Skip to main content
sharethis

ชมคลิปวิดีโอและถอดความการเปิดงาน 15 ปีองค์กรอิสระ สำรวจธรรมาภิบาลไทย สำรวจประชาธิปไตย (1 มี.ค.56) โดย พงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2540 

นอกจากนี้วันที่ 1 แล้ว ยังมีการจัดสัมมนาต่อเนื่องในวันที่ 8 มี.ค.นี้ ซึ่งจะว่าด้วย ‘ภาคธุรกิจและองค์กรอิสระ การหนุนเสริมเพื่อสร้างธรรมาภิบาล’ มีผู้อภิปราย ได้แก่ ศ.(พิเศษ) วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. , พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน, วัลลภา แวนวิลเลียนส์วาร์ด ผู้จัดการบริษัทสวนเงินมีมาจำกัด และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท

ปิดท้ายด้วยเสวนาในวันที่ 15 มี.ค. ว่าด้วย ‘ความหวังของภาคประชาสังคมในการถ่วงดุลกระบวนการทางการเมืองและนโยบาย สาธารณะ’ มีผู้อภิปรายได้แก่ ศ.กำชัย จงจักรพันธ์ ที่ปรึกษา กกต., จอน อึ๊งภากรณ์ อนุกรรมการฯ ในกรรมการสิทธิฯ, นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิฯ

 

พงศ์เทพ เทพกาญจนา
รองนายกรัฐมนตรี และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (พ.ศ.2540)

 

 

เรื่องขององค์กรอิสระกับธรรมาภิบาลเป็นหัวใจสำคัญที่เป็นประเด็นปัญหาที่ประเทศไทยจะต้องมาขบคิดในเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง การที่ USAID และมีโครงการสะพานได้จัดเรื่องนี้ขึ้น ถือว่าเป็นประโยชน์มาก ผมเองอาจเป็นคนไม่กี่คนที่ได้มีโอกาสทำงานอยู่ในกลไกการใช้อำนาจอธิปไตยทั้งสามอำนาจ ผมเริ่มจากฝ่ายตุลาการแล้วก็มาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ได้เห็นหมดว่าคนในกลไกต่างๆ ทั้งสามอำนาจมีคนประเภทไหนบ้าง ทำงานอย่างไร และพูดได้ว่าไม่ว่าจะองค์กรไหน มีคนทุกประเภทปนอยู่เหมือนๆ กันทั้งสิ้น ไม่มีองค์กรไหนจะมีแต่คนที่เก่งคนที่ตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์ ดีเหมือนกันทุกคน ปนกันอยู่ทั้งสิ้น และการที่ปนกันอยู่ไม่ใช่ปนกันเฉพาะในประเทศไทย ทั่วโลกเหมือนกัน

องค์กรที่ถือว่าโดยปกติเป็นองค์กรที่น่ามีความน่าเชื่อถือมากที่สุด ได้คนที่มีมาตรฐานที่สุดในการทำงาน ในประเทศไทย แต่ไหนแต่ไรมา เราจะเชื่อถือคนในองค์กรตุลาการ ในวงการตุลาการต่างประเทศเองก็คงไม่ต่างกัน แต่เราก็เห็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นทั้งในวงการตุลาการไทย วงการตุลาการต่างประเทศ ที่เราได้ตระหนักว่าไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไป แล้วอาจไม่ใช่เยอะด้วย แม้กระทั่งในประเทศที่มีการพัฒนา มีระบบที่เข้มแข็งมากอย่างสหรัฐอเมริกา ก็ยังเคยเจอปัญหาที่ร้ายแรง ประเทศไทยมี Car for Cash เอารถแลกเงิน ในสหรัฐฯ ประมาณสิบปีมานี้ ก็มี Kids for Cash เอาเด็กไปแลกเงิน ที่ศาลเยาวชน มลรัฐเพนซิลเวเนีย มีหัวหน้าศาลกับผู้พิพากษาไปจัดให้สถาบันของเอกชนเข้ามาเปิดสถานพินิจเอกชน โดยจะได้รับเงินจากรัฐบาลเป็นรายหัวของเด็กที่ส่งไป ปรากฏว่ามีผู้พิพากษาคนหนึ่งได้รับเงินจากสถานพินิจเอกชนหลายล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการส่งเด็กเข้าไปสถานพินิจนี้ โดยเขาส่งเด็กไปหลายพันคน เด็กที่โดยปกติไม่ควรถูกส่งไปก็ถูกส่งไป มีเด็กคนหนึ่งเป็นนักมวยปล้ำระดับออลสตาร์ซึ่งมีฝีมือดีมาก มีเพียงเครื่องมือที่ใช้เสพยาเสพติด ไม่ใช่มียาเสพติด ปรากฏว่า ผู้พิพากษารีบส่งเด็กคนนี้ไปสถานพินิจ หลังออกมาเด็กคนนึ้ซึมเศร้าแล้วก็ฆ่าตัวตาย

