Skip to main content
sharethis

สื่อต่างประเทศได้นำเสนอข่าว บทความและบทวิเคราะห์แสดงมุมมองต่อการเสียชีวิตของอูโก้ ชาเวซ ผู้นำคนสำคัญของเวเนซุเอลล่าไว้หลากหลายแง่ รวมถึงผลกระทบต่อต่างประเทศทั้งด้านการเมืองและด้านเศรษฐกิจอย่างน้ำมัน และมรดก 'การปฏิวัติโบลิวาร์' ที่ชาเวซทิ้งไว้จะทำให้เวเนซุเอลล่าเดินไปในทิศทางใดต่อไป

6 มี.ค. 2013 - หลังจากที่อูโก้ ชาเวช ประธานาธิบดีเวเนซุเอลล่าเสียชีวิตจากอาการป่วยโรคมะเร็งด้วยอายุ 58 ปี เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่ผ่านมา สื่อต่างชาติต่างให้ความสนใจเหตุการณ์มรณกรรมในครั้งนี้อย่างมากและได้สะท้อนความเห็นเกี่ยวกับประธานาธิบดีผู้เต็มไปด้วยสีสันผู้นี้ไว้หลากหลาย รวมถึงประเมินอนาคตของประเทศเวเนซุเอลล่าที่ปราศจากชาเวช ว่าจะดำเนินไปในทิศทางใด

สื่อ BBC ของอังกฤษ ได้รวบรวมคำที่สื่อต่างๆ ใช้เรียกอูโก้ ชาเวช โดยมีตั้งแต่ 'นักปลุกระดม' , 'จอมเผด็จการ' , 'คนอีโก้จัด' ไปจนถึง 'สัญลักษณ์แห่งการต่อต้านอเมริกันผู้เต็มไปด้วยสีสัน'

The Times กล่าวถึงชาเวซว่าเขาเป็นผู้ที่เปลี่ยนตัวเองจากนักยั่วโมโหตัวเล็กๆ ที่อยู่ชายขอบการเมืองเวเนซุเอลลาให้กลายเป็นบุคคลสำคัญผู้มีบารมีและมีผู้ชื่นชมติดตามเขาจนเกือบกลายเป็นศาสนา The Times บอกอีกว่าจากการที่ชาเวซเคยเดินทางไปยังอิรักและอิหร่าน ทั้งยังเคยสนับสนุนกัดดาฟี อดีตผู้นำลิเบีย ทำให้พวกเขาคิดว่าชาเวซมองตัวเองเป็นผู้นำของประเทศโลกที่สามในระดับนานาประเทศ

 

Telegraph : ชาเวซเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อต้านอเมริกันผู้เต็มไปด้วยสีสัน

ทางด้าน The Daily Telegraph เรียกชาเวซว่าเป็น 'นักปฏิวัติสังคมนิยมผู้มีสไตล์เป็นของตัวเอง' และเป็นผู้นำเวเนซุเอลลาที่กลายเป็น 'สัญลักษณ์แห่งการต่อต้านอเมริกันผู้เต็มไปด้วยสีสัน'

นอกจากนี้ Telegraph ยังได้นำเสนอการออกมาแสดงความเศร้าโศกเสียใจของประชาชนชาวเวเนซุเอลลา และกล่าวว่าชาเวซเป็นผู้ที่คอยกล่าวประณามสหรัฐฯ ว่าเป็นประเทศจักรวรรดิ์นิยม ซึ่งทำให้ชาเวซกลายเป็นนักวิจารณ์สหรัฐฯ อย่างฉะฉานและเป็นศัตรูที่คอยสร้างความขุ่นเคืองต่อสหรัฐฯ


The Guardian : ผู้เป็นทั้งฮีโร่ของคนจนและนักปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชัง

หนังสือพิมพ์ The Guardian ของอังกฤษได้เล่าประวัติการต่อสู้ของชาเวซซึ่งเริ่มจากความไม่พอใจในระบบการเมืองของเวเนซุเอลล่ารวมถึงปัญหาการคอร์รัปชั่นและการละเมิดสิทธิมนุษยชน และหลังจากชาเวซขึ้นสู่อำนาจเขาก็ได้ปฏิรูปประเทศในหลายด้าน ซึ่งการนำเสนอของ The Guardian แสดงให้เห็นทั้งด้านบวกและด้านลบ

"การถกเถียงยังคงดำเนินต่อไปว่าจริงๆ แล้วชาเวซจะถูกเรียกว่าเป็นผู้นำเผด็จการได้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ เขาไม่น่าถูกเรียกว่าเป็นนักประชาธิปไตย ชาเวซเป็นวีรบุรุษโดยเฉพาะในหมู่คนจน จากโครงการแนวประชานิยมของเขา แต่ขณะเดียวกันก็เป็นผู้พยายามปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชังในระดับชนชั้น และใช้อำนาจควบคุมฝ่ายตุลาการในการดำเนินคดีและกุมขังศัตรูทางการเมือง มีหลายคนที่ถูกสั่งเนรเทศ" The Guardian กล่าว

The Guardian กล่าวอีกว่าในระดับนานาชาติ ชาเวซแสดงตัวเป็นผู้ที่คอยสนับสนุนช่วยเหลือผู้ที่มีอุดมการต่อต้านจักรวรรดิ์นิยมด้วยกัน เขาเคยกล่าวอ้างว่าเวเนซุเอลล่าจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยโลกจากทุนนิยมอันชั่วร้าย และเคยเรียกจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ว่าเป็น 'ปีศาจ'

"...ชาเวซทำได้ดีในบางส่วน แต่ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจในเวเนซุเอลล่า และความสัมพันธ์ที่ดำเนินไปอย่างราบเรียบกับเผด็จการอย่างโรเบิร์ต มูกาเบ (ปธน.ซัมบับเว) และมุมมาร์ กัดดาฟี ก็ทำให้ความน่าชื่นชมของเขาลดลง แม้แต่กับฝ่ายซ้ายนานาชาติ" The Guardian กล่าว

ในแง่การเสียชีวิตของชาเวซในอีกข่าวหนึ่งของ The Guardian ได้กล่าวถึงว่า การเสียชีวิตของผู้นำทำให้การปฏิวัติสังคมนิยมในเวเนซุเอลล่าเกิดความไม่แน่นอนในอนาคต แต่คาดว่างานพิธีศพของชาเวซจะต้องยิ่งใหญ่ไม่แพ้ของเอวิต้า (อีวา เปรอง ภรรยาคนที่สองของอดีตผู้นำอาร์เจนติน่า ฮวน เปรอง)

 

The Independent : การเสียชีวิตของชาเวซจะยิ่งทำให้เวเนซูเอล่าแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมือง

ขณะที่ The Independent เปิดเผยว่า แม้การเสียชีวิตของชาเวซจะทำให้สูญญากาศทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาหลายเดือนและสร้างความไม่แน่ใจให้กับประเทศเวเนซุเอลลาและประเทศฝ่ายซ้ายพรรคพวกของเขาจบลง แต่อนาคตของประเทศเวเนซุเอลล่าที่เป็นประเทศแหล่งน้ำมันชั้นนำก็จะมีการต่อสู้แบ่งขั้วทางการเมืองเกิดขึ้น โดยที่ The Independent เรียกชาเวซว่าเป็นผู้นำที่ 'อีโก้จัด' , 'จอมคุยโว' และเป็น 'ผู้ทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย'

The Independent กล่าวอีกว่า ช่วงที่ชาเวซหายหน้าไปก็ได้สร้างความตึงเครียดมาก่อนแล้ว โดยเฉพาะช่วงที่เข้าไม่สามารถขึ้นพิธีสาบานตนเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาได้ และแม้ฝ่ายต่อต้านชาเวชจะไม่พอใจแต่ฝ่ายรัฐบาลก็ยืนยันมาตลอดว่าชาเวซยังคงบริหารประเทศผ่านเตียงคนไข้ในโรงพยาบาลได้ แต่ประเด็นนี้รวมถึงเรื่องการขาดข้อมูลก็ทำให้ความอดทนของฝ่ายต่อต้านลดลงเรื่อยๆ

