Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ศาลอุทธรณ์เพิ่งยกฟ้อง คดีพรรคไทยรักไทยและ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ฟ้องสนธิ ลิ้มทองกุล, เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, ชัยอนันต์ สมุทรวณิช, ปราโมทย์ นาครทรรพ และ ASTV ฐานหมิ่นประมาท จัดเสวนาเรื่อง “ปฏิญญาฟินแลนด์” ยุทธศาสตร์ครองเมืองของไทยรักไทย เมื่อวันที่ 24-25 พ.ค.2549 ซึ่งโจทก์ฟ้องว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ว่า ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไปสู่การปกครองในระบอบทักษิณโดยมุ่งหมายเข้าบริหารประเทศตามข้อตกลงปฏิญญาฟินแลนด์ ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยชี้ว่าการจัดเสวนาของจำเลย ไม่ได้ยืนยันว่า “ปฏิญญาฟินแลนด์” มีจริงหรือไม่ เพียงแต่กล่าวถึงการบริหารราชการแผ่นดินของโจทก์ทั้งสองเท่านั้น จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การเสวนาของจำเลยไม่ได้ให้ความสำคัญหรือยืนยันว่า “ปฏิญญาฟินแลนด์” มีจริงหรือไม่ แต่มุ่งวิพากษ์วิจารณ์การบริหารราชการแผ่นดิน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถือเป็นบุคคลสาธารณะที่ประชาชนทั่วไปจะแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

“ขณะเดียวกันโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าข้อตกลงปฏิญญาฟินแลนด์นั้นไม่มีอยู่จริง ส่วนการเผยแพร่บทความเกี่ยวกับปฏิญญาฟินแลนด์ก่อนหน้านั้น ก็เป็นเพียงการนำเสนอเพื่อให้การเสวนาน่าสนใจเท่านั้น ไม่อาจฟังได้ว่าเป็นการทำลายล้างทางการเมืองหรือมุ่งโจมตีโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท”

นี่คือบทสรุปของ “ปฏิญญาฟินแลนด์” ที่พันธมิตรฯ โดยบุคคล 4 คนข้างต้น นำมาโจมตีรัฐบาลทักษิณจนเป็นข่าวใหญ่โตครึกโครม แต่ท้ายที่สุดกลับกลายเป็น “การนำเสนอเพื่อให้การเสวนาน่าสนใจ” “จำเลยไม่ได้ให้ความสำคัญหรือยืนยันว่าปฏิญญาฟินแลนด์มีจริง” กลายเป็นหน้าที่ของโจทก์ต่างหากที่ต้องนำสืบให้เห็นว่าปฏิญญาฟินแลนด์ไม่มีอยู่จริง

ก็ย้อนกลับไปอ่านข่าวเมื่อปี 2549 ดูกันนะครับว่า จำเลยทั้ง 4 พูดอย่างไรเกี่ยวกับปฏิญญาฟินแลนด์ พวกเขายืนยันว่ามีจริงหรือไม่ และส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์การเมืองในขณะนั้น ซึ่งตามมาด้วยการรัฐประหารโดย 1 ใน 4 ข้อหาคือมีการกระทำอัน “หมิ่นเหม่”

วิพากษ์”ชนชั้นสูง” คือไม่จงรักภักดี?
เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดมีนบุรีได้พิพากษายกฟ้อง คดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ฟ้องสนธิ ลิ้มทองกุล และแกนนำพันธมิตรฯ รวม 6 คน ฐานหมิ่นประมาท จากการประกาศคำปฏิญญา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2551 ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เหตุเกิดในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ก่อนที่พันธมิตรฯ จะยึดทำเนียบ

คำพิพากษาเท่าที่อ่านจากข่าวในเว็บไซต์ผู้จัดการระบุว่า คดีนี้จำเลยนำสืบว่า เหตุที่ออกปฏิญญาเนื่องจากรัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 เพื่อหนีคดียุบพรรคพลังประชาชน และแก้ไขมาตรา 309 เพื่อลบล้างความผิดที่ คตส.ได้ตรวจสอบและชี้มูลความผิดไว้ การกล่าวปฏิญญาเพื่อต้องการตักเตือนรัฐบาลสมัครไม่ให้เป็นหุ่นเชิดของโจทก์ เนื่องจากพฤติกรรมของโจทก์สมัยที่เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ใช้นโยบายประชานิยมให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียง โดยหลอกลวงประชาชนว่าจะแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนให้หมดไปภายใน 6 ปี แต่ปัจจุบันความยากจนก็ไม่ได้หมดไป แต่โจทก์กับพวกกลับร่ำรวยมากขึ้น ซึ่งต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษาให้ยึดทรัพย์ของโจทก์และพวกตกเป็นของแผ่นดินฐานร่ำรวยผิดปกติ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 2 ปี ฐานกระทำต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 การใช้นโยบายปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอย่างแข็งกร้าว มีผู้ถึงแก่ความตายประมาณ 2,600 คน มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เอื้อประโยชน์ให้นายทุนและพวกพ้อง โดยประชาชนไม่สามารถเข้าซื้อหุ้นได้ เช่น การแปรรูป ปตท. 800 ล้านหุ้น ราคาเริ่มต้นที่หุ้นละ 35 บาท โดยใช้เวลาขายเพียง 1 นาที หลังจากแปรรูปราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 200 บาท ถึง 300 บาท

ข้อนำสืบของจำเลยทั้งหกแสดงให้เห็นว่า สมัยที่โจทก์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โจทก์บริหารประเทศไม่โปร่งใส มีการทุจริตคอร์รัปชัน มีการออกนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อตนเองและพวกพ้องทำให้โจทก์และพวกร่ำรวยยิ่งขึ้น ซึ่งต่อมาอัยการสูงสุดได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองริบทรัพย์สินของโจทก์กับพวกฐานร่ำรวยผิดปกติให้ตกเป็นของแผ่นดิน แม้โจทก์จะไม่ยอมรับคำพิพากษาแต่ก็แสดงให้เห็นว่า โจทก์มีพฤติกรรมบริหารประเทศส่อไปในทางไม่สุจริตจริง

