Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"คุณไม่เคยเห็นฉันทางโทรทัศน์ คุณไม่เคยอ่านข่าวเกี่ยวกับตัวฉัน  บทบาทที่ฉันพยายามเล่นคือการเก็บหรือปะติดปะต่อชิ้นส่วนต่างๆ ซึ่งฉันหวังว่ามันจะนำไปสู่การจัดตั้ง  ทฤษฎีของฉันก็คือ  ประชาชนที่เข้มแข็งไม่จำเป็นต้องมีผู้นำที่เข้มแข็ง"

 

เอลลา เบเกอร์

 

คำพูดข้างต้นของเอลลา เบเกอร์ สามารถสรุปรวบยอดทั้งการดำเนินชีวิต ปรัชญาและความใฝ่ฝันของสตรีผิวดำที่เป็นบุคคลสำคัญอย่างยิ่งóแต่ไม่ค่อยเป็น ที่รู้จักóผู้อยู่เบื้องหลังขบวนการสิทธิพลเมือง (Civil Rights Movement) ซึ่งต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวในสหรัฐอเมริกา  เอลลาทำงานเคียงข้างและเบื้องหลังผู้นำด้านสิทธิพลเมืองที่ยิ่งใหญ่ในต้น ศตวรรษที่ ๒๐ ไม่ว่าจะเป็น วิลเลียม เอ็ดเวิร์ด ดู บอยส์ (William Edward Du Bois)  มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.) หรือไบเอิร์ด รัสติน (Bayard Rustin ผู้เขียนจะเขียนถึงรัสตินในโอกาสต่อไป)  นอกจากนี้ เอลลายังเป็นครูของนักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองรุ่นหลัง อาทิ ไดแอน แนช (Diane Nash)  สโตกลี คาร์ไมเคิล (Stokely Carmichael)  โรซา ปาร์กส์ (Rosa Parks) และ บ็อบ โมเสส (Bob Moses) เป็นต้น

 

หลานของทาสและความเป็นไท

เอลลา โจเซฟิน เบเกอร์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๐๓ ที่เมืองนอร์ฟอล์ก รัฐเวอร์จิเนีย  บิดาและมารดาคือ เบลกและจอร์เจียนา เบเกอร์  พออายุได้ ๙ ขวบ ครอบครัวของเธอก็ย้ายมาอาศัยในบ้านเกิดของมารดาที่เมืองลิตเทิลตัน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตชนบทของรัฐนอร์ทแคโรไลนา  ยายของเอลลาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการก่อกบฏของทาสให้เธอฟัง  ยายของเอลลาเคยเป็นทาสและครั้งหนึ่งเคยถูกเฆี่ยนเพราะไม่ยอมแต่งงานกับ ผู้ชายที่นายทาสเลือกให้

เอลลาเริ่มชีวิตของการทำกิจกรรมตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ขณะเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยชอว์ ในเมืองราลี รัฐนอร์ทแคโรไลนา  เอลลาท้าทายนโยบายของมหาวิทยาลัยที่เธอเห็นว่าไม่เป็นธรรม  เธอจบการศึกษาใน ค.ศ. ๑๙๒๗ และเป็นตัวแทนนักศึกษาที่กล่าวคำปราศรัยในวันรับปริญญา  จากนั้นเธอย้ายไปอาศัยอยู่ในย่านฮาร์เลม เมืองนิวยอร์กซิตี

ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๙-๑๙๓๐  เอลลาทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์อยู่ในกองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ American West Indian News  ต่อมาก็ทำงานในตำแหน่งบรรณาธิการผู้ช่วยในหนังสือพิมพ์ Negro National News  ใน ค.ศ. ๑๙๓๑ เอลลาเข้าร่วมในกลุ่มสันนิบาตเพื่อความร่วมมือของเยาวชนนิโกร (Young Negroes Cooperative League--YNCL) ซึ่งเป็นองค์กรที่พยายามเพิ่มอำนาจทางเศรษฐกิจของคนผิวดำด้วยการวางแผนร่วม กันเป็นหมู่คณะ เพียงไม่นาน  เอลลาก็ก้าวขึ้นเป็นผู้อำนวยการระดับชาติของกลุ่มนี้

