Skip to main content
sharethis

 

ชวนแรงงานหญิงนักดื่ม! ร่วมปฏิญาณตนหันหลังให้น้ำเมาตัวการชีวิตตกต่ำ

(5 มี.ค.) ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เวลา 10.00 น.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกลุ่มเครือข่ายสตรี และผู้ใช้แรงงานหญิงกว่า 100 คน จัดกิจกรรมรณรงค์ “หยุดสุรา หยุดอบายมุข เพื่อคุณภาพชีวิตแรงงานหญิง” เนื่องในโอกาส 8 มีนาคม วันสตรีสากล พร้อมทั้งร่วมกันปฏิญาณตนจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข โดยภายในงานได้มีการแสดงละครชุด“ปลดพันธนาการแรงงานหญิง” เพื่อสะท้อนถึงพิษภัยจากอบายมุขที่ทำลายคุณภาพชีวิตแรงงานหญิง จากเครือข่ายละครดีดี๊ดี
      
นางสาวมณี ขุนภักดี หัวหน้าฝ่ายรณรงค์และเผยแพร่ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยผลสำรวจ“คุณภาพชีวิตและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของแรงงานหญิง” โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มผู้ใช้แรงงานหญิงทั้งหมด 526 ราย ใน 10 โรงงาน 3 จังหวัด คือ นนทบุรี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ ระหว่างวันที่ 22 ก.พ.-3 มี.ค.2556 พบว่า กลุ่มผู้ใช้แรงงานหญิงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากถึง 2 ใน 3 หรือ 68.4% ส่วนใหญ่ดื่มเป็นประจำสัปดาห์ละ 1-3 วัน ทั้งนี้ปัญหาของแรงงานหญิงกลุ่มที่ดื่มคือ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ตามด้วยปัญหาหนี้สิน และมีภาระเลี้ยงดูคนในครอบครัว นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่าง มักจะหาทางออกของปัญหาดังกล่าวด้วยวิธีดื่มสุราเป็นอันดับแรก รองลงมาเป็นการระบายทุกข์กับเพื่อน ตามด้วยดูหนังฟังเพลง และเที่ยวผับบาร์ ซึ่งกลุ่มที่ดื่มเป็นประจำกว่า 76.7% ระบุว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วยคลายเครียด แต่ในกลุ่มที่ดื่มในโอกาสพิเศษ 68.9% ระบุว่าช่วยไม่ได้ ส่วนประเภทของเครื่องดื่มที่นิยมมากที่สุด คือเบียร์ รองลงมา เหล้าสี สปาย และยาดอง และเมื่อถามถึงรายจ่ายในแต่ละเดือน พบว่า กลุ่มที่ดื่มเป็นประจำจะมีค่าใช้จ่ายในการดื่ม 14.76% ของรายได้ และกลุ่มที่ดื่มบางโอกาส จะมีค่าใช้จ่ายดื่ม 11.0% ของรายได้ นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มตัวอย่างยอมเสียค่าใช้จ่ายในการเล่นหวยเกือบ 10% ของเงินเดือน ที่น่าห่วงคือในกลุ่มที่ดื่มประจำ เกือบครึ่งนิยมดื่มจนเมาเต็มที่ หรือ 43.8%
      
“กลุ่มตัวอย่างที่ดื่มสุราเป็นประจำกว่า 89% ระบุว่าแม้จะมีค่าแรง 300 บาทต่อวัน แต่ก็ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย นอกจากนี้ 93.2% ยังระบุว่า แม้จะได้รับค่าจ้างมากกว่า 300 บาทต่อวัน แต่ถ้ายังมีค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยอื่นๆ เช่น ค่าสุรา การพนัน บุหรี่ หวย เงินที่ได้จะไม่เพียงพอต่อรายจ่ายอยู่ดี ขณะเดียวกัน กลุ่มตัวอย่างที่ดื่มเป็นประจำ 87.7% และกลุ่มที่ดื่มเป็นบางโอกาส89.2% เห็นด้วยที่ว่า หากลดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยโดยเฉพาะเหล้านี้ได้ ก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นางสาวมณี กล่าว
      