สำหรับข้อความที่กล่าวหาโจทก์ว่ากดขี่ ข่มเหง และเข่นฆ่าประชาชนนั้น สืบเนื่องจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดของโจทก์ที่แข็งกร้าว เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจากนโยบายดังกล่าวถึง 2,600 คน

ส่วนข้อความที่กล่าวหาว่าโจทก์ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ก็ปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยทั้งหกว่า ภายหลังจากโจทก์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โจทก์ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนต่างประเทศหลายแขนงต่อเนื่องว่า “ตนเองเป็นภัยคุกคามชนชั้นสูง” และยังให้สัมภาษณ์ต่อไปว่า “บรรดาชนชั้นสูงที่มีอภิสิทธิ์ทั้งหลาย เชื่อถือในทุกสิ่ง ยกเว้นประชาธิปไตย” ตามสำเนาหนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 24 ตุลาคม 2551 พฤติกรรมของโจทก์ดังกล่าวย่อมทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าโจทก์ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 นำเอาจุดบกพร่องในการบริหารราชการแผ่นดินของโจทก์มาวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะโจทก์เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีย่อมเป็นบุคคลสาธารณะ อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ เป็นการป้องกันส่วนได้เสียของตนตามคลองธรรม ในฐานะประชาชนชาวไทยที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำหรือพฤติกรรมของรัฐบาลที่บริหารราชการแผ่นดินในขณะนั้นและเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

เอาละ ในประเด็นข้อกล่าวหาว่าไม่โปร่งใส เอื้อประโยชน์ต่อตนเองและพวกพ้อง ก็ดีใจด้วยละครับ เพราะผมก็เคยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทักษิณไว้คล้ายกัน เป็นอันว่าผมไม่ผิดไปด้วย ฮิฮิ แม้ประเด็นที่จำเลยยกมานำสืบบางประเด็นฟังไม่ขึ้น เช่น ข้อกล่าวหาเรื่องหุ้น ปตท.ซึ่งเป็นที่มาของการ “ทวงคืนผัดกระเพรา” ให้ครึกครื้นอยู่เวลานี้ (เพราะความเป็นจริงใครก็ซื้อได้ แม้แต่ NGO ก็ยังซื้อ)

รวมทั้งการที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษายึดทรัพย์ จริงๆ แล้วก็ไม่ได้บอกว่า “ทุจริต” แต่บอกว่า “ได้ประโยชน์โดยไม่สมควร” (มีแต่กฎหมายไทยนี่แหละครับที่ “ไม่สมควร” ก็มีความผิด) แถมยังไม่สามารถบอกได้ว่า ราคาหุ้นชินคอร์ปเพิ่มสูงผิดปกติจากบริษัทอื่นๆ สุดท้ายศาลก็ไปจิ้มเอาวันที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ

หรือคำพิพากษาให้จำคุก 2 ปี อันนั้นศาลบอกชัดเจนว่า “ไม่ทุจริต” แต่ติดคุกเพราะเซ็นชื่อยินยอมให้เมียซื้อที่ดิน (มีแต่กฎหมายไทยเช่นกัน ทักษิณถึงลอยนวลไปได้ทั่วโลก)

อย่างไรก็ดี คำกล่าวหาว่าไม่โปร่งใส เอื้อประโยชน์ต่อตัวเองและพวกพ้อง เป็นคำที่ประชาชนควรวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้เมื่อเกิดกรณีอื้อฉาวหลายครั้งแม้ไม่มีใบเสร็จ (แต่ถ้าชี้หน้านายกฯ หรือรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งว่า “โกง” ก็ต้องมีข้อพิสูจน์นะครับ)

แต่ที่ผมกังขาประเด็นแรกคือ คำกล่าวที่ว่ากดขี่ ข่มเหง เข่นฆ่าประชาชนนั้น จะอ้างเอาจากนโยบายปราบปรามยาเสพย์ติดเท่านั้นหรือ ผมเองก็วิพากษ์นโยบาย “ฆ่าตัดตอน” แต่ไม่เคยใช้คำว่า เข่นฆ่าประชาชน ที่ถูกต้องใช้คำว่า ละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะฆ่าตัดตอนคือการที่(สันนิษฐานว่า)ตำรวจใช้ศาลเตี้ยลงโทษประหารผู้ค้ายาเสพย์ติด ทั้งที่ผู้กระทำความผิดควรได้รับโทษตามกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็น “คำสั่ง” ของรัฐบาล แต่ต้องตำหนิรัฐบาลที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ให้ท้ายตำรวจ

คำว่าเข่นฆ่าประชาชน ต้องใช้ในความหมายที่ชัดเจนกว่านั้น เช่น สั่งให้กำลังทหารหรือตำรวจใช้อาวุธกระสุนจริงเข้าสลายการชุมนุมของประชาชน แต่ในอีกคดีหนึ่ง ที่จตุพร พรหมพันธุ์ กล่าวหาว่าอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ “สั่งฆ่าประชาชน” ศาลก็ยังลงโทษจำคุก

ประเด็นที่น่าตระหนกที่สุดก็คือ การที่ศาลชี้ว่า ทักษิณไปให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศว่า “ตนเองเป็นภัยคุกคามชนชั้นสูง” และ “บรรดาชนชั้นสูงที่มีอภิสิทธิ์ทั้งหลาย เชื่อถือในทุกสิ่ง ยกเว้นประชาธิปไตย” เป็นพฤติกรรมที่ “ย่อมทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าโจทก์ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” นั้นเป็นการตีความที่กว้างมาก กว้างจนไม่รู้ขอบเขต

ผมไม่ทราบว่าจะมีใครเอาคำกล่าวของทักษิณไปฟ้องว่าผิด ม.112 ไหม แต่ถ้าคดีนี้ถึงฎีกาและพิพากษายืนตามนี้ ก็แปลว่าต่อไปใครบังอาจวิพากษ์วิจารณ์ “ชนชั้นสูงที่มีอภิสิทธิ์” ก็จะถูกประณามว่าไม่จงรักภักดี โดยที่ผู้ประณามไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

“บ้ากาม” ไม่หมิ่น
ก่อนหน้านี้วันที่ 25 ธ.ค.2555 ที่ศาลจังหวัดมีนบุรี ศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษา ยกฟ้องคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายจากประพันธ์ คูณมี และ ASTV 100 ล้านบาท จากการปราศรัยบนเวทีพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 25-26 พ.ค.2551 โดยศาลชั้นต้นยกฟ้องไปเมื่อปลายปี 2553

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคำปราศรัยของจำเลย สรุปได้ว่ามีการกล่าวหา 4 ประเด็นคือ 1.ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โจทก์บริหารราชการแผ่นดินเป็นที่เสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชน ใช้อำนาจเอื้อประโยชน์แก่ตนเอง ญาติพี่น้องและพวกพ้อง มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต 2.ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 3.เป็นคนไร้สัญชาติ ไม่มีชาติ ไม่มีประเทศคิดแต่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว 4.บ้าเซ็กซ์ บ้ากาม

คำพิพากษาระบุว่า โจทก์เป็นบุคคลสาธารณะ ซึ่งย่อมหมายความว่าชีวิตและความเป็นส่วนตัวจะได้รับความคุ้มครองจากฎหมายน้อยกว่าสถาบันหรือบุคคลธรรมดาที่ไม่ใช่บุคคลสาธารณะ ทั้งนี้ เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวหากได้รับการเปิดเผยแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน

ปัญหาต่อไปที่จะต้องพิจารณาคือ ข้อกล่าวหาเหล่านั้นเป็นจริงหรือไม่ หรือหากไม่เป็นจริงจะเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ส่งข่าวสารมิได้รู้ว่าเป็นความเท็จตามมาตรา 423 วรรคสองหรือไม่ จำเลยทั้งสามนำสืบพยานหลักฐานหลายประการซึ่งอ้างว่า ทำให้จำเลยเชื่อว่าข้อความที่กล่าวหาโจทก์เป็นจริง เช่นข้อเท็จจริงที่โจทก์ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาลงโทษจำคุก และโจทก์หลบหนีไปต่างประเทศจนศาลต้องออกหมายจับก็ดี การที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งยึดทรัพย์สินของโจทก์เพราะเหตุร่ำรวยผิดปกติ และประพฤติมิชอบขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ดี

“การที่โจทก์ในขณะเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นประธานประกอบพิธีศาสนสัมพันธ์สมานฉันท์แห่งชาติ “พิธีทำบุญประเทศ” ภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยโจทก์นั่งอยู่ในตำแหน่งที่ประทับโดยปกติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงก็ดี การปล่อยให้บุคคลซึ่งใกล้ชิดกับโจทก์เคลื่อนไหวในลักษณะท้าทายอำนาจแห่งองค์พระมหากษัตริย์ก็ดี หรือการที่โจทก์ใช้ชีวิตใกล้ชิดพบปะกับดาราหรือบุคคลในวงการบันเทิงที่เป็นสตรีในต่างประเทศก็ดี”

เห็นว่าพยานหลักฐานฝ่ายจำเลยน่าเชื่อได้ว่า ในขณะที่จำเลยปราศรัยด้วยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำ การไม่กระทำ ความคิด จริยธรรม แม้กระทั่งชีวิตส่วนตัวของโจทก์ “จำเลยเชื่อว่าเป็นความจริง ทั้งนี้อาจเกิดจากความครุ่นคิดฝักใฝ่ ความกระตือรือร้น ความรู้สึกส่วนตัวหรือความเชื่อในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังจากพรรคพวก จึงทำให้จำเลยที่ 1 กล่าวหาโจทก์เช่นนั้น…”

โจทก์ย่อมใช้บุคลากรและอุปกรณ์ที่โจทก์มีอยู่เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบความจริงในสายตาของโจทก์ ฝ่ายจำเลยเองก็ย่อมใช้สิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพียงแต่ฝ่ายจำเลยต้องอยู่ในกรอบของความถูกต้องชอบธรรม รวมทั้งจริยธรรมและมารยาทในสังคมด้วย

“การกล่าวหาโจทก์ของจำเลยที่ 1 แม้บางประเด็นจะเป็นถ้อยคำที่ไม่สุภาพอาจจะถึงขั้นหยาบคาย แต่ก็เป็นเพียงปัญหาด้านจริยธรรมและมารยาท ยังไม่ถือเป็นละเมิดตามกฎหมาย”

คดีนี้หมายความว่าอะไรครับ หมายความว่าศาลเห็นว่าการกล่าวหา 4 ประเด็นนั้น ไม่เป็นความจริง (หรือไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง) แต่จำเลยเชื่อว่าเป็นความจริง จึงไม่มีความผิด

ว้าว! ประพันธ์ คูณมี เชื่อโดยสุจริตว่าทักษิณบ้าเซ็กส์ บ้ากาม ด้วยความครุ่นคิดฝักใฝ่ กระตือรือร้น เชื่อในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังจากพรรคพวก แล้วเอามาพูดบนเวทีพันธมิตร ในฐานะผู้สนใจกิจการบ้านเมืองและการบริหารประเทศ จึงไม่มีความผิด แม้ใช้ถ้อยคำไม่สุภาพ อาจถึงขั้นหยาบคาย แต่ก็เป็นปัญหาด้านจริยธรรมและมารยาท ไม่ผิดกฎหมาย

นักศึกษากฎหมายควรไปถอดเทปคำปราศรัยของประพันธ์มาศึกษานะครับว่า ใช้ถ้อยคำหยาบคายอย่างไร ที่เป็นเพียงปัญหาด้านจริยธรรมและมารยาท แต่ไม่หมิ่นประมาท เพราะความเข้าใจพื้นๆ ของผม เท่าที่ทำหนังสือพิมพ์มา เราไม่กล้าใช้ถ้อยคำหยาบคายกับตัวบุคคลเพราะกลัวจะหมิ่นประมาท

นี่ถ้าใครใช้ถ้อยคำไม่สุภาพกับศาลบ้าง จะถือเป็นปัญหาด้านจริยธรรมและมารยาทไหมหนอ

“ล้มเจ้า” ก็ไม่หมิ่น
เมื่อวัน11 ธ.ค.2555 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องคดีที่บริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ฟ้องสุรวิชช์ วีรวรรณ กับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและเว็บไซต์ ฐานหมิ่นประมาทจากการเขียนบทความเรื่อง “มติชนกับการล้มกษัตริย์” ลงในคอลัมน์ “หน้ากระดานเรียงห้า” เมื่อวันที่ 27-28 พฤษภาคม 2553 ซึ่งมติชนฟ้องว่ามีเนื้อหายืนยันว่าโจทก์กระทำการล้มกษัตริย์ และยังโน้มน้าวให้ผู้อ่านเชื่อว่าโจทก์มีพฤติกรรมล้มกษัตริย์ล้มเจ้า

คดีนี้ศาลชั้นต้นยกฟ้อง โดยระบุว่าที่โจทก์อ้างว่าจำเลยหมิ่นประมาทใส่ความด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จนั้น การใส่ความ ตาม ป.วิอาญา มาตรา 326, 328 จะต้องมีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นเกี่ยวกับบุคคล และบทความใดจะเป็นเท็จต้องมีข้อความที่เป็นจริงเสียก่อนจึงจะนำมาเปรียบเทียบให้เห็นเป็นความเท็จได้ การกระทำของจำเลยเป็นการเสนอบทความในลักษณะเป็นการตั้งคำถามสงสัย ด้วยความกังวลห่วงใยการเสนอข่าว หรือบทความเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยสุจริต ตามเหตุตามผลที่ประชาชนทั่วไปย่อมสามารถแสดงความคิดเห็นได้ มิได้มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง ว่า “โจทก์กระทำการล้มกษัตริย์ หรือเชื่อว่าโจทก์มีพฤติกรรมล้มกษัตริย์ล้มเจ้า” อันเป็นการใส่ความโจทก์แต่อย่างใด

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า นายสุรวิชช์ วีรวรรณ เขียนในทำนองวิเคราะห์ความเห็นของตนและเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศ “มิใช่เขียนยืนยันว่าโจทก์กระทำการตามชื่อเรื่องของบทความ เป็นการเขียนและเผยแพร่บทความในลักษณะห่วงผลกระทบต่อสถาบันกษัตริย์อันเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทย ซึ่งประชาชนทุกหมู่เหล่ามีสิทธิ์ที่จะวิตกต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น และมีสิทธิ์ที่จะแสดงความเห็นได้ และเป็นการเขียนบทความในลักษณะสงสัยในเจตนาของโจทก์ที่นำเสนอบทความว่าโจทก์มีเจตนาเช่นไรเท่านั้น มิใช่เป็นการสร้างความเท็จขึ้นมายืนยันใส่ร้ายโจทก์”

คดีนี้ผู้จัดการยังฟ้องกลับมติชน จากการเอาคำฟ้องไปตีพิมพ์ ต้องคอยดูว่าท้ายที่สุดมติชนผู้ถูกกล่าวหาว่า “ล้มกษัตริย์” จะกลายเป็นฝ่ายหมิ่นประมาทเสียเองหรือไม่

ขอเท้าความหน่อยว่า คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 25 พ.ค.2559 หลังเหตุการณ์พฤษภาอำมหิต รัฐบาล ปชป.ออกหมายจับทักษิณคดีก่อการร้าย มติชนเขียนบทความเรื่อง “วิเคราะห์ รบ.ใช้หมายจับข้อหาก่อการร้าย เด็ดปีก "ทักษิณ" แต่คำถามคือ ถ้าจับได้จริง จะเอาคุกที่ไหนขัง?” ซึ่งก็ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์เลย แค่ตั้งคำถามตอนท้ายว่าจะเอาคุกที่ไหนขัง “เพราะคาดว่าเรือนจำที่ใช้ขัง พ.ต.ท.ทักษิณ จะถูกคนเสื้อแดงบุกไปล้อมแบบคุกบาสติล (Bastille)”

สุรวิชช์จับตรงนี้ไปเขียน ตั้งแง่ว่าทำไมต้องยกตัวอย่างคุกบาสติล เป็นเสรีภาพในการเขียนแต่ผู้อ่านก็มีสิทธิจะตีความในนัยที่ซ่อนเร้นอยู่

       “14 กรกฎาคม ค.ศ.1789 หรือ "วันบาสติล"(Bastille Day) หรือที่รู้จักกันในนาม "วันชาติฝรั่งเศส" หรือนัยหนึ่งถือเป็นวันปฏิวัติใหญ่ล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในฝรั่งเศส และนำไปสู่การโค่นล้มระบอบกษัตริย์ฝรั่งเศส การจับพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ประหารชีวิตด้วยเครื่องกิโยติน

      "วันบาสตีล" ถือเป็นวันแห่งการปฏิวัติการปกครองจากระบบ "เจ้าขุนมูลนาย" ไปสู่การปกครองในระบอบสาธารณรัฐที่มี "ประธานาธิบดี" เป็นประมุขของฝรั่งเศส และเป็นวันก่อตั้งพรรคไทยรักไทยของทักษิณด้วย”

สุรวิชช์เก่งจริงๆ สามารถเขียนให้วันบาสตีล สัญลักษณ์ของการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งชาวโลกยกย่องว่าเป็นจุดเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตย ให้กลายเป็น “วันล้มเจ้า” ไปได้

