คนอุบลฯ เสนอตั้งมูลนิธิจัดงานแห่เทียนพรรษาแทนภาครัฐ

ภาคประชาชนจัดเสวนาระดมความเห็นกรณีเหลียวหลังแลหน้าเทียนพรรษาเมืองอุบล ชี้ "โคราช-สุพรรณ" แค่โปรโมทท่องเที่ยว อุบลราชธานีคือจิตวิญญาณบรรพบุรุษต้นแบบของแท้ ตุ่นปัดบรรหารไม่เกี่ยว

 
 
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา ที่ลานเทียนเฉลิมพระเกียรติ สนามทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี ร่วมกับภาคประชาชนจัดเสวนาระดมความเห็นกรณีเหลียวหลังแลหน้าเทียนพรรษาเมืองอุบล โดยโครงการสะพานเพื่อประชาธิปไตยจากการสนับสนุนของ USAID  มีนายกมล หอมกลิ่น เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมีภาคประชาชนจากหลายสาขาอาชีพ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องอาทิ สำนักงานจังหวัด สำนักงานเทศบาลนครอุบลราชธานี หอการค้าจังหวัดเข้าร่วมแสดงความเห็นอย่างคับคั่ง
 
นายกมล ผู้ดำเนินรายการได้สอบถามความเห็นจาก พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี,รัฐมนตรีว่าการประทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นชาวอุบลราชธานีโดยกำเนิด ปัจจุบันเป็นประธานมูลนิธิเพื่อพัฒนาอุบลถึงการจัดงานแห่เทียนพรรษาที่ผ่านมา
 
พล.ต.อ.ชิดชัยให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า เป็นประธานการจัดงานแห่เทียนพรรษามาหลายครั้งและการจัดงานแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี แตกต่างจากการจัดงานแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอื่นที่พยายามมาแข่งขัน เพราะจังหวัดอุบลราชธานีจัดงานด้วยจิตวิญญาณที่รับสืบทอดจากบรรพบุรุษ เพื่อทำเป็นพุทธบูชาในวันเข้าพรรษา ผิดจากจังหวัดสุพรรณบุรี หรือนครราชสีมา ซึ่งจัดงานแห่เทียนเพียงเป็นรูปแบบ เพื่อโปรโมทดึงนักท่องเที่ยวไปเที่ยงานในจังหวัดตัวเองแต่การจัดงานของจังหวัดอุบลราชธานี ต้องมีการปรับปรุง เพราะยังมีความล้าหลัง วิธีการคือให้ชาวบ้านเป็นเจ้าของงานแทนสำนักงานเทศบาล ททท. หรือจังหวัด เพราะผู้ว่าราชการมารับตำแหน่งแล้วก็ไป แต่ชาวบ้านอยู่กับภูมิปัญญามีความรู้ความเข้าใจและมีจิตวิญญาณเรื่องการจัดทำต้นเทียนพรรษา โดยตั้งเป็นมูลนิธิหารายได้จากการรับบริจาคจากประชาชนทั่วไป หารายได้จากการจัดจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง หารายได้จากพื้นที่โฆษณาที่ต้องการมาแสดงในงานแห่เทียนเข้าพรรษา
 
"จังหวัดอุบลราชธานี มี ส.ส.ตั้ง 11 คน ทุกคนต้องออกหน้ามาช่วยกัน ไม่จำเป็นต้องรอเงินสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐก็ได้" ด้านนายวิชุกร กุหลาบศรี ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุบลราชธานี กล่าวว่าทาง ททท.ไม่มีนโยบายที่จะโยกการจัดงานประติมากรรมเทียนนานาชาติไปจังหวัดอื่น พร้อมยืนยันว่าการจัดงานเทียนนานาชาติ มีจุดประสงค์ใช้โปรโมทการจัดงานแห่ต้นเทียนเข้าพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีให้ชาวโลกรับรู้ จึงไม่สามารถย้ายการจัดงานไปจัดที่จังหวัดอื่นได้  สำหรับงบประมาณที่ให้มาน้อยลงทุกปี จากเดิมปีละเกือบ 10 ล้านบาท แต่ปีนี้อาจเหลือเพียง 3 แสนบาท ผู้อำนวยการ ททท.ยังไม่ยืนยันตัวเลข แต่คาดจะได้งบประมาณมากกว่าตัวเลขนี้แน่นอน พร้อมกล่าวว่า ททท.ยังให้ความสำคัญต่อการจัดงานประเพณีแห่ต้นเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนการจัดงานแห่เทียนพรรษาจังหวัดอื่น เป็นเพียงงานที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานระดับท้องถิ่นเท่านั้น ททท.ไม่ได้เข้าไปสนับสนุน
 