ในช่วงแรกของการทำกิจกรรม เอลลาทำงานเน้นหนักไปในด้านการศึกษา  นอกจากทำงานให้ YNCL แล้ว เธอยังทำงานให้กับโครงการให้การศึกษาแก่แรงงานในสำนักงานบริหารความก้าวหน้า ในการทำงาน (Works Progress Administration) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ก่อตั้ง ขึ้นตามโครงการนิวดีลของประธานาธิบดีแฟรงกลิน     ดี. รูสเวลท์ ที่มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ  เอลลาสอนวิชาต่างๆ ตั้งแต่การให้ความรู้แก่ ผู้บริโภค ประวัติศาสตร์แรงงานและประวัติศาสตร์อัฟริกา  เธอช่วยก่อตั้งสหกรณ์ของผู้บริโภคในยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งยิ่งใหญ่ ของอเมริกา

การอาศัยอยู่ในย่านฮาร์เลมที่เต็มไปด้วยคนจนผิวสี ทำให้เอลลาซึมซับบรรยากาศทางการเมืองและวัฒนธรรมที่คึกคัก  เธอเข้าร่วมการประท้วงกรณีที่อิตาลีรุกรานเอธิโอเปีย สนับสนุนการรณรงค์ให้ปล่อยตัวชายหนุ่มผิวดำสี่คนที่ถูกกล่าวหาเท็จว่าข่มขืน ผู้หญิงผิวขาว และทำงานให้องค์กรสตรีหลายแห่ง  นอกจากนี้ เอลลายังก่อตั้งสโมสรประวัติศาสตร์ชาวนิโกรที่ห้องสมุดฮาร์เลม  เข้าฟังการบรรยายและการประชุมที่สมาคม Young Womenís Christian Association (YWCA) อย่างสม่ำเสมอ  ได้รู้จักกับนักกิจกรรม นักเขียนและนักกฎหมายหลายคน ซึ่งต่อมาจะมีบทบาทในขบวนการสิทธิพลเมืองของสหรัฐฯ  มีหลายคนที่เป็นเพื่อนกับเธอไปจนวันตาย  บรรยากาศของการฟื้นฟูอัตลักษณ์ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของคนผิวดำในย่านฮาร์เลม หรือที่เรียกกันว่า Harlem Renaissance ในยุคทศวรรษ ๑๙๒๐ และ ๑๙๓๐ นี้ มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อเอลลาและรวมไปถึงขบวนการสิทธิพลเมืองด้วย

 

NAACP

ใน ค.ศ. ๑๙๓๘  เอลลาเข้าร่วมเป็นคณะทำงานขององค์กรสมาคมแห่งชาติเพื่อความก้าวหน้าของ ประชาชนผิวสี (National Association for the Advancement of Colored PeopleóNAACP) ซึ่งต่อมาจะเป็นองค์กรหลักที่สำคัญอย่างยิ่งในการรณรงค์ต่อต้านการแบ่งแยกสี ผิว  NAACP จ้างเอลลาเป็นเลขานุการใน ค.ศ. ๑๙๔๑  แต่เธอไม่ได้ทำงานอยู่แต่ในสำนักงาน เอลลาเดินทางไปทั่วทุกหัวระแหง โดยเฉพาะในภาคใต้ของสหรัฐฯ ที่มีการเหยียดสีผิวรุนแรงที่สุด  เธอทำงานด้านระดมสมาชิก หาทุนและจัดการรณรงค์ในท้องถิ่น  

ใน ค.ศ. ๑๙๔๓ เอลลาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสาขา ทำให้เธอเป็นผู้หญิงที่มีตำแหน่งสูงสุดในองค์กร  เป้าหมายของเอลลาคือการขยายองค์กร NAACP ไปทั่วทั้งภาคใต้  สร้างเครือข่ายรากหญ้าที่จะกลายเป็นฐานให้แก่ขบวนการสิทธิพลเมืองในทศวรรษ ถัดมา  ในขณะเดียวกัน เธอก็ต่อสู้เพื่อทำให้องค์กร NAACP เองมีความเป็นประชาธิปไตยในองค์กรมากขึ้น  พยายามผลักดันองค์กรให้ลดความสำคัญของการต่อสู้ในเวทีกฎหมาย และหันมาทำงานเคลื่อนไหวในระดับชุมชนให้มากขึ้น

การที่เอลลาถอดใจลาออกจาก NAACP ใน ค.ศ. ๑๙๔๖ สะท้อนถึงความขัดแย้งที่เธอมีกับผู้นำในองค์กร  นอกจากปัญหาการดูถูกเกี่ยวกับเพศแล้ว เอลลาเป็นคนตรงไปตรงมาและมีความเชื่ออย่างแน่นแฟ้นในอุดมคติของความเท่า เทียม  เธอพยายามผลักดันให้องค์กรกระจายอำนาจการนำและสนับสนุนสมาชิกในการรณรงค์ ระดับท้องถิ่น  เอลลาให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับเยาวชนและผู้หญิง  ขณะที่นักจัดตั้งคนอื่นใช้ท่าทีอุปถัมภ์และแฝงความดูแคลนต่อชาวชนบทในภาคใต้ เอลลากลับปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกันด้วยความเคารพ ทำให้เธอมีบทบาทอย่างมากในการสร้างเครือข่ายของชนชั้นล่าง  แต่ในท้ายที่สุด เธอก็ต้องถอดใจกับโครงสร้างการนำแบบลำดับชั้นในองค์กร  แต่ถึงแม้   เอลลาลาออกมาก็ตาม เธอก็ยังทำงานเป็นอาสาสมัคร ให้องค์กรต่อไป  เธอทำงานร่วมกับสาขาในนิวยอร์กเพื่อรณรงค์ในประเด็นการแบ่งแยกสีผิวใน โรงเรียนและการใช้ความรุนแรงต่อคนผิวสีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ  เอลลาได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานสาขาใน ค.ศ. ๑๙๕๒ แต่ก็ลาออกมาใน ค.ศ. ๑๙๕๓ เพื่อสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลนิวยอร์กซิตี  น่าเสียดายที่ไม่ประสบความสำเร็จ

 

SCLC

ใน ค.ศ. ๑๙๕๖ เอลลา ไบเอิร์ด รัสตินและสแตนลีย์ เลวิสัน (Stanley Levison) ร่วมกันก่อตั้งองค์กร In Friendship ซึ่งมีเป้าหมายในการระดมทุนสนับสนุนการต่อสู้การแบ่งแยกสีผิวในภาคใต้  โดยมีความเชื่อเบื้องหลังว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการระดมพลังมวลชนขนาดใหญ่  หลังจากการรณรงค์คว่ำบาตร รถประจำทางในเมืองมอนต์โกเมอรี (Montgomerry Bus Boycott) ซึ่งประชาชนท้องถิ่นเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก  ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากสื่อมวลชนในระดับชาติและระหว่างประเทศ  องค์กร In Friendship จึงคิดว่าพวกเขาจุดประกายมวลชนได้แล้ว

หลังจากการรณรงค์สิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของการยกเลิกการแบ่งแยกสีผิวบนรถโดยสาร ประจำเมือง องค์กร In Friendship ก็ก้าวต่อไปอีกขั้นหนึ่ง  เอลลา รัสตินและเลวิสันเข้าไปหา ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ซึ่งขณะนั้นยังเป็นแค่ผู้นำท้องถิ่น และเสนอแนวคิดเกี่ยวกับโครง สร้างองค์กรระดับชาติที่จะสร้างเครือข่ายและขบวนการต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว ในภาคใต้  พวกเขาเชื่อว่า การรณรงค์ในเมืองมอนต์โกเมอรีแสดงให้เห็นว่า น้ำหนักการต่อสู้ย้ายจากในศาลมาที่ปฏิบัติการระดับชุมชนและถึงเวลาของการ ประท้วงมวลชน  ใน ค.ศ. ๑๙๕๗ องค์กรที่ประชุมผู้นำชาวคริสต์ภาคใต้ (Southern Christian Leadership Conference--SCLC) จึงก่อตั้งขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างเครือข่ายของผู้นำท้องถิ่นและชุมชน ประสานการปฏิบัติงานและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ผู้นำของ SCLC อย่างเป็นทางการคือ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ก็จริง แต่ผู้ที่มีประสบการณ์สูงสุดในการจัดตั้งภาคสนามคือ เอลลา เบเกอร์  นอกจากนี้ เธอยังรู้จักเครือข่ายนักกิจกรรมทั่วทั้งภาคใต้มาตั้งแต่สมัยทำงานอยู่กับ NAACP  ทว่าปัญหาก็คือ ดร.คิงและแกนนำของ SCLC ยอมรับไม่ได้ที่จะแต่งตั้งผู้หญิงเข้ามาดำรงตำแหน่งระดับสูงในองค์กร  ไบเอิร์ด รัสตินและสแตนลีย์ เลวิสันต้องช่วยกันโน้มน้าว ดร.คิง  จนสุดท้ายเขาจึงยอมแต่งตั้งเอลลาเป็นผู้อำนวยการชั่วคราวของ SCLC

SCLC เริ่มต้นด้วยสาขา ๖๕ สาขาในภาคใต้  เอลลาเป็นคนก่อตั้งและบริหารสำนักงานในแอตแลนตา  เธอเดินทางไปทั่วทั้งภาคใต้ตลอดสองปีครึ่งที่อยู่ในตำแหน่งผู้อำนวยการชั่ว คราว  ประเด็นหลักในการรณรงค์ของ SCLC คือสิทธิในการเลือกตั้งของประชาชนผิวดำ  เอลลายังคงทำงานตามอุดมคติของเธอ นั่นคือการสร้างองค์กรขึ้นมาจากรากหญ้าเบื้องล่าง  ในขณะที่แกนนำ SCLC คนอื่นๆ ยึดมั่นถือมั่นในการสร้างผู้นำเดี่ยวที่มีบารมี  โดยชู ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิงขึ้นมา  ไม่ว่าจะทำงานหนักและประสบความสำเร็จในการจัดตั้งแค่ไหน เอลลาก็ไม่เคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการอย่างเป็นทางการของ องค์กร  ปัญหาของการกีดกันผู้หญิงเป็นจุดอ่อนสำคัญใน SCLC และขบวนการสิทธิพลเมืองอื่นๆ ที่ก่อตั้งขึ้นในภายหลัง

ความสัมพันธ์ของเอลลากับ ดร.คิงและแกนนำใน SCLC นับวันจะจืดจางลง  ในที่สุดเธอก็ลาออกในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๐ ปล่อยให้องค์กรแต่งตั้งผู้ชายขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการสมความปรารถนา  ส่วนเอลลาก็ค้นพบว่า เธอได้รับการยอมรับมากกว่าในหมู่คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่

 

ทำคลอด "สนิก"

เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๖๐ ในเมืองกรีนสโบโร รัฐนอร์ทแคโรไลนา นักศึกษาผิวดำสี่คนถูกปฏิเสธการบริการในโรงอาหารของมหาวิทยาลัย  พวกเขาจึงเริ่มต้นนั่งประท้วง  การประท้วงแบบนี้ลามไปทั่วทั้งภาคใต้ราวกับไฟลามทุ่ง  นักศึกษาหลายพันคนตามที่ต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นผิวดำและมีผิวขาวปะปนอยู่บ้าง จะไปนั่งประท้วงตามเคาน์เตอร์ขายอาหารกลางวันที่มีนโยบายไม่ให้บริการแก่คน ผิวสี  การนั่งประท้วงในประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นใน ๒ แง่ด้วยกัน  ในประการแรก นี่เป็นการดึงเอาความตึงเครียดของการแบ่งแยกสีผิวที่ซุกซ่อนอยู่ขึ้นมาให้ เป็นที่ประจักษ์  บ่อยครั้งมักลงเอยด้วยการที่คนขาวใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มผู้นั่งประท้วง  กับอีกประการหนึ่งคือ ขบวนการนั่งประท้วงนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นไปเอง ไม่มีการติดต่อประสานกันนอกเหนือจากในระดับท้องถิ่น อีกทั้งไม่มีผู้นำที่ชัดเจน  มันเป็นขบวนการที่จัดตั้งตัวเองขึ้นมาในระดับรากหญ้าอย่างแท้จริง  ภายในเวลาแค่ปีครึ่ง การนั่งประท้วงเกิดขึ้นในกว่าร้อยเมืองในยี่สิบมลรัฐ มีผู้เข้าร่วมประท้วงราวเจ็ดหมื่นคนและมีผู้ถูกจับกุมถึง ๓,๖๐๐ คน

เอลลามองเห็นศักยภาพของขบวนการนักศึกษาที่เกิดขึ้นใหม่นี้ในทันที  ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๖๐  เธอจึงจัดการประชุมในเมืองราลีขึ้นและช่วยก่อตั้งองค์กรคณะกรรมการประสานงาน การใช้ความไม่รุนแรงของ  นักศึกษา (Student Nonviolent Coordinating Committee--SNCC  ออกเสียงว่า "สนิก") โดยมีเป้าหมายให้องค์กรทำหน้าที่เป็นสื่อกลางประสานขบวนการนักศึกษาเข้าด้วย กัน

การประชุมครั้งนี้มีตัวแทนมาร่วมประชุมราว ๒๐๐ คน โดยที่เกือบครึ่งของจำนวนนั้นเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยและโรงเรียนไฮสกูล ๕๖ แห่ง  เอลลาเป็นองค์ปาฐกของการประชุมครั้งนี้  เธอเรียกร้องให้นักศึกษารักษาความเป็นอิสระ จัดตั้งองค์กรด้วยตัวเองและวางเป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม

ถึงแม้เอลลาจะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริหาร แต่องค์กร ìสนิกî มีการบริหารโดยนักศึกษาเองทั้งสิ้น  เยาวชนเหล่านี้มีที่ปรึกษาอาวุโสสองคน นั่นคือเอลลา เบเกอร์และเฮาเวิร์ด ซินน์ (Howard Zinn)  ìสนิกî กลายเป็นองค์กรที่สำคัญที่สุดและก้าวหน้าที่สุดในยุคทศวรรษ ๑๙๖๐  สมาชิกองค์กรมีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวที่เรียกว่า "Freedom Rides" ใน ค.ศ. ๑๙๖๑ ซึ่งเป็นปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้าเพื่อประท้วงการแบ่งแยกสีผิว  นอกจากนี้ ยังมีปฏิบัติการ "jail no bail" โดยยอมให้ตำรวจจับผู้ประท้วงขังจนล้นคุกและไม่ยอมประกันตัวจนกว่าการแบ่งแยก สีผิวจะยุติ

แนวทางและหลักการจัดตั้งองค์กรของ ìสนิกî สอดคล้องกับอุดมคติของเอลลาอย่างแท้จริง  รากฐานที่สำคัญของ "สนิก" มีสองรากด้วยกัน รากแรกคือแนวทางไม่ใช้ความรุนแรงแบบคานธี  ส่วนรากที่สองคือกระบวนการที่เรียกว่า "ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม" (participatory democracy) ซึ่งประกอบด้วยหลัก ๓ ประการคือ  (๑) การจัดตั้งของประชาชนในระดับรากหญ้าโดยมีการตัดสินใจเป็นของตัวเอง  (๒) ลดการนำแบบลำดับชั้น ลดบทบาทของผู้เชี่ยวชาญหรือผู้นำเดี่ยว  และ (๓) ใช้ปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้าเป็นคำตอบ เพื่อให้ประชาชนหลุดพ้นจากความกลัวที่ต้องโดดเดี่ยว ทั้งในเชิงกายภาพและในเชิงภูมิปัญญา  เอลลาเปรียบเสมือนทั้งหมอตำแยที่ทำคลอด ìสนิกî และแม่ที่วางหลักการพื้นฐานให้องค์กรเติบโตต่อไปข้างหน้า

"สนิก" คือแหล่งบ่มเพาะนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองจำนวนมาก  คนเหล่านี้จะมีบทบาทและสร้างโฉมหน้าของขบวนการเคลื่อนไหวในทศวรรษ ๑๙๖๐ ทั้งในด้านสิทธิพลเมือง การต่อต้านสงคราม การต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ ขบวนการเฟมินิสต์ ฯลฯ  "สนิก" สนับสนุนแนวคิดให้คนหนุ่มสาว "พักการเรียน" สักปีหรือสองปีเพื่อไปทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสังคมก่อนจะกลับไปเรียนต่อ  มันผลักดันแนวคิดว่า การยกระดับความเป็นอยู่ของผู้ถูกกดขี่เพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ แต่ต้องเพิ่มอำนาจให้ประชาชนรากหญ้ามีปากเสียงในการตัดสินใจที่ส่งผลกระทบ ต่อชีวิตของตนเองด้วย  "สนิก" เข้าหาปัญหา ทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและปัญหาเชิงโครงสร้าง กระตุ้นให้นักกิจกรรมและนักวิชาการไตร่ตรองทบทวนเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียม ทางสังคม

ตัวอย่างหนึ่งของการจัดตั้งใน "สนิก" ก็คือ การก่อตั้ง "โรงเรียนเสรีภาพ" (Freedom School) ขึ้นในรัฐมิสซิสซิปปี  "โรงเรียนเสรีภาพ" มีเป้าหมายในการให้การศึกษาด้านการเมือง  เชื่อมโยงความเป็นจริงในชีวิตประจำวันเข้ากับการวิเคราะห์เชิงสถาบัน เน้นการสร้างกลุ่มผู้นำและฝึกอบรมนักจัดตั้ง  "โรงเรียนเสรีภาพ" คือการสร้างสถาบันคู่ขนานที่คัดง้างกับสถาบันกระแสหลัก  หลักสูตรที่เปิดสอนในโรงเรียนนี้มีตั้งแต่ "บทเรียนเบื้องต้นเกี่ยวกับโครงสร้างอำนาจ" ไปจนถึงการวิพากษ์ลัทธิบริโภคนิยมใน "วิชาวัตถุและจิตวิญญาณ"  มีชั้นเรียนเกี่ยวกับการไม่ใช้ความรุนแรงและปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า  ชั้นเรียนเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์และการครอบงำทางอุดมการณ์ ฯลฯ

เอลลากลับมาอาศัยในนิวยอร์ก ซิตี้ใน ค.ศ. ๑๙๖๔  เธอร่วมมือกับนักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ ก่อตั้งพรรคการเมืองและองค์กรที่มีแนวทางสังคมนิยม รณรงค์สนับสนุนขบวนการเอกราชในเปอร์โตริโก ต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวในอัฟริกาใต้และทำงานร่วมกับกลุ่มผู้หญิงจำนวนมาก  เธอยังคงทำงานด้านสิทธิมนุษยชนไปจนกระทั่งเสียชีวิตใน ค.ศ. ๑๙๘๖

แต่ชีวิตและความใฝ่ฝันของเธอยังคงเป็นอมตะในบทเพลงชื่อ "Ella's Song" ของวงดนตรี Sweet Honey in the Rock  ในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Fundi: The Story of Ella Baker (๑๙๘๑) ซึ่งกำกับโดยโจแอนน์ แกรนต์ (Joanne Grant)  คำว่า Fundi เป็นฉายาของเอลลา เป็นคำภาษาสวาฮิลี หมายถึงคนที่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนรุ่นต่อไป  นอกจากนี้ยังมีการ ก่อตั้ง Ella Baker Center for Human Rights ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเคลื่อนไหวด้านความยุติธรรมและการไม่ใช้ความรุนแรง

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net