Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 

จดหมายเปิดผนึก
โดยมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ
ส่งต่อโดยคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย 

10 มีนาคม 2556 
 
เรียน  ท่านนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
 
ดิฉัน นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยานายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชนที่ให้ความช่วยเหลือทางคดีแก่ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถูกลักพาตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 หลังจากที่นายสมชายได้ร้องเรียนเรื่องการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจซ้อมทรมานผู้ต้องหา ภายหลังการหายตัวไปของนายสมชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ยอมรับว่านายสมชาย นีละไพจิตรเสียชีวิตแล้ว และกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับคดีสมชายไว้เป็นคดีพิเศษตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2548 โดยได้มอบหมายให้พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษในขณะนั้นเป็นผู้รับผิดชอบคดี จนถึงปัจจุบันผ่านมา 8 ปีคดีสมชาย นีละไพจิตร ภายใต้ความรับผิดชอบของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ปัจจุบันมีนายธาริต เพ็งดิษ เป็นอธิบดีและท่านนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการคดีพิเศษไม่ปรากฏความก้าวหน้าใดๆในทางการสืบสวนสอบสวน
 
ที่ผ่านมา ดิฉันได้เคยเรียนถามท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พลตำรวจเอกประชา พรหมนอก ถึงความก้าวหน้าคดีสมชาย ซึ่งท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้มอบเอกสารสรุปคดีสมชายจากกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นกระดาษ 1 แผ่น สรุปความได้ว่า ไม่ปรากฏความก้าวหน้าใดๆในการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิด ทั้งที่กรมสอบสวนคดีพิเศษรับดำเนินการคดีสมชาย นีละไพจิตร เป็นระยะเวลา 8 ปี 
 
ท่านนายกรัฐมนตรีอาจไม่ทราบว่า คดีสมชายเป็นคดีการบังคับบุคคลให้สูญหายคดีแรกของประเทศไทยที่เหยื่อสามารถต่อสู้จนคดีถูกนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม คดีสมชาย นีละไพจิตร มิได้เป็นที่รับรู้เฉพาะในประเทศ แต่คดีนี้ถือเป็นคดีสาธารณะที่ส่งผลต่อประเด็นเรื่องความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรมของประเทศไทย คดีสมชายได้รับความสนใจจากองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศที่ให้ความสนใจและติดตามอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งองค์การสหประชาชาติ และองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีการลักพาตัวและบังคับบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมให้สูญหาย ซึ่งเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งนอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นายที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีแล้ว ยังมีผู้ที่เกี่ยวข้องที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงอีกหลายนายที่รัฐยังไม่สามารถนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้  
 
อย่างไรก็ดี ดิฉันต้องขอชื่นชมรัฐบาลภายใต้การนำของท่านนายกรัฐมนตรี ที่ได้ลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนมิให้สูญหายโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) ขององค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 ซึ่งการลงนามในอนุสัญญาฯถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญยิ่งอีกครั้งหนึ่งของประเทศไทยในการคุ้มครองบุคคลจากการสูญหายโดยถูกบังคับ อีกทั้งเมื่อเดือนกันยายน 2555 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้เยียวยาเพื่อมนุษยธรรมครอบครัวสมชาย นีละไพจิตร เป็นจำนวนเงิน 7.5 ล้านบาท รวมถึงครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เชื่อได้ว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐอีก 30 ครอบครัว เป็นจำนวนเงิน 500,000 – 7.5 ล้านบาท 
 
ดิฉันขอแสดงความชื่นชมอย่างจริงใจ ที่รัฐบาลของท่านมีมติให้เยียวยาผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงกรณีการบังคับสูญหายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะการเยียวยาเป็นสิทธิสำคัญประการหนึ่งของเหยื่อ นอกเหนือจากสิทธิในการเข้าถึงความจริง ความยุติธรรมและการสร้างหลักประกันว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวจะไม่เกิดซ้ำ แต่การเยียวยาด้วยเงินเพียงอย่างเดียวไม่อาจขจัดความทรงจำบาดแผลของเหยื่อให้หมดสิ้นไปได้ ดิฉันเชื่อว่าเฉพาะการเข้าถึงความจริง และความยุติธรรมเท่านั้นที่จะเป็นการคืนศักดิ์ศรีให้กับเหยื่อและจะสามารถนำสู่การให้อภัยและการปรองดองอย่างยั่งยืน
 
ดิฉันมีหนังสือฉบับนี้มายังท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะที่ท่านเป็นผู้บริหารสูงสุดของประเทศ และเป็นผู้กำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อเรียนให้ท่านทราบถึงความไร้ประสิทธิภาพและความไม่เต็มใจในการคลี่คลายคดี สมชาย นีละไพจิตร ของรัฐบาลและกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพราะย่อมเป็นที่ประจักษ์แก่สังคมว่า ปัจจุบันกรมสอบสวนคดีพิเศษมุ่งเน้นและให้ความสำคัญในการทำคดีการเมืองโดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม แต่ละเลย เลือกปฏิบัติ และไม่ให้ความสำคัญแก่คดีที่ประชาชนสามัญตกเป็นเหยื่อจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ในฟากรัฐบาล
 
ท้ายนี้ ดิฉันหวังอย่างยิ่งว่า ท่านในฐานะนายกรัฐมนตรีจะยินดีที่จะรับฟังเสียงคนสามัญที่ถูกละเมิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกิดขึ้นในรัฐบาลของท่านในอดีต จะรับผิด และรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น จะไม่เลือกปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมาย และจะไม่ปล่อยให้วัฒนธรรมผู้กระทำผิดลอยนวลยังคงเกิดขึ้นในสังคมไทย
 
ขอแสดงความนับถือ
นางอังคณา นีละไพจิตร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net