Skip to main content
sharethis

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและกลุ่มด้วยใจ เผยข้อเสนอจากผู้ต้องคดีความมั่นคง ขอมีส่วนร่วมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ ขอให้นิรโทษกรรม ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม เยียวยาตามหลักศาสนา ใช้กฎหมายชารีอะห์ในพื้นที่

วันที่ 27 มีนาคม 2556 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และกลุ่มด้วยใจ เผยแพร่รายงานข้อเสนอสนับสนุนกระบวนการสันติภาพจากผู้ต้องขังคดีความมั่นคงชายแดนใต้ เพื่อหนุนกระบวนการพูดคุยสันติภาพ โดยรายงานดังกล่าวได้ยื่นเสนอต่อศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) ผู้บัญชาการเรือนจำและสถาบันพระปกเกล้า เพื่อพิจารณาให้กระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ผนวกเสียงของคนกลุ่มต่างๆ ให้ครอบคลุม เพื่อให้เป็นวาระของทุกคน ไม่ใช่เรื่องของคนสองกลุ่มตกลงกันเพียงอย่างเดียว

นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ ผู้ประสานงานกลุ่มด้วยใจ เปิดเผยว่า ข้อเสนอจากผู้ต้องขังดังกล่าวมี 2 ประเด็น คือ เรื่องกระบวนการยุติธรรม และการเยียวยา

สำหรับประเด็นเรื่องกระบวนการยุติธรรมนั้น ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงต้องการให้มีการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นสอบสวน โดยข้อเสนอส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับความไม่เป็นธรรมที่พวกเขาได้รับจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เช่น กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า การไม่ให้ประกันตัวเนื่องจากเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคง เป็นต้น
ส่วนเรื่องการเยียวยานั้น พวกเขาต้องการให้มีกระบวนการเยียวยาที่ไม่ขัดหลักศาสนาอิสลาม ต้องการให้มีการใช้กฎหมายชารีอะห์ (กฎหมายอิสลาม) มาบังคับใช้ในพื้นที่ และขอให้นิรโทษกรรมพวกเขาด้วยในฐานะที่พวกเขาเป็นนักโทษทางการเมือง

นางสาวอัญชนา เปิดเผยด้วยว่า กลุ่มผู้ต้องขังเหล่านี้ เข้าใจว่าพวกเขาเองถูกมองว่าเป็นทหารของฝ่ายขบวนการที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐ รัฐมองว่าเป็นผู้คิดต่าง มีพฤติกรรมต่อต้านรัฐและถูกตัดสินว่าเป็นผู้ก่อความรุนแรง ซึ่งรัฐเองก็อธิบายมาตลอดว่า การจะยุติความขัดแย้งรุนแรงนี้ได้ ต้องคุยกับผู้ใช้ความรุนแรง พวกเขาเป็นตัวแทนเสียงของคนกลุ่มนั้นที่ควรจะรับฟัง ซึ่งมุมมองดังกล่าว เป็นมุมมองทางการเมือง ดังนั้นพวกเขาก็คือนักโทษทางการเมือง
ดังนั้น ในกระบวนการเจรจาก็ต้องมีเรื่องของการนิรโทษกรรมให้กับผู้ต้องขังคดีความมั่นคงด้วย ทั้งนี้ เข้าใจกระบวนการที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ว่ายังไม่ใช่การเจรจา แต่อยู่ในขั้นของกระบวนการพูดคุย อย่างไรก็ตามเสียงของพวกเขาเหล่านั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนพูดคุยก็ต้องให้ความสำคัญด้วย และสังคมเองก็ต้องรับฟัง

ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวเป็นผลจากการทำกิจกรรมร่วมกับผู้ต้องขังคดีความมั่นคง 4 จังหวัด คือปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสงขลาระหว่างวันที่ 20 – 22 มีนาคม 2556 ภายใต้โครงการเปิดพื้นที่การพูดคุกับผู้ต้องขังคดีความมั่นคงจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา มีผู้ต้องขังเข้าร่วมกิจกรรม 177 คน โดยมีนายเมธัส อนุวัตรอุดม จากสถาบันพระปกเกล้าและนางสาวธีรดา ศุภะพงษ์ จาก Center for Humanitarian Dialogue (HDC) เป็นวิทยากร และมีการทำกิจกรรมกลุ่มเพื่อดึงข้อเสนอจากผู้ต้องขัง จนได้ข้อสรุปและจะเผยแพร่ต่อสาธารณะต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้กลุ่มด้วยใจและวิทยากร ให้จัดกิจกรรมลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้ต้องขังส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจและไม่ไว้วางใจในกระบวนการสันติภาพ จึงอยากมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในครั้งนี้ด้วย
“พวกเขาอยากได้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าบ้านเมืองของพวกเขาในอนาคตควรจะเป็นอย่างไร”

นางสาวอัญชนา เปิดเผยด้วยว่า ตัวเองเป็นญาติกับของอดีตผู้ต้องขังคดีความมั่นคงที่ถูกศาลพิพากษายกฟ้อง ได้ผันตัวเองมาทำกิจกรรมกับผู้ต้องขังที่ได้รับผลกระทบจากการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง จนได้รับความไว้วางใจจากผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ทั้งจากการเยี่ยมเยียนครอบครัวผู้ต้องขัง และให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายและการการประกันตัวตั้งแต่ ปี พ.ศ.2550

“ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดึงความต้องการลึกๆ ของผู้ต้องขังคดีความมั่นคง จึงต้องทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความไว้วางใจ ทั้งกับตัวผู้ต้องขังเองและครอบครัว จนกระทั่งสามารถดึงความต้องการที่อยู่ในใจลึกๆ ของพวกเขาออกมาได้” นางสาวอัญชนา
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net