Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลังการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลพม่าจนได้ข้อสรุปเบื้องต้นในการหยุดยิงเพื่อนำไปสู่การเจรจาสันติภาพในก้าวต่อๆไป ส่งผลให้สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU ได้เริ่มคิดเรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนขึ้นจากเดิมที่ต้องสู้รบกับรัฐบาลทหารพม่ามายาวนานกว่า 64 ปี กลายเป็นหนึ่งในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชที่ยาวนานที่สุดแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์

เมื่อศึกสงครามทางอาวุธยุติ สถานการณ์การถูกกดดันภายใต้กฎแห่งสงครามจึงผ่อนคลายลงบ้าง ทำให้ราษฎรในพื้นที่มีอิสระในการทำมาหากินมากขึ้น เรื่องการเดินทางเพื่อติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกทำได้สะดวกขึ้น

ทุกปีหลังฤดูการเก็บเกี่ยวข้าว คนกะเหรี่ยงจะมีพิธีกรรมกินข้าวใหม่ ประมาณกลางเดือนธันวาคม – สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ในอดีตมีการกระจายทำพิธีกรรมตามแต่ละชุมชน ต่อมาเมื่อชุมชนใหญ่ขึ้นมีการติดต่อปะทะสังสรรค์รวมตัวกันเป็นเครือข่ายมากขึ้น จึงได้มีการจัดรวมกันมากขึ้นทำให้งานใหญ่ขึ้นในที่สุดกลายเป็นงานประจำปีของชนชาวกะเหรี่ยงในสหภาพพม่า ในยุคสมัยที่อังกฤษได้ปกครองพม่า แกนนำปัญญาชนกะเหรี่ยงกลุ่มหนึ่งจึงได้เรียกร้องให้มีการประกาศให้วันกินข้าวใหม่ของคนกะเหรี่ยงนี้เป็นวันหยุดทำการ ในนามของวันปีใหม่กะเหรี่ยง เพื่อให้คนกะเหรี่ยงได้มีโอกาสเฉลิมฉลองงานกินข้าวใหม่ได้อย่างเต็มที่

ปีนี้การประกาศให้ปีใหม่ปกาเกอญอเป็นวันหยุดทางการได้เวียนมาครบ 75 ปี (แม้ว่ารัฐบาลทหารพม่าได้ยกเลิกในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา) จึงได้มีการเฉลิมฉลองที่ใหญ่กว่าทุกปีที่ผ่านมา นัยยะแรกนอกจากจะเป็นการเฉลิมฉลองการเจรจาหยุดยิงสำเร็จแล้ว ความพิเศษของปีนี้อีกนัยยะหนึ่งเป็นการเฉลิมฉลอง 75 ปี (Diamond Anniversary) การรับรองปีใหม่กะเหรี่ยงเป็นวันหยุดทางการงานได้จัดขึ้น ณ ชุมชนพาประ อำเภอหว่อรอ จังหวัดผาอัน ในเขตพื้นที่กองพลที่ 6 ในเขตการปกครองของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU

คืนวันที่ 11 มกราคม ชนชาวกะเหรี่ยงได้หลั่งไหลกันมาอย่างคับคั่งนับหมื่นคน ทำให้ชุมชนพาประแห่งนี้ ดูเล็กลงทันที กิจกรรมบนเวทีเน้นหนักที่การแข่งขันรำตง ซึ่งมีทีมละ 45 คน มากกว่า 50 ทีม เคยเห็นแต่การรำตงที่ประกอบด้วยสมาชิกเพียงทีมละ 25 คน แต่พอเจอ 45 คน ทำให้ทึ่งเหมือนกัน นอกจากได้มีโอกาสได้ขึ้นเวทีแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของคนกะเหรี่ยงจากประเทศไทยแล้ว ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนพูดคุยกับผู้นำบางคนเกี่ยวกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหลังจากการเจรจาสงบศึก

“ตอนนี้ไม่ยิงกันแล้ว แต่ยังต้องคุยกันในรายละเอียดของข้อตกลงต่อ ความต้องการบางอย่างของเรา เขา(รัฐบาล) ยังไม่รับของเรา ในที่สุดเราจะไว้วางใจเขาทั้งหมดไม่ได้ เราต้องเตรียมตัวพร้อมเสมอ” ผู้นำคนหนึ่งเล่าให้ฟัง

“พอเจราจาสงบศึกแล้วยิงกันไม่ได้ แต่ทางรัฐบาลได้ส่งทหารเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ในพื้นที่ของเรา เพิ่มอาวุธ พัฒนาฐานที่มั่น ขุดหลุดหลบภัย ทำ Banger ให้แน่นหนามากขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ทางเราไม่สามารถเชื่อในความจริงใจของรัฐบาลได้สนิทใจ การสร้างสันติภาพนั้นทั้งสองฝ่ายต้องมีความจริงใจ ถ้าจริงใจที่จะให้เกิดสันติภาพรัฐบาลต้องยุติส่งกองกำลังพิ่มในพื้นที่ของเรา” ผู้บัญชาการทหารเขตหว่อรอเล่าให้ฟัง

รุ่งเช้าวันที่ 12 มกราคม เสียงปี่เขาควายดังขึ้นแต่เช้ามึด เสียงสับเท้าดังขึ้นเหมือนขบวนเดินสวนสนามของกองทัพ เมื่อชโงกหน้ามองดูหน้าบ้าน เห็นมวลชนเคลื่อนตัวเดินลงสู่พื้นที่จัดงาน ต่างใส่ชุดกะเหรี่ยงหลากสีทั้งสีแดง สีขาว สีดำ สีน้ำเงิน ทั้งเสื้อ ทั้งซิ่น และโสร่ง

เวทีจัดงานประดับประดาด้วยดอกไม้และมีธงประจำชนชาติสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงเป็นฉากหลัง พิธีกรรมเริ่มต้นจากการเชิญธงแห่งชนชาติกะเหรี่ยงขึ้นสู่ยอดเสา มีการร้องเพลงประจำชนชาติกระหึ่มลานทุ่งกลางหุบเขา ฟังแล้วขนลุกซู่ กับเผ่าพันธุ์ที่มีธงประจำชนชาติของตนเอง มีเพลงประจำชนชาติของตนเอง มีเขตแดนในการปกครองของตนเอง มีพลเมืองมากกว่า 7 ล้านคน มีการต่อสู้มากกว่าครึ่งทศวรรษ แต่ไม่มีประเทศ ทว่ายังคงยืนหยัดเพื่อการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์

จากนั้นผู้ดำเนินรายการได้ให้มวลชนย้ายขบวนไปที่แท่นปูนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานการรำลึก 75 ปี แห่งการยอมรับปีใหม่กะเหรี่ยงเป็นวันหยุดทางการ อนุสรณ์สถานได้ปรากฏรูปของแกวหรือปี่ โกละหรือกลองมโหรทึก และปิ๊หรือแคน มีการจารึกที่มาและความหมายของปีใหม่กะเหรี่ยงในแท่นปูน ตลอดจนเรื่องราวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นอนุสรณ์สถานแบบ modern art ชิ้นแรกของชุมชนรัฐกะเหรี่ยงในทศวรรษนี้ อนุสรณ์สถานนี้มาจากแนวคิดของผู้นำที่เป็นผู้อาวุโส และออกแบบสร้างสรรค์โดยลูกหลานที่เป็นคนรุ่นใหม่ในพื้นที่

กำหนดการที่ทุกคนรอคอยอยู่ที่การกล่าวสุนทรพจน์ของ พันโทเต็ง ไหล่ ว่าที่ผู้บัญชากองพล 6 ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำรุ่นใหม่ในกองทัพกะเหรี่ยงที่มีความโดดเด่นมากคนหนึ่ง มีความครบเครื่องทั้งยุทธศาสตร์ในการสู้รบและการพัฒนาชุมชน สามารถพูดทั้งภาษากะเหรี่ยงโปว์ จอก์ และภาษาพม่าได้อย่างแคล่องแคล่วคมคาย อีกทั้งเป็นผู้ที่มีลูกทีเด็ดที่ขาดในยามต้องตัดสินใจเลือกกำหนดทิศทางอนาคตของชุมชนในพื้นที่รับผิดชอบได้อย่างมีจุดยืนเสมอ

เริ่มต้นด้วยการเกริ่นด้วยภาษากะเหรี่ยงจอก์ ก่อนที่จะภาษากะเหรี่ยงโปว์ เป็นภาษาหลักในการสุนทรพจน์

“75 ปี ไร้ความหมายถ้าคนกะเหรี่ยงไม่มีความสามัคคี ไม่มีความปรองดอง ไม่มีความจริงใจต่อกัน ไม่มีความซื่อสัตย์เผ่าพันธุ์

เหล่าผู้นำของเรา (กะเหรี่ยง) ได้ทำงานหนักเพื่อให้คนกะเหรี่ยงได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่มั่นคง ปลอดภัยยิ่งขึ้น” พันเอกเต็ง ไหล่ได้กล่าวเริ่มต้น เรื่องทิศทางการขับเคลื่อนชีวิตชนเผ่ากะเหรี่ยงหลังจากนี้ไปเป็นโจทย์ใหญ่ในการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งนี้ โดยเฉพาะการอยู่ท่ามกลางยุคโลกาภิวัฒน์ (Globalization) แต่ยังดำรงความเป็นกะเหรียงได้อย่างไร ดำรงศักดิ์ศรี ดำรงอำนาจในการตัดสินใจเลือกทิศทางชีวิตของตนเองบนฐานความเป็นคนกะเหรี่ยง พันเอกเตไล ได้ให้แนวทางในการดำเนินชีวิตแก่คนร่วมงานในมหกรรมปีใหม่ครั้งนี้ทั้งหมด 4 อย่าง คือ

หนึ่ง อย่าขี้เกียจทั้งในเรื่องการทำมาหากิน การแสวงหาความรู้เพิ่มเติมโดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับโลกออนไลน์ สอง อย่าขี้ขลาด เมื่อโลกเปิดชุมชนไม่สามารถปิดกั้นตนเองได้ จะมีหลายสิ่งหลายอย่างเข้ามาในชุมชน อย่าขี้ขลาดที่จะปกป้องชุมชนตนเองจากความชั่วร้าย สาม อย่าชักช้าในสถานการณ์ที่ชนเผ่าต้องก้าวเดินหน้าเพื่อสร้างความสุขแก่มวลชนคนกะเหรี่ยง ขอให้ทุกคนอย่างชักช้าเร่งเท้าก้าวไปให้เท่าทันคนอื่น เท่าทันข่าวสาร เท่าทันเลห์เลี่ยม เท่าทันเทคโนโลยี เท่าทันยุคสมัย ยกระดับเผ่าพันธุ์กะเหรี่ยงให้เท่าทันโลก ประการสุดท้าย อย่าเชื่อ ถ้ายังไม่เห็นคำตอบเป็นรูปธรรม อย่าเชื่อที่เขาว่า อย่าเชื่อที่เขาลือ จนกว่าเราจะสามารถพิสูจน์ให้เห็นคำตอบที่แน่ชัดว่าสิ่งนั้นเป็นจริง สิ่งนั้นมีอยู่จริง”

นี่คือสุนทรพจน์ของว่าที่ผู้บัญชาการกองพล 6 แห่งสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ผู้นำที่เป็นอีกหนึ่งความหวังของคนกะเหรี่ยง หลังหยุดการเจรจาหยุดยิง

สงครามการสู้รบด้วยอาวุธอาจปิดฉากอย่างถาวรหรือไม่นั้นยังมิอาจรู้ได้ แต่สงครามใหม่ที่เปิดฉากคือ สงครามทางด้านเศรษฐกิจหรือการค้า(Economic War) ที่คนกะเหรี่ยงต้องรับมือกับกองทัพนายทุนทั้งในและนอกที่เริ่มบุกมาในพื้นที่ปกครองของรัฐกะเหรี่ยงมากขึ้น

นี่เป็นอีกบททดสอบที่ท้าทายอนาคตความอยู่รอดของคนกะเหรี่ยงในสหภาพพม่าอย่างน่าติดตามท่ามกลางการก้าวสู่ความเป็นชุมชนอาเซียนในมิช้านี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net