ขณะที่นายนิมิต สิทธิไตรย์ ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี พูดถึงเรื่องการจัดงานแห่เทียนพรรษาว่า ชาวเมืองอุบลราชธานี ทำต้นเทียนจากใจและแรงศรัทธา เพราะทุกคนเกิดมาก็อยู่กับต้นเทียน จึงรับสืบทอดกันมาถึงปีนี้ก็ 112 ปี อดีตที่ผ่านมาชุมชนจัดทำต้นเทียนพรรษาแบบมัดรวมติดตาย นำไปถวายวัดในวันสำคัญทางศาสนา โดยไม่คิดจะเกิดเป็นประเพณีใหญ่โต แต่ลูกหลานคนรุ่นต่อมาก็ต้องรับสือทอด แล้วนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงให้การจัดทำต้นเทียนน่าดูยิ่งขึ้น กระทั่งโด่งดังเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติเข้ามาเที่ยวชมความงดงามการจัดทำต้นเทียนจำนวนมาก
 
จังหวัดมีรายได้จากการจัดงานกว่า 20 ล้านบาท และเห็นด้วยกับแนวความคิดตั้งมูลนิธิมาดูแลการจัดงานแทนภาคราชการ เพราะคนอุบลราชธานีมีกว่า 1.8 ล้านคนบริจาคคนละ 1-2 บาท ก็ได้เงินจำนวนมากใช้จัดงาน ไม่ต้องรอรับการสนับสนุนจากภาครัฐเหมือนที่ผ่านมา
 
ส่วนนายชัยยุทธ โยธามาตย์ รองปลัดเทศบาลนครอุบลราชธานี ระบุว่า เทศบาลจัดงบสนับสนุนการจัดงานเทียนไม่น้อยกว่าปีละ 2 ล้านบาท แต่ตนฐานะเป็นคนเมืองนี้ สามารถพูดได้ว่า แม้ไม่มีเงินสนับสนุนแม้แต่บาทเดียว คนตามชุมชนก็ยังต้องทำต้นเทียนพรรษา เพราะเป็นเรื่องของจิตใจ และอยากบอกให้รู้ว่า ต้นเทียนพรรษาของจังหวัดอื่น เป็นช่างทำต้นเทียนจากจังหวัดอุบลราชธานีทั้งหมด แต่เป็นช่างมือรองไม่ใช่เบอร์หนึ่ง ถ้าต้องการดูศิลปะอ่อนช้อยงดงามของฝีมือช่าง ต้องมาดูของจริงที่จังหวัดอุบลราชธานีเท่านั้น
 
ขณะที่ภาคประชาชนเสนอว่า การจัดงานแห่เทียนเข้าพรรษา ไม่ต้องการเห็นการแสดงสินค้าที่นำพื้นที่รอบสถานที่จัดงานแบ่งขายเป็นล็อก แต่ต้องการให้นำพื้นที่มาให้ชาวบ้านนำสินค้าที่ระลึกพื้นเมืองวางจำหน่าย เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าของจังหวัด ส่วนการละเล่นไม่ต้องการเห็นการปาเป้า เล่นบิงโก โยนห่วงเอาของพนัน ให้เปลี่ยนเป็นการละเล่นของเด็กพื้นเมือง เพื่อให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่ใช่บังคับให้มาแต่งตัวฟ้อนรำนำขบวน โดยเยาวไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยจิตวิญญาณเหมือนในอดีต
 
นายตุ่น จินตะเวช ส.ส.อุบลราชธานีพรรคชาติไทยพัฒนาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวทางโทรศัพท์ก่อนการจัดเวทีว่าตนไม่รู้เรื่องการตัดงบประมาณและการย้ายงานประติมากรรมเทียนไปสุพรรณของททท.และได้สอบถามนายบรรหาร ศิลปอาชาก็ไม่ทราบเรื่องนี้เช่นเดียวกัน เป็นการดำเนินงานของ ททท. เอง เรื่องงบประมาณหากททท.ให้เพียง 3 แสนจริงตนจะหาเงินมาช่วยไม่ให้ต่ำกว่า 2 ล้านแน่นอน
 
หลังการเสวนาประชาชนที่มาติดตามรับชมจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่ากระแส Social media ทำให้ ททท.ยอมถอยว่าไม่มีนโยบายย้ายประติมากรรมเทียนนานาชาติไปที่อื่น การหั่นงบยังไม่ชัดเจน ทั้งที่เวปมาสเตอร์ไกด์อุบลดอตคอมเป็นผู้โพสต์ข้อความทาง Facebook ชื่อน้าไกด์ อุบล ขณะร่วมประชุมกับทางจังหวัดและ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้พูดเรื่องนี้เอง ว่าจ.สุพรรณแย่งซีนเราย้ายงานประติมากรรมเทียนหั่นงบเหลือ 3 แสน ปรากฎในรายการผู้ว่าฯพบประชาชนเมื่อวันที่ 16  มีนาคม 2556   
 
สำหรับการเสวนาเรื่องนี้ สามารถชมได้ที่รายการร่วมทุกข์ร่วมสุข สร้างสุขแชนแนล วีเคเบิ้ลทีวี sangsook.net โสภณเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม nextstep ช่อง ของดีประเทศไทย รายการวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน FM. 102.75Mhz Cleanradio 92.5 Mhz ชมเทปย้อนหลังได้ที่ sangsook.net และ App.สื่อสร้างสุข
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท