Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
 
“มาเลเซียเป็น ‘ผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดการพูดคุย’ หรือ Facilitatorไม่ใช่ ‘ผู้เจรจาไกล่เกลี่ย’ หรือ Mediator” พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร
 
นับเป็นการชี้ชัด สถานะและบทบาทของประเทศเพื่อนบ้านต่อการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ภายหลังคณะทำงานนำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เดินทางไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อซักซ้อมความเข้าใจทั้งหมด โดยเน้นประเด็นที่ว่า ภายหลังจากที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยและทางการมาเลเซียได้ยกร่างหนังสือแสดงเจตจำนงการเข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพ หรือ General Consensus on Peace Dialogue Process ร่วมกัน ระหว่างเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับ นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อกำหนดกรอบ กติกา และการนัดวันพูดคุย ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิด “มีความหวัง” รวมทั้งทิศทางจากผู้นำรัฐบาล ผู้นำกองทัพและภาคส่วนต่างๆทั้งในและนอกพื้นที่แสดงออกถึงความสนใจที่ “เอาด้วย” กับการเข้าสู่กระบวนการดังกล่าว
 
ระหว่างขั้นตอนก่อนการเข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพ เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลภายหลังการแสดงเจตจำนงการเข้าสู่กระบวนการสำคัญนี้ รวมทั้งการแต่งตั้งคณะทำงานพูดคุยสันติภาพโดยรัฐบาลแล้ว ประเด็นสำคัญอีกประการ คือ การกำหนดบทบาทที่ชัดเจนของแต่ละฝ่ายรวมทั้งการทำความเข้าใจศัพท์เฉพาะทาง(Technical Terms) ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Facilitator (ผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดการพูดคุย) หรือ Mediator (ผู้เจรจาไกล่เกลี่ย) ซึ่งนับได้ว่าศัพท์เฉพาะด้านสันติภาพและการจัดการความขัดแย้งซึ่งได้ถูกนำมาหยิบใช้เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันและสร้างความชัดเจนแก่ทุกๆฝ่าย
 
ก่อนการเริ่ม "พูดคุยสันติภาพ" การเตรียมตัวที่สำคัญของทั้งฝ่ายรัฐ ฝ่ายตัวแทนก่อการ คนกลางหรือกลุ่มภาคประชาสังคมที่ติดตามปัญหาควรให้ความสำคัญ คือ การทำความเจ้าใจศัพท์แสงด้านสันติภาพและความขัดแย้ง เพื่อการเตรียมตัวและสร้างความเข้าใจเบื้องต้นต่อคำศัพท์เหล่านั้นให้ตรงกัน จำเป็นอย่างยิ่งที่ทั้งสามฝ่ายจะต้องเข้าใจและเห็นร่วมถึงความหมายของศัพท์พื้นฐานเหล่านี้ในทิศทางเดียวกัน เพระความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความสลับซับซ้อนระหว่างเหตุการณ์เฉพาะท้องถิ่นที่จำเป็นต้องใช้หลักวิชาในการแก้ปัญหาและเชื่อมโยงเข้ากับหลักศาสตร์สันติภาพสากล
 
ในการนี้ จึงขอหยิบยก 10 ศัพท์บัญญัติด้าน สันติภาพและการจัดการความขัดแย้ง (พร้อมคำศัพท์เทียบเคียงในภาษามลายูกลาง) ที่ถูกระบุใน “glossary of key terms” (ศัพท์ที่เป็นกุญแจสำคัญ) ซึ่งได้รับการนิยามโดย School of Peace and Conflict Management แห่ง Royal Roads University ประเทศแคนาดา (ซึ่งเคยจัดการเรียนการสอนร่วมกับสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้าและสถาบันเครือข่าย) มาใช้เป็นตัวอย่างในการยกร่างการนิยามความหมายศัพท์เฉพาะดังกล่าว พร้อมทั้งการขยายความเนื้อหาสาระที่เชื่อมโยงกับบริบทความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเทศไทย
 
1. Peace Building การเสริมสร้างสันติภาพ (ภ.มลายูกลาง pembangunan, binaan/keamanan) คือ กระบวนการพื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ในการสร้างความสันตินั้นต้องการการยอมรับความแตกต่าง การขอโทษ และการให้อภัย ในการกระทำที่ไม่เหมาะสมหรือรุนแรงที่ผ่านมาและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทุกฝ่ายให้มาแทนที่ความสัมพันธ์แบบศัตรูคู่แข่งขัน การเสริมสร้างสันติภาพ ต่างจากคำว่า Peacekeeping การรักษาสันติภาพ (ภ.มลายูกลาง menjaga, mengawal/ keamanan) ตรงที่ศัพท์คำหลังหมายถึง การป้องกันหรือการยุติความรุนแรงระหว่างประเทศ หรือภายในรัฐชาติ (nation-state) โดยมีบุคคลที่สาม/ฝ่ายที่สามจากภายนอกเข้ามาทำหน้าที่ เพื่อไม่ให้คู่ขัดแย้งมีการปะทะต่อสู้กัน การรักษาสันติภาพ (peacekeeping) แตกต่างจากการสร้างสันติภาพ (peacemaking) ที่เป็นการเจรจาต่อรองหาทางแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งหนึ่งๆ โดยจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการรักษาสันติภาพ คือการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีกเท่านั้น ในกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ประเทศไทย เป็นการป้องกันและการพยายามที่จะยุติการใช้ความรุนแรงภายในประเทศ โดยมีทางการมาเลเซียเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายที่สามที่ไม่ใช้เจรจาต่อรอง หากแต่ใช้การพูดคุยปรึกษาหารือเพื่อการป้องกันไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก อันเป็นส่วนหนึ่งที่นับได้ว่าอยู่ในเงื่อนไขของการรักษาสันติภาพ
 
2. Negotiation การเจรจาต่อรอง (ภ.มลายูกลาง Perundingan) สามารถกล่าวได้ว่า การเจรจาต่อรอง เป็นรูปแบบพื้นฐานของการแก้ปัญหาข้อพิพาท ในการเจรจา จำเป็นต้องมี คู่กรณีเข้ามาร่วมกันในการพิจารณาถึง ความสนใจ (interests) และความต้องการ (needs) ของพวกเขา และร่วมมือกันในการหาทางแก้ปัญหาที่เป็นไปได้และให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดต่อทุกฝ่าย การเจรจาต่อรองสามารถสำเร็จลุล่วงได้เพราะความร่วมมือ ดังเช่นในหลักการเจรจาต่อรอง (principled negotiation) อีกทั้งยังสามารถเป็นไปในรูปแบบของการแข่งขันดังเช่นในการจำแนกเนื้อหาสาระของการเจรจาต่อรอง(distributive bargaining) การเจราต่อรองเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จำเป็นอย่างขาดไม่ได้ในกระบวนการสร้างสันติภาพ เช่นเดียวกับการพูดคุยสันติภาพระหว่างทางการไทยและตัวแทนกลุ่มขบวนการผู้ก่อการในชายแดนใต้ประเทศไทย
 
3. Third Party ฝ่ายที่สาม (ภ.มลายูกลาง pihak ketiga.) คือ บุคคลหนึ่งซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวพันกับความขัดแย้ง และพยายามที่จะช่วยให้คู่ขัดแย้งสามารถหาทางแก้ไขปัญหา  หรืออย่างน้อยที่สุดก็ช่วยให้สถานการณ์ความขัดแย้งทุเลาลง เช่น คู่ขัดแย้งมีการพูดคุยกันในทางที่ดีขึ้น หรือมีความเข้าใจที่ตรงกันมากขึ้น  บทบาทตัวอย่างของฝ่ายที่สาม ได้แก่ ผู้ไกล่เกลี่ย (mediators) อนุญาโตตุลาการ (arbitrators) ผู้ส่งเสริมการประนีประนอม(conciliators) และผู้อำนวยความสะดวก(facilitators) ในการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับตัวแทนฝ่ายขบวนการปลายเดือนมีนาคมนี้ ฝ่ายที่ทำงานในบทบาทนี้คือ ทางการมาเลเซีย
 
4. Positions จุดยืน/ตำแหน่ง (ภ.มลายูกลาง kedudukan, posisi) คือ สิ่งที่ผู้คน/แต่ละฝ่ายบอกว่าพวกเขาต้องการอะไร  ซึ่งก็คือความต้องการคร่าวๆที่พวกเขาต้องการจากฝ่ายตรงข้ามนั่นเอง ผู้ที่จำแนกความแตกต่างระหว่าง ความสนใจเฉพาะ(interests)กับ จุดยืน/ตำแหน่ง (positions) เช่น นักวิชาการด้านการจัดการความขัดแย้งอย่าง Fisher และ Ury สรุปไว้ว่า “จุดยืน/ตำแหน่ง” เป็นสิ่งที่ผู้คนได้ทำการตัดสินใจเลือก ในขณะที่ “ความสนใจเฉพาะ” เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้พวกเขาเลือกเช่นนั้น บ่อยครั้งที่จุดยืน/ตำแหน่งของคู่กรณีมีความขัดแย้งกัน แม้ว่าจริงๆแล้วแต่ละฝ่ายมีความสนใจเฉพาะที่เหมือนกัน  ในกรณีปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ประเด็นนี้สำคัญมาก แม้ทั้งสองฝ่ายจะแสดง “สิ่งพวกเขาต้องการจากฝ่ายตรงข้าม”ออกมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังนับว่าเป็นการเผยท่าทีเบื้องต้น  ซึ่งเมื่อเกิดการพูดคุยกันแล้วจุดยืน/ตำแหน่ง อาจขยับเขยื้อนได้บ้างตามกรอบกติกาและความเป็นไปได้ของแต่ละฝ่าย เป้าหมายของการพูดคุยสันติภาพในครั้งนี้คงต้องแสวงหาและเผยออกถึง จุดยืน/ตำแหน่งของทั้งสองฝ่าย ทั้งทางการไทยและฝ่ายขบวนการ ซึ่งฝ่ายหลังอาจมีความแตกต่างหลากหลายตามเป้าหมายของ(แต่ละ)กลุ่มขบวนการของตน(รวมถึงฝ่ายอำนวยความสะดวกอย่างมาเลเซียก็จำเป็นที่จะต้องเปิดเผยจุดยืน/ตำแหน่งให้ชัดเจน) แต่การพูดคุยอย่างเป็นกระบวนการเป็นขั้นเป็นตอนจะส่งผลให้ทุกฝ่ายสามารถกำหนดจุดยืน/ตำแหน่ง ใหม่ ที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาและความเป็นจริงของสังคมที่เปลี่ยนไป และอาจเกิดการน้าวโน้ม การสร้างการยอมรับหรือปฏิเสธในสิ่งที่แต่ละฝ่ายคาดหวังและต้องการการตอบสนองจากฝ่ายตรงข้าม
 
5. Mediation การไกล่เกลี่ย (ภ.มลายูกลาง pengantaraan) คือ การที่บุคคลที่สามเข้าไปมีส่วนในการแทรกแซง (intervention) คู่กรณีในการเจรจาหาข้อตกลงหนึ่งๆ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่คู่กรณีมีทางเลือกที่จะยอมรับหรือไม่ก็ได้ ในบางกรณี ผู้ไกล่เกลี่ย mediators (ภ.มลายูกลาง pengantara) ทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาในรูปแบบของการเจรจาหาข้อตกลงให้แก่คู่พิพาทที่กำลังมีข้อพิพาทกันอยู่ ในกรณีอื่นๆ การไกล่เกลี่ยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาความสัมพันธ์เพราะคาดว่าหากความสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณีดีขึ้น อาจนำไปสู่ทางออกของข้อขัดแย้ง หรือการเผชิญหน้าอย่างสร้างสรรค์ ในกรณีการพูดคุยสันติภาพในวันที่ 28 มี.ค.นี้ ยังไม่ใช่ขั้นของการไกล่เกลี่ยเพราะยังเป็นช่วงของการเริ่มต้นพูดคุยอย่างเป็นทางการ ไม่มีจุดมุ่งหมายที่จะต่อรอง หรือหาข้อตกลงแต่ยังอยู่ในขั้นการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณี
 
6. Facilitation การอำนวยความสะดวก (ภ.มลายูกลาง Fasilitasi, pemudahan) การอำนวยความสะดวก เป็นหน้าที่ของบุคคลที่สาม ในการช่วยให้คู่กรณีได้พบปะพูดคุย ผู้อำนวยความสะดวก(facilitor) จะช่วยคู่กรณีในการกำหนดกติการ่วมพื้นฐานที่บังคับใช้ต่อทุกฝ่าย และระเบียบวาระการประชุมในแต่ละครั้ง ช่วยให้คู่กรณีทุกฝ่ายได้รับข่าวสารตลอดเวลาและดำเนินการค้นหาเป้าหมายของแต่ละฝ่ายที่ตรงกัน ผู้อำนวยความสะดวก ‘facilitor’ อาจคล้ายคลึงกับผู้ไกล่เกลี่ย ‘mediator’ ในเรื่องของการมีส่วนช่วยเหลือในการหาทางแก้ไขปัญหา แต่ข้อยุติจากการหาทางออก(resolution) ไม่ใช่จุดมุ่งหมายหลักของผู้อำนวยความสะดวก ในกรณีนี้ตรงกับบทบาทและหน้าที่ของทางการมาเลเซียที่ต่อมีการพูดคุยสันติภาพในครั้งนี้
 
7. Identity  อัตลักษณ์ (ภ.มลายูกลาง identiti) หมายถึง รูปแบบที่ผู้คนยึดถือด้วยตัวเขาเอง เช่น ความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งในหมู่เหล่าต่างๆ หรือจุดยืนของตนที่ผู้คนใช้เพื่ออธิบายความเป็นตัวตนให้ผู้อื่นรับรู้ ประเด็นนี้ชัดเจนในกรณีปัญหาชายแดนใต้ ส่วนหนึ่งของปัญหาเป็นเรื่องการกดทับและบังคับให้เป็นระหว่างเอกลักษณ์ความเป็นไทยที่แตกต่างและหลายประเด็นขัดกับอัตลักษณ์ของชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่ ส่วนความขัดแย้งด้านอัตลักษณ์ Identity Conflict (ภ.มลายูกลาง konflik identity) คือ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเมื่อบุคคลหนึ่งหรือคนกลุ่มหนึ่งมีความรู้สึกว่า ความเป็นตัวตนของพวกเขา ‘sense of self’ ถูกคุกคาม ไม่ได้รับความชอบธรรม หรือไม่ได้รับความเคารพ ชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รู้สึกถึงการไม่เป็นที่ยอมรับตัวตน อัตลักษณ์และรูปแบบการดำเนินชีวิตที่มีลักษณะและระบบคุณค่าในแบบเฉพาะจากรัฐไทยที่ปกครองคนในพื้นที่
 
