Skip to main content
sharethis

ยาฮู! สั่ง พนง.หยุดทำงานที่บ้าน ระบุเริ่มสร้างความเป็นหนึ่งเดียวด้วยการอยู่ร่วมกันทางกายภาพ ขณะบริษัทไอทีอื่นๆ ยังคงนโยบายทำงานจากที่บ้าน

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เว็บ AllThingsD ซึ่งเป็นเว็บข่าวเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ตและสื่อ เผยแพร่หนังสือของฝ่ายทรัพยากรบุคคลของ "ยาฮู" บริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตสัญชาติอเมริกันซึ่งประกอบไปด้วยเว็บท่า เสิร์ชเอนจิน อีเมล ฯลฯ ที่ระบุให้พนักงานทั้งหมดของยาฮูราว 14,500 คน เข้ามาทำงานที่สำนักงาน แทนการทำงานที่บ้าน ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ โดยให้เหตุผลว่า การจะเป็นสถานที่ทำงานที่ดีที่สุด ต้องอาศัยการสื่อสารและการประสานงาน ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กัน และมีหลายครั้งที่การตัดสินใจหรือการคาดการณ์ดีๆ เกิดขึ้นจากการแลกเปลี่ยนที่โถงทางเดินหรือในโรงอาหาร การพบผู้คนใหม่ๆ หรือการประชุมแบบปัจจุบันทันด่วน บ่อยครั้งที่ความเร็วและคุณภาพถูกทำลายลงเมื่อเราทำงานที่บ้าน

นอกจากนี้ยังบอกด้วยว่า ยาฮูต้องการจะสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยจะเริ่มที่การอยู่ร่วมกันทางกายภาพ ทั้งนี้ พนักงานที่ทำงานที่บ้านต้องปรับตัวโดยไม่มีข้อยกเว้น หรือมิเช่นนั้น ก็ต้องลาออก

การเปลี่ยนแปลงนโยบายของยาฮูครั้งนี้จะกระทบกับพนักงานหลายร้อยคนในแผนกลูกค้าสัมพันธ์ที่ทำงานที่บ้านเต็มเวลา รวมไปถึงพนักงานที่ทำงานที่บ้านเพียง 1-2 วันต่อสัปดาห์ด้วย หลังนโยบายนี้ออกมา พนักงานที่ได้รับผลกระทบขุ่นเคืองใจอย่างยิ่ง เนื่องจากพวกเขารู้สึกว่าถูกจ้างบนเงื่อนไขที่จะทำงานได้อย่างยืดหยุ่นตั้งแต่แรก

สำหรับนโยบายดังกล่าว เป็นความคิดของมาริสสา เมเยอร์ ซีอีโอวัย 37 ปี อดีตผู้บริหารกูเกิล ซึ่งเข้ารับตำแหน่งในยาฮูเมื่อกรกฎาคมปีที่แล้ว มีรายงานว่าเธอเป็นคนที่ทำงานหนักมากคนหนึ่ง โดยเธอลาคลอดเพียงสองสัปดาห์ ก่อนจะกลับมาทำงานต่อโดยสร้างเนอเซอรีไว้ใกล้ออฟฟิศเพื่อจะได้อยู่ใกล้ลูกชายของเธอและทำงานได้นานขึ้น

เว็บ AllThingsD รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า นโยบายนี้เกิดจากที่เมเยอร์สังเกตว่า ลานจอดรถของบริษัทค่อนข้างโล่งในช่วงเช้าและว่างอย่างรวดเร็วในตอนห้าโมงเย็น ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนมองว่า เมเยอร์กำลังหาทางเขี่ยพนักงานที่ไม่มีผลงานออกโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย 

ขณะที่ ริชาร์ด แบรนสัน มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ ประธานกลุ่มบริษัท "เวอร์จิ้น" แสดงความเห็นต่อนโยบายดังกล่าวผ่านบล็อกว่า ยาฮูควรให้เสรีภาพในการเลือกสถานที่ทำงาน และบอกอีกว่า ดูเหมือนเป็นการก้าวถอยหลังในยุคที่การทำงานระยะไกลง่ายและมีประสิทธิภาพกว่าที่ผ่านมา

