Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เกริ่นนำ

ท่าทีของรัฐและประชาชนที่หมุดตรึง (Fixed) วาทกรรมบางอย่าง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นสม่ำเสมอในประวัติศาสตร์ และในหลายๆ ประวัติศาสตร์แห่งการหมุดตรึงนั้น แม้ว่า จะมีลักษณะที่ไม่เป็นระเบียบนัก แต่วาทกรรมที่ประกอบสร้างขึ้นผ่านพิธีกรรมแห่งอำนาจ ได้ส่งผลรุนแรงต่อเหตุการณ์ที่จะตามมาในภายหลัง โดยที่ยังไม่ต้องให้คุณค่าเชิงศีลธรรมล่วงหน้าว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป ดี หรือ เลว เรากลับรู้ได้อย่างหนึ่งว่า ที่ใดมีการหมุดตรึงความหมายของคำ หรือ มีการสถาปนาวาทกรรมขึ้น ที่นั่นมักมีการปลดปล่อยที่มีสัดส่วนความรุนแรงที่อาจจะมากกว่าอำนาจที่กดขี่ด้วยซ้ำไป เป็นต้น การอภิวัฒน์ในฝรั่งเศส หรือ ขบวนการคอมมิวนิสต์ในหลายประเทศ สิ่งนี้เป็นผลมาจากความสับสนปนอึดอัดของประชาชนในรัฐที่เริ่มจะเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่มีความหลากหลาย และถ้ารัฐไม่มีกลไกที่ดีในการจัดการปัญหาแบบใช้หลักเสรีภาพและความเท่าเทียม ส่วนมากแล้วไม่นานนักหลังจากรัฐดำเนินวิธีการอย่างผิดพลาด การปลดปล่อยจะเกิดขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สำคัญกว่านั้น การปลดปล่อยอาจขับเคลื่อนอย่างโหดร้ายทารุณ ตามสภาพที่ประชาชนเคยถูกรัฐกดขี่ ซึ่งปรากฏการณ์นี้ก็เป็นเรื่องที่สังเกตจากโฉมหน้าของประวัติศาสตร์ได้ไม่ยากนัก

เนื้อหา

วาทกรรม (Discourse) ที่ประกอบสร้างขึ้นต้องมีลักษณะเบียดเบียน เบียดบัง วาทกรรมอื่น เพื่อที่จะได้สถาปนาตัวเองเป็นกระแสหลัก ให้ตัวเองเป็นหนทางเดียวและความเที่ยงแท้ ส่วนมากในประวัติศาสตร์ วาทกรรมของผู้ปกครองรัฐจำเป็นต้องอ้างถึงความชอบธรรม (สากล) บางอย่างเพื่อให้มีอำนาจเหนือผู้ถูกวาทกรรมครอบงำโดยสมบูรณ์ เช่น กฎหมายนี้พระเจ้าเป็นผู้ประทานมา จะเห็นว่า มีการอ้างอำนาจเทวสิทธิ์ (Divine Authority) เพื่อการันตีความชอบธรรมของกฎหมายนี้  กล่าวอย่างโหดร้ายสำหรับศตวรรษที่ 21 คือ ตัวบทหรือบริบทจะเป็นอย่างไรไม่จำเป็นต้องสน ขอเพียงระบุตามตัวอักษรมาเช่นนี้ และมีการตีความที่ชอบธรรมเช่นนี้ เป็นอันกระทำได้ไม่ผิด ไม่ถือเป็นความชั่วร้าย เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ยุคกลาง เช่น มัลเลอูส มัลเลฟีการุม (Malleus Maleficarum) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ตำราล่าแม่มด” ซึ่งภายหลังเมื่อวิเคราะห์วรรณกรรม (Bibliography) แล้วพบว่า หนังสือเล่มนี้ทำให้ผู้ใช้ (นักล่าแม่มด) มั่นใจ เพราะมีการอ้างอำนาจเทวสิทธิ์ของพระคัมภีร์และนักปราชญ์ศาสนจักรคนสำคัญ อย่างโธมัส อากวีนูส การันตีความชอบธรรมของหนังสือเล่มนี้ จึงกลายเป็นว่า จะทำทารุณกรรมกับใครก็ได้ไม่มีความผิด และควรรู้ว่า หนังสือเล่มนี้ถูกประทับตรารับรองจากสันตะปาปา นั่นคือ ผลสำเร็จของการถูกสถาปนาเป็นวาทกรรม เช่นนี้ เรากล่าวได้ว่า มีการหมุดตรึงความหมายเกิดขึ้น และสิ่งใดที่ผิดจากความหมายนี้เป็นอันนอกรีตไปเสียหมด สำหรับยุคกลางการจัดการสิ่งที่ผิดจากความหมายกระแสหลัก คือ ฆ่าและทารุณกรรม แต่ในปัจจุบัน กฎหมายมีเจตนารมณ์คุ้มครองชีวิต จึงวิธีการจัดการอาจเปลี่ยนแปลงเป็น การห้ามมิให้พูด หรือ แสดงความคิดเห็น ซึ่งในศตวรรษที่ 21 การห้ามมิให้พูด หรือ แสดงความคิดเห็น เป็นเรื่องที่ไม่อาจควบคุมได้อีกต่อไป เนื่องจากมีช่องทางในการสื่อสารมากมาย เช่น อินเตอร์เน็ต

