Skip to main content
sharethis

ในเวที "ศาลกับความยุติธรรมในสังคมไทย" ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 56 ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ช่วงหนึ่งมีการเสวนาหัวข้อ "ศาลกับ "ความยุติธรรม" ในคดีมาตรา 112" โดยวาด รวี คณะนักเขียนแสงสำนึก สาวตรี สุขศรี คณะนิติราษฎร์ ปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติราษฎร์ และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ดำเนินรายการโดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามที่ประชาไทได้นำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้นั้น (ข่าวที่เกี่ยวข้อง [1], [2], [3])

เสวนา "ศาลกับ "ความยุติธรรม" ในคดีมาตรา 112" ช่วงแรก อภิปรายโดยวาด รวี คณะนักเขียนแสงสำนึก และสาวตรี สุขศรี คณะนิติราษฎร์ (รับชมแบบ HD)

เสวนา "ศาลกับ "ความยุติธรรม" ในคดีมาตรา 112" ช่วงที่สอง อภิปรายโดยปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติราษฎร์ และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (รับชมแบบ HD)

 

โอกาสนี้ขอนำเสนอวิดีโอการอภิปรายของการเสวนาหัวข้อดังกล่าว โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกเป็นการอภิปรายโดยวาด รวี และสาวตรี สุขศรี โดยวาด รวี ได้ตั้งข้อสังเกตต่อคำวินิจฉัยของศาล ในคดีที่นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากบทความที่เผยแพร่ในนิตยสาร Voice of Taksin (ข่าวที่เกี่ยวข้อง) ขณะที่สาวตรี สุขศรี นักวิชาการจากคณะนิติราษฎร์ อภิปรายในเรื่องคำตัดสินในคดีที่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ขัดแย้งกับหลักกฎหมาย ทั้งเรื่องการผลักภาระการพิสูจน์ให้จำเลย และการตัดสินที่ขัดกับหลักพิสูจน์จนสิ้นสงสัย กระบวนการพิจารณาคดีที่มีการตัดพยานจำเลย และการที่ผู้พิพากษาก้าวล่วงไปในอำนาจนิติบัญญัติโดยกำหนดเหตุแห่งการปล่อยตัวชั่วคราวขึ้นมาเอง นอกเหนือจากที่กำหนดในกฎหมาย (ข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ช่วงวิดีโอในช่วงที่สอง เป็นการอภิปรายโดยปิยบุตร แสงกนกกุล กรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 28-29/2555 ที่ผู้ต้องหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สมยศ พฤกษาเกามสุข และเอกชัย หงส์กังวาน โต้แย้งไปที่ศาล รัฐธรรมนูญว่ามาตรา 112 ขัดมาตรา 3 ซึ่งเป็นหลักนิติธรรม ขัดมาตรา 25 ประกอบมาตรา 29 ซึ่งกระทบกับเสรีภาพมากจนเกินไป โดยปิยบุตรได้นำคำวินิจฉัยส่วนตัวขององค์คณะศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 ท่านมาอ่านประกอบ และเสนอว่า "คำวินิจฉัยนี้เป็นการเปลือยแก้ผ้าให้เห็นว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งเก้าท่านว่ามีความคิดแบบใด ความสามารถในการใช้และตีความรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยคดีเพื่อคุ้มครองเสรีภาพบุคคล จะสิ้นสุดลงทันที ไร้ความสามารถทันที เมื่อเจอกับกฎหมายที่คุ้มครองสถาบันกษัตริย์" (ข่าวที่เกี่ยวข้อง) นอกจากนี้เป็นการอภิปรายโดยยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ซึ่งได้ร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net