เสวนาปาตานี: กรณี 28 ก.พ. บวกหรือลบต่อสันติภาพปาตานี

มุมมองต่อกรณีแถลงข่าวเห็นชอบการเจรจาระหว่างรัฐและฝ่ายขบวนการเมื่อ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยนักศึกษา นักเคลื่อนไหว สื่อมวลชน ภาคประชาสังคม และประชาชนชายแดนใต้ ร่วมอภิปราย 

จากเวทีการพูดคุยระหว่างรัฐไทยและ BRN ที่ผ่านมาและที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 28 มีนาคม 2556 นี้ ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนควรจะมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง โดยเฉพาะภาคประชาชนผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียมากที่สุด

เมื่อวันเสาร์ ที่ 23 มีนาคม 2556 เวลา 13.00 น.-16.30 น. ณ หอประชุมสำนักงานอธิการบดี (สนอ.) มอ.ปัตตานี จัดโดย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ [PERMAS] ร่วมกับ สำนักสื่อ Wartani

และองค์กรร่วมภาคีอีก 8 องค์กร อาทิเช่น สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน [Media Selatan], เครือข่ายบัณฑิตอาสาจังหวัดชายแดนภาคใต้ [INSouth], มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม [MAC], เครือข่ายอาสาสมัครผู้ช่วยทนายความมุสลิมศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ [SPAN], สมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ [Deep Peace], มูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกาจังหวัดชายแดนใต้ [PERKASA] เครือข่ายส่งเสริมสิทธิและเข้าถึงความยุติธรรม (HAP) และห้างหุ้นส่วนจำกัดยะลาเคเบิ้ลเน็ตเวิร์ค [YCN] ร่วมกันจัดเวทีเสวนาปาตานี หรือ Bicara Patani ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “28 ก.พ. : สัญญาณบวกหรือลบต่อกระบวนการสันติภาพปาตานี” หรือ “28 Feb : Petanda Baik atau Buruk Proses Damai Patani” ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนในพื้นที่ เพื่อเรียนรู้ในเรื่องหลักการ เงื่อนไข และขั้นตอนของกระบวนการเจรจาสันติภาพตามหลักสากลที่แท้จริง ผ่านมุมมองของนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ทั้งคนในและนอกพื้นที่ อีกทั้งยังมีนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวรับเชิญจากต่างประเทศ อาทิเช่น นักวิชาการจากประเทศญี่ปุ่น และนักเคลื่อนไหวจากอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น โดยมีนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมประมาณ 7,000 กว่าคน

เริ่มเปิดงานด้วยประธานโครงการชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ของงานโดย นายอิสมาอีล ฮายีแวจิ เปิดเผยว่า “เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันในพื้นที่ปาตานี อยู่ในช่วงที่ประชาชนชาวปาตานีสับสน เราในฐานะบัณฑิตและนักศึกษาที่เป็นคนในพื้นที่เกิดความตระหนักในบทบาท จึงเกิดแนวคิดที่ต้องสร้างความตระหนักต่อประชาชน เพื่อให้ความจริงได้ประกฎเกิดขึ้นในสังคมมลายูปาตานีต่อไป”

กิจกรรมต่อมา “การแสดงมินิคอนเสิร์ตบรรเลงเพลงเพื่อสันติภาพ” โดยวง Madu Band ซึ่งเป็นบทเพลงที่สะท้อนถึงความรู้สึกของคนในพื้นที่ และยังสะท้อนถึงภารกิจของนักต่อสู้ปาตานีที่เสียสละแม้กระทั่งชีวิตของตนเอง

อับดุลเลาะ หวันมามะ นักเขียน นักกวี จากสำนักพิมพ์ Awan Book และผู้แต่งเนื้อเพลงในครั้งนี้กล่าวถึงแรงบันดาลใจของตนเองว่า “ส่วนตัวเป็นคนที่ชอบเขียนอยู่แล้ว มองดูดวงจันทร์ ก็เห็นดวงจันทร์กำลังยิ้ม มองดูต้นไม้ก็จะเห็นต้นไม้กำลังขยับตัว เป็นต้น ซึ่งอารมณ์ที่เป็นแรงบันดาลใจจากการแต่งเนื้อเพลง 13 Feb นี้เขียนขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาสผ่านไปหนึ่งวัน ผมเขียนเนื้อเพลงนี้เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556 ผมพยายามจะถ่ายทอดถึงการเสียสละของเหล่าวีรชนเหล่านั้นขึ้นมาผ่านการเขียนกวี หลังจากมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่คนในพื้นที่ยกย่องว่าพวกเขาคือ “นักรบของประชาชน”" อับดุลเลาะ กล่าว