การหมุดตรึงความหมายไม่ได้ตื้นเขินอีกต่อไปในยุคนี้ เพราะเทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่ก้าวหน้า ใครก็ตามที่อยากจะหมุดตรึงความหมายของพรรคพวกตนล้วนต้องพึ่งพาสื่อ ฉะนั้น การ “ผลิตซ้ำ” (Reproduce) ชุดความหมายและภาพลักษณ์ย่อมเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ ค่อยๆ ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น รัฐบาลออกมาประชาสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอเรื่องน้ำมันแพงว่า ที่จริงจำเป็นต้องแพง เช่นนี้ เราอาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลกำลังใช้กระบวนการผลิตซ้ำ และอีกแง่หนึ่ง ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับคำแถลงของรัฐบาลก็อาจใช้วิธีการเดียวกันในการบอกกับสังคมว่า รัฐบาลโกหกเรื่องนี้ และนั่น เป็นการขับเคี่ยวกันตามปกติธรรมดาของโลกที่เต็มไปด้วยความแตกต่างทางความคิด ถ้าไม่นำเรื่องเทวสิทธิ์ (Divine Authority) เข้ามาเกี่ยวข้อง

เพราะสังคมไทยเชื่อเรื่องเทวสิทธิ์ เป็นต้นเรื่อง หลักเมือง พระเสื้อเมืองทรงเมือง วิญญาณบรรพบุรุษที่เคยปกป้องเอกราชของประเทศ ซึ่งเรื่องนี้เป็นความเชื่อเฉพาะถิ่น ควรทำให้พ้นจากวังวนเรื่องผลประโยชน์ เช่น การให้คุณให้โทษกับผู้ที่คิดต่าง แต่แล้ว ตามพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงนักของประเทศไทย เรื่องเทวสิทธิ์ถูกนำไปใช้ในลักษณะช่วยการันตีความชอบธรรมของพรรคพวกตน เป็นต้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ท้าทายกันให้ไปสาบานที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (พระแก้วมรกต) หรือจะเป็นการผลิตซ้ำวาทกรรมเชิงสาปแช่งโดยอ้างอำนาจเทวสิทธิ์ ซึ่งพฤติกรรมที่แสดงออกต่อสังคมแบบนี้ทำให้เกิดความลักลั่นระหว่างความเป็นชาวพุทธในนิกายเถรวาทที่ไม่สนับสนุนเรื่องเหนือธรรมชาติ กับ ความเป็นชาวไทยพื้นถิ่นซึ่งมีความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจ หลายครั้งก็เป็นเพียงแต่การแสดงบทบาทสมมติเพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้กับพรรคพวกตนเอง หรือที่เรียกกันว่า ปาหี่

อย่างไรก็ตาม เทวสิทธิ์เป็นปัจจัยหลักที่หมุดตรึงความหมายของความดีในสังคมไทย เรื่องนี้จะไม่เป็นปัญหาเลย ถ้าการหมุดตรึงดังกล่าวเหลือพื้นที่ว่างให้กับการตีความแบบอื่นในสังคมบ้าง แต่ทว่า ใครก็ตามที่วางแผนใช้เทวสิทธิ์นี้มาอ้าง กลับยึดครองพื้นที่ในการสื่อสารทุกช่องทาง เพื่อผลิตซ้ำความหมายของความดีในสังคมไทย ลักษณะเช่นนี้จะทำให้เกิดการกดขี่ทางความคิดและเสรีภาพ รวมถึง เป็นการจงใจปล่อยปละละเลยให้เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างผู้ที่เห็นด้วยกับเห็นต่าง ซึ่งผลเลวร้ายที่สุด คือ เมื่อการปลดปล่อยเกิดขึ้น เทวสิทธิ์ ในฐานะสิ่งที่ถูกอ้างอาจถูกทำลายลงด้วย เพื่อป้องกันอย่างเข้มมิให้ถูกใช้เป็นข้ออ้างได้อีก เป็นต้น แนวคิดเรื่องศาสนา คือ ยาฝิ่น ของ มาร์กซ และจะไม่มีผู้อ้างเทวสิทธิ์คนใดกล้าออกมารับผิดชอบต่อความเสียหายของเทวสิทธิ์ในฐานะสิ่งถูกอ้างเลย กลายเป็นว่า เทวสิทธิ์ซึ่งพ้นจากภาระหน้าที่ในการปกครองมนุษย์ไปนานแล้ว กลับต้องมารับเคราะห์ เพราะถูกนำไปใช้ในการเคลื่อนไหวที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณ ทั้งที่ ในความเป็นเทวสิทธิ์เอง มิได้ปฏิเสธความแตกต่างของความหมายเลยแม้แต่น้อย เป็นต้น ความขัดแย้งกันเองในตัวบทของคัมภีร์ การมีพระเจ้าหลายองค์ การผสมผสานกับศาสนาโบราณ เพียงแต่ว่า มนุษย์ผู้ใช้อำนาจจำเป็นต้องผูกขาดอำนาจเทวสิทธิ์กับตัวไว้ เพื่อสถาปนาอำนาจเทวสิทธิ์ตามความหมายของตัวเสียใหม่ หรือไม่ก็ปฏิเสธความเป็นเทวสิทธิ์เดิมเสีย แล้วสถาปนาสิ่งที่คล้ายกับความเป็นเทวสิทธิ์ เช่น วาทกรรมเงินคือพระเจ้า วาทกรรมคนมีเงินทำอะไรก็ไม่น่าเกลียด เป็นต้น

ชนชั้นกลางต้องยอมรับว่าเป็นผู้เข้าถึงเทคโนโลยีมากสุด ฉะนั้น จึงเป็นกลุ่มที่ผลิตซ้ำความหมายของความดีที่การันตีโดยเทวสิทธิ์จนกลายเป็นการหมุดตรึงในที่สุดด้วย โดยความไม่รู้หรือรู้ตัวก็ตาม การหมุดตรึงความหมายในสังคมจำลอง อย่างอินเตอร์เน็ตได้เริ่มต้นขึ้น มีกระแสหลักบางอย่างที่แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า ข้อความแบบนี้เท่านั้นคือความดี และข้อความอื่นๆ ไม่ใช่ความดี ซึ่งการหมุดตรึงความหมายเช่นนี้ เป็นการทำให้ภาษาซึ่งมีธรรมชาติเลื่อนไหลทางความหมายบิดเบี้ยวไป ที่สุดแล้ว จะมีแต่การผลิตซ้ำ ซึ่งเป็นแต่คำซ้ำๆ ที่สำคัญ การอธิบายขยายความ หรือ การสร้างจุดยืนใหม่จะกลายเป็นสิ่งที่แปลกประหลาด นอกรีต สังเกตได้ว่า หลายคนปรารถนาจะเป็นนักล่าแม่มดด้วยซ้ำไป เพราะความดี-ความชั่ว มีการแบ่งข้างที่ชัดเจนแล้ว ขาดแต่ผู้ที่ทำผลงานในฐานะอัศวินแห่งความดีงาม แต่โลกใบนี้ เป็นร้อยปีแล้วที่มีนักคิดมากมายเสนอว่า ไม่จำเป็นต้องมีการแบ่งความดี-ความชั่วที่ชัดเจนตายตัวเช่นนั้น แต่เรื่องนี้ ยังใหม่เสมอสำหรับสังคมไทยที่ให้คุณค่าอย่างสับสนระหว่างเทวสิทธิ์กับอำเภอใจของตัวเอง ซึ่งผู้ที่อ้างระบบนี้จะได้รับผลประโยชน์เสมอ และไม่เคยรับผิดชอบด้วยหากระบบเทวสิทธิ์จะถูกทำลายไป อาจกล่าวได้ว่า ชนชั้นกลางมัวแต่ทำมาหากินและค่อนข้างล้าหลังในการติดตามแนวคิดเหล่านี้