ด้านซีเอฟโอของกูเกิล เมื่อถูกถามว่ามีคนทำงานระยะไกลกี่คน เขาบอกว่า น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ โดยเขาชี้ว่า มันเหมือนมีเวทมนตร์บางอย่างระหว่างที่แบ่งปันอาหารกัน ใช้เวลาร่วมกัน ระดมความเห็นกัน หรือถามความเห็นกันที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ มันเป็นช่วงเวลาที่มหัศจรรย์ ซึ่งสำคัญต่อการพัฒนาบริษัท การพัฒนาตัวเอง และการสร้างชุมชนที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม พนักงานกูเกิลได้รับอนุญาต หรือแม้แต่สนับสนุนให้ทำงานที่บ้าน แต่กูเกิลก็ไม่ได้ออกนโยบายเรื่องนี้อย่างทางการโดยปล่อยให้เป็นดุลพินิจของพนักงานเอง

ส่วนโฆษกของทวิตเตอร์บอกว่า ทวิตเตอร์เชื่อว่ามีผลประโยชน์ทั้งแบบที่จับต้องได้และไม่ได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อพนักงานทำงานใต้หลังคาเดียวกัน แต่ก็เชื่อว่าบางครั้งการทำงานระยะไกลก็เป็นเรื่องสำคัญ และทวิตเตอร์ก็อนุญาตให้ยืดหยุ่นได้

เช่นเดียวกัน โฆษกไมโครซอฟต์บอกว่า ได้เสนอตารางการทำงานที่ยืดหยุ่นให้พนักงาน

โฆษกของโฟร์สแควร์ โซเชียลเน็ตเวิร์กที่เปิดให้ผู้ใช้เช็คอินตามสถานที่ต่างๆ บอกว่า นโยบายของเราอนุญาตให้ทำงานแบบยืดหยุ่น โดยนโยบายนี้มีผลทั้งกับชั่วโมงการทำงานและสถานที่ทำงาน อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีพนักงานคนไหนเลยที่ทำงานเฉพาะที่บ้าน โดยอาจมีทำงานที่บ้านบางครั้ง

โฆษกของพาธ (Path) โซเชียลเน็ตเวิร์กที่เปิดให้แชร์เรื่องราวต่างๆ ได้คล้ายกับเฟซบุ๊ก บอกว่า ใช้นโยบายทำงานที่บ้าน โดยผู้จัดการและพนักงานจะแก้ปัญหาในรายละเอียดร่วมกัน

ขณะที่ไอบีเอ็ม ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่ให้พนักงานทำงานจากระยะไกลมานาน เขียนไว้ในเว็บเลยว่า ไอบีเอ็มเป็นหนึ่งในบริษัทแรกๆ ที่บุกเบิกการลดการเดินทางของพนักงาน มาเกือบสองทศวรรษ โดยมีทั้งโปรแกรมที่ให้พนักงานทำงานที่บ้าน และทำงานแบบเคลื่อนที่ ทุกวันนี้ มีพนักงานมากกว่า 128,000 คน หรือ 29 เปอร์เซ็นต์จากทั่วโลก ที่เข้าร่วมในโปรแกรมใดโปรแกรมหนึ่ง โดยในปี 2554 เฉพาะในสหรัฐฯ โปรแกรมทำงานที่บ้านได้ช่วยประหยัดเชื้อเพลิงราว 6.4 ล้านแกลลอน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 50,000 เมตริกตัน

 

แปลและเรียบเรียงจาก
http://allthingsd.com/20130222/physically-together-heres-the-internal-yahoo-no-work-from-home-memo-which-extends-beyond-remote-workers/
http://allthingsd.com/20130225/survey-says-despite-yahoo-ban-most-tech-companies-support-work-from-home-for-employees/
http://www.virgin.com/richard-branson/blog/give-people-the-freedom-of-where-to-work

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net