ต่อมาเรื่องปรากฏขึ้น ศาลสูงสุดของมลรัฐเพนซิลเวเนีย ต้องยกเลิกคำสั่งที่ส่งเด็กไป สถานพินิจหลายพันคนที่ผู้พิพากษาคนนี้สั่ง ผู้พิพากษาถูกลงโทษจำคุก 27 ปี ตัวหัวหน้าศาลถูกจำคุกประมาณ 17 ปี เขาเอาจริงเอาจัง

ในเมืองไทยเรามีผู้พิพากษาที่ทำอะไรไม่ถูกต้องและถูกไล่ออกจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ค่อยได้เป็นข่าว หรือเป็นที่รู้กันไปทั่ว แต่ที่จะบอกคือ ในวงการตุลาการเราก็เห็นเรื่องอย่างนี้ ในวงการนิติบัญญัติ เราก็เห็น ถูกจำคุกไปก็มี ในวงการฝ่ายบริหาร ก็มีรัฐมนตรีถูกพิพากษา ลงโทษจำคุก

ทีนี้กลับมาดูองค์กรอิสระ เผอิญผมเองมีส่วนร่วมในการที่ก่อให้เกิดขึ้น ช่วงระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ตอนนั้นก็คิดว่าทำอย่างไรที่จะมีกลไกการตรวจสอบขึ้นมาใหม่ ที่สามารถตรวจสอบทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ  ต้องยอมรับว่า ส.ส.ร.ในปี 2540 ผิดพลาด ตัวผมเองก็ผิดพลาด เพราะคิดว่าเราจะหาคนที่เพียบพร้อม ด้วยคุณธรรมความรู้ ตรงไปตรงมา เข้ามาอยู่ในองค์กรอิสระ ซึ่งมีเยอะ คนประเภทที่ต้องบอกว่า ซูเปอร์ฮีโร่ทั้งหลาย แต่ซูเปอร์ฮีโร่ทั้งหลายนั้นมีแต่ในหนังสือการ์ตูน ในชีวิตจริงหายาก หายากจริงๆ แล้วก็จะเห็นว่าจากที่เกิดขึ้น คนอย่างที่เราคาดหวังว่าจะมาอยู่ในองค์กรอิสระต่างๆ นั้นเราไม่ได้คนอย่างที่เราตั้งความฝันไว้ มันหายากมาก

เป็นอย่างที่ ลอร์ดแอคตัน (John Dalberg-Acton) กล่าวไว้ว่า Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely. Great men are almost always bad men. อำนาจมีแนวโน้มจะทำให้เกิดการฉ้อฉล ยิ่งถ้าอำนาจเบ็ดเสร็จยิ่งทำให้เกิดการฉ้อฉลอย่างเบ็ดเสร็จ และผู้ที่ได้รับการยกย่องชื่นชมทั้งหลาย หลายครั้งก็ได้กระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องเยอะแยะมากมาย

สิ่งที่สำคัญคือเมื่อเราสร้างองค์กรอิสระขึ้นมา ซึ่งหลายองค์กรมีบทบาทในการตรวจสอบ แต่องค์กรเหล่านี้ซึ่งมีอำนาจมหาศาล อาจจะมากกว่าองค์กรเดิมๆ ด้วยซ้ำไป แล้วใครเล่าจะมาตรวจสอบองค์กรเหล่านี้ ใครจะรักษาประโยชน์ของตัวเขาได้ดีที่สุด

พูดถึงตัวเรา เราก็ต้องบอกว่าตัวเราที่จะรักษาประโยชน์ของตัวเราได้ดีที่สุด แต่ถามว่าผลประโยชน์ของชาวไทย 66 ล้านคน ท่านคิดว่าใครจะรักษาผลประโยชน์ของคนเหล่านั้นได้ดีที่สุด องค์กรอิสระอย่างนั้นหรือ ไม่มีทาง ไม่มีทางจริงๆ เป็นไปไม่ได้ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นหลายครั้ง เราก็เห็นว่าเขาไม่มีทางสามารถรักษาประโยชน์ของคน 60 กว่าล้านคนได้ ทำอย่างไรที่จะจัดกลไกให้ถ้ามีองค์กรอิสระ องค์กรอิสระนี้ต้องมีความยึดโยงกับประชาชน องค์กรอิสระเหล่านี้ต้องถูกตรวจสอบอย่างไร

ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ไปสร้างกลไกไว้ที่ประหลาดมาก เพราะว่ารัฐสภา ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เป็นตัวแทนของประชาชน  แต่บทบาทของรัฐสภาในการได้มาซึ่งองค์กรอิสระก็ดี ในการตรวจสอบองค์กรอิสระก็ดีกลับถูกจำกัด ยกตัวอย่าง คณะกรรมาธิการของรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา ไม่สามารถจะเรียกองค์กรอิสระ คนในฝ่ายตุลาการ มาสอบถามได้เลย ในเรื่องที่เป็นการใช้อำนาจของฝ่ายตุลาการ เรื่องอำนาจหน้าที่โดยตรงขององค์กรอิสระ ถามเขาไม่ได้ ถ้าถามฝ่ายตุลาการ ถ้าเกิดมีคดี 5 คดีที่ดูแล้วเหมือนกัน ทำไมสั่งไม่เหมือนกัน  แม้กระทั่งคดีง่ายๆ ยกตัวอย่างคดีการปล่อยตัวชั่วคราว 5 คดี คนดูบอกว่าคดีที่ดูแล้วไม่น่าจะปล่อยเขาไว้ ท่านปล่อย คดีที่ไม่น่าจะขังเขาไว้ ท่านขัง ปกติต้องถูกเรียกมาถามแล้วว่าเพราะเหตุใด กลไกการตรวจสอบโดยตัวแทนของประชาชน หรือองค์กรอิสระต้องถูกเรียกมาถามแล้วว่า ทำไมคดีท่านสั่งอย่างนี้ เหตุผลเป็นอย่างไร แล้วโต้แย้งเหตุผลซึ่งกันและกัน

ถ้าเราไปดูอย่างสหรัฐอเมริกา ผู้ใช้อำนาจทั้งหลายถูกสอบถาม ไต่สวนจากกรรมาธิการของรัฐสภา ทั้งระดับผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา แต่ของไทยเรา องค์กรเหล่านี้ไม่มี เรียกไปถามก็ไม่ได้ เราก็ไม่รู้ว่าเขาทำอะไร

เรื่องของที่มานี่ไม่ต้องพูดเลย เพราะคนในกลไกเหล่านั้นเลือกกันเอง เสนอกันเองขึ้นมา การที่ภาคประชาสังคมจะเข้ามามีส่วนร่วมในกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด และผมก็อยากเห็นการใช้อำนาจรัฐของไทยไม่ว่าองค์กรไหนโปร่งใส มีเหตุผล มีความเป็นธรรม ตรงไปตรงมา 

จะสร้างกลไกเหล่านี้อย่างไร ก็ต้องสร้างกลไกให้ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคสื่อต่างๆ สามารถจะเข้ามาได้ เราไม่มีทางที่จะตรวจสอบองค์กรเหล่านี้หรือทำให้องค์กรเหล่านี้น่าเชื่อถือถ้าเราไม่รู้ว่าเขาทำอะไร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net