Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ภาพสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ทรงลงจากรถพระที่นั่งเพื่อจุมพิตผู้ป่วยที่มาเฝ้า

แม้จะเป็นคนนอก แต่ด้วยความสนใจในศาสนาต่างๆ ประกอบกับตัวเองสอนเรื่องศาสนาในสังคมปัจจุบัน ผมจึงติดตามข่าวการเลือกพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ต่อจาก สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ซึ่งทรงสละตำแหน่งด้วยเหตุผลทางพระพลานามัยอย่างกระตือรือร้นและใกล้ชิด เพราะจริงๆแล้ว แม้แต่การที่พระสันตะปาปาทรงตัดสินพระทัยสละตำแหน่ง ก็นับว่าเป็นเรื่องชวนให้ตืนเต้นและครุ่นคิดแล้ว

ผมยังจำได้ว่าสมัยที่สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 สิ้นพระชนม์ ขณะนั้นมีกระแสบางฝ่ายลุ้นว่า พระศาสนาจักรจะได้พระสันตะปาปาพระองค์ใหม่เป็น "โป๊บดำ"ที่ว่ากันว่ามาจากคำทำนายของนอสตราดามุสไหม บางท่านก็ตีความว่าโป๊บพระองค์ใหม่จะมาจากคนผิวดำหรือเอเชีย  หรือตีความกันว่า พระสันตะปาปาพระองค์ใหม่จะทรงมีทัศนคติและอุดมการณ์ผิดแผกแตกต่างจากองค์ที่แล้วๆมาอย่างเห็นได้ชัด
 
แต่เมื่อที่ประชุมเลือกพระคาดินัลรัสซิงเจอร์จากเยอรมันขึ้นมาเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่16 หลายเสียงสะท้อนว่า พระองค์ไม่ได้แตกต่างจากสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอลที่สองเลยในแง่ความเป็น "นักอนุรักษ์นิยม" และทรงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนจากนโยบายและคำสอนของพระศาสนาจักรที่ยังคงความอนุรักษ์แบบเดิมไว้ (และดูเหมือนว่าจะยิ่งเข้มข้นขึ้นด้วย) นอกจากนี้ยังทรงรื้อฟื้นธรรมเนียมอะไรอีกหลายสิ่งหลายอย่าง ที่ศาสนิกชนบางคนอาจคิดว่าพ้นสมัยและสะท้อนท่าทีแบบอนุรักษ์ของพระองค์  เช่น การรื้อฟื้นมิสซาจารีตลาติน(ใช้ภาษาลาตินแทนภาษาพื้นเมือง) รวมทั้งศาสนอุปกรณ์เก่าๆต่างๆที่ทรงนำมาใช้ในพระสมณสมัยของพระองค์
 
ดังที่ทราบกันว่า ในสมณสมัยของสมเด็จพระสันตปาปาจอห์นปอลที่สอง คือช่วงเวลาแห่งการก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 โลกกำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงในหลายๆด้าน เศรษฐกิจทุนนิยมและบรรษัทข้ามชาติ การเติบโตของชุมชนเมืองและระบบอุตสาหกรรม  ปัญหาความยากจน เพศที่สามที่เรียกร้องการยอมรับในหลายมิติ สิทธิสตรี  การแพร่ขยายของโรคเอดส์  ฯลฯ มีการเรียกร้องให้พระศาสนจักรปรับตัว เช่น การเรียกร้องให้คุมกำเนิด ทำแท้งถูกกฏหมาย การยอมให้สตรีรับศีลบวช(แบบเดียวกับนิกายแองกลิกัน) การแต่งงานของรักร่วมเพศ ฯลฯ สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่สอง แม้จะทรงเปี่ยมไปด้วยบุคลิคภาพแห่งความเป็นมิตรและอบอุ่นอันเป็นที่ประทับใจสำหรับชาวคาทอลิค ชาวคริสต์นิกายอื่นๆและคนต่างศาสนา  รวมทั้งการเสด็จเยือนสถานที่ต่างๆและการเข้าพบผู้นำทั้งทางโลกและทางศาสนาอย่างมากมายผิดไปจากพระสันตปาปาพระองค์ก่อน แต่ก็ทรงยืนยันปฏิเสธในประเด็นเรียกร้องเหล่านี้อย่างแข็งขันตลอดพระสมณสมัย
 

จากขวา สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นปอลที่ 2 กลางภาพ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส และซ้าย สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่16 สามพระองค์ที่ทรงมีท่าทีอนุรักษ์นิยมเช่นเดียวกัน
 
เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ หลังการสิ้นพระชนม์ของพระสันตะปาปาจอห์นปอลที่ ที่สอง  คงไม่ใช่แค่ความตื่นเต้นจากคำพยากรณ์ของนอสตราดามุส  แต่เป็นความตื่นเต้นของคนทั่วโลกที่จะลุ้นว่า พระศาสนจักรอันเก่าแก่และเคยทรงอำนาจที่สุดในโลกแห่งหนึ่งจะได้ผู้นำใหม่ที่อาจพาพระศาสนจักรไปสู่โลกที่ต่างไปจากเดิมและปัญหาที่ซับซ้อนกว่าเดิมไหม  ทว่าเมื่อได้พระสันตะปาปาพระองค์ใหม่แล้ว หลายคนคงยอมรับว่าผิดหวัง สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ได้ขึ้นครองสมณบัลลังค์ โดยมีภารกิจสำคัญคือการจัดการปัญหาที่บ่อนทำลายพระศาสนจักรของพระองค์ เช่น ปัญหาการละเมิดทางเพศของบาทหลวง โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา มากกว่าปัญหาของโลก และการประสานพระศาสนจักรกับโลกยุคใหม่
 
แต่เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่16 ทรงประกาศสละพระราชบัลลังค์ นี่กลายเป็นสิ่งที่ชาวโลกตื่นเต้นและจับตาดูว่า พระศาสนจักรโรมันคาทอลิคอันเกริกไกรกำลังจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใด อย่างน้อยที่สุด ทรงได้รับคำยกย่องมากมายในการตัดสินพระทัยครั้งนี้ ซึ่งเป็นผลดีต่อพระศาสนจักรเองด้วย
 
เมื่อพระคาดินัล ฮอร์เก้ เบร์โจโญ่ จากอาร์เจนติน่าได้รับการเลือกเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ ชวนให้เกิดความตื่นเต้นอย่างยิ่งต่อชาวโลกอีกครั้ง แม้ว่าพระองค์จะทรงเคยเป็นแคนดิเดตมาแล้ว ในสมัยหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่สอง  แต่ครั้งนี้ หลายคนวิเคราะห์ว่า พระองค์เป็น "ม้ามืด" เพราะในครั้งแรกของการลงคะแนนพระองค์ไม่ทรงอยู่ในห้าอันดับแรกเลย พระองค์ยังทรงเป็นพระสันตปาปาพระองค์แรกจากละิตินอเมริกา โลกที่สามที่เผชิญปัญหาความยากจนและความไม่มีเสถียรภาพทางสังคมการเมือง
 
ไม่เพียงเท่านี้ พระองค์ทรงเป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรกที่มาจากคณะเยสุอิต คณะนักบวชที่ก่อตั้งโดยนักบุญอิกญาซิโอในสเปน คณะนักบวชเยสุอิต มีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในเรื่องความมีระเบียบวินัย การศึกษา และการแพร่ธรรมไปทั่วโลก ตัวอย่างเช่น นักบุญฟรานซิสเซเวียร์ ผู้นำคริสตศาสนาไปเผยแพร่ยังเอเชียเป็นท่านแรกๆ และสิ้นชีพในจีน แม้แต่ในสมัยอยุธยาของบ้านเราเอง ก็มีนักบวชคณะเยสุอิตอยู่ในกรุงศรีอยุธยาจำนวนไม่น้อย
 
เมื่อทรงรับสมณาภิเษกแล้ว ทรงแสดง "สัญญาน"อะไรหลายอย่างต่อชาวโลก เช่นการที่ทรงเลือกพระนาม "ฟรานซิส" ซึ่งคงหมายถึงนักบุญฟรานซิสแห่งอัสซีซี นักบุญผู้มีความโดดเด่นเรื่อง การถือความยากจน ความกรุณาต่อสรรพสัตว์ และความอ่อนน้อมอย่างยิ่ง อีกทั้งเป็นนักบุญอันเป็นที่รู้จักภายนอกแวดวงคริสตศาสนาด้วย ทรงเลือกที่จะไม่ใช้ "แหวนชาวประมง" (ซึ่งหมายถึงแหวนตำแหน่งพระสันตะปาปารูปนักบุญเปโตรอัครสาวกและพระสันตะปาปาพระองค์แรก) ที่ทำจากทองคำตามแบบพระสันตะปาปารุ่นก่อน รวมทั้งกางเขนประจำพระองค์ก็ไม่ใช้ทองคำอีกด้วย ทรงสวมรองเท้าหนังเก่าๆสีดำเช่นเดียวกับบาทหลวงทั่วๆไป (ในพระประวัติก็เน้นว่า แม้เมื่อทรงเป็นพระคาดินัล ก็ทรงอยู่อพาร์ทเมนท์แทนที่อยู่โดยตำแหน่งที่หรูหรากว่า ทรงทำอาหารเอง และขึ้นรถประจำทางในการเดินทาง) เมื่อทรงรับตำแหน่งแล้วก็ยังทรงทำพระองค์สบายๆ เช่น ที่ฮืออาคือทรงออกมาทักทายจับมือกับประชาชนที่มาเฝ้าอย่างไม่เป็นทางการ ทรงประทับรถร่วมกับพระคาดินัลอื่นๆ ทรงลงจากรถมาจุมพิตให้พรแก่คนพิการและเด็กๆ
 

ภาพวาดล้อในสื่อว่า เมื่อทรงรับตำแหน่งแล้วก็ยังทรงไปทำงานโดยขึ้นรถเมล์อย่างเดิม
 

ฉลองพระบาทที่ยังทรงใช้แบบเรียบง่ายเช่นบาทหลวงทั่วๆไป
 
ภาพเหล่านี้ทำให้เกิดความประทับใจต่อศาสนิกชนมากมายทั่วโลก รวมทั้งผู้เขียนเองด้วย  แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องไม่ลืมคือ ในทางนโยบาย เดาว่าพระองค์น่าจะยังสืบทอดนโยบาย "อนุรักษ์นิยม"จากสมเด็จพระสันตะปาปาสองพระองค์ก่อนอย่างเหนียวแน่น ดูจากพระประวัติที่ทรงเคยทำงานมา ไม่ว่าจะเป็นประเด็นรักร่วมเพศ การคุมกำเนิดและการทำแท้ง การบวชนักบวชสตรี จะไม่เปลี่ยนไปจากเดิมแน่ๆ
 
ถ้าพระสันตะปาปา คือตัวแทนทิศทางแห่งพระศาสนจักร(เพราะทรงถูกเลือกจากพระคาดินัลทั่วโลก) พระสันตะปาปาฟรานซิส กำลังแสดงให้เราเห็นว่า พระศาสนจักรยังคงมีท่าทีอนุรักษ์นิยมเหมือนเช่นเดิม ซึ่งสำหรับผม มันจะต้องเป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะในปัจจุบัน และคิดว่าพระศาสนจักรได้ไตร่ตรองแล้วเป็นอย่างดี เพราะในท่ามกลางโลกทัศน์ใหม่ๆและข้อโต้แย้งจำนวนมากต่อข้อปฏิบัติอันถูกมองว่า "เร่อร่าล้าสมัย"  ผมคิดว่าพระศาสนจักรในโลกยุคใหม่ต้องยืนยัน "จุดยืน" ของตนเองไว้อย่างเหนียวแน่นที่สุด แม้ว่าจุดยืนนั้นจะเป็นตัวก่อความเสียหายหรือเป้าโจมตีต่อพระศาสนจักรเองก็ตาม โดยเฉพาะ ข้อปฏิบัติที่มีมิติทางศีลธรรม  เช่นการทำแท้ง หากมองจากแง่มุมความเป็นศาสนา ข้อปฏิบัติเหล่านี้ย่อมจะประนีประนอมไม่ได้  การประนีประนอมเหล่านี้เท่ากับยอมอ่อนข้อต่อโลกฆราวาสที่มีรากฐานทางศีลธรรมต่างจากศาสนา ในสนามแห่งการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ทางศีลธรรม ผมเดาว่าพระศาสนจักรเองก็รู้ว่าการยืนยันท่าทีแบบอนุรักษ์นิยมเป็นความเสี่ยงและมีราคาแพงที่ต้องจ่าย แต่นี่อาจเป็นอัตลักษณ์เชิงคุณค่าที่หลงเหลืออยู่เท่าที่พระศาสนจักรจะรักษาไว้ได้ และอาจถือเป็นทางเลือกของอุดมการณ์ทางจริยธรรมแบบอนุรักษ์นิยมในท่ามกลางอุดมการณ์ทางจริยธรรมที่หลากหลาย
 
แม้กระนั้นเราก็ควรต้องคิดว่า ในประเด็นที่ต่างออกไป (ที่มีมิติทางจริยธรรมที่อ่อนกว่า)เช่นการรักร่วมเพศ การคุมกำเนิดและการใช้ถุงยางอนามัย(ในภาวะการระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์)พระศาสนจักรควรจะต้องปรับตัวหรือไม่ และนี่คือโจทย์ใหญ่ของสมเด็จพระสันตปาปาพระองค์นี้
 
นอกจากท่าทีเดิมแล้ว สิ่งหนึ่งที่อาจสร้าง "ความหวัง"สำหรับศาสนิกและชาวโลก คือ "สัญญาน"แห่งจิตวิญญานความยากจน ที่สมเด็จพระสันตปาปาฟรานซิสทรงแสดง ผ่านภูมิหลัง วิถีชีวิตและสิ่งที่พระองค์ทำ พระเยซูคือต้นแบบของการถือความยากจน และความยากจนคือจริยธรรมอันสูงส่งในคริสตศาสนา หากพระศาสนจักรได้รื้อฟื้นจิตวิญญานแห่งความยากจน ความเห็นอกเห็นใจต่อคนยากไร้ "พระเยซูเจ้าผู้สถิตในพี่น้องที่ยากจนของท่าน" พระศาสนจักรจะมีความหมายต่อชาวโลก พระศาสนจักรจะมีบทบาทที่สำคัญ เป็น โบสถ์แห่งความเมตตากรุณาอย่างที่ควรจะเป็น
 
นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปแล้วโดยสิ้นเชิง ที่ผู้เขียนเห็นผ่านสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส คือพระสถานภาพของพระสันตะปาปาในโลกยุคใหม่ นับตั้งแต่ สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่หก ที่ทรงยกเลิกการทำพิธีราชาภิเษก(ในสมัยโบราณ พระสันตะปาปา ทรง อยู่ในฐานะกษัตริย์แห่งกษัตริย์ทั้งปวง)และทรงเลิกการใช้มงกุฏพระสันตะปาปา ในปีคศ.1963 หลังจากการสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2  ซึ่งเริ่มต้นในพระสมณสมัยของสมเด็จพระสันตปาปาจอห์นที่ 23 นับตั้งแต่นั้นมาไม่มีการสวมมงกุฏของพระสันตะปาปาสืบมาอีกเลย แม้การสละตำแหน่งของสมเด็จพระสันตปาปาพระองด์ก่อนก็ส่อแสดงว่า ตำแหน่งสมเด็จพระสันตะปาปาไม่ใช่ สถานภาพแห่งกษัตริย์อีกต่อไป เพราะพระองค์เป็นเพียงผู้แทนของพระศาสนจักรในโลก การที่พระสันตะปาปาฟรานซิส ทรงยกเลิกพิธีรีตองต่างๆและทรงเป็นกันเอง ยิ่งตอกย้ำ ความไม่เป็นกษัตริย์ของพระสันตะปาปาขึ้นไปอีก แต่ทรงเป็นผู้นำทางจิตวิญญานและศีลธรรม
 
ภาพการที่ทรงก้มศีรษะเมื่อทรงขอให้สัตบุรุษในจตุรัสเซนต์ปีเตอร์ในวันที่ทรงออกพระบัญชร คงเป็นภาพที่ประทับในใจใครมากมาย พระองค์กลายเป็น "บิดาผู้ใจดี"สำหรับคริสตชน เช่นเดียวกับสมเด็จพระสันตปาปาจอห์นที่ 23 ภายในชั่วข้ามคืน ถ้าพระองค์จะได้ทรงนำพระศาสนจักรไปสู่ จิตวิญญานแห่งความยากจนเยี่ยงพระเยซู และแน่นอนจะต้องทรงเผชิญปัญหามากมาย ผู้เขียนก็ขอถวายกำลังใจแด่พระองค์ไว้ ณ ที่นี้ด้วยความเคารพยิ่ง บทความเล็กๆนี้มาจากความเป็นคนนอก ซึ่งอาจมิได้มีความเข้าใจลึกซึ้งมากนัก จึงขออภัยต่อท่านผู้อ่านในความผิดพลาดไว้เป้นอย่างสูง
 

ทรงทักทายผู้มาเฝ้าอย่างเป็นกันเอง
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net