นางสาวมณี กล่าวอีกว่า จากผลสำรวจสะท้อนชัดเจนว่า กลุ่มแรงงานหญิง เมื่อมีความเครียดจะหาทางออกด้วยการดื่มสุราเป็นอันดับแรก จึงทำให้ปัญหาที่ตามมาเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เพียงพอ ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป และผู้ชายต้องเข้ามาดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในครอบครัว ค่าเลี้ยงดูบุตร ช่วยทำงานบ้าน ช่วยเลี้ยงลูก ไม่ควรปล่อยเป็นหน้าที่ผู้หญิงฝ่ายเดียว นอกจากนี้ อยากเสนอให้กระทรวงแรงงาน คำนึงถึงคุณภาพแรงงานหญิงให้มากกว่านี้ โดยการมีสถานที่เลี้ยงเด็กของผู้ใช้แรงงาน และควรตรวจสอบโรงงานให้มีการจ้างงานที่เป็นธรรม ไม่เอาเปรียบแรงงานหญิง ไม่เลือกปฏิบัติจากความเป็นผู้หญิง นอกจากนี้กระทรวงแรงงานควรต้องมีส่วนร่วมเผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี อันว่าด้วยการห้ามดื่ม ห้ามขายในโรงงานให้กับคนงานและสถานประกอบการและติดตามการบังคับใช้อย่างจริง จัง นโยบายโรงงานสีขาวปลอดยาเสพติดต้องครอบคลุมเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีการรณรงค์ลด ละ เลิก สุราและอบายมุขให้จริงจังด้วย
      
รศ.บุญเสริม หุตะแพทย์ สาขาวิชามนุษยนิเวศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า จากสถิติการดื่มสุราในกลุ่มผู้หญิงอายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่ามีแนวโน้มการดื่มเพิ่มมากขึ้น และปริมาณการดื่มก็มากขึ้นด้วย ส่วนช่วงอายุที่ดื่มมากที่สุด คือ 25-44 ปี ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่อยู่ในวัยแรงงาน โดยส่งผลกระทบต่อ ปัญหาครอบครัว เศรษฐกิจ สุขภาพ อย่างไรก็ตามควรมีการให้ความรู้เพื่อให้เกิดการตระหนักถึงผลกระทบ ชี้ให้เห็นโทษ โดยเฉพาะปัญหาครอบครัวซึ่งส่วนใหญ่มีแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรใส่ใจนำปัญหาไปแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีการพูดถึงระบบรองรับสวัสดิการเพื่อให้ครอบคลุม ดูแลสุขภาพของผู้ใช้แรงงาน อีกทั้งควรมีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานได้ผ่อนคลาย ได้ใช้เวลาว่างเพื่อสุขภาวะ เพราะจะเป็นผลดีทั้งต่อตัวนายจ้างและลูกจ้าง ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น ไม่ขาดลามาสาย
      
ขณะที่ นางสาวสุกัญญา เกิดทิม อายุ 45 ปี ผู้ใช้แรงงานหญิงที่ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอบายมุข กล่าวว่า ตนเริ่มดื่มเหล้าตั้งแต่อายุ 13 ปี เข้ามาทำงานเมื่อปี 2531ที่โรงงานเย็บผ้าแห่งหนึ่ง แต่ก็ยังดื่มหนักขึ้นเรื่อยๆ และมีการเล่นพนันทั้งไพ่ ไฮโล หวย จนทำให้รายรับไม่พอกับรายจ่าย ต้องกู้หนี้นอกระบบ ยอมจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 20 บาทต่อเดือน ช่วงนั้นเป็นหนี้ประมาณแสนกว่าบาท และปัญหาที่ตามมาคือ ครอบครัวแตกแยก ลูกสาวหมดอนาคตในการศึกษาเล่าเรียน มีปัญหากับลูกบ่อยครั้งจนลูกเคยคิดฆ่าตัวตาย แต่ยังโชคดีที่เพื่อนบ้านเข้ามาห้ามไว้ได้ทัน และนี่คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ตนต้องการเลิกดื่มเหล้า จากนั้นหันมาเข้าร่วมโครงการลดละเลิกเหล้า ประกอบกับมีหลานที่ต้องดูแล
      
“ตอนนี้เลิกเหล้าได้ 5 ปีแล้ว ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปมาก ครอบครัวอบอุ่นขึ้นมีเงินเหลือเก็บ สามารถซื้อรถจักรยานยนต์และเสื้อวิน มาวิ่งรับจ้างหลังเลิกงานเพื่อเป็นรายได้เสริม ซึ่งต่างจากช่วงที่ติดพนันและดื่มสุรา เพราะไม่มีแม้แต่เงินจะกินข้าว สุขภาพก็ย่ำแย่ เจ็บป่วยบ่อยครั้ง ทั้งนี้อยากฝากถึงผู้ใช้แรงงานหญิงที่ยังดื่มอยู่ให้กลับตัวกลับใจ ก่อนที่จะสาย ควรหันหลังให้น้ำเมา ทำตัวให้ดีเพื่อคนที่เรารัก เพราะแม้จะขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน แต่ถ้าเรายังเป็นนักดื่มก็ทำให้เราชักหน้าไม่ถึงหลัง ล่มจมหมดอนาคตได้” นางสาวสุกัญญา กล่าว