ซูกิฟลี กาแม หรือที่รู้จักกันในนาม Budu Little นักร้อง จากสำนักสื่อ Wartani กล่าวว่า “บทเพลงที่ผมร้อง เป็นบทเพลงหนึ่งที่จะพยายามสะท้อนถึงความรู้สึกของคนในพื้นที่ผ่านบทเพลงที่ชื่อว่า “Sebalik Kegelapan” ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า “เบื้องหลังความมืดมน” ต่อด้วยเพลง “13 FEB” หรือ “13 กุมภา” ซึ่งเป็นเพลงที่ผู้แต่งพยายามจะเล่าเรื่องถึงบทบาทการเสียสละของเหล่านักรบประชาชนปาตานีที่เสียสละได้แม้กระทั้งชีวิตของตนเอง” ซูกิฟลี กล่าว

ต่อด้วย “การกล่าวปาฐกถา” โดย ทนายอนุกูล อาแวปูเต๊ะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิม ประจำจังหวัดปัตตานี [MAC] กล่าวว่า "การพูดคุยเจรจาเพื่อสันติภาพคงไม่ใช่เป็นเรื่องของคน 2 คน แต่การเจรจาสันติภาพเบื้องหลังของมัน คือ ชะตากรรมของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้" อนุกูล กล่าว

และกิจกรรมที่เป็นไฮไลท์ในงานครั้งนี้คือ Baicara Patani (เสวนาปาตานี) เป็นการเสวนาที่ทางผู้จัดงานพยายามเปิดพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนในพื้นที่โดยเฉพาะประชาชนผู้ที่ได้รับการสูญเสียมากที่สุดท่ามกลางการทำสงครามระหว่างรัฐไทยกับกองกำลังติดอาวุธเพื่อเอกราชปาตานี

ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการ มูลนิธิศักยภาพชุมชน หนึ่งในวิทยากรเปิดเผยว่า การเจรจาเป็นทางออก หากแต่ว่าการเจรจาต้องเป็นการเจรจาที่บริสุทธิ์ หากเป็นเช่นนั้นจริงการเจรจาย่อมเป็นผลบวกเพื่อให้เกิดสันติภาพ แต่เมื่อกลับมองดูด้านลบแล้วอาจจะมีมากกว่าด้านบวก เพราะวันนี้เราไม่แน่ใจว่าการเจรจาเป็นการเจรจาที่บริสุทธิ์หรือไม่ ?

ชินทาโร ฮารา นักวิชาการชาวญี่ปุ่น ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มอ.ปัตตานี เปิดเผยว่า ในหนังสือที่มีการลงนามเพื่อสันติภาพเมื่อวันที่ 28 กุมภา ซึ่งมีสามฝ่ายด้วยกัน แต่การร่างหนังสือนั้นร่างโดยรัฐไทยเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ส่วนฝ่าย BRN และรัฐมาเลเซียไม่ได้มีส่วนในการร่างหนังสือการลงนามนั้นเลย

มีข้อความสำคัญข้อความหนึ่งในหนังสือการลงนามนั้นว่า “รัฐไทยต้องการพูดคุยกับผู้ที่คิดเห็นและอุดมการณ์ที่แตกต่างจากรัฐ” ดังนั้นก็หมายความว่ารัฐต้องการพูดคุยกับผู้ที่มีความคิดที่แตกต่างไปจากรัฐที่ไม่ใช่ฝ่าย BRN เท่านั้น แต่ประชาชนทั่วไปที่คิดต่างจากรัฐนั้นก็ต้องพูดคุยด้วย

ชินทาโร เปิดเผยต่อว่า หากรัฐเลือกที่จะพูดคุยกับผู้ที่คิดต่างจากรัฐอย่าง BRN เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่รวมประชาชนด้วย ประชาชนที่คิดต่างจากรัฐก็ต้องสนับสนุน BRN เพื่อให้เกิดกระบวนการสันติภาพที่แท้จริง BRN จะอยู่ไม่ได้หากประชาชนคนในพื้นที่ไม่สนับสนุน