ในประเทศนี้ใครจะยกย่องวันทลายคุกบาสตีล ยกย่องการปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ได้นะครับ อาจารย์รัฐศาสตร์ อ.เกษียร อ.พิชญ์ ถ้าสอนเรื่องปฏิวัติฝรั่งเศสต้องระวังให้ดี คุณอาจโดนคอลัมนิสต์ผู้จัดการกล่าวหาว่าต้องการ “ล้มเจ้า” (ที่จริงน่าจะห้ามฉายหนัง Les Miserables ไปเลย)

      “สำหรับมติชนแล้ว การหยิบยกเรื่องการ “ล้มระบอบกษัตริย์”ในต่างประเทศ มาเทียบเคียงกับสังคมไทยนั้นไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น

       ก่อนหน้านี้มติชนสุดสัปดาห์ฉบับประจำวันที่ 16 มิถุนายน 2549 เคยนำเสนอรายงานหน้าปกเรื่อง Case study เมื่อเนปาล คืน "อำนาจ" ให้ "ประชาชน" ซึ่งเป็นเรื่องราวของการโค่นล้มระบอบกษัตริย์ของราชวงศ์เนปาลเช่นเดียวกัน

       มติชนอาจจะหาคำอธิบายมาอ้างไปได้ว่า ทำไมเขาถึงเอาเรื่องคุกบาสติลมาโยงกับการที่ทักษิณถูกหมายจับในข้อหาก่อการร้ายและอาจถูกนำตัวมาขังคุก เขานำเสนอเรื่องการล้มระบอบกษัตริย์เนปาลเพราะเป็นข่าวที่สร้างปรากฏการณ์ในช่วงนั้น แต่คำตอบที่แท้จริงย่อมอยู่ในกรรมที่เป็นเครื่องชี้เจตนานั่นเอง”

สุรวิชช์ลากย้อนไปได้ 4 ปี ตกลงมีมติชนฉบับเดียวรายงานข่าวล้มระบอบกษัตริย์เนปาล แล้วการรายงานข่าวนี้เป็นสิ่งต้องห้ามในประเทศนี้?

อย่าลืมความจริงอีกอย่าง มติชนเมื่อปี 49 ยังไล่ทักษิณอยู่โครมๆ รัฐประหารก็ยังเชียร์ เพิ่งจะมาเปลี่ยนเมื่อด่าม็อบพันธมิตรยึดทำเนียบยึดสนามบิน จนถูกพวกเหลืองคลั่งผลักมาอยู่ตรงข้าม

     “ผมไม่รู้ว่า ผู้เขียนบทวิเคราะห์ชิ้นนี้มีเจตนาอย่างไร แต่กรณีตัวอย่างเรื่องการล้มระบอบกษัตริย์เนปาลและการทลายคุกบาสติลผ่านการนำเสนอของมติชนนั้น มีนัยที่ต้องตั้งคำถามและน่ากังขาอย่างมาก เมื่อนำจุดยืนในการเลือกข้างคนเสื้อแดงผ่านบทวิเคราะห์รายงานต่างๆของหนังสือในเครือแล้ว ก็ยิ่งจะต้องตั้งคำถามมากยิ่งขึ้น”

นี่คือวิธีการเขียนของสุรวิชช์ ซึ่งใช้วิธีการ “ตั้งข้อสงสัย” แต่ไม่ต้องสงสัยว่าผู้ถูกพาดพิงเสียหายไปแล้ว ใน “ข้อสงสัย” ที่ร้ายแรงว่า “ล้มเจ้า” แต่ศาลเห็นว่าไม่หมิ่นเพราะเป็นแค่ “ข้อสงสัย”

ลองอ่านบทความนี้ดูนะครับ http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9530000073024

แล้วลองนึกเทียบดู อ.เกษียรเขียนบทความชื่อ “บรรหารบุรีใต้ร่มพระบารมี” มติชนไม่กล้าลง ขอให้เปลี่ยนชื่อ เพราะกลัวสลิ่มยัดข้อหาหมิ่น แต่สุรวิชช์กล้าๆ เขียนบทความชื่อ “มติชนกับการล้มกษัตริย์” โดยไม่กลัวหมิ่น และไม่หมิ่นจริงๆ ด้วย

ผิดที่ไม่ฟ้องพระอรหันต์
ก่อนนั้นอีก วันที่ 6 สิงหาคม 2555 ศาลจังหวัดปทุมธานียกฟ้องคดีที่ทักษิณฟ้องพันธมิตรฐานหมิ่นประมาท จากการออกแถลงการณ์คัดค้านและประณามการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งกล่าวโดยสรุป ศาลเห็นว่าเป็นสิทธิที่จะพิทักษ์รัฐธรรมนูญและเห็นด้วยกับแถลงการณ์พันธมิตรว่าไม่ผิดทุกประเด็น

คดีนี้มีของแถมที่สนธิ ลิ้มทองกุล ออกมาให้สัมภาษณ์เกินจากแถลงการณ์พันธมิตรฯ ว่ามีความเป็นไปได้ที่หากโจทก์สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ตนเองหลุดพ้นจากองค์กรตรวจสอบความรับผิด ซึ่งรับรองโดยมาตรา 309 ได้แล้วย่อมเป็นเงื่อนไขข้อแรกนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์ เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของไทยเป็นระบอบประธานาธิบดี แล้วทุกสิ่งเป็นไปได้หมด

สนธิต่อสู้โดยอ้างว่าทักษิณกระทำมิบังควรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยยกเอาภาพเมื่อครั้งทักษิณเป็นนายกฯ ไปพบประชาชนที่อยุธยาแล้วมีประชาชนถือธง “ทรงพระเจริญ” มาต้อนรับ อ้าง “ข้อเท็จจริง” ของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ว่าทักษิณจะเป็นประธานาธิบดี และหลังเกิดคดี ทักษิณยังให้สัมภาษณ์จาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ จนหลายฝ่ายต้องออกมาปกป้อง (หมายถึงกรณีให้สัมภาษณ์ไทม์ส ออนไลน์)