(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 5-3-2556)

 

'แรงงานสตรี' ยื่น 3 ข้อเรียกร้อง จี้'ยิ่งลักษณ์'เร่งจัด'สวัสดิการ-ประกันสังคม-แรงงานชายลางานไปดูแลบุตร

ตัวแทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ได้เข้าพบ น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือและข้อเรียกร้อง 3 ข้อ แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดย น.ส.ศันสนีย์ เป็นตัวแทนรับหนังสือดังกล่าว จากนั้น รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า รัฐบาล โดยการนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัวเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะทำอะไรจะโยงไปถึงเรื่องดังกล่าวเสมอ และทุกเรื่องที่ยื่นผ่านตัวแทนที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ก็ขอให้มั่นใจว่านายกฯจะได้พิจารณาช่วยเหลืออย่างจริงจัง

น.ส.ศันสนีย์ กล่าวว่า ขอให้ทราบว่าเรามีความตั้งใจในการทำงาน และพยายามอย่างต่อเนื่อง ส่วนข้อเรียกร้องต่าง ๆ อยู่ระหว่างการดำเนินการ ทั้งการขอให้ สามีไปดูแลบุตร ซึ่งนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว. แรงงาน ได้ออกหนังสือขอความร่วมมือไปยังบริษัทเอกชนต่างๆ ให้แรงงานชายสามารถลางานไปดูแลบุตรได้ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ส่วนเรื่องการปรับปรุงระบบประกันสังคม ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างรอการพิจารณาในสภา และการเรียกร้องในวันนี้ก็จะเป็นกระบอกเสียง ให้เรื่องดังกล่าวดำเนินการเร็วขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รมต.ประจำสำนักนายกฯ ได้เดินออกไปพบกับผู้ชุมนุม ที่รวมตัวกันบริเวณประตู 4 ทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่ช่วงเช้า เพื่อให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญ กับข้องเรียกร้องต่างๆ พร้อมกับวางดอกไม้แสดงสัญลักษณ์ในการขอบคุณสตรีผู้เป็นเพศแม่ และการปลดปล่อยไม่ให้สตรีถูกกดขี่จากสังคม ซึ่งทำให้ผู้ชุมนุมพอใจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเช้าวันเดียวกันนี้ น.ส.ธนพร วิจันทร์ พร้อมด้วยสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และมูลนิธิเพื่อนหญิง ประมาณกว่า 400 คน ได้รวมตัวกันที่ ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล โดยมีการชุมนุมบนพื้นผิวจราจร สองช่อง ถนนพิษณุโลก เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรี เนื่องในวันสตรีสากลปี 56 โดยขอให้รัฐบาลจัดสวัสดิการและการประกันสังคม ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้หญิงทำงาน 3 ข้อ 1.เพิ่มจำนวนศูนย์เลี้ยงเด็กในพื้นที่อุตสาหกรรมและชุมชน รวมทั้งปรับคุณภาพบริการให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้หญิงทำงาน

2 .เพื่อให้รัฐบาลรับรองในอนุสัญญา องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 183 เรื่องการคุ้มครองความเป็นมารดา หรือนำหลักการของอนุสัญญานี้มาดำเนินการโดยเร็ว โดยให้แรงงานชายสามารถ ลางานไปดูแลบุตรได้ และ 3 .เพิ่มมิติผู้หญิงในระบบประกันสังคม โดยขยายสิทธิประกันสังคมให้ครอบคลุมคนทำงานทุกกลุ่ม เพิ่มสิทธิประโยชน์และอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงบริการด้านสิทธิอนามัย เจริญพันธุ์ ที่สำคัญ มีสำนักงานประกันสังคมที่เป็นอิสระและกำหนดสัดส่วนหญิงชายที่เท่าเทียมกันใน คณะกรรมการประกันสังคม รวมถึงให้ความสำคัญกับการป้องกันก่อนเกิดโรค

(คมชัดลึก 8-3-2556)

 

จัดหางานเชียงใหม่แจ้งขยายเวลาให้นายจ้างขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง

นายฤชุชัย โปธา นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตามที่ คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2556 ให้ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ลักลอบทำงานอยู่กับนายจ้างในประเทศไทยอยู่แล้ว อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ เป็นเวลา 120 วัน (4 เดือน) เพื่อดำเนินการให้ได้รับหนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport) และได้รับอนุญาตให้เป็น ผู้เดินทางเข้าประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมกับได้รับอนุญาตทำงานเฉพาะกับนายจ้างเดิมต่อไป และให้นายจ้าง/สถานประกอบการมาขึ้นทะเบียนเพื่อแจ้งความประสงค์จะจ้างแรงงาน ต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา กับสำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ภายใน 1 เดือน นั้น ขณะนี้ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้ขยายเวลาให้นายจ้างยื่นแบบคำขอจ้างแรงงานต่างด้าว (Demand Letters) และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 16 มีนาคม 2556 เปิดบริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ

ในการยื่นเอกสาร นายจ้างไม่ต้องนำแรงงานต่างด้าวมาที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ หน่วยบริการย่อย โทรศัพท์หมายเลข 053-223855-6 , 085-6955573 ทุกวันเวลาราชการ หรือที่เวปไซด์สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ www.cmemployment.org

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 9-3-2556)

 

ผู้แทน 4 ฝ่าย หารือใช้กฎกระทรวงว่าด้วยแรงงานทำงานในบ้าน

10 มี.ค.- ผู้แทนไอแอลโอระบุการออกกฎกระทรวงว่าด้วยแรงงานทำงานในบ้านฉบับใหม่ของไทย ถือเป็นก้าวสำคัญในการคุ้มครองคนทำงานบ้าน พร้อมเสนอบังคับใช้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าล่วงเวลา และวันหยุด รวมทั้งเสนอให้มีการคุ้มครองผู้ที่อายุ 15-18 ปี
 
นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวในการประชุมเกี่ยวกับกฎกระทรวงแรงงานว่าด้วยลูกจ้างทำงานบ้านฉบับใหม่ ของไทย ว่า  การบังคับกฎกระทรวงฉบับนี้แม้จะไม่ได้เป็นไปตามอนุสัญญาองค์การแรงงาน ระหว่างประเทศว่าด้วยแรงงานทำงานในบ้าน ฉบับที่ 189 ที่กำหนดว่าแรงงานทำงานบ้านทั่วโลกจะต้องได้รับสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานเท่า เทียมกับแรงงานประเภทอื่นๆทั้งหมด  แต่ถือว่าแตกต่างจากอดีตซึ่งแรงงานทำงานบ้านไม่ได้รับการคุ้มครองเลย  เนื่องจากบางส่วนยังติดขัดข้อกฎหมายทำให้อาจไม่ได้รับสิทธิเหมือนแรงงานทั่ว ไป เช่น ค่าแรง 300 บาท ที่กฎหมายได้ครอบคลุมถึงแรงงานทำงานบ้านเนื่องจากมีลักษณะงานที่แตกต่างจาก แรงงานทั่วไป รวมถึงค่าใช้จ่าย เช่น แรงงานทั่วไปต้องเสียค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าอาหาร แต่แรงงานทำงานในบ้านไม่ต้องเสีย  ซึ่งการให้กฎกระทรวงฯ สามารถบังคับใช้อย่างจริงจังเรื่องนี้ต้องใช้ระยะเวลา โดยกระทรวงแรงงานยืนยันจะเดินหน้าให้นายจ้างและลูกจ้างสามารถอยู่ร่วมกันได้ อย่างมีความสุข
 
ด้าน นางเนลีนส์ ฮาสเปลส์ (Ms.Nelien Haspels) ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านมิติหญิงชายขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กล่าววว่า การประกาศใช้กฎกระทรวงดังกล่าวของไทยถือเป็นก้าวสำคัญในการคุ้มครองสิทธิคน ทำงานบ้าน โดยเห็นว่ากฎกระทรวงฯ ฉบับดังกล่าวสามารถพัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าล่วงเวลา  ช่วงเวลาการทำงานที่ชัดเจน และสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น การคลอด นอกจากนี้จะต้องมีการป้องกันการละเมิดสิทธิเด็กและผู้หญิงอย่างจริงจังโดย เร็ว  เช่น  มีการกำหนดโทษผู้ที่กระทำผิดกับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี และมีการคุ้มครองผู้ที่มีอายุ 15 -18 ปี โดยเฉพาะ รวมถึงห้ามนายจ้างยึดทรัพย์สินลูกจ้างไว้เป็นเครื่องค้ำประกันก่อนรับเข้าทำ งาน และห้ามล่วงละเมิดทางเพศ
 
ขณะที่ นางสมร พาสมบูรณ์ ตัวแทนลูกจ้างทำงานบ้าน กล่าวว่า  อยากให้กระทรวงแรงงานประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างทุกคนรับรู้และเข้าใจถึงกฎกระ ทรวงฉบับบนี้ เพราะยังมีนายจ้างบางส่วนไม่รู้ว่ามีการออกกฎกระทรวงฯ นอกจากนนี้อยากให้กระทรวงหาช่องทางให้คนทำงานในบ้านเข้าสู่ประกันสังคมมาตรา 33 ได้

(สำนักข่าวไทย, 10-3-2556)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net