Skip to main content
sharethis

สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน โซนร้อยเอ็ด ร่วมกันขุดลอกคลองรอบ ‘โรงเรียนอนุบาลพันธุ์ปลา’ หวั่นพันธุ์ปลาสูญหายไปตามสภาวะแห้งแล้ง พร้อมวอนหน่วยงานภาครัฐ ลงมาร่วมหามาตรการจัดระบบจากการทำนาปรังมีอีกหนึ่งสาเหตุทำน้ำแห้ง

 
(13 มี.ค.56) จากสภาวะภัยแล้งในภาคอีสาน ส่งผลกระทบต่อพืชผัก แหล่งน้ำ และวิถีชีวิตชาวประมงของ ‘ชุมชนดอนฮังเกลือ’ ต.บึงเกลือ อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ทำให้โรงเรียนอนุบาลพันธุ์ปลาขึ้นมาเพื่อการอนุรักษ์ และขยายพันธุ์ปลาไม่ให้สูญหาย บนเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ของแหล่งน้ำบึงเกลือได้รับความเสียหาย
 
นายทองสา ไกรยนุช กรรมการโฉนดชุมชนดอนฮังเกลือ สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปนั้นได้ส่งผลกระทบทำให้บึงเกลือ หรือที่เรียกว่าทะเลอีสานซึ่งมีเนื้อที่กว่า 5,000 ไร่ เหือดแห้งลงไปมาก ซึ่งนอกจากสร้างความเสียหายแก่พืชผักที่ปลูกไว้ ภาวะดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อโรงเรียนอนุบาลพันธุ์ ที่ชุมชนได้ร่วมกันจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่เมื่อต้นปี 2555
 
นายทองสา กล่าวด้วยว่า ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นคือการทำนาปรังที่ต้องสูบน้ำจากบึงเกลือไปใช้เป็นอย่างมาก ทำให้ปัญหาน้ำในบึงที่แห้งอยู่แล้วยิ่งลดระดับลงไปมากกว่าเดิม
 
“ส่วนตัวไม่ได้ขัด หรือห้ามการทำนาปรังแต่อย่างใด เพราะตัวเองก็เป็นเกษตรกร เป็นลูกชาวนา แต่ทั้งนี้อยากให้ทาง อบต.มีมาตรการหาทางออก ด้วยการลงประชามมติหาทางออกร่วมกัน” นายทองสา กล่าว
 
 
นายทองสา ยกตัวอย่างข้อเสนอเพื่อการแก้ปัญหาว่า การทำนาในช่วงฤดูแล้ง อยากให้มีการสลับหมุนเวียนกันสูบน้ำจากบึงเกลือ ด้วยว่ามีคลองส่งน้ำถึง 3 แห่ง ทั้งคลองส่งน้ำบ้านน้ำจั้นน้อย คลองส่งน้ำบ้านหัวคู และคลองส่งน้ำน้ำบ่อแก เพื่อป้องกันภัยแล้ง ก่อนหน้านี้ได้มีคำสั่งมาจากทางจังหวัด ลงมาสู่อำเภอ แต่ทางหน่วยงาน อบต. ก็ยังไม่มีมาตรการป้องกันแต่อย่างใด นอกจากประกาศเสียงตามสายแจ้งเตือนไปหนึ่งครั้งเมื่อต้นเดือนมกราคม ปี 56 แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะมาแจ้งหลังจากที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ได้ทำนากันไปก่อนหน้านั้น จนบางที่ข้าวออกรวงไปแล้ว
 
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาของโรงเรียนอนุบาลพันธุ์ นายทองสากล่าวว่า ขณะนี้ชุมชนได้ร่วมกันขุดลอกคูคลอง ล้อมโรงเรียนอนุบาลพันธุ์ปลาเอาไว้ เพื่อรักษาแหล่งน้ำไว้ไม่ให้เหือดหาย ป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดกับพันธ์ปลาที่อนุรักษ์ไว้
 
นายทองสา ให้ข้อมูลด้วยว่า แหล่งพักอาศัยของปลานี้ ใช้เนื้อที่กลางน้ำบึงเกลือประมาณ 2ไร่ เพื่อให้ปลาหลากหลายชนิดได้เข้ามาอาศัยและใช้เป็นแหล่งขยายพันธุ์ปลา ด้วยมีวัตถุประสงค์ในการพลิกฟื้นและร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์ปลาให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ขณะเดียวกันคนในชุมชนก็จะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยได้ตั้งกฎระเบียบขึ้นมาร่วมกันไว้ว่าไม่ให้มีการจับปลาในบริเวณโรงเรียน ในทุกๆ ฤดูกาล หากมีการฝ่าฝืน จะมีการปรับเงินไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งเงินค่าปรับ ทางกลุ่มจะนำมาบำรุงโรงเรียน หรือนำไปซื้อพันธุ์ปลา เพื่อนำมาขยายต่อไป
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ชุมชนดอนฮังเกลือ ต.บึงเกลือ อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ประกอบด้วยชาวบ้านจากบ้านหัวคู บ้านบ่อแก บ้านนาเลา และบ้านน้ำจั้น กว่า 31 ครอบครัวที่ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในพื้นที่มาก่อนปี 2472 ต่อเนื่องมา ต่อมาปี 2542 องค์การบริหารส่วนตำบลบึงเกลือ ได้นำแผ่นป้ายมาติดประกาศ ให้ผู้ที่ครอบครองทำประโยชน์ในบริเวณดอนฮังเกลือออกจากที่ดินทำกินทุกคน โดยหน่วยงานดังกล่าวจะนำพื้นที่มาก่อสร้างสนามกีฬา สถานที่ราชการ กระทั่งปัจจุบันมีโครงการจัดทำแหล่งท่องเที่ยว ด้วยว่าพื้นที่เป็นแหล่งน้ำบริเวณกว้าง
 
ช่วงปี 2542 – 2545 ชาวบ้านในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ได้รวมกลุ่มกันยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเพื่อติดตามแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาล กระทั่งได้มีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีนายมนตรี บุพผาวัลย์ นายอำเภอเสลภูมิเป็นประธาน คณะทำงานมีมติร่วมกันว่า การประกาศเขตที่สาธารณะประโยชน์ดอนฮังเกลือไม่ถูกต้อง สมควรเพิกถอน ยุติการดำเนินการ และเอกสารสิทธิ์ให้แก่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบต่อไป
 
ต่อมาปี 2552 ชาวบ้านดอนฮังเกลือ สมาชิกในเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ได้ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ได้ยื่นข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน เพื่อขอจัดทำโฉนดชุมชนเนื้อที่ 31 ไร่ 2 งาน 73 ตาราง ต่อรัฐบาล กระทั่งคณะอนุกรรมการตรวจสอบพื้นที่มีการลงมาตรวจสอบพื้นที่ แล้วมีมติจากคณะกรรมการว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีแม้การบริหารจัดการที่ทำกิน รวมทั้งการจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำที่ประสบปัญหา
 
ขณะที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ไม่เห็นด้วย เพราะต้องการนำพื้นที่พิพาทมาทำประโยชน์ในการสร้างสนามกีฬา และปัจจุบันมีโครงการที่จะนำพื้นนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว อีกทั้งมีแผนการที่จะอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ โดยไม่มีใส่ใจการร่วมกันแก้ไขปัญหา
 
ส่วนการจัดการในชุมชน ได้มีการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาอย่างเข้มแข็ง โดยมีการจดแจ้งการจัดตั้งเป็นนิติบุคคลในนามกลุ่มเกษตรกรทำนาบึงเกลือ อีกทั้งยังมีการตั้งกลุ่มออมทรัพย์ กองทุนสวัสดิการ รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนที่ดิน เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้กับสมาชิกใช้กู้ยืมในยามฉุกเฉิน หรือนำไปจัดซื้อปัจจัยการผลิตในพื้นที่ และยังมีการรวมกลุ่มกันจับปลาบริเวณบึงเกลือ เพื่อนำไปขายแล้วนำเงินมาไว้เป็นกองทุนในการเคลื่อนไหวในการเรียกร้องความชอบธรรม ต่อการจัดการทรัพยากรของในชุมชนต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net