Skip to main content
sharethis

ด้านคณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ส.ส.ท. เผยผลการพิจารณา การนำเสนอมีความผิดตามจริยธรรมวิชาชีพ ขาดความรอบคอบ ไม่มีการอ้างที่มาของข้อมูล เลขาธิการ สนนท. ยันเคลื่อนต่อ ผลการพิจารณาไม่ตอบข้อเรียกร้อง

 

7 มี.ค.56 เวลา 14.20 น.  ที่บริเวณหน้า สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS) หลักสี่ กรุงเทพฯ นักศึกษาจาก สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) และกลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PNYS) ประมาณ 100 คน เดินเท้าจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อติดตามความคืบหน้าข้อเรียกร้องที่นักศึกษากลุ่มนี้ได้มายื่นข้อเรียกร้องไว้เมื่อ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ให้ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสออกแถลงการณ์กล่าวขอโทษกรณีการนำเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสผ่านรายการ “ข่าวเด่น ประเด็นใต้” เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา (คลิกเพื่อชมรายงาน) ว่านักศึกษากลุ่มนี้เชื่อมโยงกับแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติปาตานี หรือ BRN-Coordinate รวมทั้งให้ชี้แจงแหล่งที่มาของข้อมูลเพื่อคลายความสงสัยข้องใจ ระบุองค์กรหรือนักศึกษาเป็นรายปัจเจกว่าเกี่ยวข้องกับ BRN-Coordinate อย่างไร พร้อมแสดงหลักฐานที่ชัดเจน และเปิดพื้นที่สาธารณะทางสื่อเพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข่าวหรือ สนนท. ได้เข้าร่วมพูดคุยและนำเสนอการทำงานขององค์กร

โดยนักศึกษามองว่าการนำเสนอข่าวผิดดังกล่าวทำลายการทำงานด้านสันติภาพและประชาธิปไตยที่ทำมาอย่างยาวนาน พร้อมเปรียบเทียบผังที่ไทยพีบีเอสโยงนักศึกษากับกลุ่มขบวนการฯ ที่ต่อสู้ด้วยอาวุธกับรัฐไทยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เหมือนกับผังล้มเจ้าที่ศูนย์อำนายการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. สร้างขึ้นเพื่อทำลายผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงปี 2553 รวมทั้งบทบาทของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเหมือนวิทยุยานเกราะและหนังสือพิมพ์ดาวสยามสมัย 6 ตุลา 19 ที่นำเสนอข่าวใส่ร้ายและทำลายภาพลักษณ์ของนักศึกษาเป็นชนวนที่นำไปสู่เหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ต.ค.19

นอกจากนี้นักศึกษายังมีการจัดกิจกรรมในชื่อ “เสวนากลางแจ้ง Thai PBS สื่อที่ต้องรับผิดชอบ หัวข้อ สื่อ ข่าวสารกับการมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพและประชาธิปไตย” บริเวณหน้า สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยมี นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธานที่ปรึกษา สนน.จชต. ร่วมเสวนา และ กล่าวด้วยว่านักศึกษามีบทบาทสำคัญในการนำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มาโดยตลอด โดยเฉพาะการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้คนในพื้นที่ให้ความไว้วางใจ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นความพยายามที่จะกำจัดนักศึกษาและสิ่งที่นักศึกษานำเสนอ นายอาเต็ฟ ยืนยันว่านักศึกษาที่ทำกิจกรรมเหล่านี้เป็นพวกที่รักสันติ ต้องการสู้ในแนวทางประชาธิปไตย

นายจามาล กีไร ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชน นักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน กล่าวด้วยว่า ปรากฏการณ์นี่เป็นการผลักนักศึกษาโดยหวังว่าจะไม่ให้นักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและสันติภาพ แต่ผลกลับตรงกันข้ามเพราะมีนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับการนำเสนอของไทยพีบีเอส เข้ามาร่วมกิจกรรมากขึ้น รวมทั้งนักศึกษาในพื้นที่จะบอยคอตไทยพีบีเอส จนกว่าจะได้รับคำตอบ และจะกล่าวหาว่าไทยพีบีเอสเป็นสื่อในบังคับของเผด็จการอำมาตย์กลับด้วย


กิจกรรมเสวนากลางแจ้ง

ทั้งนี้บริเวณที่นักศึกษากลุ่มดังกล่าวจัดกิจกรรมเป็นป้ายรถโดยสารประจำทาง ทำให้กลุ่มเสื้อแดงที่เสร็จจากการจัดกิจกรรมนักโทษการเมืองที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ซึ่งอยู่บริเวณนั้น ประมาณ 100 คน ได้เข้าร่วมฟังการเสวนาในครั้งนี้ด้วย โดย น.ส.วิ ศรแดง ตัวแทนกลุ่มเสื้อแดง ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในวงเสวนาว่า ไทยพีบีเอสเป็นสื่อของประชาชน แต่ไม่ค่อยจะเข้าข้างประชาชนเลย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เหมือนกับที่เสื้อแดงถูกล่าวหาว่าและโยงเป็นผู้ก่อการร้าย ทั้งนี้พวกตนผ่านมาเห็นนักศึกษาชุมนุมอยู่จึงเข้ามาดูเพราะคิดว่าต้องไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสื่อนี้แน่นอน รวมทั้งตนเองและพวกจะสนับสนุนข้อเรียกร้องของนักศึกษากลุ่มนี้ต่อไปด้วย

จนกระทั่งเวลา 16.00 น. นักศึกษากลุ่มนี้จึงได้ยุติการชุมนุม พร้อมแสดงความไม่พอใจจากการที่ไม่ได้รับคำตอบจากทางไทยพีบีเอส และประกาศยกระดับการเคลื่อนไหวเป็นการรณรงค์บอยคอตไทยพีบีเอสในการนำเสนอประเด็นเรื่องประชาธิปไตยและสันติภาพ และจะมีการกลับมาทวงถามความคืบหน้าในสัปดาห์หน้า รวมทั้งจัดเวทีเสวนาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่สามารถจัดได้เพื่อนำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้น

 

เผยผลพิจารณา ผิดข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมวิชาชีพ

ในช่วงค่ำของวันเดียวกันได้มีการเผยแพร่ผลการพิจารณา จากมติในที่ประชุมของคณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ชี้ว่า การนำเสนอข่าวเด่นประเด็นใต้ ในหัวข้อ “นักศึกษาถูกชักจูงเป็นแนวร่วม” เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2556 มีความบกพร่องเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำ ไม่เปิดเผยแหล่งข่าวหรือผู้ให้ข้อมูลที่ต้องอ้างถึง ทั้งที่การนำเสนอข่าวสามารถอ้างแหล่งข่าวและแหล่งข้อมูลได้ตามความเหมาะสม ซึ่งการนำเสนอข่าวดังกล่าวข้างต้นเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ ส.ส.ท. ว่าด้วยจริยธรรมของวิชาชีพเกี่ยวกับการผลิตและการเผยแพร่รายการ พ.ศ.2552 ข้อที่ 10 คือ “จริยธรรมด้านการปกป้องและการปฏิบัติต่อแหล่งข่าวอย่างเป็นธรรม” ข้อที่ 12 คือ “จริยธรรมในการนำเสนอเหตุการณ์และเนื้อหาการเมืองและนโยบายสาธารณะ” และข้อที่ 13 คือ “จริยธรรมในการนำเสนอเหตุการณ์ความขัดแย้ง การชุมนุม การประท้วง การจลาจล การปะทะ การปราบปรามที่รุนแรง การก่อการร้าย และภาวะสงคราม” โดยสรุปที่ประชุมมีมติดังต่อไปนี้

1. การนำเสนอข่าวชิ้นดังกล่าวขาดความรอบคอบ ไม่มีการอ้างที่มาของข้อมูล

2. การนำเสนอข่าวยังขาดความรอบด้าน ไม่สมดุล แม้พยายามไปสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง แต่ยังไม่สัมภาษณ์บุคคลที่ถูกพาดพิงในเนื้อข่าว

3. เห็นสมควรให้มีการเยียวยา และเปิดพื้นที่เพื่อการนำเสนอเรื่องราวใหม่ที่รอบด้าน โดยให้ฝ่ายบริหารไปดำเนินการเพื่อสร้างความเข้าใจ

4. ให้ฝ่ายบริหารเข้มงวดในการทำหน้าที่ของกองบรรณาธิการข่าว

โดยคณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ประกอบด้วย ตัวแทนจากสภาผู้ชมผู้ฟังรายการ, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์, สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, ตัวแทนนักกฎหมาย และผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมี รศ.มาลี บุญศิริพันธ์ ประธานคณะอนุกรรมการฯ รวมทั้งเป็นประธานในที่ประชุมครั้งนี้ด้วย

 

เลขาธิการ สนนท. ยันเคลื่อนต่อ ผลการพิจารณาไม่ตอบข้อเรียกร้อง

ภายหลังจากทราบผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการดังกล่าว นายสุพัฒน์ อาษาศรี เลขาธิการ สนนท. เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวจะยังคงเคลื่อนไหวต่อไป โดยจะมีการจัดวงเสวนาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ และยกกรณีไทยพีบีเอสเป็นตัวอย่างถึงบทบาทของสื่อกับการสร้างสันติภาพและประชาธิปไตย รวมทั้งกระบวนการของแก้ปัญหาของไทยพีบีเอสต่อกรณีนี้ก็ยังไม่ถึงที่สุด ต้องรอคำตอบจากผู้บริหารไทยพีบีเอสอีกทีในการที่จะแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม เพราะข้อเรียกร้องที่ทางกลุ่มตนร้องไปคณะอนุกรรมการฯ ก็ยังไม่ได้มีคำตอบสักข้อ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยแหล่งที่มาของข้อมูลที่นำเสนอ การแสดงการขอโทษจากกรณีการนำเสนอข่าวดังกล่าว

เลขาธิการ สนนท. กล่าวด้วยว่าทาง สนนท. และเครือข่ายจะมีการไปยื่นข้อเรียกร้องต่อองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลกำกับไทยพีบีเอสอีกทีหนึ่งด้วย แต่ยังไม่ได้มีการระบุวันที่จะไปยื่นที่แน่นอน

 

ภาพบรรยากาศการชุมนุม :

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net