8. Problem Solving การแก้ไขปัญหา (ภ.มลายูกลาง penyelesaian masalah) การแก้ไขปัญหาในบางครั้งหมายถึง การ วิเคราะห์ปัญหาเพื่อนำสู่การแก้ไข โดยผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อหาทางวิเคราะห์และแก้ไขความขัดแย้งที่มุ่งเน้นไปที่การระบุและจัดหาการตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ (the underlying human needs) ในสถานการณ์อื่นๆ การแก้ไขปัญหาหมายถึง วิธีการเข้าหาการไกล่เกลี่ยที่มุ่งความสนใจไปที่การแก้ไขความขัดแย้ง  ซึ่งการปรับปรุงความสัมพันธ์ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งจะเป็นส่วนสำคัญของการแก้ไขปัญหา นิยามความหมายของคำว่า Problem solving ในภาษามลายูกลาง คือ “Kaedah dan proses yang dilakukan untuk menyelesaikan masalah yang dihadapi” หมายถึง “วิธีการและกระบวนการ สำหรับใช้ในการแก้ไข/คลี่คลายปัญหาที่ต้องเผชิญอยู่ข้างหน้า”
 
9. Reconciliation ความสมานฉันท์ (ภ.มลายูกลาง  berdamai) คือ การปรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หรือกลุ่มคนหนึ่งๆ ให้อยู่ในรูปแบบปกติ  John Paul Lederach นักวิชาการคนสำคัญด้านการสร้างสันติภาพกล่าวไว้ว่า ความสมานฉันท์ เกี่ยวพันกันสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆกัน 4 อย่างคือ การหาความจริง ความยุติธรรม สันติภาพและความเมตตา เมื่อปัจจัย 4 ประการนี้มารวมกันความสมานฉันท์ก็จะสามารถสำเร็จลุล่วงไปได้ ในกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศัพท์คำนี้ถูกใช้บ่อยครั้ง ใช้ตั้งชื่อ “คณะกรรมการอิสระ” ในสมัยรัฐบาลอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร แม้คณะกรรมการชุดดังกล่าวมีรายงานที่เป็นข้อเสนอแก่รัฐบาลและกองทัพหลายประการ แต่ไม่เป็นผลในทางปฏิบัติมากนัก แม้คำศัพท์คำนี้จะสร้างความชาชินผู้คนในพื้นที่แก่ผู้ติดตามข่าวปัญหาความไม่สงบในชายแดนใต้ แต่ยังเป็นคำศัพท์ที่ไม่ควรถูกละเลย เพราะหากบรรลุผลทั้ง 4 ปัจจัยของคำๆนี้แล้วความสันติสุขย่อมมีโอกาสกลับคืนมาสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
10. World View  มุมมอง/โลกทัศน์ (ภ.มลายูกลาง pandangan dunia.) คือ ภาพลักษณ์พื้นฐานของโลกในมุมมองของบุคคลหนึ่งๆ หรือ ความเชื่อหลักของบุคคลหนึ่งเกี่ยวกับลักษณะของสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เขาอยู่ มุมมอง/โลกทัศน์ ยังเกี่ยวพันถึงคุณค่าพื้นฐาน (fundamental values) ของบุคคลหนึ่งๆเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับ ความรู้สึกถึงตัวตน/อัตลักษณ์ของบุคคล (person sense of identity) เนื่องจากมนุษย์เชื่อว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มของตัวเอง ไม่ใช่กลุ่มอื่น เป็นส่วนหนึ่งของการมีบทบาทเฉพาะในสังคมดังกล่าวและมีความสัมพันธ์แบบเฉพาะกับสมาชิกในกลุ่มนั้น ภาพลักษณ์ของบุคคลหนึ่งเป็นผลมาจากมุมมองของบุคคลนั้นที่มีต่อโลกและภาพลักษณ์ของเขาจะออกมาเป็นเช่นไรนั้นสัมพันธ์กับสมาชิกคนอื่นๆ ในสังคมที่เขาอาศัยอยู่ ในประเด็นนี้สำคัญมากทั้งสำหรับคณะผู้เจรจาฝ่ายไทยเพราะมีมุมมองการพูดคุยหรือการเจรจาบนฐานของกฎหมาย รัฐธรรมนูญและกรอบอธิปไตยมีภาพลักษณ์ความเป็นรัฐชาติที่เป็นทางการกำกับ แต่ฝ่ายขบวนการปาตานีมีภาพลักษณ์ของหน่วยจรยุทธ์ใต้ดินมีมุมมองทั้งประวัติศาสตร์ ดินแดนและอัตลักษณ์ เป็นเครื่องมือต่อรองที่สำคัญในการสร้างความชอบธรรมในการบรรลุเป้าหมายการพูดคุยสันติภาพ
 
11. Political context บริบททางการเมือง (ภ.มลายูกลาง konteks politik) คือ สถานการณ์ที่ขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ของความขัดแย้ง ถูกกระทบโดยระบอบทางการเมืองหรือโครงสร้างการตัดสินใจของชุมชน ท้องถิ่น หรือเชื้อชาติที่มีความขัดแย้งหรือไม่อย่างไร ใครเป็นผู้กุมอำนาจในการเมือง ในชุมชนหรือสังคมดังกล่าว การลงมติหรือการหาทางออกจากความขัดแย้งในรูปแบบต่างๆนั้น เป็นไปอย่างประชาธิปไตยหรือเผด็จการหรือไม่อย่างไร หากมองประเด็นนี้บริบททางการเมืองในกรณีปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การใช้อำนาจทางการเมืองฝ่ายรัฐในกรณีที่ส่งผลต่อความขัดแย้งในพื้นที่ ครอบคลุมถึงการใช้อำนาจทางการเมือง อำนาจทางการเงิน ทางการทหารในการใช้สรรพกำลังและการชี้ขาดปัญหาทั้งทางด้านการเมืองและปกครอง โดยมีโครงสร้างการตัดสินใจที่รวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง หรือที่นักข่าวต่างชาติเรียกว่า “รัฐบาลกรุงเทพฯ” บริบททางการเมืองในพื้นที่เป็นผลมาจากการใช้อำนาจในการบังคับใช้ ออกกฎหมายพิเศษควบคุมจากรัฐส่วนกลาง การเลือกใช้กฎหมายชนิดต่างๆ และการใช้ระบบรัฐสภาเพื่อร่วมตัดสินใจหาทางออกที่ควรจะเป็นจากความขัดแย้ง รวมทั้งปัญหาที่มาจากการถือครองทรัพยากร บุคลากร กลไกและงบประมาณด้านการพัฒนาในพื้นที่
 
