Skip to main content
sharethis

สภาวิจัยทางการแพทย์ของอังกฤษสำรวจกลุ่มตัวอย่างเด็กที่ดูทีวี พบว่ามีอยู่ร้อยละ 1.3 เท่านั้น ที่แสดงพฤติกรรมด้านลบออกมา ซึ่งน้อยเกินกว่าจะบ่งชี้ความเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญได้ ขณะเดียวกันก็มีความเป็นไปได้ที่ปัจจัยทางครอบครัวอื่นๆ จะส่งผลต่อพฤติกรรมด้านลบเองด้วย

26 มี.ค. 2013 สภาวิจัยทางการแพทย์ (MRC) ของอังกฤษเปิดเผยผลการวิจัยว่าการที่เด็กดูโทรทัศน์หรือเล่นวีดิโอเกมทุกวันไม่ได้ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก อีกทั้งไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องปัญหาทางอารมณ์หรือเรื่องอาการอยู่ไม่นิ่ง

ทีมวิจัยสำรวจโดยอาศัยกลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กอายุ 5 ปี จำนวนมากกว่า 11,000 คน ผลปรากฏว่ามีอยู่ร้อยละ 1.3 เท่านั้นที่แสดงพฤติกรรมที่เป็นปัญหาออกมาเมื่ออายุได้ 7 ปี ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่าเมื่อพิจารณาจากผลการวิจัยแล้ว ความเกี่ยวข้องระหว่างทั้งสองเรื่องนี้อ่อนเกินไปจนไม่มีนัยสำคัญ พวกเขายังบอกอีกว่าอิทธิพลด้านอื่นๆ เช่น สไตล์การเลี้ยงลูก น่าจะเป็นตัวบ่งชี้ความเกี่ยวข้องดังกล่าวมากกว่า

การวิจัยดังกล่าวพบว่าเด็กอายุ 5 ปี จำนวนสองในสาม (ร้อยละ 65) ของกลุ่มตัวอย่างดูทีวี 1-3 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่ ร้อยละ 15 ดูทีวีมากกว่า 3 ชั่วโมง และร้อยละ 2 ไม่ได้ดูทีวีเลย โดยมีการตั้งสมมุติฐานว่าการดูทีวีมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวันจะทำให้เกิดปัญหาด้านพฤติกรรมเช่น การใช้กำลัง, การโกหก, การรังแกคนอื่น มากกว่ากลุ่มตัวอย่างอื่นๆ แต่จากปากคำของแม่พวกเขาพบว่าเด็กที่อายุ 7 ปีในกลุ่มตัวอย่างดังกล่าวแสดงพฤติกรรมด้านลบมากขึ้นเพียงเล็กน้อย ขณะที่การเล่นวีดิโอเกมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเลย

นอกจากนี้แล้วยังพบว่าเวลาในการดูทีวีไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่ง หรือปัญหาด้านปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน

งานวิจัยชิ้นนี้ขัดแย้งกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ของสหรัฐฯ ที่บอกว่าการให้เด็กอายุน้อยดูทีวีจะทำให้เกิดปัญหาด้านสมาธิเมื่อเด็กอายุได้ 7 ปี โดยงานวิจัยดังกล่าวของสหรัฐฯ ทำการสำรวจกับเด็กอายุ 1 ปี และอายุ 3 ปี พบว่าร้อยละ 10 เกิดปัญหาด้านสมาธิ ซึ่งทางคู่มือกุมารแพทย์ของสหรัฐฯ แนะนำว่าเด็กควรจำกัดชั่วโมงการดูทีวีเหลือ 2 ชั่วโมงต่อวัน และให้เป็นรายการเชิงการศึกษาที่ไม่มีฉากรุนแรง

ดร.อลิสัน พาร์กส์ หัวหน้าหน่วยงานฝ่ายสุขภาวะและสังคมของ MRC ในเมืองกลาสโกว์กล่าวว่าการโทษทีวีเมื่อเกิดปัญหาสังคมเป็นเรื่องผิด

"พวกเราพบว่า เวลาในการดูทีวีไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อปัญหาสังคมและปัญหาเชิงพฤติกรรมส่วนใหญ่ที่เราประเมินไว้ และมีเพียงปัญหาพฤติกรรมเช่นการใช้กำลังหรือการรังแกกันเกิดขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น" พาร์กส์กล่าว

"ผลการวิจัยของพวกเราทำให้เห็นว่าการจำกัดเวลาที่เด็กใช้ตอนอยู่หน้าทีวีเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ทำให้การปรับตัวทางด้านจิตใจและสังคมดีขึ้น" พาร์กส์กล่าว

อย่างไรก็ตามส่วนหนึ่งของปัญหาในการวิจัยเช่นนี้คือปัจจัยทางสังคมในครอบครัวก็มีผลต่อเวลาในการดูทีวีของเด็กด้วยเช่นกัน อย่างเช่นในครอบครัวที่ขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเด็กๆ ก็จะใช้เวลาดูทีวีหรือเล่นวีดิโอเกมมากกว่า

พาร์กส์บอกวา หากทีมวิจัยสามารถควบคุมปัจจัยของครอบครัวที่มีอิทธิพลได้ พวกเขาก็อาจจะไม่ค้นพบผลกระทบร้อยละ 1.3 เลยด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตามทีมวิจัยให้คำแนะนำว่าควรมีการจำกัดเวลาดูทีวีเนื่องจากการใช้เวลาอยู่หน้าจอทีวีมากเกินไปอาจทำให้เด็กมีเวลาทำกิจกรรมที่สำคัญอย่างอื่นเช่นการเล่นกับเพื่อนและการทำการบ้านน้อยลง

ศาตราจารย์ ฮิวจ์ เพอร์รี่ ประธานบอร์ดฝ่ายสุขภาพจิตและประสาทวิทยาของ MRC กล่าวว่า ปัจจุบันเราอยู่ในโลกที่สื่อบันเทิงอิเล็กโทรนิคมีอิทธิพล จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่พ่อแม่จะรู้สึกเป็นกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดกับเด็ก และงานวิจัยชิ้นล่าสุดนี้แสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาวะกับทีวีและวีดิโอเกมมีความซับซ้อน รวมถึงมีปัจจัยด้านสังคมและสภาพแวดล้อมเข้ามามีส่วนด้วย

เรียบเรียงจาก

TV time 'does not breed badly behaved children' , BBC, 26-03-2013

Watching TV for three hours a day will not harm your children, parents told, The Independent, 26-03-2013
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net