Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมาข่าวคราวเกี่ยวกับการอพยพทางทะเลของชาวโรฮิงยาปรากฏออกมามากมายในโลกของสื่อมัลติมีเดียได้เกิดการถกเถียงของหลายๆฝ่ายถึงความเหมาะสมว่าควรหรือไม่ที่ประเทศไทยจะให้ที่พักพิงชั่วคราวแก่ชาวโรฮิงญาหน่วยงานซึ่งรับผิดชอบโดยตรงต่อการอพยพเข้าหรือผ่านประเทศทางทะเล คือ กองทัพเรือ และ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้ออกมาแถลงตอบคำถามต่อข้อสงสัยและข้อกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้ทำการปฏิบัติคุกคามต่อสิทธิในความเป็นมนุษย์ต่อชาวโรฮิงญา ซึ่งหนีภัยจากความรุนแรงภายในประเทศของตนเองคือประเทศเมียนมาร์ รัฐอารากัน เมื่อมาถึงประเทศไทยหน่วยงานรัฐจัดประเภทโดยทางการว่า “ผู้หลบหนีเข้าเมือง” 

 
ทั้งนี้ทาง กอ.รมน. รายงานว่า ตั้งแต่เดือน ต.ค.55 ถึงปัจจุบัน ตรวจพบชาวโรฮิงญาที่หลบหนีเข้าเมือง 48 ครั้ง มีจำนวน 5,899 คน และกระทรวงการต่างประเทศได้ประชุมเมื่อ วันที่ 25 ม.ค. 2556 มีมติเห็นชอบให้คงใช้หลักปฏิบัติและแนวทางการปฏิบัติต่อผู้หลบหนีเข้าเมืองทางทะเล ในการแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองทางทะเลชาวโรฮิงญา จะทำการรวบรวมชาวโรฮิงญาเพื่อจัดระเบียบ หาสถานที่พักให้ดูแลความเป็นอยู่ให้เหมาะสมตามหลักมนุษยธรรมโดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณไปยังรัฐบาล ผ่านสภาความมั่นคงแห่งชาติ (ไทยรัฐ 2556) มติที่ออกมาหมายถึงว่าไม่ยอมรับให้ชาวโรฮิงญาอยู่อาศัยแบบชั่วคราวและแบบถาวร โดยแนวทางแก้ไขปัญหาของราชการก็คือ ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการขอให้ประเทศพม่าออกเอกสาร “กำหนดสถานะความเป็นพลเมือง” ให้แก่ชาวโรฮิงญา เพื่อส่งกลับประเทศ และประเทศที่สามเพื่อการแก้ปัญหา โดยทำการเจรจากับองค์การระหว่างประเทศ พร้อมทั้งสำทับว่า “ไทยไม่มีนโยบายในการจัดพื้นที่พักพิงชั่วคราว” เพื่อรับรองชาวโรฮิงญา และขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ “ช่วยเป็นหูเป็นตาสอดส่องดูแล” เมื่อเห็น “การหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฏหมาย” ขอให้แจ้งได้ที่เจ้าหน้าที่ทันที (ไทยรัฐ 18 มีนาคม 2556) ข้อเสนอของ กอ.รมน. สอดคล้องกับคำให้การของ ผู้บัญชาการทหารเรือ ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติในภาคสนามและเป็นผู้ควบคุมอธิปไตยทางทะเล พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ กล่าว่า “ผมยืนยันว่าทหารเรือไม่มีเหตุผลหรือสาเหตุที่จะสังหารชาวโรฮิงญา เขาไม่ใช่ศัตรู แต่น่าสงสาร ไม่มีใครสังหารพวกเขาได้ลงคอหรอก แค่ผลักดันออกไปก็น่าสงสารมากแล้ว แต่เมื่อนโยบายคือการผลักดันออก เราก็ให้การช่วยเหลือมนุษยธรรม ให้อาหาร น้ำดื่มที่พอเพียง ยารักษาโรค และเติมน้ำมันไปให้ด้วย ก่อนที่จะให้เขาออกเดินทางต่อไป” (ผู้จัดการออนไลน์ 13 มีนาคม 2556)
 