12. Social Context บริบททางสังคม (ภ.มลายูกลาง konteks sosial) หมายถึง ความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีอยู่ภายในกลุ่มบุคคลหนึ่งๆที่กำลังอยู่ในภาวะของความขัดแย้ง ตัวอย่างเช่น กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอำนาจทางสังคมหรือทางการเงินเหนือกว่าหรือไม่  ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งประสบความสำเร็จน้อยกว่า หรือเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับอีกฝ่ายหรือไม่ กรณีปัญหาชายแดนใต้บริบททางสังคมอาจพิจารณาได้ถึงความสัมพันธ์ทางสังคมที่ล้มเหลวที่ต่างฝ่ายเลือกใช้ความรุนแรงตอบโต้กัน ความไม่ไว้วางใจลดลงระหว่างกันหรืออาจหมายรวมถึงสภาพความหลากหลายของผู้คนในสังคมและวัฒนธรรม การเป็นอยู่ การทำมาหากิน การอพยพย้ายถิ่น การรวมกลุ่มของสตรีหรือภาคประชาสังคม รวมทั้งประเด็นผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
 
13. Brainstorming การระดมสมอง (ภ.มลายูกลาง pemerahan otak) คือ กระบวนการที่คู่พิพาทถูกระบุให้คิดหาวิธีต่างๆ เพื่อให้มีตัวเลือกในการเข้าถึงปัญหาหนึ่งๆ มากเท่าที่จะทำได้ คู่พิพาทจะได้รับการกระตุ้นให้คิดอย่างสร้างสรรค์และต่อยอดความคิด (ideas) ของกันและกัน ซึ่งจุดมุ่งหมายคือการได้มาซึ่งวิธีการใหม่ๆในการเข้าถึงปัญหา นอกเหนือจากวิธีการเดิมที่มีอยู่แล้ว
 
14. Consensus ฉันทามติ (ภ.มลายูกลาง sepersetujuan, konsensus,หรือ ijmak: คำหลังสุดมีรากศัพท์จาก ภ.อาหรับ) การหาข้อสรุปแบบ ฉันทามติ คือการที่ทุกคนมีความเห็นสอดคล้องกันในข้อสรุปหนึ่งๆ ไม่ใช่แค่เพียงเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยเหมือนแนวทางปฏิบัติเรื่องเสียงข้างมาก ในกระบวนการหาฉันทามติ สมาชิกทุกคนต้องร่วมกันสร้างข้อตกลงที่ดีพอ (ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบเสมอไป) และเป็นข้อตกลงที่ทุกคนยินดียอมรับพร้อมทั้งปฏิบัติตาม ฉันทามติเป็นผลในระหว่างการพูดคุยในแต่ละครั้งและเป็นผลปลายทางการพูดคุยที่สำคัญทั้งสำหรับทางการไทยและตัวแทนกลุ่มขบวนการผู้ก่อการ รวมทั้งฝ่ายอำนวยความสะดวกอย่างมาเลเซีย
 
15 Stakeholders ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (ภ.มลายูกลาง  pemegang taruh) คือ ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากข้อขัดแย้งหนึ่งๆ หรือข้อสรุปของข้อขัดแย้งนั้น ในที่นี้รวมไปถึงคู่กรณีที่กำลังมีความขัดแย้งกันอยู่ในขณะนั้น และผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งดังกล่าวโดยตรง แต่อาจจะเข้ามามีส่วนร่วมเพราะพวกเขาจะได้รับผลกระทบจากผลลัพธ์ของความขัดแย้งที่จะมีขึ้นในอนาคต ในกรณีนี้หลายฝ่ายมองว่าบทบาทนี้หมายถึง ประเทศมาเลเซียเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นมุมมองที่แคบไป ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกรณีปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อาจครอบคลุมถึงประชาชนในพื้นที่ ประชาชนชาวไทยและมาเลเซียโดยรวม รวมทั้งสมาชิกของประเทศในกลุ่มอาเซียนทั้งภูมิภาค ย่อมได้ประโยชน์เช่นเดียวกันหากการพูดคุยสันติภาพ บรรลุผลเกิดการหยุดการใช้ความรุนแรง การพัฒนาที่มุ่งสู่สันติภาพอันจะส่งผลดีแก่ทุกฝ่าย
 