ศาลตัดสินว่า “การกระทำตามภาพถ่ายในหนังสือพิมพ์ ซึ่งจำเลยที่ ๑ กล่าวอ้าง ปรากฏมีคำว่าทรงพระเจริญที่ธงชาติไทย ซึ่งประชาชนบางส่วนถือนำมาต้อนรับโจทก์และมีชื่อโจทก์เป็นภาษาอังกฤษที่ธงชาติไทยติดไว้ ในสนามฟุตบอล ภาพดังกล่าวถึงจะไม่สามารถบ่งชี้ได้แน่ชัดว่า โจทก์เป็นคนจัดให้มีการกระทำนั้นขึ้นมา เนื่องจากอาจเป็นความสมัครใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของบุคคลอื่นก็เป็นได้ รวมทั้งคำชี้แจงของโจทก์ตามข่าวเอกสารหมาย ล.๒๕ แม้จะไม่บังควรที่กล่าวถึงเบื้องสูงให้มาเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ก็อยู่ในลักษณะของคนตั้งใจที่จะปฏิบัติตามรับสั่งเท่านั้น ยังไม่ถึงขนาดเป็นไปได้ชัดว่า โจทก์มีเจตนาล้มล้างรัฐธรรมนูญมาเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประธานาธิบดี.......  แต่จำเลยที่ ๑ ยังมีข้อเท็จจริงตามคำเทศนาของหลวงตามหาบัว น่าเชื่อถือศรัทธาเป็นที่ประจักษ์บอกเล่าถึงโจทก์ที่หวังอาจเอื้อมเป็นประธานาธิบดี ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ ๑ นำเรื่องราวต่างๆของโจทก์มาประกอบรวมกันทั้งหมดแล้วจึงอาจทำให้เข้าใจไปได้ว่า โจทก์อาจต้องการล้มล้างรัฐธรรมนูญจริงจึงให้สัมภาษณ์ไปในสาธารณะเช่นนั้น”

สนธิไม่ผิดยังไม่พอนะครับ ศาลยังเห็นว่าทักษิณล่วงละเมิดอีกต่างหาก จากการให้สัมภาษณ์ไทม์ส ออนไลน์

“ตามข่าวเอกสารหมาย ล.๒๕-ล.๒๘ ศาลตรวจอ่านดูแล้วทราบว่าโจทก์ให้สัมภาษณ์พาดพิงและล่วงละเมิดสถาบันเบื้องสูงอย่างรุนแรง และเป็นคำพูดที่ไม่เหมาะสมชี้ให้เห็นจุดประสงค์ที่แท้จริงของโจทก์ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมีข่าวว่าเหล่าทัพออกมาชี้แจงให้ผู้ใต้บังคับบัญชาระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และเทิดทูนพระมหากษัตริย์”

นั่นคือทัศนะของศาล ทั้งที่บทสัมภาษณ์ทักษิณในไทม์ส ออนไลน์ ซึ่งมีการเผยแพร่ทั่วไป ไม่มีที่ใดกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระราชินี หรือองค์รัชทายาท ในทางเสียหาย มีแต่ยกย่องเทิดทูน เพียงแต่กล่าวโจมตีตรงๆ ต่อองคมนตรีและเครือข่าย

“ข้อเท็จจริงตามข่าวสารดังกล่าวจึงมีมูลเหตุให้น่าเชื่อไปได้ว่า โจทก์มีพฤติกรรมดังกล่าวจริง สอดคล้องกับข้อเท็จจริงของโจทก์ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาของศาลอาญาซึ่งยกฟ้องโจทก์คดีหมิ่นประมาทเรื่องกลับมาเป็นประธานาธิบดี ...การให้สัมภาษณ์ของจำเลยที่ ๑ ขณะเกิดเหตุว่าอาจมีมูลความจริงตามที่เชื่อก็ได้ สมควรยกประโยชน์ในทางเป็นคุณให้แก่จำเลย”

คำพิพากษาศาลอาญาที่ศาลจังหวัดปทุมธานีอ้างถึงคือกรณีที่ศาลยกฟ้อง คดีทักษิณฟ้องสุเทพ เทือกสุบรรณ ฐานหมิ่นประมาทจากการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2552 ว่า “...ไม่ต้องวิเคราะห์ครับ คุณทักษิณชัดเจนว่า ท่านไม่ยอมแพ้ ท่านก็พยายามสู้ขอท่านไปเรื่อย ท่านก็บอกแล้วว่าวันหนึ่งท่านจะกลับมาเป็นประธานาธิบดี เราก็ไม่ต้องวิเคราะห์อะไร...”

และยังได้กล่าวอภิปรายในสภาเมื่อวันที่ 5 ก.พ. ว่า “ผมเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชอบระบอบประธานาธิบดี ในจิตใจส่วนลึกของ พ.ต.ท.ทักษิณ อยากเป็นประธานาธิบดี”

“ศาลได้พิเคราะห์จากพยานหลักฐานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องสรุปได้ว่า โจทก์เคยดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่างปี 2544 ถึง 2549 ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) เห็นว่าโจทก์มีพฤติการณ์เหยียบย่ำ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ จึงได้เทศนาสั่งสอนโจทก์เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2548 ว่า อย่าคิดอาจเอื้อมเป็นประธานาธิบดี.... และในส่วนตัวโจทก์เองก็ได้แสดงพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมต่อองค์พระมหากษัตริย์ คือ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2548 โจทก์ได้พูดกลับกลุ่มบุคคลที่หอประชุมอินดอร์สเตดียมหัวหมาก ด้วยข้อความไม่เหมาะสมต่อองค์พระมหากษัตริย์ ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 โจทก์ได้พูดในรายการนายกทักษิณ คุยกับประชาชน ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เรื่องการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของโจทก์ โดยใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสมต่อองค์พระมหากษัตริย์ และเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2549 โจทก์ได้พูดต่อข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ว่ามีผู้บารมีเหนือรัฐธรรมนูญมาก่อความวุ่นวายต่อระบอบประชาธิปไตยมากเกินไป จนทำให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า การกระทำของโจทก์ทำให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยว่าโจทก์ไม่ปกป้องต่อสถาบันพระมหากษัตริย์..”