 
คำอธิบายของแม่ทัพเรือตอบโต้กับกรณีข้อกล่าวหาร้ายแรงจากสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ (UNHCR) ซึ่งได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยตรวจสอบและสอบสวน กรณีมีผู้อ้างว่าเป็นชาวโรฮิงญาที่รอดชีวิตจากการถูกทหารเรือของไทยยิงในเขตจังหวัดพังงา ก่อนลากออกไปทิ้งในทะเล เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 18 มีนาคม 2556) การกล่าวหาเกิดขึ้นเมื่อ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2556 ที่ นิวยอร์ค นายแบรด อาดัมส์ ผู้จัดการ ฮิวแมนไรท์วอช (Human Rights Watch) ประจำภาคพื้นเอเชีย ได้แถลงข่าว กล่าวหากองทัพเรือว่าได้ทำการยิงใส่ผู้ลี้ภัย “มนุษย์เรือ” (boat people) กลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญา จนเสียชีวิตอย่างน้องสองคน นายแบรดเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทำการสืบสวนเหตุการณ์ดังกล่าวโดยทันที และกองทัพเรือจะต้องใช้กำลังกระทำการให้อยู่ในมาตรฐานสากล “ชาวโรฮิงญาซึ่งหนีจากประเทศพม่า จะต้องได้รับการปกป้อง ไม่ใช่ยิงใส่” เหตุการณ์สังหารชีวิตชาวโรฮิงญาโดยกองทัพเรือดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธุ์ 2556 บริเวณชายฝั่งใกล้กับจังหวัดพังงา (Human Rights Watch, March 13 2013)
 
ประเด็นปัญหา “โรฮิงญา” ในประเทศไทยมาจากข้อกังวล คือ เกรงว่าคนจากที่อื่นจะเข้ามาสร้างปัญหาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย และเกรงว่าคนจากที่อื่นจะเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรในการจัดบริการสาธารณะของรัฐ ทำให้เกิดทัศนะต่อโรฮิงญาว่าเป็นภัยของประเทศไทยประเภทหนึ่ง
 
รัฐบาลไทยมีกรอบคิดต่อชาว “โรฮิงญา” จากคำนิยาม “สถานะของบุคคลตามกฎหมาย” ว่าไม่ใช่ “ผู้ลี้ภัย” เพราะจากการย้ายถิ่นข้ามชายแดนประเทศ ไม่ได้มาจากการถูก “การประหัตประหาร” โดยรัฐบาลหรือกลุ่มกองกำลังภายในประเทศพม่าโดยตรง จึงไม่ยอมรับ “สิทธิเพื่อลี้ภัย” รัฐจึงไม่ให้สิทธิในฐานะ “ผู้ลี้ภัย” คำถามที่จะตามมาจึงเป็นการแสวงหาขอบเขตว่ารัฐไทยมีกรอบหน้าที่ในการจัดการปัญหาของชาวโรฮิงญาอยางไร “สิทธิใดบ้างที่ชาวโรฮิงญาต้องได้รับการคุ้มครอง” และ “สิทธิใดบ้างที่แม้แต่คนต่างด้าวหรือไร้สัญชาติพึงได้รับการคุ้มครอง”
 
 
ชาวโรฮิงญา ถือเป็นมนุษย์และบุคคลตามนิยามของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่ต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิต่างๆ ตามที่กฎบัตรรับรองแน่นอน รัฐไทยในฐานะที่มีพันธกรณีอยู่กับกฎบัตรสิทธิมนุษยชนย่อมมีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและงดเว้นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญา แต่ชาวโรฮิงญามิใช่พลเมืองสัญชาติไทย
 