16. Values คุณค่า (ภ.มลายูกลาง nilai) คือ แนวคิดที่ผู้คนมีอยู่ เกี่ยวกับเรื่องการแยกแยะดีชั่ว และสิ่งต่างควรจะเป็นไปในรูปแบบใดจึงเรียกได้ว่าเหมาะสม ผู้คนมีคุณค่าในเรื่องของความสัมพันธ์ในครอบครัว เช่น บทบทของสามีที่ให้เกียรติภรรยา ในเรื่องของความสัมพันธ์ในที่ทำงาน เช่น แนวทางที่นายจ้างควรปฏิบัติต่อลูกจ้าง และ ในเรื่องของความสัมพันธ์ส่วนบุคคล เช่น แนวทางที่เด็กควรจะปฏิบัติตนต่อผู้อาวุโส หรือ มนุษย์กับการนับถือศาสนา ในกรณีปัญหาชายแดนใต้แนวคิดเรื่องระบบคุณค่าของคนในพื้นที่มีรากฐานจากศาสนา อัตลักษณ์มลายูและประวัติศาสตร์ปาตานี ซึ่งเป็นแนวคิดที่มักขัดกับแนวคิด แนวปฏิบัติหลักของรัฐที่พยายามชูเรื่อง “ความเป็นไทย”ที่มีลักษณะเฉพาะและยึดประเพณีในศาสนาพุทธเป็นหลักทั้งในพิธีกรรมรัฐ การปกครองและระบบราชการ
 
17. Deadlines, กำหนดเวลาสิ้นสุด (ภ.มลายูกลาง Tarikh Akhir ) การกำหนด ‘deadlines’ และบทลงโทษของผู้ที่ไม่สามารถทำบางสิ่งบางอย่างสำเร็จภายในกำหนด สามารถช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่คู่กรณี ว่าการสรรหาข้อตกลงหนึ่งๆจะสำเร็จลุล่วง การกำหนด ‘deadlines’ ยังสามารถลดความเสี่ยงเรื่องคู่กรณีไม่ที่ซื่อสัตย์ทำการขัดขวางข้อตกลงที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ทุกฝ่าย ‘deadlines’ ในกระบวนการเจรจาต่อรองช่วยสร้างความมั่นใจวาคู่กรณีฝ่ายใดที่ต้องการคงไว้ซึ่ง สถานะเดิม (status quo) ไม่สามารถยืดเวลาการเจรจาออกไปได้อย่างไม่มีกำหนด เมื่อคู่กรณีที่ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันยินดีที่จะแสดงความรับผิดชอบ ก็มีทางเป็นได้ที่จะออกแบบทางแก้ปัญหาตามที่มีข้อตกลงกันไว้ว่าขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของอีกฝ่าย การแสดงความรับผิดชอบยังสามารถนำไปสู่ความสำเร็จของข้อตกลงหนึ่งๆอีกด้วย การมีกำหนดเวลาสิ้นสุด เป็นเครื่องมือที่แสดงการให้โอกาสและการแสวงหาเส้นความเด็ดขาดที่สำคัญ ทั้งสำหรับทางการไทยและฝ่ายก่อการ เพราะเกี่ยวข้องกับการค้ำประกันผลที่ควรเกิดขึ้นการพูดคุย และเพื่อให้สิ่งที่ตกลงกันมีผลในทางปฏิบัติตามตามข้อตกลงและมีผลในการบังคับใช้ร่วมกัน เพื่อให้กระบวนการพัฒนาสันติภาพไปข้างหน้าได้
 
18. Conciliation การประนีประนอม (ภ.มลายูกลาง pendamaian) เกี่ยวเนื่องกับความพยายามของบุคคลที่สามในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างคู่พิพาทให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น การประนีประนอมนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หรืออยู่เดี่ยวๆก็ได้ (independently) โดยปกติแล้ว บุคคลที่สามจะเป็นผู้ทำหน้าที่แก้ไขข้อเข้าใจผิด ลดความหวาดกลัวและความไม่ไว้วางใจกันระหว่างคู่พิพาท ในบางครั้งการประนีประนอมเพียงอย่างเดียวก็สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ หรืออย่างน้อยก็เป็นการปูทางไปสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยขั้นต่อไป ซึ่งการประนีประนอมนี้สำคัญทั้งสำหรับทางการไทยและฝ่ายขบวนการ
 
19. Impartiality ความเป็นกลาง (ภ.มลายูกลาง adil, saksama, tidak berat sebelah คำแรกมีรากศัพย์มาจากภาษาอาหรับ) ในที่นี้หมายถึง ทัศนคติของบุคคลที่สาม ‘a impartial third party’ จะต้องไม่เลือกเข้าข้างใดข้างหนึ่ง แต่ต้องเข้าหาและทำความรู้จักคุ้นเคยกับคู่กรณีทุกฝ่ายอย่าเท่าเทียมกัน ในทางปฏิบัติแม้ว่าบุคคลที่สามจะสามารถปฏิบัติต่อทุกฝ่ายได้อย่าเท่าเทียม แต่ก็ถือเป็นเรื่องยากที่บุคคลผู้นั้นจะสามารถให้ความยุติธรรมแก่ทุกฝ่ายถ้าบุคคลผู้นั้นมีความโน้มเอียงไปยังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือโน้มเอียงไปทางเหตุผลของฝ่ายหนึ่งมากกว่าอีกฝ่าย ประเด็นความเป็นกลางนี้สำคัญมากสำหรับทางการมาเลเซียที่อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพในทุกครั้งนับจากนี้
 