ศาลยังร่ายยาวว่าทักษิณมีความเชื่อมโยงกับเสื้อแดง

“และการชุมนุมของคนเสื้อแดงทุกครั้งมักจะพูดพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น การชุมนุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2550, วันที่ 10 มิถุนายน 2551, วันที่ 15 สิงหาคม 2251 โดยเฉพาะการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551 กลุ่มคนเสื้อแดงได้นำพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ติดไว้ที่ฉากหลังเวที โดยมีข้อความที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง... ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2552 มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงหลายครั้งและมีการตั้งโต๊ะเสนอให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญาข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ.....จากพฤติกรรมของโจทก์เป็นผลให้ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ว่าโจทก์ลบหลู่ดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์.... นอกจากนี้ พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ ก็ยังได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า โจทก์จ้องล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 4 เม.ย. 2552 ซึ่งโจทก์น่าจะหยุดการกระทำอันไม่บังควรดังกล่าว แต่โจทก์กลับไม่หยุด และในทางกลับกันโจทก็กลับให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไฟแนนเซี่ยลไทม์ว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ควรทราบเรื่องแผนการรัฐประหารมาล่วงหน้า” ตามหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 15 พ.ค.2552 โจทก์ยังได้ให้การสนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดงให้มาชุมนุมกันที่ถนนราชดำเนิน ลานพระบรมรูปทรงม้า จนนำไปสู่การจลาจล ซึ่งชวนให้เห็นว่า เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติโดยประชาชนตามคำชักชวนของโจทก์ ทั้งนี้ เพราะโจทก์กับกลุ่มคนเสื้อแดงย่อมรู้อยู่แล้วว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยรูปแบบอื่นตามที่โจทก์ต้องการไม่อาจทำได้โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ”

“จากพฤติการณ์ของโจทก์และกลุ่มคนเสื้อแดงย่อมบ่งชี้ให้เห็นว่ามีเจตนาที่ส่อไปในทางที่สอดคล้องกับคำเทศนาของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปัณโน จำเลยอยู่ในฐานะอันชอบธรรมที่จะแสดงความคิดเห็นได้ ทั้งนี้ เพราะจำเลยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรองนายกรัฐมนตรี”

คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2555 โดยที่โจทก์แย้งว่า หลายคนมีอคติต่อโจทก์ เช่น หลวงตามหาบัว ซึ่งเป็นเถระชั้นผู้ใหญ่ราชาคณะชั้นธรรม โจทก์ไม่อยากจะฟ้องร้องทะเลาะกับพระ หากเป็นบุคคลธรรมดาโจทก์ก็จะต้องฟ้องร้องดำเนินคดี

แต่ศาลตั้งข้อสังเกตว่า “เหตุใดโจทก์จึงไม่ดำเนินคดีฟ้องร้องบุคคลอื่นอีกหรือดำเนินคดีฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ทั้งหลายที่ลงข้อความดังกล่าว เพราะการกล่าวของบุคคลอื่นโดยมีหนังสือพิมพ์นำข้อความมาลงก็ดี หรือหนังสือพิมพ์ลงพระบรมฉายาลักษณ์ก็ดี ล้วนแต่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายได้ เพราะประชาชนทั้งหลายที่ได้ยินได้ฟังคำกล่าวของบุคคลอื่นหรือได้อ่านหนังสือพิมพ์ดังกล่าว ย่อมเกิดความเข้าใจโจทก์ผิดในข้อเท็จจริงได้ ตลอดจนจำเลยก็อาจเกิดความเข้าใจผิดด้วย และข้อเท็จจริงดังกล่าวแม้ในความเป็นจริงจะเป็นเท็จหรือไม่ก็ตามเมื่อประชาชนทั่วไปได้รับทราบถึงพฤติการณ์ของโจทก์ก็อาจก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนต่อโจทก์ก็ได้ เพราะโจทก์เคยเป็นนายกรัฐมนตรีอันเป็นบุคคลสาธารณะ ย่อมเป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไป และประชาชนย่อมจะต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้...” ตลอดจนต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา ๒ ที่บัญญัติว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หากมีผู้ใดที่มีพฤติการณ์หรือมีข้อเท็จจริงที่ทำให้ประชาชนดังกล่าวเข้าใจว่าบุคคลนั้นไม่มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ หรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ประชาชนทั้งหลายย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะปกป้องพระมหากษัตริย์มิให้ผู้ใดล่วงละเมิดได้ ตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้”

“เมื่อพฤติการณ์ของกลุ่มคนเสื้อแดงและตัวโจทก์ก่อให้จำเลยและประชาชนเห็นว่ามีเจตนาส่อไปในทางที่สอดคล้องกับคำเทศนาของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ตามที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้ จำเลยจึงจะมีสิทธิอันชอบธรรมทั้งในฐานะประชาชนที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์......ทั้งในฐานะผู้แทนราษฎรและในฐานะรองนายกรัฐมนตรี...”