ถึงแม้ชาวโรฮิงญาไม่ใช่พลเมืองไทยและมีปัญหาทางเอกสารยืนยันในความเป็นสัญชาติพม่า แต่การจัดการปัญหาผู้อพยพชาวโรฮิงญาจะต้องไม่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์   รัฐที่มีกฎหมายเป็นเครื่องมือสูงสุดในการปกครองประเทศตามหลัก “นิติรัฐ” จะต้องใช้กระบวนการแก้ไขปัญหาโดยไม่ขัดกับหลักความยุติธรรมของกฎหมาย คือ แนวทางที่นำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานในการจัดการปัญหาคนต่างด้าว คนไร้สัญชาติ
 
โรฮิงญาคือชนกลุ่มน้อยผู้นับถือศาสนาอิสลาม ใช้ภาษา “เบงกาลี” คล้ายๆ กับภาษาในพืนที่ “จิตตากอง” ของประเทศบังคลาเทศ ชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ทางทิศตะวันตกของพม่าถูกรัฐบาลปฏิเสธที่จะให้สัญชาติเป็นพลเมืองของประเทศ จากการสำรวจข้อมูลขององค์กรนิรโทษกรรมฯ พบว่าสาเหตุที่ชาวโรฮิงญาพยายามหนีย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยสืบเนื่องมาจากการไม่ได้รับสัญชาติ ถูกทางการพม่ากดขี่รีดไถภาษีอย่างไม่มีกฎเกณฑ์ การถูกยึดทรัพย์และจากการถูกขับไล่เนรเทศ ถูกทำลายบ้านเรือนที่อยู่อาศัยถูกบังคับใช้แรงงานในค่ายทหาร แรงงานทำถนน ทั้งหมดนี้รุนแรงเห็นได้ชัดในช่วงเวลา 10 ปีมานี้ พม่าพยายามที่จะไม่รับความมีลักษณะเฉพาะของโรฮิงญาในเชิงชาติพันธ์ผู้นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งแตกต่างกับชาว “ราคินนี” หรือเรียกอีกชื่อว่า “อารกัน” ที่ถึงแม้มีเชื้อสายเดียวกันแต่นับถือศาสนาแต่งต่างคือชาวราคินนีนับถือ “ศาสนาพุทธ” แต่โรฮิงญานับถือศาสนาอิสลาม มีประชากรเพียงร้อยละ 5 จึงเป็นชนกลุ่มน้อย จากการกดขี่ภายในประทศ ในปี ค.ศ. 1997 องค์การนิรโทษกรรมสากลได้รายงานว่าชาวโรฮิงญาได้อพยพลี้ภัยไปที่ประเทศบังคลาเทศอย่างต่อเนื่อง และรวมไปถึงประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียด้วย
 
การปฏิบัติจากหน่วยงานรัฐที่มีต่อโรฮิงญา เช่น การประสานงานไปยังรัฐบาลพม่าเพื่อให้รับรองสิทธิความเป็นพลเมืองของผู้อพยพ การไม่ให้ใช้สิทธิสากลเพื่อยอมรับสิทธิเป็น “ผู้ลี้ภัย” สื่อความหมายว่าโรฮิงญาอพยพปัจจุบันไม่มีรัฐควบคุม ปกครอง ในทางวิชาการเรียกพวกเขาว่า “คนไร้รัฐ” (stateless peoples) และเรียกลักษณะปัญหานี้ว่า “สภาพไร้รัฐ” (statelessness) คือบุคคลที่ไม่รู้ว่าเป็นพลเมืองของรัฐใด ดังนั้นจึงไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายของรัฐที่พวกเขาเข้าไปขออาศัยหรือซ่อนตัว ซึ่งนักปรัชญาชาวอิตาลีชื่อ กิออริโอ อากัมเบน (Giorgio Agamben) เรียกคนประเภทนี้ว่า “ชีวิตอันเปลือยเปล่า” คือ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง อากัมเบนเปรียบให้เห็นกลุ่มคนเหล่านี้เสมือนเป็นผู้ที่ไม่มีอาภรณ์เสื้อผ้าห่มหุ้มร่างกาย ผู้เขียนขอขยายความว่าคือคนเปลือยที่รู้สึกอับอาย หวาดกลัวรู้สึกหนาวจากความหนาวเย็นของอากาศและร้อนรุ่มจากแดดแผดเผา คืออาการของคนที่ต้องการซักสิ่งหนึ่งเพื่อยึดเหนี่ยวหากไม่ได้ก็ขออำพรางร่างกายหลบร้อนหลบหนาว (Agamben 1998) เป็นต้น
 