การเลือกตั้งของเวเนซุเอลลาจะมีขึ้นภายใน 30 วัน ซึ่ง The Independent วิเคราะห์ว่า รองประธานาธิบดีนิโคลาส มาดูโร ผู้ประกาศข่าวการเสียชีวิตของชาเวซ คงใช้ประโยชน์จากความเห็นใจของประชาชนในการลงสมัครเลือกตั้งอย่างแน่นอน แม้ว่ามาดูโรจะให้คำมั่นว่าจะขายผลสิ่งที่เรียกว่า 'การปฏิวัติโบลิวาร์' ต่อไป แต่พวกเขาก็มีคู่แข่งที่น่ากลัว คือเฮนริค คาปริเลส ผู้ว่าราชการจากพรรคฝ่ายค้านผู้ที่สร้างฐานเสียงไว้ตั้งแต่การเลือกตั้งปธน.ครั้งก่อน


The New York Times : ไม่ว่าจะดีหรือร้าย แต่ชาเวซก็ได้เปลี่ยนการมองตัวเองของเวเนซูเอล่าไปแล้ว

The New York Times เริ่มต้นด้วยการนำเสนอความคิดเห็นจาก พิเนดา ผู้ที่รอคอยให้ชาเวซช่วยเหลือฟื้นฟูบ้านเกิดจากภัยโคลนถล่มในปี 1999 มาตลอด 13 ปี ซึ่งก็ยังไม่ได้รับช่วยเหลือ แต่พิเนดาก็ยังสนับสนุนชาเวซเพราะเชื่อว่าเขาเป็นคนที่ทำให้เวเนซุเอลลาก้าวหน้า และเป็นคนที่อยู่ข้างเดียวกับผู้ที่ขาดแคลน

จากนั้นจึงมีการแสดงความเห็นจาก จอย โอลซัน ผู้อำนวยการ WOLA กลุ่มสนับสนุนด้านสิทธิในละตินอเมริกาของสหรัฐฯ โดยบอกว่าชาเวซได้ทำให้ประชาชนเวเนซุเอลล่ารู้สึกว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งก่อนหน้านี้พวกเขาไม่เคยรู้สึกเช่นนั้นมาก่อน และในหลายประเทศรวมถึงสหรัฐฯ คนจนก็ไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของระบอบ

The New York Times กล่าวอีกว่า ชาเวซเป็นเหมือน 'กิ้งก่าเปลี่ยนสี' ในเชิงอุดมการณ์โดยปรับเปลี่ยนโครงการหรือนโยบายตามที่คิดว่าเหมาะกับตน เช่นการบอกว่าตนเป็นนักสังคมนิยมผู้ยึดทรัพย์สินและวิสาหกิจมาเป็นของรัฐแต่ก็ฉวยโอกาสสร้างความร่ำรวยให้ตนเอง พูดถึงอิสรภาพทางเศรษฐกิจโดยให้ทุนตั้งร้านขายของชำแต่ก็ละเลยภาคการเกษตรทั้งยังนำเข้าอาหารจำนวนมาก วิจารณ์สหรัฐฯ แต่ก็พึ่งพาสหรัฐฯ ในฐานะผู้ซื้อน้ำมัน

รายงานของ The New York Times นำเสนออีกว่าการบริหารของชาเวซแสดงให้เห็นการพัฒนาของกรุงการากัสในหลายๆ ด้าน ชื่นชมนโยบายเช่นการรักษาพยาบาลฟรีและลดกำแพงการเข้าถึงการศึกษาระดับสูงว่า แต่ก็มีบางส่วนดำเนินการล่าช้าและขาดประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตามจากการสัมภาษณ์ แพทย์ประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเวเนซุเอลลาก็บอกว่าชาเวซเป็นผู้เปลี่ยนแปลงจิตสำนึกของชาวเวเนซุเอลล่า ทำให้ประชาชนอย่างพวกเขารู้สึกมีคุณค่า


Granma (สื่อรัฐบาลคิวบา) : ชาเวซเป็นเสมือนลูก และคอมมานดันเตผู้กล้า

ด้านสื่อรัฐบาลคิวบา ประเทศพันธมิตรสำคัญประเทศหนึ่งสำหรับชาเวซได้นำเสนอแถลงการณ์จากคณะรัฐบาลปฏิวัติของคิวบา แสดงความเศร้าโศกเสียใจต่อการจากไปของชาเวซ รวมถึงแสดงความเห็นใจต่อครอบครัวและประชาชนชาวเวเนซุเอลล่า

แถลงการณ์กล่าวอีกว่าพวกเขาจะยังให้การสนับสนุนการปฏิวัติโบลิวาร์ และเหล่าผู้นำทางการเมืองและการทหารของโบลิวาร์ผู้เปรียบเสมือนสหาย (compañeros) และชาเวซก็เป็นดั่งคอมมานดันเต (comandante) เป็นนักสู้ผู้กล้าที่เปรียบได้กับวีรบุรุษโบลิวาร์กลับชาติมาเกิดและสามารถสานต่อในสิ่งที่โบลิวาร์ไม่อาจทำให้สำเร็จได้

นอกจากนี้ยังกล่าวชื่นชมการที่ชาเวซเป็นนักสู้ที่ต่อสู้กับจักรวรรดิ์นิยมและเป็นผู้ปกป้องคนจน แรงงาน และประชาชนชาวคิวบา

"ชาวคิวบารู้สึกว่าเขาเป็นหนึ่งในลูกชายดีเด่น และรู้สึกชื่นชมเขา ติดตามเขา รักเขาเสมือนลูกแท้ๆ ชาเวซก็ถือเป็นชาวคิวบาเช่นกัน!" รัฐบาลคิวบากล่าวในแถลงการณ์ "เขาเคยร่วมกับฟิเดลประหนึ่งลูกแท้ๆ และมีมิตรภาพใกล้ชิดกับราอูล (คาสโตร) มาก"

"แบบอย่างของชายผู้นี้จะนำเราไปสู่การต่อสู้ที่กำลังจะมาถึง" รัฐบาลคิวบากล่าวในแถลงการณ์


จอน ลี แอนเดอสัน : การปฏิวัติที่ไม่มีผู้สืบต่อ

นักเขียนชีวประวัติ จอน ลี แอนเดอสัน ได้เขียนประวัติของชาเวซลงในเว็บบล็อกของ New Yorker โดยเล่าถึงประสบการณ์ที่เคยพบชาเวซในช่วงปี 1999 หลังชาเวซได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีเวเนซุเอลล่าได้ไม่นาน ในตอนที่ชาเวซขึ้นกล่าวอบรมในมหาวิทยาลัยในประเทศคิวบา ซึ่งขณะนั้นนำโดยฟิเดล คาสโตร ผู้นำสังคมนิยมต่อต้านอเมริกาคนสำคัญอีกคนหนึ่ง

จอนกล่าวว่า ชาเวซอ่อนกว่าคาสโตรเกือบ 30 ปี ซึ่งคาสโตรเปรียบเสมือนบิดาผู้ที่ชาเวซเดินรอยตาม และคาสโตรก็มองชาเวซเสมือนลูกหรือไม่ก็ผู้สืบทอด

จอนยังเคยตั้งคำถามเกี่ยวกับการนำแนวทางสังคมนิยมมาใช้ในปี 2005 ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการที่ชาเวซขึ้นสู่อำนาจหลายปี ซึ่งชาเวซตอบจอนว่า เขารู้ดีว่าเขามาช้าเกินไปในเรื่องนี้ ช้าในแบบที่ทั้งโลกเลิกใช้แนวคิดนี้หมดแล้ว แต่ชาเวซบอกว่าเขาเริ่มเห็นด้วยกับสังคมนิยมหลังจากที่เขาอ่านเรื่อง 'เหยื่ออธรรม' ของวิกเตอร์ ฮูโก้

นอกจากนี้ จอน ยังได้เปรียบเทียบชาเวซกับผู้นำฝ่ายซ้ายประชานิยมอีกท่านหนึ่งคือ ปธน. ลุลา ของบราซิลซึ่งดำเนินนโยบายโดยเน้นที่คนจนเช่นกัน แต่ทางบราซิลมีระบบการบริหารที่ดีกว่าและประสบความสำเร็จมากกว่า และสิ่งที่ชาเวซขาดอีกหย่างหนึ่งคือการสืบต่อด้านการบริหาร

"จากนี้ไปจะมีแต่ความสิ้นหวังและความกังวล เพราะไม่มีใครที่เหมือนชาเวซตามมาหลังจากนี้" จอนกล่าว

"แน่นอนว่าแนวทาง 'ชาเวซนิยม' ยังคงไม่ลุล่วง และมาดูโรจะพยายามสืบต่อการปฏิวัติต่อไป แต่ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขกำลังร่ำร้อง แล้วเชื่อได้ว่าถัดจากนี้อีกไม่นาน ชาวเวเนซุเอลล่าที่โศกเศร้ากับการสูญเสียผู้นำจะโศกเศร้ากับการปฏิวัติที่ยังไม่เสร็จสิ้นของเขาด้วย"


คาร์ล มีแชม (CSIS) : ผู้นำในภูมิภาครวมถึงสหรัฐฯ ควรหนุนให้มีการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ

ในแง่สุญญากาศทางการเมืองของเวเนซุเอลล่าหลังชาเวซเสียชีวิต คาร์ล มีแชม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเชิงยุทธศาสตร์ระดับนานาชาติของสหรัฐฯ (CSIS) ได้เขียนบทความลงใน CNN กล่าวว่า นิโคลาส มาดูโร ผู้ที่เปรียบเสมือนผู้สืบทอดของชาเวซอาจต้องเผชิญกับความแตกแยกทั้งจากในพรรคสังคมนิยม (United Socialist Party of Venezuela) และความแตกแยกในหมู่กองทัพัเวเนซุเอลล่า โดยความขัดแย้งนี้จะเป็นตัวชี้วัดว่าเวเนซุเอลล่าจะมีการเปลี่ยนผ่านทางอำนาจอย่างสันติได้หรือไม่ หรืออาจนำไปสู่ความรุนแรงหากหลายฝ่ายมีการล็อบบี้เพื่อขึ้นสู่อำนาจ

คาร์ล วิเคราะห์ว่า รองปธน. มาดูโรอาจไม่มีแรงสนับสนุนจากประชาชนมากเท่าชาเวซ แต่เขาจะเป็นผู้นำพรรคด้วยอิทธิพลที่มีอยู่พอสมควร ขณะที่ตัวแปรสำคัญจะกลายเป็นปฏิกิริยาจากกองทัพเวเนซุเอลล่า

โดยกองทัพจะแบ่งออกเป็นสามค่าย คือหนึ่ง ค่ายที่เน้นความเป็นกองทัพในเชิงสถาบัน ค่ายนี้เน้นด้านประสิทธิภาพไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยส่วนใหญ่

ค่ายที่สอง คือกองทัพค่ายที่เน้นกฏหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลังจากชาเวซเสียชีวิตแล้ว ดิออสดาโด คาเบลโล ประธานรัฐสภาจะเป็นผุ้ดูแลประเทศในช่วงก่อนการเลือกตั้ง 30 วันข้างหน้า ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าคาเบลโล อดีตทหารเวเนซุเอลล่าผู้เคยร่วมการพยายามทำรัฐประหารในปี 1992 กับชาเวซมีแรงสนับสนุนจากในกองทัพมากกว่าและอาจถูกดันให้ขึ้นเป็นผู้สมัครปธน.อีกราย

ค่ายที่สามคือกองทัพที่อยู่ข้างชาเวซซึ่งมีพันธกิจเรื่องการปฏิวัติ มีแนวโน้มจะสานต่ออุดมการณ์ของชาเวซและผลักดันให้มาดูโรเป็นผู้นำ

ในเรื่องเศรษฐกิจ คาร์ลก็บอกว่ายังน่าเป็นห่วงเมื่อวัดจากอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าประเทศละตินอเมริกาประเทศอื่นๆ และบริษัทน้ำมันของรัฐก็ขาดเงินทุนในการดำเนินการผลิตในฐานปัจจุบันหรือการขยายฐานไปยังที่อื่น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศพันธมิตรที่ได้รับการสนับสนุนด้านน้ำมันจากเวเนซุเอลล่าด้วย เนื่องจากในสมัยชาเวซประเทศที่เขาถือว่าเป็นมิตรจะได้รับส่วนลดและสิทธิในการแลกเปลี่ยนอื่นๆ ซึ่งยังไม่แน่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่หลังสมัยชาเวซ

ขณะเดียวกันในแง่การต่างประเทศ ประเทศในแถบภูมิภาคอาจรู้สึกสูญเสียอิทธิพล รวมถึงประเทศอย่างอิหร่านที่สูญเสียผู้สนับสนุนใหญ่ในแถบภูมิภาคละตินอเมริกา และแม้ว่าจะมีการสานสัมพันธ์ต่อแต่พงกเขาจะไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนของชาเวซอีก ทางด้านรัฐบาลรัสเซียซึ่งได้รับผลประโยชน์จากการซื้ออาวุธของเวเนซุเอลล่า ก็ดูจะสูญเสียฐานในละตินอเมริกาไปเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีผู้นำประเทศอื่นๆ เช่น บาชาร์ อัล-อัสซาด ของซีเรีย และรัฐบาลเกาหลีเหนือซึ่งน่าจะรู้สึกว่าการเสียชีวิตของชาเวซมีผลกระทบต่อพวกเขา

คาร์ล เปิดเผยว่าสหรัฐฯ เองก็อาจได้รับผลกระทบในแง่ที่เวเนซุเอลล่ายังเป็นผู้จัดหาน้ำมันรายใหญ่เป็นอันดับที่ 4 สำหรับสหรัฐฯ และหากการเปลี่ยนผ่านอำนาจเกิดความรุนแรงและการส่งออกลดลง ผู้บริโภคน้ำมันในสหรัฐฯ ก็จะประสบกับภาวะน้ำมันขึ้นราคา และการเติบโตทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย

อีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นมากในช่วงที่ชาเวซดำรงตำแหน่งคือปัญหาการค้ายาเสพย์ติด และทางสหรัฐฯ ก็เคยระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเวเนซุเอลล่าเข้าข่ายเจ้าพ่อยาเสพย์ติดรายใหญ่ด้วย คาร์ลกล่าวว่า การต่อสู้แย่งชิงอำนาจที่ชื้อเยื้อจะยิ่งทำให้ผู้ค้ายามีช่องทางมากขึ้นในเวเนซุเอลล่า

คาร์ลเสนอว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้กลุ่มผู้นำประเทศในภูมิภาค รวมถึงประเทศอย่างสหรัฐฯ เม็กซิโก บราซิล โคลัมเบีย และแคนาดา ควรช่วยกันสนับสนุนให้เกิดการเลือกตั้งอย่างถูกต้องและเสรี เพื่อช่วยให้การเปลี่ยนผ่านของเวเนซุเอลล่าเป็นไปอย่างสงบและเป็นประชาธิปไตย ซึ่งแม้ว่าเวเนซุเอลล่าจะยังคงมีการแบ่งฝ่ายกันไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร แต่การเลือกตั้งที่โปร่งใสจะช่วยให้เวเนซุเอลล่าปฏิรูปเพื่อปัญหาต่างๆ ได้

ความรู้สึกของผู้นำประเทศอื่นๆ

ผู้นำของประเทศอื่นก็มีความรู้สึกหลากหลายต่อการเสียชีวิตของชาเวซ มีทั้งที่แสดงความเศร้าและรู้สึกยินดี เช่น เอ็ด รอยซ์ นักการเมืองพรรครีพับลิกันผู้เป็นประธานคณะกรรมการกิจการต่างประเทศของสหรัฐฯ บอกว่า "อูโก้ ชาเวซเป็นทรราชย์ผู้ที่ใช้อำนาจทำให้ประชาชนเวเนซุเอลลาตกอยู่ภายใต้ความกลัว" ขณะที่ คริสตินา เคิร์ชเนอร์ ประธานาธิบดีอาร์เจนตินา กล่าวว่ารัฐบาลอาร์เจนติน่าจะหยุดกิจกรรมทุกอย่างชั่วคราวเพื่อเป็นการไว้อาลัยแก่ชาเวซ

The Independent วิเคราะห์ด้วยว่า คริสติน่า เคิร์ชเนอร์ ผู้เป็นพันธมิตรกับชาเวซน่าจะกลายเป็นผู้นำตัวแทนละตินอเมริกาคนต่อไปที่จะคอยเป็นไม้เบื่อไม้เมากับสหรัฐฯ

ทางด้านดิลมา รูสเซฟฟ์ ประธานาธิบดีของบราซิลกล่าวถึงชาเวซว่า "เขาเป็นคนที่มีจิตใจเอื้อเฟื้อต่อประชาชนในทวีปผู้ที่ต้องการเขา" ขณะที่ประธานาธิบดี บารัก โอบาม่า ของสหรัฐฯ ได้กล่าวแถลงการณ์ในเชิงไมตรีว่า "ในช่วงเวลาที่ท้าทายจากการจากไปของประธานาธิบดีฮิวโก้ ชาเวซ ทางสหรัฐอเมริกายังคงยืนยันการสนับสนุนประชาชนชาวเวเนซุเอลลา และการพัฒนาความสัมพันธ์ในเชิงสร้างสรรค์กับรัฐบาลเวเนซุเอลลา"

ขณะที่ไมค์ โรเจอร์ นักการเมืองพรรครีพับลิกันประธานคณะกรรมการฝ่ายงานข่าวกรองของสหรัฐฯ หวังว่าการเสียชีวิตของชาเวซจะเป็นโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์ครั้งใหม่ระหว่างสหรัฐฯ และเวเนซุเอลลา

แต่ โฮเซ่ เซอร์ราโน นักการเมืองพรรคเดโมแครทจากเขตเดอะบร็องซ์ ซึ่งเป็นย่านที่ยากจนที่สุดในนิวยอร์กซิตี้กล่าวชื่นชมชาเวซฝ่านทวิตเตอร์ว่าเขาเป็นผู้นำที่เข้าใจความต้องการของคนยากจน และมีพันธกิจในการส่งเสริมผู้ที่ไม่มีอำนาจ


เรียบเรียงจาก

Papers reflect on Hugo Chavez's life, BBC, 06-03-2013

Hugo Chávez obituary, The Guardian, 05-03-2013

After Chávez's funeral, who gets Venezuela's poisoned chalice?, The Guardian, 05-03-2013

Death of Venezuelan President Hugo Chavez leaves tears - and a nation divided, The Independent, 06-03-2013

Hugo Chavez dies, leaving Venezuela in turmoil, The Telegraph, 06-03-2013

For Good or Ill, Chávez Altered How Venezuela Views Itself, The New York Times, 06-03-2013

Statement from Revolutionary Government, Granma, 06-03-2013

POSTSCRIPT: HUGO CHÁVEZ, 1954-2013, The New Yorker, 05-03-2013
After Chavez, a power vacuum, Carl Meacham, CNN, 06-03-2013


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net