ผมก็ไม่ทราบว่าคดีนี้ถึงฎีกาหรือไม่ แต่ถ้าศาลฎีกายืน ประชาชนคนไทยทุกคน นายหมูนายหมานายแมวที่ไหนก็สามารถพูดได้ว่าทักษิณอยากเป็นประธานาธิบดี เพราะถือเอาตามที่หลวงตามหาบัวพูดไว้แล้วทักษิณไม่ฟ้อง

มาตรฐานเดียว
คำพิพากษาคดีหมิ่นประมาทที่ยกมาเป็นตัวอย่าง หากเทียบกับการตีความ ความผิดฐาน “หมิ่น” ตามมาตรา 112 บางคนอาจโวยวายว่าไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

แต่อย่าไปว่าศาลท่านอย่างนั้นเชียว เพราะดูให้ดี ศาลใช้มาตรฐานเดียวกัน (โดยที่ยังไม่ต้องมีคดีถึงฎีกา)

นั่นคือมาตรฐานที่ยึดว่าพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 8 (ที่จริงในรัฐธรรมนูญของหลายประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในยุโรป ก็เขียนข้อความทำนองเดียวกัน แต่ตีความต่างกัน)

เพราะฉะนั้น ในคดี 112 ผู้ใดบังอาจพาดพิงพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์แม้แต่น้อย หรือบังอาจตั้งข้อสงสัยถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะมีความผิด เพราะศาลเห็นว่าสถาบันอยู่เบื้องสูง ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง การพูดหรือเขียนเช่นนั้นเป็นการลบหลู่ล่วงละเมิดสถาบันซึ่งเป็นที่เคารพสักการะ “ในหลวงทรงงานหนัก” ทรงอุทิศพระองค์เพื่อพสกนิกร ความผิดนั้นจึงต้องลงโทษอย่างรุนแรง

แต่ในคดีหมิ่นประมาท ที่มีผู้ตั้งแง่กล่าวหาผู้ใด โดยเฉพาะผู้นำทางการเมืองอย่างทักษิณ ว่าไม่จงรักภักดี ว่ามีเจตนาจะล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ ว่าจะสถาปนาระบอบประธานาธิบดี ฯลฯ ถึงแม้บางคดี ศาลจะเห็นว่าไม่เป็นความจริง แต่จำเลยก็ไม่มีความผิด เพราะมีเจตนาอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง ต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ มิให้ผู้ใดล่วงละเมิด บ้างก็มีความกระตือรือร้นแรงกล้า จนเชื่อว่าโจทก์มีพฤติกรรมเช่นนั้น (รวมไปถึงพฤติกรรมบ้าเซ็กส์ บ้ากาม ซึ่งน่ากังขาว่าจะเป็นมาตรฐานให้กล่าวหานักการเมืองอีกพรรคที่เอาเมียเพื่อนได้หรือไม่)

ในหลายคดี ศาลมีความเห็นคล้อยตามจำเลยด้วยซ้ำไปว่า โจทก์มีพฤติกรรมส่อไปในทางที่ไม่จงรักภักดีหรือกระทั่งทำให้เชื่อว่าจะล้มล้างสถาบัน สถาปนาระบอบประธานาธิบดี ซึ่งเป็นเรื่องน่าตระหนก เพราะคำพิพากษาสะท้อนว่า ศาลมีทัศนะแตกต่างห่างไกลจากโลกประชาธิปไตย หรือโลกทางวิชาการ

เช่น การกล่าวถึงชนชั้นสูงที่มีอภิสิทธิ์ ศาลเห็นว่าเป็นถ้อยคำที่ทำให้เข้าใจได้ว่าไม่จงรักภักดี

เช่น การให้สัมภาษณ์ไทม์ส ออนไลน์ ซึ่งมุ่งวิพากษ์วิจารณ์ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดสถาบัน ศาลกลับเห็นว่าเป็นการพาดพิงและล่วงละเมิดอย่างรุนแรง (ถ้าเป็นในอังกฤษ สเปน นอรเวย์ สวีเดน เดนมาร์ก เรื่องทำนองนี้ถือเป็นธรรมดา และน่าจะถือเป็นการปกป้องสถาบันด้วยซ้ำ)

หรือคำกล่าวต่างๆ ของทักษิณ ที่ศาลยกมาในคดีเทพเทือก ก็เป็น 1 ใน 4 ข้ออ้างของการรัฐประหารว่ามีพฤติการณ์ “หมิ่นเหม่” แต่ท้ายที่สุด อัยการสั่งไม่ฟ้อง ในยุคสมัย คมช.นั่นแหละ กระนั้นเทพเทือกก็ยังนำมาเป็นหลักฐานปกป้องตัวเองได้

แม้แต่การเข้าชื่อกันแก้ไข ม.112 ของเสื้อแดง คำพิพากษาทั้งศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ก็เห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่ทำให้เชื่อว่าจะสถาปนาระบอบประธานาธิบดี

“...พฤติการณ์ของกลุ่มคนเสื้อแดงและตัวโจทก์ก่อให้จำเลยและประชาชนเห็นว่ามีเจตนาส่อไปในทางที่สอดคล้องกับคำเทศนาของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน...”

นี่เป็นคำพิพากษาเมื่อปีที่แล้วนี่เอง ในขณะที่สังคมกำลังพยายามกลับเข้าสู่วิถีทางประชาธิปไตย พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งและไม่ได้มีท่าทีต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแม้แต่น้อย หากต้องการเพียงแก้ไขรัฐธรรมนูญให้กลับไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย (ซึ่งก็ยังขลาดเขลาไม่กล้าแก้หมวดพระมหากษัตริย์)

แต่คำพิพากษาเหล่านี้กลับสะท้อนว่า ทัศนะของศาลต่อ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” แตกต่างจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในสากล อย่างอังกฤษ สเปน สวีเดน นอรเวย์ เดนมาร์ก หรือญี่ปุ่น

“ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ต้องเป็นอย่างที่เป็นอยู่นี้เท่านั้น (ซึ่งก็ไม่มีใครกล้าพูดชัดว่าเป็นอย่างไรแน่ ต่างกับฝรั่งที่มีกษัตริย์ตรงไหน) โดยมีองค์ประกอบของพระบารมี ที่ใครต่อใครก็นำไปอ้างและอิง ทั้งทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ การตลาด โดยมีองค์ประกอบของมาตรา 112 ค้ำจุนไว้

ถ้าศาลมีทัศนะเช่นนี้ ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปประชาธิปไตย และการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้พ้นจากความขัดแย้งและการอ้างอิงของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เพื่อให้เป็นที่เคารพเทิดทูนของประชาชนอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบเสรีประชาธิปไตย

 

                                                                                           

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net