ประเด็นสำคัญต่อการพิจารณาเรื่องชีวิตที่เปลือยเปล่าจากอำนาจรัฐจากมุมมองของอากัมเบนนั้นเท่ากับยอมรับว่ามีสภาพไร้อำนาจรัฐที่จะบังคับให้คุณให้โทษต่อผู้อพยพซึ่งผลในท้ายที่สุดแล้วจากสภาวะอันเปลือยเปล่าผู้อพยพอาจจะถูกสังหารหรือทำร้ายก็ได้เพราะรัฐเมินที่จะมองมายังบุคลที่เปลือยหรือคนที่ไร้รัฐ แต่ปัญหาก็คือ ผู้อพยพโดยเฉพาะโรฮิงญานั้นไร้รัฐจริงหรือ พวกเขาคือคนไร้รัฐจริงหรือ เพราะจริงๆแล้ว พวกเขาถูกระงับสิทธิในการเป็นพลเมือง ถูกขับไล่หรือหนีตายออกจากประเทศบ้านเกิด
 
นักวิชาการสองคน คือ จูดิจ บัทเลอร์ และกายาตริ จักรราโวรตรี สพิวัค (Judith Butler and Gayatri Chakravorty Spivak) อธิบายอย่างแตกต่างกับอากัมเบนว่า เหล่าคนที่ถูกเรียกว่าคนไร้รัฐนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร? เพราะพวกเขาคือคนที่อยู่อาศัยในประเทศที่รัฐของตนเองไม่ให้สัญชาติ ย้ายอยู่เพราะถูกขับไล่เนรเทศ หรือหนีออกจากประเทศบ้านเกิดกลายเป็นผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นมาจากรัฐกระทำทั้งสิ้น บัทเลอร์เธอได้อธิบายว่าเพราะ  1. รัฐที่บ้านเกิดเลือกเองที่จะสร้างรัฐของเขาขึ้นมาโดยไม่ยอมให้สัญชาติแก่คนบางคนหรือบางกลุ่มทั้งๆ ที่อยู่มาก่อนที่จะเกิดการสร้างรัฐปกครองตนเอง หรืออาจจะถอนสัญชาติขับไล่คนที่เคยเป็นพลเมืองให้ออกนอกประเทศ 2 รัฐจากประเทศปลายทางเลือกที่จะไม่รับคนเหล่านั้นไว้ในสถานภาพใดสถานภาพหนึ่งที่เป็นคนมีศักดิ์ศรีมีที่มา (Butler and Spivak. 2007)
 
สองประการนี้ไม่สามารถอธิบายในกรอบของ “คนไร้รัฐ” ได้ พวกเขาไม่ได้ “ไร้รัฐ” แต่รัฐต่างหากที่เลือกเขามากักเก็บไว้ในกลุ่มคนที่ไม่ใช่พลเมือง ไม่ให้สัญชาติ ไม่ให้โอกาสทางเศรษฐกิจ หรือไม่เช่นนั้นไล่เขาออกไปจากประเทศเพื่อให้ไปถูกเก็บไว้ในอีกรัฐหนึ่งว่าเป็นคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ในกรณีดังกล่าวจึงเป็นไปไม่ได้ว่ามี  “ที่ว่างเหลืออยู่” ที่ไม่มี “รัฐ” ให้เป็น “คนไร้รัฐ” จากอำนาจรัฐและทางการทหารนั่นเอง ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ได้ไร้รัฐ
 
ผู้เขียนต้องการอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า นอกจากรัฐจะมีความรับผิดชอบต่ออาณาเขตประเทศ แต่รัฐก็มีหน้าที่ที่จะต้องรักษาความมีมนุษยธรรม คุณธรรมด้วย กรณีโรฮิงญาให้คำอธิบายในหลายประเทศที่ต่อเนื่องจากการเร่ร่อนบนเรือมนุษย์จากพม่าถึงอันดามันฝั่งไทยและถูกผลักไสให้แล่นเรือออกไปตายเอาดาบหน้า ครั้นเมื่อถึงมาเลเซียและอินโดนีเซียก็ถูกประกาศว่าจะไม่รับพวกเขาไว้เช่นกัน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากการปฏิเสธที่จะมีความเมตตาและท้าทายกับปัญญาความสามารถของรัฐทั้งสามรัฐนี้อย่างชัดเจนในการจัดการปัญหา “โรฮิงญา” ถูกปฏิเสธที่จะให้เข้าฝั่งแม้ว่าสิทธิขั้นพื้นฐานทางกฎหมาย คือยอมรับเขาเข้ามาในสถานะของผู้หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย พวกเขาก็ไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว ดังนั้นชาวโรฮิงญา นอกจากจะถูกไล่ออกหรือไม่รับให้มีสัญชาติจากรัฐตน หรือรัฐปลายทางไม่ยอมรับเข้าประเทศ ไม่ยอมรับให้เป็นแรงงาน ไม่ยอมรับให้เป็นผู้ลี้ภัยที่จะได้สิทธิขั้นต่ำจากสหประชาชาติ (The UN) ไม่แม้แต่จะยอมรับว่าเป็นผู้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ชาวโรฮิงญากลายเป็นคนที่ไม่มีข้อมูล ไม่มีอายุ ไม่มีเพศ ไม่มีศาสนา คือไม่รับรู้อะไรเลย และถูกผลักให้ไปตายที่อื่น พวกเขาถูกปฏิบัติต่อมนุษย์ด้วยกับเหมือนกับว่าเขาเป็นผี หรือซากศพที่ลอยน้ำมาถึงท่าน้ำที่บ้านต่างก็ผลักดันออกไปให้ไกลๆ ให้พ้นภาระที่ตนเองหรือรัฐจะต้องจัดการ ประเด็นปัญหาโรฮิงญาจึงไม่ใช่แค่ปัญหาในระดับปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ดูแลชายฝั่งระดับเล็กๆ แต่เป็นปัญหามนุษยธรรมแห่งรัฐต้นทางและรัฐปลายน้ำ ว่าจะตกลงร่วมกันอย่างไรที่จะทำไม่ให้น้ำเน่าทั้งแม่น้ำหรือผืนทะเล
 
การยอมรับว่ามีสภาพไร้รัฐ ทั้งจากแนวคิดอากัมเบน และแนวคิดของรัฐไทยผ่านคำอธิบายโดย กอ.รมน. (ไทยรัฐ 2556) และ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผู้จัดการออนไลน์ 13 มีนาคม 2556) ปฏิบัติการภายใต้นโยบายของกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งสองแนวคิดนี้แนบกันได้เกือบสนิท และทำให้สภาพของชาวโรฮิงยากลายเป็นผู้ที่ไม่สามารถรับสิทธิความเป็นมนุษย์ในกฏหมายนานาชาติสากลได้ รัฐบาลไทยลอยตัวออกมาจากปัญหา และสามารถผลักให้ชาวโรฮิงญาไปตายที่อื่นที่ไม่ใช่ประเทศไทย การกระทำโดยการผลักให้ไปตายข้างหน้าคือ “อาชญากรรม” ไม่ใช่แค่ขาดความรับผิดชอบแต่เป็น “การฆาตกรรม” ประเภทหนึ่ง เป็นการตั้งใจที่จะเมินเฉยในเงื้อมมือของรัฐซึ่งมีอธิปไตยและมีที่นั่งในชุมชนนานานชาติ รัฐพม่าเป็นเหตุผลหนึ่งที่ใช้อำนาจรัฐสังหาร ขับไล่ ไม่ยอมรับสิทธิความเป็นพลเมือง และรัฐไทยก็เป็นอีกรัฐหนึ่งที่สังหารคนที่เข้ามาพึ่งพาอาศัย ดังนั้น ชาวโรฮิงญาไม่ได้อยู่ในสภาวะที่ไร้รัฐ ไม่ได้เปลือยเปล่าจากอำนาจรัฐ แต่พวกเขามีอำนาจรัฐที่หลากหลายกระทำต่อชีวิตทำให้หดหู่สิ้นหวังและกระทั่งตายจากความหิวโหย หรือถูกยิงจากเจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติตามนโยบายต่อคนที่พวกเขาจัดประเภทให้ว่า “เป็นคนไร้รัฐ” และดังนั้นความเป็นคนไร้รัฐไม่ได้เกิดจากการที่เขาไร้รัฐ แต่มาจากการจัดประเภทเพื่อจัดการกับชีวิตชาวโรฮิงญา เรื่องที่เศร้าสะเทือนใจก็คือ การตายและความทรมาณเกิดขึ้นจากรัฐกระทำแท้ๆ (ไทย, พม่า, มาเลเซีย, สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และ ศรีลังกา) แต่ทุกประเทศกลับเรียกเขาว่า “คนไร้รัฐ”
 
 
 
บรรณานุกรม
 
Agamben, Giorgio
1998  Homer Sacer: Sovereign Power and Bare Life. Palo Alto: Stanford University Press.
 
Butler, Judith, and Gayatri Chakravorty Spivak.
2007  Who Sings The Nation-State. London and New York: Seagull Book.
 
Human Rights, Watch
March 13, 2013  Thailand: Fleeing Rohingya Shot in Sea by Navy: Investigate Deadly Shooting at ‘Boat People’ During ‘Push Back’: Human Rights Watch.  http://www.hrw.org/news/2013/03/13/thailand-fleeing-rohingya-shot-sea-navy. March 19, 2013.
 
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 2556  UNHCR เรียกร้องไทยสอบสวนกรณีโรฮิงญา, Vol. 16 มีนาคม 2556. กรุงเทพฯ: กรุงเทพธุรกิจ สืบค้นจาก http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/politics/20130316/495363/UNHCR-เรียกร้องไทยสอบสวนกรณีโรฮิงญา.html  วัันทีี่่ 18  มีีนาคม 
 
ไทยรัฐ 2556  'โรงฮิงญา' ทะลักเข้าไทยเกือบ6พันคนแล้ว, Vol. 18 ธันวาคม 2556. กรุงเทพฯ: ไทยรัฐออนไลน์ สืบค้นจาก http://www.thairath.co.th/content/region/325162 วันที่ 18 มีนาคม 2556. 
 
ผู้จัดการออนไลน์ 2556  “ทัพเรือ” ย้ำเป็นไปไม่ได้สังหารชาวโรฮิงญา ยันเน้นช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม. Volume 13 มีนาคม 2556. กรุงเทพฯ:
 
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ สืบค้นจาก http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9560000031142. 18 มีนาคม 2556.
 
 
 
ภาพประกอบ
 
ภาพประกอบแปลงภาพวีดีโอเป็นภาพนิ่งจาก DESLATAN
 
 
 
 
 
[1] อาจารย์แผนกวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่  PATANI FORUN

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net