 

 ตูแวดานียา บิน ตูแวอิสมาอีล ตูแวแมแง รองผู้อำนวยการ สถาบันเยาวชนเพื่อสันติภาพและการพัฒนา [YDA] เปิดเผยว่า มีเพียงแค่สองเหตุผลเท่านั้น ที่เป็นสาเหตุให้ ฮาซัน ตอยิบ ยินยอมลงนามด้วย คือ ถ้าเขาเป็นผู้นำระดับสูงของ BRN จริง การตัดสินใจเข้าโต๊ะพูดคุยและลงนามยอมสู้ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทยครั้งนี้ เหตุผลที่หนึ่ง คือ ฮาซัน ตอยิบ หรือ BRN ได้เปลี่ยนอุดมการณ์เพื่อการปฏิวัติ เป็นการต่อสู้เพื่อการปฏิรูปแทน เหตุผลที่สอง คือ ฮาซัน ตอยิบ ถูกบีบบังคับโดยตำรวจสันติบาลมาเลเซียให้ลงนามแบบขืนใจเพื่อให้สาธารณชนเข้าใจว่า BRN ได้ยอมจำนนสู้ภายใต้กรอบความเป็นพลเมืองไทยแล้ว

ยูวันด้า จามาล เลขาธิการใหญ่ Aceh Baru [New Aceh] เปรียบเทียบการลงนามเจรจาครั้งนี้ว่า ในขณะที่พวกเราอยู่กลางทะเลทราย เมื่อเรามองดูไกลๆ เราจะเห็นหยดน้ำกำลังไหลลงมา แต่พอเราเดินไปถึงที่เป้าหมายความจริงหยดน้ำที่เราเห็นนั้นไม่มีสักหยดหนึ่งเลย

ซึ่งสามารถเปรียบเทียบได้ว่า เมื่อเรามองจากข้อมูลด้านเดียว การลงนามเจรจาคือ สัญญาบวกที่รัฐไทยได้เปิดพื้นที่ในการเจรจา แต่หากเรามองลึกลงไปอีกจะเห็นได้ว่าการลงนามเจรจาเมื่อวัน 28 กุมภานั้น ไม่ใช่การลงนามเจรจาเพื่อสันติภาพอย่างแท้จริง

เปิดประเด็นแลกเปลี่ยนผู้เข้าร่วม

ชารีฟ บิน มุสตอฟา สะอิ เลขาธิการ เครือข่ายบัณฑิตอาสาจังหวัดชายแดนภาคใต้ [INSouth] ตั้งคำถามว่า สิ่งที่วิทยากรได้อธิบายทั้งหมดนั้นมันเกี่ยวข้องกับพวกเราอย่างไร ? แล้วหลังจากนี้พวกเราควรทำอย่างไรต่อไป ?

รุชฎา บินตี ชาฟีอี วาบา เจ้าหน้าที่สมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ [Deep Peace] และนักเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์ยะลา กล่าวว่า ที่ผ่านมาเมื่อไรก็ตามที่เราคิดต่างจากรัฐจะถูกประณามเป็นโจรทันที ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อการเจรจาถูกหยิบยื่นมาก็มีการตั้งกรอบว่า ใครที่ไม่ต้องการให้มีการเจรจาหรือต้องการล้มโต๊ะเจรจา คนๆนั้นคือคนที่ไม่ต้องการสันติภาพ

เอาเข้าจริงแล้วคนในพื้นที่หรือคนที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นผู้ชายที่เชื่อว่าถูกจับกุม ถูกซ้อมทรมาน และไม่สามารถอยู่บ้านได้ และฝ่ายหญิงอีกหลายต่อหลายคนที่เป็นหญิงหม้าย มีลูกกำพร้าเต็มไปหมด ซึ่งคนเหล่านี้กระหายในเรื่องสันติภาพมากกว่าคนอื่นด้วยซ้ำไป แต่แล้วทำไมคุณถึงกล้าพูดว่า พวกเขาไม่ต้องการสันติภาพกับเพียงแค่พวกเขาไม่สามารถยอมรับการเจรจา ซึ่งเราค่อนข้างจะชัดเจนว่ามันเป็นการเจรจาที่ไม่ได้มีซึ่งความจริงใจที่จะให้เป็นวาระของประชาชนด้วยซ้ำไป จะเป็นอะไรไปถ้าเราจะพูดให้ชัดเจนว่า “เราไม่ต้องการ” การเจรจาที่ไม่สามารถทำให้เกิดสันติภาพได้อย่างแท้จริง

ไลลา เจ๊ะซู ข้าราชครู จังหวัดนราธิวาส ตั้งคำถามว่า มีกระบวนการหรือวิธีการไหนบ้างที่จะทำให้ประชาชนกล้าที่จะออกมาเรียกร้องเพื่อกำหนดชะตากรรมของตนเอง ในเมื่อบรรยากาศยังไม่เอื้ออำนวย ยังไม่มีกระบวนการการสร้างความไว้วางใจเกิดขึ้น ?

มูฮำหมัดอาลาดี บิน ซาการียา เด็งนิง ผู้เข้าร่วมงาน ตั้งคำถามว่า เราพอจะมีวิธีการไหนบ้างที่จะสามารถกำหนดชะตากรรมของพวกเราเองได้ ? และหลังจากที่เรามีแนวทางแล้วจะได้ไหมหากพวกเราจะเสนอให้ท่านวิทยากรทั้งหลายเป็นตัวแทนให้กับพวกเรา เพื่อสื่อให้รัฐรู้ว่าความต้องการของเราต่อการเจรจาครั้งนี้เป็นอย่างไร ?

และกิจกรรมสุดท้ายเป็นการทำ “ฉันทามติ” โดยประชาชนผู้เข้าร่วมงาน ซึ่งเป็นข้อเสนอจากคนในพื้นที่ เพื่อยื่นให้แก่รัฐบาลทั้งสองประเทศ อาทิเช่นรัฐบาลไทยและมาเลย์ โดยมีผู้ดำเนินรายการเสวนา อาเต๊ฟ โซะโก ถามผู้เข้าร่วมงานว่า “ถ้าหากพวกเราจะเป็นตัวแทนยื่นหนังสือเพื่อตั้งคำถามต่อรัฐไทยและรัฐมาเลย์ว่าความจริงของการลงนามเจรจาครั้งนี้มันเป็นอย่างไร ?  ทุกคนในหอประชุมนี้ยินดีมอบให้พวกเราเป็นตัวแทนของทุกคนหรือไม่ ?”

ปรากฏว่าผู้เข้าร่วมงานทั้งในและนอกหอประชุมทุกคนยกมือพร้อมตอบมาอย่างดังว่า “ด้วยความยินดี !”

ทั้งนี้ภายในงานยังมีการถ่ายทอดสดผ่านทาง www.deepsouthwatch.org  ผ่านทางwww.ycncabletv.net และทางเคเบิ้ลปัตตานี ยะลา เบตง อีกทั้งยังถ่ายทอดผ่านวิทยุออนไลน์ คลื่นวิทยุ FM 91.50 Mhz FM 96.25 Mhz และ FM 101.75 Mhz จังหวัดนราธิวาส เป็นต้น

จะเห็นได้ว่างานในครั้งนี้คงมีจำนวนผู้ชมมากกว่า 7,000 คนอย่างแน่นอน เพราะจำนวนเหล่านั้นหาใช่ว่าเป็นผู้เข้าร่วมงานเท่านั้น แต่คงยังมีผู้ชมทางบ้านที่ติดตามผ่านการถ่ายทอดสดอีกเป็นร้อยพันคน เสียงประชาชนปาตานี หรือเสียงของคนในพื้นที่เหล่านี้จะได้รับการพิจารณาจากรัฐหรือไม่ ? อย่างไร ? คงต้องติดตามต่อไปว่า ละครเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร ?

ข่าวและวีดีโอที่เกี่ยวข้อง
Bicara Patani ครั้งที่ 2 “28 ก.พ. : สัญญาณบวกหรือลบต่อกระบวนการสันติภาพปาตานี” 

13 Feb.| Budu Little Live! @Bicara Patani II

"Serah tak kepada saya" | Atef Sohko (มอบให้พวกเราเป็นตัวแทนหรือไม่ | อาเต๊ฟ โซะโก)

“รัฐต้องทบทวน ประชาชนต้องปรับตัว” ทัศนะนักกฎหมายมุสลิมต่อการพูดคุยสันติภาพ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท