว  ไทยรัฐ  19-02-56  http://www.thairath.co.th/content/edu/327401

[6] นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เปลี่ยนประเทศไทย ด้วยการรับจำนำข้าว  มติชนรายวันรายวัน 5-11-55  http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1352088566&grpid=03&catid=03

[7] เปลี่ยนประเทศไทยด้วยการจำนำข้าว (อีกที) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์  มติชนรายวัน  3-12-55  http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1354506138&grpid=03&catid=03

[8] จำนำดันเครื่องจักรกลเกษตรโต  ฐานเศรษฐกิจ   11-01-56 http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=163302:2013-01-11-09-22-18&catid=87:2009-02-08-11-23-26&Itemid=423

[9] บิ๊กซีพี ชี้ "จำนำข้าว" จะดีมาก ถ้าเพิ่มอีก 5 เรื่องที่ต้องทำ !!!  มติชนออนไลน์  26-12-56   http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1356511798&grpid&catid=05&subcatid=0500

[10] ซีพีทุ่ม 3 พันล้านยกระดับข้าว เตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคม AEC  ไทยรัฐ  20-12-55

http://www.thairath.co.th/content/edu/314415

[11] นโยบายสาธารณะว่าด้วยเรื่องข้าว , สมพร อิศวิลานนท์

[12] การแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เกิดขึ้นครั้งแรกในไทย เมื่อประมาณปี 2520  ต่อมาใน ปี  2532 - 2533  , ปี 2540- 2541   และล่าสุดคือ ปี 2552 - ช่วงต้นปี 2553   (ดูตารางประกอบ)  

[13] งานวิจัย "ดำรงชีวิตท่ามกลางความเสี่ยง :  การรับมือและการปรับตัวต่อภัยพิบัติของชาวนารายย่อยภาคกลาง กรณีศึกษาภัยน้ำท่วมและภัยจากเพลี้ยกระโดด"  โดย ชลิตา บัณฑุวงศ์ นิรมล ยุวนบุณย์ และ นันทา กันตรี  ,  เมษายน 2554

[14] ตลาดข้าวปี"51 แนวโน้มสดใส ไทยคาดส่งออก 9 ล้านตัน   ประชาชาติธุรกิจ 12-11-50

[15]  สมพร อิศวลานนท์  , 2555  (อ้างแล้ว , หน้า 16)

[16] ความหลากหลายทางพันธุกรรมของข้าวขึ้นน้ำภาคกลาง กรณีศึกษา ต.บ้านขล้อ อ.บางประหัน จ.พระนครศรีอยุธยา , สุขสรรค์ กันตรี 2554

[17] ชลิตา บัณฑุวงศ์ นิรมล ยุวนบุณย์ และ นันทา กันตรี  ,  เมษายน 2554 (อ้างแล้ว)

[20] “ชาวนาจวก4ส.ส.พท.1ชทพ.อยุธยาอมอะไรไว้ในปาก ไม่คิดช่วยถูกน้ำท่วม”   มติชนออนไลน์  29-10-53   http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1288331280&catid=no

[21] กลางระส่ำศึกน้ำ ใต้หลอนฝันร้ายหาดใหญ่  โพสต์ทูเดย์ 30-10-53  

[22] ชาวกรุงเก่าเปิดฉากทะเลาะกันเรื่องน้ำท่วม  ASTVผู้จัดการออนไลน์ 1-09-54 http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9540000110646

[23] ถนนกรุงเก่าขาด ผวาน้ำทะเลหนุน จี้รัฐเร่งช่วยเหลือ น.ส.พ.เดลินิวส์ 3-09-54 (หน้า 1, 15)

[24] ชลประทานผักไห่เสริมกระสอบทรายป้องกันน้ำเซาะประตูระบายน้ำพัง   มูลนิธิเตือนภัยพิบัติ 3-09-54

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท