Skip to main content
sharethis

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เสนอในเวที "ศาลกับความยุติธรรมในสังคมไทย" จะดำรงรักษาสถาบันกษัตริย์ให้มั่นคงถาวรต้องปรับตัวให้เข้ากับสถาบันประชาธิปไตย ประชาชาติและประชาชน

 

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อ่านจดหมายโต้แย้งคำสั่งประธานรัฐสภา กรณีปฏิเสธไม่นำร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา (คลิกที่นี่เพื่อรับชมแบบ HD)

 

(17 มี.ค.56) ในงานเสวนา เรื่อง ศาลกับความยุติธรรมในสังคมไทย จัดโดย คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก. 112) และกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล กวีราษฎร์ แสงสำนึก กลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย iLaw และคณะนิติราษฎร์ ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ่านจดหมายโต้แย้งประธานรัฐสภา กรณีปฏิเสธไม่นำร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยระบุว่า ปีก่อน ทุกคนได้รวมกันเช่นวันนี้ และคงต้องมารวมตัวต่อไปเรื่อยๆ อีกนาน เพราะการผลักดันให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย คงทั้งยาวและนาน เรามารวมกันเมื่อ 15 ม.ค.55 เพื่อเปิดตัวคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก. 112) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของสามัญชนไม่ว่า ประชาชน นักกิจกรรม นักวิชาการ นักคิด นักเขียน ต่างเพศต่างวัย เพื่อร่วมแก้ไขมาตรา 112 ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางการใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองหลังรัฐประหาร 2549 มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก เห็นได้จากจำนวนคดีในกระบวนการยุติธรรรม ในปี 48 มี 33 กระทง ในปี 2550 เพิ่มเป็น 122 กระทง ปี 2553 ซึ่งมีเหตุการณ์พฤษภาอำมหิต 478 กระทง ตัวเลขเหล่านี้คงทำให้เห็นว่าต้องแก้ไขมาตรา 112 เพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตย หยุดใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือการเมือง

ชาญวิทย์ กล่าวว่า หลังจากนั้น 3 เดือนกว่าได้รวบรวมชื่อผู้ร่วมลงนาม เป็นจำนวน 39,185 ชื่อ เสนอร่าง พ.ร.บ. เพื่อแก้ไขประมวล แก้มาตรา 112 ด้วยเหตุผลว่ากฎหมายนั้นไม่เป็นธรรม ต่อมา 25 ต.ค. เว็บรัฐสภาเผยแพร่เอกสารสั่งจำหน่ายเรื่องการเข้าชื่อแก้ไขแล้ว 

ชาญวิทย์ กล่าวว่า ส่วนตัวที่เสนอแก้มาตรา 112 เป็นข้อเสนอเพื่อให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ในสถานะที่สอดคล้องกับประชาธิปไตย กระแสหลักของโลกสมัยใหม่ในปัจจุบัน คงทราบดีว่าโลกใบนี้มีสหประชาชาติเป็นโลกบาล มีสมาชิก 139 ประเทศสมาชิก ปกครองด้วยระบอบสถาบันกษัตริย์ 13% หรือ 27 ประเทศ ระบอบประธานาธิบดี 87% หรือ 166 ประเทศ  ดังนั้น การปกครองด้วยราชาธิปไตยหรือสถาบันกษัตริย์ เป็นเพียงกลุ่มน้อยในโลกสมัยใหม่ หาใช่กลุ่มใหญ่ไม่ ทั้งนี้ จะสังเกตว่า 27 ประเทศที่ปกครองด้วยราชาธิปไตย หรือหลายประเทศเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือมีพระราชอำนาจนำ ต่างมีความตึงเครียดทางการเมืองสูง โดยเฉพาะในตะวันออกกลางที่กำลังเผชิญกับการเคลื่อนไหวของมวลชน

ชาญวิทย์ กล่าวว่า การจะดำรงรักษาสถาบันกษัตริย์ให้มั่นคงถาวรต้องปรับตัวให้เข้ากับสถาบันประชาธิปไตย ประชาชาติและประชาชน แม้ว่าประเทศไทยจะมีลักษณะเด่นเฉพาะ แต่ก็ตกอยู่ใต้หลักเกณฑ์และกระแสธารประวัติศาสตร์ หามีข้อยกเว้นไม่ ต้องมุ่งสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น ทางที่ผ่านมาและจะที่ต้องไป แม้ยาววกวนคดเคี้ยวเลี้ยวลด แต่เป็นหนทางเดียวที่ต้องดำเนินไปจนกว่าจะถึงความเป็นธรรม ความเป็นไท บรรลุถึงความเป็นประชาชาติ และประชาธิปไตย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net