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในศตวรรษที่ 21 การหมุดตรึงและผูกขาดความหมายอาจทำได้ด้วยทุน เช่น การที่อเมริกามีข้ออ้างในการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพไปยังบางประเทศ แต่ ในประเทศไทยยังสามารถทำได้ทั้งทุนและเทวสิทธิ์ ที่สำคัญการผูกขาดแบบไทย เป็นการหมุดตรึงในลักษณะที่ไม่ปล่อยให้มีการให้ความหมายอื่นแม้แต่น้อย อาจกล่าวได้ว่า การให้ความหมายแบบอื่นถูกตัดสินไปล่วงหน้าแล้วว่า ดีหรือชั่ว เช่นนี้แล้ว การปะทะกันทางความคิดอย่างรุนแรงและป่าเถื่อนอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าฝ่ายหนึ่งอ้างอำนาจเทวสิทธิ์และอีกฝ่ายหนึ่งอ้างอำนาจทุนซึ่งเป็นเทวสิทธิ์ใหม่ อาจทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงได้ในที่สุด ถ้าทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะจับจองพื้นที่ทั้งหมดของอีกฝ่าย เราสังเกตได้จากความไม่รู้ตัวของชนชั้นกลางที่ผลิตซ้ำวาทกรรมแห่งความเกลียดชังในเรื่องนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นเป็นนัยว่า อย่างไรก็ตาม อีกฝ่ายจะต้องได้รับโทษ เรื่องนี้ค่อนข้างล้าหลังอีกเช่นกัน ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ เพราะโลกยุคปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้น อาจกล่าวในแง่ร้ายว่า มันมีพัฒนาการไปไกลกว่านั้นไม่ว่าจะดีหรือชั่วก็ตาม

สรุป     

โลกสมัยใหม่เรียกร้องการจำแนกแยกแยะที่ละเอียดลออ กล่าวโดยง่ายว่า ยิ่งคุณใช้เทคโนโลยีที่ละเอียดซับซ้อนมากขึ้นเท่าไร คุณอาจต้องจ่ายด้วยชีวิตที่ต้องจำแนกแยกแยะให้ละเอียดซับซ้อนยิ่งขึ้น และในเมื่อเทวสิทธิ์ควรถูกทำให้อยู่คนละประเด็นกับผลประโยชน์อย่างจริงจัง เพราะมีประวัติศาสตร์เป็นบทเรียนแล้ว ประกอบกับมีการถอดบทเรียนมาแล้วว่าการผลิตซ้ำความหมายของความดีโดยอ้างเทวสิทธิ์จะกลายเป็นการผูกขาดและหมุดตรึงความหมายซึ่งไม่เคยทำให้อะไรดีขึ้น ซ้ำร้ายจะทำให้ทุกอย่างเลวร้ายมากขึ้นหากมีการปลดปล่อยจากรากหญ้า จะดีกว่าหรือไม่ ที่จะช่วยกันสร้างพื้นที่การให้ความหมายใหม่ๆ ในสังคม ซึ่งจะเป็นการปลดปล่อยความคับข้องใจและข้อสงสัยที่แต่เดิมไม่อาจพูดได้ ให้กลายเป็นแบบฝึกหัดสำหรับการเสวนากันทางความคิด เพราะหากยืนกรานที่จะหมุดตรึงความหมายของความดีเช่นนี้แล้ว ประเทศไทยจะไม่มีโจทย์อะไรใหม่ให้ตอบ เพราะทุกโจทย์มีเฉลยอยู่แล้ว หน้าที่ของประชาชนไทยคือคัดลายมือตามที่ครูสั่ง เพื่อว่า “ลายมือนั้นคือยศ” ได้สักวัน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net