20.  Dialogue การสานเสวนา (ภ.มลายูกลาง percakapan, dialog) คือ กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับความเชื่อ ความรู้สึกนึกคิด ความสนใจและความต้องการระหว่างกลุ่มคน ในรูปแบบที่เป็นมิตรและเปิดกว้าง โดยปกติแล้วจะมีบุคคลที่สามทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ การสานเสวนาแตกต่างจากการไกล่เกลี่ย (mediation) ซึ่งมีเป้าหมายคือการได้มาซึ่งข้อสรุปหรือทางแก้ไขปัญหาของข้อพิพาทหนึ่งๆ ในขณะที่จุดมุ่งหมายของการสานเสวนาเพียงแค่ต้องการเสริมสร้างความเข้าใจและความไว้วางใจระหว่างบุคคลเท่านั้นในกรณีปัญหาจังหวัดชานแดนใต้กระบวนการนี้เครื่องมือสำคัญที่ถูกหยิบใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งแวดวงวิชาการ ภาคราชการและภาคประชาคม ที่ใช้การสานเสวนาระหว่างเพื่อนต่างศาสนิก ระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ ระหว่างนักการเมืองกับชาวบ้าน อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เน้นการรับฟังซึ่งกันและกัน อันจะนำสู่การเปิดใจละสร้างการยอมรับระหว่างกัน
 
21. Human needs ความต้องการของมนุษย์ (ภ.มลายูกลาง keperluan manusia) คือ สิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องการ เพื่อการเจริญเติบโตและมีพัฒนาการในสภาวะที่ปกติ Abraham Maslow นักจิตวิทยาคนสำคัญ ได้ให้ความหมายไว้ว่า ความต้องการของมนุษย์ เป็นสิ่งที่เหนือกว่าความต้องการที่แสดงออกทางกายภาพ อันได้แก่ ความต้องการอาหารและที่อยู่อาศัย เพราะความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ครอบคลุมถึงความต้องการทางด้านจิตใจ เช่น ความมั่นคงปลอดภัย ความรัก อัตลักษณ์ ศักดิ์ศรี และความสามารถในการบรรลุเป้าหมาย นักทฤษฎีทางด้านความขัดแย้งบางท่านเสนอทฤษฎีเกี่ยวกับ ‘human needs’ ไว้ว่า ความขัดแย้งที่มีความซับซ้อนและรุนแรงที่สุด คือความขัดแย้งทางด้านเชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์ เกิดจากการปฏิเสธใน ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ อาทิ อัตลักษณ์ ความมั่นคงปลอดภัย และการเป็นที่ยอมรับ ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่าย ในการที่จะแก้ไขความขัดแย้งดังกล่าวจะต้องคิดหาทางเพื่อตอบสนองความต้องการของทุกฝ่าย โดยปราศจากการประนีประนอม ดังคำกล่าวที่ว่า “human needs are not for trading” "ความต้องการของมนุษย์ไม่ได้มีไว้สำหรับการซื้อขาย"
 
22. Interests ความสนใจแบบเฉพาะเจาะจง (ภ.มลายูกลาง kepentingan) คือ ความต้องการและความกังวลอันเด่นชัด ที่กระตุ้นผู้คนให้ระบุในจุดยืน (position) คือสิ่งที่คู่ขัดแย้งระบุว่าเขาต้องการเช่น “ฉันต้องการจะสร้างบ้านตรงนี้” ความสนใจแบบเฉพาะเจาะจง คือเหตุผลที่สนับสนุนว่าคนๆหนึ่งเลือกจุดยืนนั้น “เพราะว่าที่ตรงนี้เป็นจุดที่มีทัศนียภาพสวยงามจุดหนึ่งในเมืองนี้” บ่อยครั้งที่ความสนใจแบบเฉพาะเจาะจงของคู่ขัดแย้งแต่ละฝ่ายสามารถเข้ากันได้และสามารถเจรจาต่อรองได้ แม้ว่าความสนใจแบบเฉพาะเจาะจงของแต่ละฝ่ายจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงก็ตาม ความสนใจแบบเฉพาะเจาะจงของทางการไทยคือ ในเบื้องต้นต้องการการยุติการใช้ความรุนแรงทั้งรายวันและการสร้างสันติภาพระยะยาว รวมถึงร่วมค้นหารูปแบบปกครองท้องถิ่นที่เหมาะสมสำหรับชายแดนใต้ในกรอบรัฐธรรมนูญ สำหรับฝ่ายกลุ่มกระบวนอาจเปิดเผยชัดในประเด็นเฉพาะเจาะจง แต่อาจยังสงวนท่าที่ที่สามารถผ่อนปรน ซึ่งยังไม่ว่าจะมีทางออกเช่นไรก็ต้องพยายามน้าวโน้มการยอมรับและการเห็นด้วยจากทางการไทยด้วยเช่นกัน
 
23. Goal Clarification เป้าหมายที่ชัดเจน (ภ.มลายูกลาง Matlamat yang Penjelasan การประสบความสำเร็จในการจัดการความขัดแย้งหนึ่งๆ ถือเป็นเรื่องยาก ถ้าหากบุคคลในความขัดแย้งเหล่านั้นไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับเป้าหมายของเขาตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม เพราะฉะนั้นขึ้นตอนแรกสุดในการเผชิญหน้าอย่างสร้างสรรค์ คือ การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนของแต่ละฝ่ายเพื่อสรุปว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไรและวิธีไหนคือทางแก้ปัญหาที่เหมาะสม ในประเด็นนี้ชัดเจนว่าทางการไทยใช้การต่อรอง เจรจาพูดคุยสันติภาพตามกรอบของรัฐธรรมนูญไทย หากแต่ฝ่ายกลุ่มขบวนการอาจมีความแตกต่างหลากหลายในการพูดคุย ทั้งกลุ่มที่ต้องการเอกราช การปกครองตนเองหรือการปกครองในรูปแบบพิเศษที่เป็นที่ยอมรับหรือทางการไทยเห็นว่าเหมาะสม
 
24. Amnesty นิรโทษกรรม (ภ.มลายูกลาง pengampunan) คือ การอภัยโทษแก่ผู้เคยกระทำความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกระทำความผิดทางการเมือง เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชนและอาชญากรสงคราม การนิรโทษกรรมเป็นอีกทางออกหนึ่งของปลายทางการพูดคุยสันติภาพที่ทางการไทยสามารถหยิบมาใช้ในกรณีที่ฝ่ายกลุ่มขบวนการให้ความร่วมมือ ซึ่งทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถเบาบางอดีตที่ทั้งสองฝ่ายเคยกระทำผิดต่อการโดยเป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมการเดินหน้าสู่อนาคตร่วมกัน
 
 
สรุป
 
สำหรับวันที่ 28 มี.ค.นี้ การจะเรียกว่า “การพูดคุยสันติภาพ” หรือเรียกว่า “การเจรจา” เพียงแค่สองคำนี้ก็ต่างทั้งวิธีการ ขั้นตอน เนื้อหา สาระ รวมถึงเป้าหมาย และผลที่คาดหวังของแต่ละฝ่าย ที่สำคัญทั้งสามฝ่ายยังต้องรักษาความไว้วางใจระหว่างกัน ในการหาทางออกต่อปัญหาความขัดแย้งที่มีอีกหลายๆ ฝ่ายในวงนอกที่คอยตามผลความก้าวหน้า ก้าวอยู่กับที่ หรือความถดถอยซึ่งเป็นไปได้ทั้งสามทาง อีกทั้งยังมีกองเชียร์ ฝ่ายคัดค้านและผู้ติดตาม ทั้งนักการเมืองและประชาชนทั้งที่สนับสนุนและเป็นกังวล หรือที่อยู่ข้างใดข้างหนึ่งของฝ่ายคู่ขัดแย้งที่คอยติดตามผลพูดคุยที่จะตามมา การทำความเข้าใจเบื้องต้นในการใช้ชื่อเรียกหรือศัพท์แสงด้านสันติภาพและความขัดแย้งจึงสำคัญ เพราะด้วยการพูดคุยหรือเจรจาในภาษาและศัพท์ที่เขาเข้าใจ และเรากับเขาเข้าใจตรงกันในเนื้อหาสาระ จึงจะบรรลุผล จะด้วยภาษาไทยภาษามลายูหรือภาษากลางอย่างภาษาอังกฤษ หากจำเป็นต้องเลือกใช้ศัพท์เทคนิคเฉพาะที่มาจากภาษาอังกฤษแล้วควรอย่างยิ่งที่ทั้งสองฝ่ายและทางการมาเลเซียที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกต้องเข้าใจนิยามความหมายที่ตรงกันทั้งหมด
 
แต่อาจเป็นได้ที่ศัพท์เทคนิคเฉพาะ (Technical Terms) บางคำอาจสร้างความไม่เข้าใจต่อเนื้อหาสาระทั้งหมด หรือสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนแก่กลุ่มขบวนการที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังผู้ก่อการ อีกทั้งในฝ่ายขบวนการเองก็ไม่แน่ชัดว่าจะสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ทางการไทยด้วยภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษได้ทั้งหมดหรือไม่ หรืออาจใช้หลายๆภาษาผสมกัน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยสันติภาพหรือเจรจาในภาษาใดก็ตามประเด็นสำคัญคือต้องให้ทางการมาเลเซียเข้าใจด้วย ทั้งสามฝ่ายและผู้ติดตามวงนอกจึงจะมีความเข้าใจที่ตรงกัน ทั้งเนื้อหาและสาระของทางออกในระยะเบื้องต้นและทิศทางในระยะยาวของกระบวนการสันติภาพที่หลายฝ่ายคาดหวังจะให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลที่จะก่อให้เกิดแนวทาง(Road Map)สู่ความสันติสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้
 
 
หมายเหตชื่อบทความเดิม: 24 ศัพท์บัญญัติด้านสันติภาพและความขัดแย้ง ที่ควรทำความเข้าใจก่อนและหลังการพูดคุยสันติภาพ 28 มี.ค.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net