ใจ อึ๊งภากรณ์: ความน่าสมเพชของแนวการเมืองสังคมนิยมประชาธิปไตยในไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

แนวความคิดที่นำไปสู่การก่อตั้งพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในเยอรมัน รัสเซีย ฝรั่งเศส และ อังกฤษ ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มีรากฐานมาจากนักสังคมนิยมในยุคก่อนๆ เช่นคาร์ล มาร์คซ์ หรือ คาร์ล เคทสกี้ และพวกสังคมนิยมเพ้อฝันในฝรั่งเศส แต่ในที่สุดแนวนี้แตกเป็นสองส่วนท่ามกลางสงครามโลกคือเป็นแนวปฏิวัติสังคมนิยม กับแนวปฏิรูปทุนนิยมให้เป็นสังคมนิยมอ่อนๆ

ฝ่ายปฏิวัติเดินหน้าไปสร้างพรรคบอลเชวิคในรัสเซีย โดยมีแกนนำสำคัญคือ เลนิน กับ ตรอทสกี้ ส่วนในเยอรมันคนอย่าง โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ไลบนิค ก็ไปสร้างกลุ่มสปาร์ตาคัส ซึ่งนำร่องและกลายเป็นพรรคคอมมิวนิสต์

ตัวอย่างของฝ่ายปฏิรูป คือผู้ที่สร้างพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย SPD ในเยอรมัน และพรรคแรงงานในอังกฤษเป็นต้น รวมถึงพวกเมนเชวิคในรัสเซียด้วย

ทั้งๆ ที่สองซีกต่างอ้างเรื่อง “สากลนิยม” ที่สมานฉันท์ผลประโยชน์ชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งระเบิดขึ้นในปี1914 ฝ่ายปฏิรูปกระโดดเข้าไปสนับสนุนสงครามและแนวชาตินิยมของชนชั้นปกครอง ซึ่งเท่ากับเป็นการสนับสนุนการฆ่ากันเองระหว่างคนงานรัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส กับคนงานเยอรมัน มีแต่พรรคปฏิวัติเท่านั้นที่ปกป้องแนวสากลนิยมของคาร์ล มาร์คซ์ และในที่สุดพรรคบอลเชวิคก็นำการปฏิวัติสังคมนิยมในรัสเซียในปี 1917 ซึ่งมีผลในการยุติสงคราม ส่วนนักปฏิวัติอย่าง โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ไลบนิค ในเยอรมัน ถูกรัฐบาลพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยฆ่าทิ้งเพื่อยั้บยั้งการปฏิวัติสังคมนิยม กองกำลังที่รัฐบาล SPD ใช้ในการปราบฝ่ายปฏิวัติครั้งนี้ ในที่สุดก็แปรตัวเป็นกองกำลังฟาสซิสต์ของฮิตเลอร์

“อาชญากรรมทางการเมือง” ของแนวสังคมนิยมประชาธิปไตยในยุโรปมีเรื่อยมา ล่าสุดคือการก่อสงครามในตะวันออกกลางโดยนายกรัฐมนตรี โทนี่ แบลร์ จากพรรคแรงงานอังกฤษ และการหันหลังให้รัฐสวัสดิการ เพื่อรับกระแสคิดเสรีนิยมกลไกตลาด โดยพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยและพรรคแรงงาน ในทุกประเทศของยุโรปรวมถึงสแกนดิเนเวีย พรรครูปแบบเดียวกันในออสเตรเลีย ญี่ปุ่น หรือลาตินอเมริกาก็ไม่ต่างออกไป

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยเหล่านี้ มีผลงานในการสร้างรัฐสวัสดิการในอดีต มีองค์ความรู้แนวซ้ายฝังลึกในปัญญาชนบางคนของพรรค และที่สำคัญคือล้วนแต่เป็นพรรคที่ก่อตัวออกมาจากขบวนการแรงงาน จนมีสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับสหภาพแรงงาน สายสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ทำให้พรรคปฏิรูปสังคมนิยมทั่วโลกแตกต่างออกไปจากพรรคนายทุน เลนิน เคยวิเคราะห์ว่าพรรคแบบนี้เป็นพรรคของชนชั้นกรรมาชีพที่ใช้แนวคิดนายทุน คือไม่พร้อมจะล้มทุนนิยม แต่อย่างน้อยมันมีแรงกดดันจากฐานเสียงของพรรคให้ปกป้องผลประโยชน์กรรมาชีพและสหภาพแรงงานบ้าง ข้อเสียในมุมกลับคือบ่อยครั้งขบวนการแรงงานกลายเป็นกองเชียร์ให้รัฐบาลพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยที่หักหลังอุดมการณ์ปฏิรูป ซึ่งไม่ต่างจากที่ นปช. กลายเป็นกองเชียร์รัฐบาลยิ่งลักษณ์

แต่คนที่มักชอบพูดถึงแนวสังคมนิยมประชาธิปไตยในไทย เช่น เมธา มาสขาว หรือ YPD เป็นเรื่องตลกร้ายน่าสมเพช เมื่อเปรียบเทียบกับประวัติของสังคมนิยมประชาธิปไตยทั่วโลก ในประการแรก คนอย่าง เมธา มาสขาวและพรรคพวก ไม่มีความสัมพันธ์อะไรจริงๆ กับสหภาพแรงงาน ไม่เคยร่วมต่อสู้คลุกคลีกับแรงงาน ไม่เคยมีประวัติการเป็นซ้ายในไทยด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะซ้ายแบบ พคท. หรือไม่ เพราะเขาล้วนแต่เป็นสายเอ็นจีโอ ที่งอกออกมาจากองค์กรนักศึกษาภายใต้พี่เลี้ยงที่กลายเป็นพวกพันธมิตรเสื้อเหลือง และเสื้อเหลืองเป็นพวกที่เลือกข้าง เป็นศัตรูของกรรมาชีพ เกษตรกร และคนจน พวกนี้ไปกอดจับมือกับทหารปฏิกิริยาล้าหลังที่ทำรัฐประหาร และออกมาปกป้องทุกอย่างที่เป็นความอนุรักษ์นิยมในสังคมไทย แม้แต่เรื่องการเสนอให้สร้างรัฐสวัสดิการ ผ่านการเก็บภาษีก้าวหน้า ในรูปแบบที่ชาวสังคมนิยมประชาธิปไตยสมัยก่อนได้สร้างไว้ พวกนี้ก็ปฏิเสธ เพราะไปยอมรับนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดผสมกับรัฐสวัสดิการฝ่ายขวาตามสูตร “แนวทางที่สาม-กลไกตลาด” แถม เมธา มาสขาว ยังเคยถูกกล่าวหาว่า มีประวัติอื้ฉาวในการละเมิดสตรี ซึ่งแปลว่าต่อสู้เพื่อสิทธิทางเพศไม่ได้

สังคมนิยมประชาธิปไตยในไทยยุคนี้เป็นแค่โครงการหาทุนจากเอ็นจีโอต่างประเทศ เพื่อสร้างอาชีพให้ตนเองภายใต้หน้ากากของ “สังคมนิยมประชาธิปไตย” ที่ไม่มีความหมาย องค์กรที่ให้ทุนโครงการประเภทนี้จะเป็นพวก FES จากพรรค SPD เยอรมัน ที่ชอบส่งนักวิชาการมาสอนพวกเราที่ไทยว่า “สังคมนิยมหมดยุค” และ “เราต้องยอมรับแนวทางที่สาม” ตามก้นพรรค SPD หรือพรรคแรงงานอังกฤษที่รับแนวเสรีนิยมกลไกตลาดมาเต็มๆ

ในยุโรปปัจจุบันพรรคเหล่านี้มองว่า คนทำงานธรรมดาต้องตกงาน ถูกตัดสวัสดิการ และถูกตัดรายได้ เพื่อฟื้นฟูกำไรให้กลุ่มทุนที่ลดลงจากวิกฤตการเงินที่พวกนายธนาคารสร้างแต่แรก ดังนั้นพรรคเหล่านี้ ไม่ว่าจะในเยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ สเปน หรือกรีซ และแม้แต่ในสแกนดิเนเวีย จะมีนโยบายที่เหมือนพรรคอนุรักษ์นิยมของนายทุน และหักหลังขบวนการแรงงาน แต่ประชาชนจำนวนมากในยุโรปไม่พอใจกับนโยบายเสรีนิยม ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มคะแนนเสียงให้พรรคที่มีนโยบายซ้ายกว่า เช่น “แนวร่วมซ้าย” ในฝรั่งเศส หรือพรรคไซรีซาในกรีซ

เราจะสังเกตเห็นว่า เมธา มาสขาว เชื่อว่าประเทศต่างๆ ในสแกนดิเนเวีย รวมถึงเยอรมัน เป็น “สังคมนิยมประชาธิปไตย” ทั้งๆ ที่ทุกประเทศดังกล่าวมีหรือเคยมีรัฐบาลพรรคฝ่ายขวาของนายทุนที่พยายามตัดรัฐสวัสดิการ พูดง่ายๆ ไม่มีการวิเคราะห์แยกแยะการเมืองระหว่างนโยบายของกลุ่มทุนและนโยบายของขบวนการแรงงานเลย

สรุปแล้วคนที่พูดถึงสังคมนิยมประชาธิปไตยในไทยตอนนี้กำลังตามก้นพรรคที่หักหลังประชาชนส่วนใหญ่ในยุโรปท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุดตั้งแต่ยุค 1930 และเป็นพวกที่ใกล้ชิดกับเสื้อเหลืองและพวกเผด็จการในไทย

สังคมนิยมประชาธิปไตยไทยในอดีต
บุญสนอง บุณโยทยาน เป็นนักสังคมนิยมคนหนึ่ง ในหมู่นักสังคมนิยมไทย เช่น ปรีดี พนมยงค์ จิตร ภูมิศักดิ์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ฯลฯ ที่เราควรจะศึกษาและเคารพ ไม่เหมือนคนที่พูดถึงสังคมนิยมประชาธิปไตยตอนนี้

บุญสนอง บุณโยทยาน มีบทบาทสำคัญในการนำแนวสังคมนิยมลงสู่ภาคปฏิบัติของการเมืองโลกจริงผ่านการเคลื่อนไหวของพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยในยุคระหว่าง 14 ตุลา 2516 กับ 2519 การหาเสียงของพรรคนี้ในหมู่บ้านทางภาคเหนือของไทย ไม่เหมือนการหาเสียงของนักการเมืองนายทุนประเภทที่ไร้นโยบายในสมัยนั้นหรือสมัยนี้ เพราะมีการจัดเวทีประชุมใหญ่ๆ เพื่อเสนอนโยบายการเมืองแบบสังคมนิยมที่เป็นรูปธรรมกับชาวบ้านรากหญ้า โดยไม่มีการซื้อเสียง นอกจากนี้บุญสนองอธิบายว่า ในการเลือกเขตเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง พรรคสังคมนิยมและพรรคแนวร่วมสังคมนิยมพยายามลดความสำคัญของตัวบุคคลและเพิ่มความสำคัญของนโยบายทางการเมือง วิธีการนี้ได้ผลพอสมควรเพราะในการเลือกตั้งปี 2518 พรรคสังคมนิยมต่างๆ ได้ประมาณ 15 ที่นั่งในรัฐสภาไทย

วิธีการทำงาน และนโยบายต่างๆ ของพรรค สามารถท้าทายแนวกระแสหลักได้มากพอสมควร และมีประโยชน์ต่อประชาชนธรรมดา เช่น นโยบายปฏิรูปที่ดินที่ให้ชาวนาทุกคนมีใช้อย่างเพียงพอ นโยบายการศึกษาและการรักษาพยาบาลฟรีสำหรับพลเมืองทุกคน นโยบายการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การเสนอให้มีการวางแผนเพื่อการผลิต นโยบายการนำธนาคาร เหมืองแร่ และอุตสาหกรรมน้ำมันมาเป็นของรัฐ ในขณะที่ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่ดำรงอยู่ให้รับใช้ประชาชนอย่างจริงจัง หรือนโยบายกระจายอำนาจการปกครองให้คนกลุ่มน้อย เช่น ชาวเขาชาวดอย ชาวมุสลิมในภาคใต้ หรือชาวเวียดนามอพยพ เพื่อให้เขาปกครองตนเอง นโยบายดังกล่าว ถือว่าก้าวหน้ามาก และในหลายเรื่องยังไม่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ซึ่งทำให้สังคมไทยล้าหลังอยู่ และยังตกอยู่ในยุคมืด

การต้านผลประโยชน์ของอภิสิทธิ์ชนหรืออำมาตย์ ผ่านการเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน สร้างความไม่พอใจในหมู่อำมาตย์ อย่างที่เราเห็นก่อนและหลังยุคนั้น ในภาพรวมมันทำให้เราเห็นว่าอำมาตย์พร้อมจะก่อความรุนแรง เหตุการณ์นองเลือด และรัฐประหาร เพื่อปกป้องอภิสิทธิ์ของตนเองเสมอ บุญสนอง บุณโยทยาน จึงถูกยิงตายโดยมือปืนของฝ่ายขวาในเดือนกุมภาพันธ์ 2519 เขา เหมือนจิตร ภูมิศักดิ์ คือเป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องสละชีพเพื่อการสร้างสังคมใหม่ และในงานศพเขาที่สนามหลวงมีประชาชนไปร่วมมากมาย

อย่างไรก็ตามแนวสังคมนิยมประชาธิปไตยของบุญสนองมีจุดอ่อนสำคัญ ในประการแรกพรรคของเขาไม่ได้งอกออกมาจากขบวนการแรงงาน และไม่ได้อาศัยการทำงานในขบวนการแรงงานเป็นหลัก ซึ่งหมายความว่า ถ้าเกิดได้เสียงส่วนใหญ่ในสภา จะไม่มีอำนาจจริง และไม่สามารถอาศัยพลังนอกรัฐสภาเพื่อเปลี่ยนสังคม พูดง่ายๆ พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยตอนนั้นเน้นเรื่องรัฐสภาเหนือสิ่งอื่น

ในประการที่สอง เมื่อเทียบกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่มีรากฐานส่วนหนึ่งในขบวนการแรงงาน เราจะเห็นว่า พคท. มีชุดความคิดทางการเมืองที่ชัดเจน ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับชุดความคิดนี้หรือไม่ ซึ่งช่วยให้พรรคดำรงอยู่ได้นานและไม่พึ่งบุคคลสำคัญๆ ไม่กี่คน ถ้าเทียบกับ พคท. แล้ว พรรคสังคมนิยมไม่มีความแข็งแกร่งเพียงพอ เพราะไม่มีเอกภาพในทฤษฎี และหลัง 6 ตุลา 2519 พรรคสังคมนิยมจึงยอมเข้าป่าไปอยู่ภายใต้แนวของ พคท.

ในเรื่องความคิดของบุญสนอง ไม่ค่อยมีบทบาทในการเป็นปัญญาชนสังคมนิยมของฝ่ายซ้ายไทย เหมือน ปรีดี พนมยงค์ จิตร ภูมิศักดิ์ หรือกุหลาบ สายประดิษฐ์ ทั้งๆ ที่เขาเป็นปัญญาชน เพราะงานเขียนเขาไม่ท้าทายระบบความคิดของชนชั้นปกครองเท่าไร เช่นในหนังสือ "มนุษย์กับสังคม" เกือบไม่มีการอ้างถึงแนวมาร์คซิสต์ หรือแนวอื่นในการวิเคราะห์สังคม และมีการนำเสนอแนวคิดสังคมศาสตร์แบบกระแสหลัก เช่น การเสนอว่าในระบบทุนนิยมชนชั้นต่างๆ ร่วมมือกันได้ แต่อย่างน้อยเขาเป็นคนที่บริสุทธิ์ใจในการค้นหาแนวทางสู่สังคมที่เป็นธรรม ไม่เหมือนพวกที่อ้างสังคมนิยมประชาธิปไตยในไทยสมัยนี้

แล้วถ้ามีการสร้างพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในไทยจะดีไหม?
ถ้าในอนาคตมีนักสหภาพแรงงานในไทย ที่เป็นนักเคลื่อนไหวระดับรากหญ้า ที่อยากสร้างพรรคสังคมนิยมปฏิรูป และพยายามรณรงค์เพื่อรัฐสวัสดิการและการเพิ่มสิทธิแรงงาน ในหมู่แรงงานและคนก้าวหน้าที่ต่อต้านอำมาตย์ โดยไม่รับเงินจากที่อื่นในรูปแบบเอ็นจีโอ มันคงจะเป็นเรื่องดี ทั้งๆ ที่นักมาร์คซิสต์อย่างเราเข้าใจปัญหาและข้อผิดพลาดของการฝันถึงการปฏิรูปทุนนิยม เราคงร่วมมือร่วมสู้กับคนเหล่านี้ โดยเฉพาะในเรื่องการเรียกร้องรัฐสวัสดิการ แต่เราคงจะไม่เสียเวลาไปร่วมสร้างพรรคปฏิรูป เพราะในที่สุดเราจะต้องแย่งชิงการนำ จากพวกที่ต้องการปกป้องทุนนิยมและการขูดรีดแรงงานภายใต้คำว่า “ปฏิรูป”

หน้าที่หลักของเราจะต้องอยู่ที่การสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมตามแนวมาร์คซิสต์ ที่มีรากฐานในขบวนการแรงงาน และมีผู้ปฏิบัติการหนุ่นสาวไฟแรง และพรรคนี้ต้องพร้อมจะทำแนวร่วมกับคนก้าวหน้าที่ต้องการสร้างสังคมใหม่ในความเข้าใจอันหลากหลายของคนเหล่านี้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท